Thursday, June 13, 2013

สุภาษิตชาวดัช – มีแสงอาทิตย์เท่านั้นที่ส่องแสงฟรี


สุภาษิตชาวดัช – มีแสงอาทิตย์เท่านั้นที่ส่องแสงฟรี

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียง

Keywords: สุภาษิตชาวดัช Dutch proverbs, การเมือง, politics, การปกครอง, governance, government, free lunch, free sun, Dutch treat, American share, กตัญญู, piety, populism, Peronism, Juan Peron, Hugo Rafael Chávez Frías,  มูกาเบ, Robert Gabriel Mugabe


มีสุภาษิตชาวดัชบทหนึ่งกล่าวว่า “Voor niets gaat de zon op.” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The sun rises for free.” มีความหมายว่า “มีแสงอาทิตย์เท่านั้นที่ส่องแสงฟรี”

สุภาษิตดังกล่าวที่มีใช้ในโลกที่พูดภาษาอังกฤษ เขาจะบอกว่า “There's no such thing as a free lunch.” ซึ่งแปลได้ความว่า “ไม่มีคำว่าอาหารกลางวันฟรีๆ”

ชาวดัชเขาจะระวังมากในเรื่องการไปรับของรางวัลใครมาฟรีๆ ซึ่งรวมถึงการรับเลี้ยงอาหารกลางวัน บางทีไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันระหว่างกลุ่มเพื่อนหรือคนในวงการเดียวกัน เขาจะรู้กันว่า หากมีใครคนหนึ่งออกเงินไปก่อน ส่วนที่เหลือก็จะหารตัวเลข แล้วแบ่งกันจ่าย ต่างกินแล้วก็มีความพอใจ ไม่ต้องรู้สึกเป็นบุญคุณอะไรต่อกัน หรือมิฉะนั้น เมื่อนัดไปเจรจาธุรกิจกัน เขาจะนัดเพียงพบแบบดื่มชาหรือกาแฟ ไม่ต้องเลี้ยงอาหาร ไม่ต้องเสียเงินค่าเลี้ยงรับรองมาก แล้วไม่รู้ว่ามีใครเป็นคนจ่าย เขาไม่อยากให้เกิดหนี้บุญคุณ เมื่อจะต้องมีใครเป็นคนจ่าย หรือรับภาระค่าเลี้ยงดู แม้แต่จะเล็กๆน้อยๆ เมื่อจะเจรจากัน ก็เอาสาระของการเจรจานั้นเป็นที่ตั้ง ทำธุระให้ได้ดังที่แต่ละฝ่ายตั้งใจไว้

การกินอาหารร่วมกัน แล้วต่างคนต่างจ่ายนี้ ฝรั่งเขาเรียก “Dutch treat” คือเป็นวิธีการอย่างชาวดัช แต่คนไทยสมัยหนึ่งพบฝรั่งที่เป็นอเมริกันมาก เขาปฏิบัติแบบนี้ เลยเรียกว่า American share หรือแบ่งกันรับผิดชอบหรือจ่ายแบบอเมริกัน ทุกคนจ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

ขอย้อนกลับมาเรื่องการเมืองในประเทศไทย คนไทยเรามักสอนลูกสอนหลานให้มีความกตัญญู ใครทำดีต่อเรา เคยช่วยเหลือเราไว้ เราต้องทดแทนเมื่อมีโอกาส ที่ผู้ใหญ่สอนกันเช่นนี้ เพราะยามเมื่อเราเป็นเด็ก ยังไม่มีกำลังหรือสติปัญญาไปช่วยใคร มีแต่คนเลี้ยงดูเรามา พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เขาจึงสอนเด็กๆ ให้ต้องเข้าใจคำว่า “กตัญญู” และให้ถือกันว่า อย่าไปพึ่งพาใครฟรีๆ ครั้งหนึ่งที่เราเคยไปพึ่งพาใครเขา ก็ให้จดจำไว้ตลอดชีวิตที่เราจะต้องหาทางตอบแทน

ไม่ผิดหรอกที่จะสอนคนให้มีน้ำใจ และเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งด้วยที่สอนคนให้มีความกตัญญูรู้คุณ แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องส่วนตัว กับเรื่องส่วนรวม เรื่องเล็กๆ กับเรื่องใหญ่ๆ และบางเรื่องเป็นเรื่องหลักการ ระเบียบ หรือกฎหมาย ที่จะละเมิดมิได้ ดังตัวอย่าง เรื่องที่เกี่ยวกับการบ้านการเมือง

ในต่างจังหวัด นักการเมืองมาสร้างบุญคุณ ด้วยคำสัญญาว่า เมื่อเขาได้รับเลือกตั้งแล้ว เขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ แล้วเขาก็ทำตามนั้น ทำตามนโยบายที่เขาเรียกว่า “ประชานิยม” (Populism policies) แต่สำหรับคนที่เป็นประชาชนผู้เลือกตั้ง ต้องเข้าใจว่า เขาจะให้นั่นให้นี่นั้น ที่แท้เป็นเงินจากงบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งมาจากภาษีอากรของคนทั้งประเทศ มันไม่ใช่เรื่องบุญคุณเป็นการส่วนตัว และในทางการเมือง เราเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชนโดยรวม สร้างความเป็นปึกแผ่น ความกินดีอยู่ดีแก่คนทั้งมวล อย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงตัวเราเองด้วย ก็ต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมสำหรับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่มาเลือกแล้วได้ประโยชน์เป็นภาค เป็นจังหวัด เป็นกลุ่มคน

ในบางครั้ง นโยบายที่จะให้สิ่งต่างๆที่ดูมากมายกว่าธรรมดานั้น แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งที่ไปสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่คนส่วนอื่นๆของทั้งประเทศ การได้รับประโยชน์จากนโยบายหนึ่งในท้องถิ่นของเราอย่างมากเกินส่วน แท้ที่จริงคือการไปเอาเงินงบประมาณหรือทรัพยากรจากคนอื่นๆมาใช้ แล้วทำให้เกิดมีคนได้และมีคนเสีย แล้วนโยบายเช่นนี้กลับไปสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น เกิดการแบ่งขั้วเลือกข้าง แล้วเอาการเมืองมาสร้างความแพ้ชนะกัน

ชนะกันเพียงร้อยคะแนน ก็ได้ครองอำนาจในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ดังในการเมืองระดับอบต. หากชนะกันเพียงเป็นพันคะแนน ก็จะทำให้ได้อำนาจในองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือในระดับประเทศ พรรคการเมืองที่ชนะกันด้วยมีผู้แทนได้รับเลือกตั้งมากกว่าฝ่ายตรงข้ามสัก10-20 คน ก็หมายความว่า เขาได้รับสิทธิผูกขาดทรัพยากรของประเทศ

ประเทศไทยกำลังเดือดร้อน ก็เพราะการเมืองในแบบพวกมากลากไป ใครชนะได้กินรวบ คนที่ได้ไปส่วนใหญ่ คือคนที่ได้อำนาจการเมือง กลุ่มทุนผูกขาด แล้วชาวบ้านระดับชาวนาชาวไร่ได้อะไร ก็คงได้ส่วนที่เป็นเศษเล็กๆน้อยๆ ที่เขาใช้นโยบายประชานิยม เพื่อเลี้ยงคนระดับฐานรากเอาไว้เป็นฐานเสียง แล้วให้สังเกตดูเถิดว่า ประเทศใดที่มีปัญหาประชานิยม ล้วนแต่ในระยะยาวแล้วมีแต่เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำ ดังเช่น อาร์เจนติน่าในยุคฮวน เปรอง (Juan Peron) ครองอำนาจ เวเนซูเอลล่าที่ใช้ฐานเสียงจากการแจกเงินที่ได้จากน้ำมันในยุคฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ในอัฟริกามีหลายๆชาติ รวมถึงประเทศซิมบับเว (Zimbabwe) ภายใต้นโยบายประชานิยมของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ่ (Robert Mugabe) ในนโยบายดังกล่าว คนผู้เสียเปรียบก็ถอยออกจากประเทศ หรือไม่ก็ต้องต่อสู้ ก่อการกบฏ คนที่จะมาลงทุน เมื่อมีนโยบายที่ไม่แน่นอน ส่อสัญญาณความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจและการเมือง นักธุรกิจก็ไปลงทุนในประเทศอื่นๆ

ดังนั้นจึงย้อนกลับมาสุภาษิตชาวดัช “มีแสงอาทิตย์เท่านั้นที่ส่องแสงฟรี” เพราะแท้จริงในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ และบางครั้ง ของที่ว่าได้มาฟรีๆ ดังการเมืองแบบประชานิยมนั้น แท้ที่จริง เราอาจต้องเสียผลประโยชน์ และโอกาสของประเทศชาติและรวมถึงของเราด้วยอย่างมหาศาล ซึ่งกำลังเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย


ภาพ ฮวน โดมิงโก เปรอง (Juan Domingo Perón) เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1895 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1974 เขาเป็นอดีตนายทหาร และนักการเมืองผู้ครองอำนาจและมีอิทธิพลยาวนานในประเทศอาร์เจนติน่า (Argentina) เป็นประธานาธิบดีถึง สมัย ได้รับความนิยมทางการเมืองแม้เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ทำให้ประเทศแตกแยก และเศรษฐกิจก็วินาศด้วยนโยบายประชานิยม แต่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น และการฝ่าฝืนหลักสิทธิมนุษยชน 



ภาพ โรเบิร์ต กาเบรียล มูกาเบ (Robert Gabriel Mugabe) อายุ 89 ปี เป็นประธานาธิบดีของประเทศซิมบาบเว เริ่มมีอำนาจด้วยการต่อสู้ปลดปล่อยประเทศตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960และครองอำนาจด้วยการเลือกตั้งในปีค.ศ. 1980 ตราบจนถึงปัจจุบัน ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก


ฮูโก ราฟาเอล ชาเวซ ฟรีเอส (Hugo Rafael Chávez Frías) เป็นประธานาธิบดีของประเทศเวเนซูเอลลา (Venezuela) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี ค.ศ. 2013 เขาครองเสียงข้างมากด้วยนโยบายกระจายรายได้จากน้ำมันสู่คนจน แต่ไม่มีแผนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน นอกจากความเป็นประชานิยม

No comments:

Post a Comment