บทเรียนที่ 2 หลักในการเรียน
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Updated: Thursday, October 30, 2008
Keywords: cw154, การเรียนการสอน, ICT, นวตกรรม
ความนำ
เราจะเรียนรู้กันอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่ในโลกมีข้อมูล (Information) มากมายมหาศาล มีหลายอย่างที่เป็นความรู้ (Knowledge) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เก่าและล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว
ในการเรียนวิชานี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครที่จะรู้ไปในทุกเรื่อง ผู้สอนไม่ว่าใครก็จะไม่มีความรู้มากพอที่จะสอนผู้เรียนได้ในทุกเรื่อง บทบาทผู้สอนเป็นเพียงทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการเรียน (Facilitators) คนคอยให้ข้อเสนอแนะ (Guides) และชิ้แหล่งที่จะไปศึกษาต่อ หรือให้หลักที่จะประเมินว่าได้มีการศึกษามาอย่างถูกทางแล้วหรือไม่ แต่หน้าที่การเรียนเป็นของผู้เรียน ซึ่งในวิชานี้ต้องการความรู้ในลักษณะต่อไปนี้
รู้เร็ว
ผู้เรียนที่จะเตรียมตัวเป็นนักบริหารการศึกษายุคใหม่จะได้รับแรงกดดันที่จะต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันเหมาะสม ไม่มีใครที่จะยืดเวลาการตัดสินใจ หรือดำเนินการไปได้ตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งก็จะต้องนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหา ดังนั้น นักบริหารการศึกษาต้องสามารถเรียนรู้สรรพสิ่งได้อย่างรวดเร็ว
แนะนำ การใช้วิธีการเรียนรู้การเรียนอย่างเป็นระบบ ดังเช่น - ฝึกการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และนำไปสู่การค้นคว้า การใช้ระบบสืบค้นเป็น เช่น การใช้ Google, Yahoo, Dictionary.com, ฯลฯ - ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ และอ่านจับใจความ (Reading Comprehension) - เรียนรู้ที่จะเลือกอ่านตามลำดับความสำคัญ ข้อมูลในโลกมีมาก เราต้องตัดสินใจได้ว่า อะไรต้องอ่าน (Must) อะไรควรอ่าน ถ้ามีเวลา และเป็นความสนใจของเรา (Shoud) และอะไรรับรู้เอาไว้ และเมื่อมีความสนใจในอนาคต ก็กลับมาศึกษาอีกครั้ง (May Be) |
รู้กว้าง
รู้กว้างและรู้ไกล ลองมองลักษณะเหยี่ยวหรือนกอินทรีย์ที่มีสายตาที่มองได้ยาวไกล เห็นได้ชัดอย่างยาวไกล เมื่อบินในที่สูงก็จะเห็นป่าทั้งป่า
คนบางคนรู้ลึก แต่ไม่รู้กว้าง แต่นักบริหารที่จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงจึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้กว้างขวาง
แนะนำ คนเราจะเป็นคนรู้กว้างได้ด้วยหลายสาเหตุ ความรู้กว้างเป็นประโยชน์ ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปได้อย่างดี ทำให้การเรียนรู้นั้นๆ ไม่จำเป็นต้องไปจับต้องในรายละเอียด ข้อแนะนำคือ - ความรู้กว้างที่ทำให้เข้าใจความเป็นระบบ รู้ความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลง - ความรู้กว้างที่ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นสภาพแวดล้อม (Environment, Context) บางอย่างในประสบการณ์ชีวิต อะไรที่ประสบความสำเร็จ ณ ที่หนึ่ง แต่เมื่อนำไปใช้ในอีกที่หนึ่ง หรือในกาลเวลาที่แตกต่างกัน ก็อาจไม่ได้ประสบผลดังที่เคยเป็น ความรู้กว้างจะเป็นตัวช่วยอธิบาย |
รู้ลึก
เหยี่ยวหรือนกอินทรีย์ มองกว้างเห็นทั้งป่าแล้ว แต่เมื่อต้องการจะจับเหยื่อกินเป็นอาหาร นกจะเริ่มมุ่งความสนใจไปสู่เป้าหมาย คนที่จะทำงานบริหารนั้นก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน
เมื่อเริ่มจากรู้กว้างแล้ว เมื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจใดๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาในแนวลึก และนักบริหารการศึกษาจะต้องมีขีดความสามารถที่จะจับประเด็น เรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง
เราเลือกที่จะศึกษา เลือกที่จะ Focus สู่ประเด็น แล้วจึงนำไปสู่การรู้ลึก เพราะถ้าไม่รู้พอ และรู้อย่างแท้จริง ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
แนะนำ เป็นไปได้หรือไม่ที่คนเราจะรู้กว้างและรู้ลึกไปพร้อมๆ กัน คำตอบคือเป็นไปได้ เช่นความรู้กว้างๆ บางอย่างเป็นความจำเป็นในชีวิตที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในการเรียนระดับปริญญาตรี เขาให้ต้องเรียนวิชาทางด้าน General Educatio หรือในภาษาไทยเรียกว่า “การศึกษาทั่วไป” ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนเราต้องเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างคับแคบ ความเป็นบัณฑิตนั้นคือผู้ที่ต้องรอบรู้ ในอีกด้านหนึ่ง คือต้องรู้ลึก ดังเช่น คนเราต้องมีสายวิชาเอก ความรู้ความสนใจในระดับนำไปประกอบอาชีพ หรือเป็นนักวิชาชีพได้ เช่น จะเป็นแพทย์ก็ต้องรู้ลึกที่จะทำงานได้ สมกับใบประกอบวิชาชีพ รู้งูๆปลาๆ หรือรู้ไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร สถาปนิก อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นจึงต้องเป็นเรื่องรู้กว้างในส่วนใด และรู้กว้างสักเพียงใดพอ และในส่วนของรู้ลึกนั้นในส่วนของอะไร และจะลึกเพียงใดพอ |
รู้อย่างวิเคราะห์และสร้างสรรค์
การเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อ
สิ่งที่รู้มาอาจไม่ใช่เป็นความจริงก็ได้ ดังนั้นจึงต้องมีทักษะในการคิดอย่างวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องมีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คนบางคนเรียนมาแบบตะวันตก คือมีความสามารถในการวิเคราะห์วิพากษ์ แต่ไม่มีความสามารถที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ในสังคม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่เกิดการคิดริเริ่มใหม่ๆ ในเรื่องนี้สิ่งหนึ่งคือความสามารถที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ คิดอย่างต้องหาหนทางทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม
แนะนำ ศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของ Critical Thinking, Analytical Thinking, Creative Thinking) การเรียนในระดับนักวิชาการ วิชาชีพ และการนำไปสู่ความเป็นผู้นำ และนักบริหารระดับสูงนั้น คุณสมบัติการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์จำเป็น ให้ศึกษาเพิ่มเติม และปรับนิสัยไปสู่การคิด ทำงาน อ่านและ เขียนอย่างวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ |
รู้แล้วนำไปปฏิบัติได้
บทบาทของนักบริหารประการหนึ่งคือ เรื่องของ Action, Action, and Action
กล่าวคือท้ายที่สุดคือการต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ และการได้ลองปฏิบัติในขนาดไม่ใหญ่โตอะไรนัก แล้วเรียนรู้ปรับปรุงระบบไปสู่สิ่งที่ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แนะนำ การศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในเวลาปกติ หรือนอกเวลา แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการศึกษาเล่าเรียนในขณะที่มีงานที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพควบคู่ไปด้วย จึงต้องมีการจัดแบ่งเวลา และบริหารเวลาอย่างเหมาะสม และขณะเดียวกัน เรียนอะไรแล้ว ต้องฝึกนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานไปด้วย ดังคำที่ว่า - Learning by doing. |
กิจกรรม
การสมัครเป็นสมาชิกของโครงการ “พัฒนาคุณภาพการศึกษา” (Education Quality Improvement – EQI) โดยไปที่ Website: www.itie.org/eqi/ และทำกิจกรรมต่อไปนี้
- สมัครเป็นสมาชิกใหม่ เพื่อให้ได้ Login และมี Password ของตนเอง
- เข้าไปใช้งานในครั้งแรก โดยต้องมี Login และ Password ที่ถูกต้อง โครงการจะอนุญาตให้คนเข้าไปนำเสนองานและความคิดเห็นต่างๆ ได้ด้วยต้องลงทะเบียน สมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
- ปรับแก้ข้อมูลส่วนตัวที่สมบูรณ์ อย่าลืมต้องใส่ Signature รายละเอียดส่วนตัว ชื่อภาษาไทย ชื่อภาษาอังกฤษ หน่วยงานหรือสถานภาพ E-mail Address ที่สามารถติดต่อได้ แล้วอย่าลืม Click ในคำสั่งให้ต้องแสดง Signaturre ทุกครั้งที่นำเสนอบทความ เสวนาและข่าวสาร
- ดูตัวอย่างที่เมื่อใส่ Signature แล้ว จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับตนเองปรากฏในทุกข้อความที่นำเสนอ คล้ายกับต่อไปนี้
ประกอบ คุปรัตน์ Pracob Cooparat, Ph.D. |
4. การแนะนำตนเอง ให้ทุกคนเข้าไปใน แล้วเขียนแนะนำตนเองในลักษณะของการเขียน Resume หรือที่เรียกว่า Biodata ทั้งนี้ท่านอาจจะไม่ใส่โทรศัพท์ที่เป็นส่วนตัว เช่น Mobilephone Number, บางคนอาจใส่รายละเอียดเพื่อให้คนสามารถติดต่อไปที่ทำงานได้ บางคนอาจจะสงวนไว้ บางคนหากต้องการสงวน Identity ส่วนตัวเอาไว้ ต้องแจ้งให้ผู้สอนทราบ
- ให้ใส่ Titile ว่า “แนะนำตนเอง – ประกอบ คุปรัตน์” ดังนี้เป็นต้น
- การนำเสนอต้องให้เป็นงาน Original ต้องการเห็นงานที่เป็นการค้นคว้า แปล หรือเรียบเรียงขึ้นเองเป็นอันดับแรก หากเป็นงานที่ได้คัดลอกบางส่วนมาจากที่อื่นๆ ต้องใส่แหล่งที่มาอย่างถูกต้อง การไปคัดลอกงานที่อื่นๆ มานำเสนอโดยไม่แจ้งแหล่งที่มานั้นผิดจรรยาบรรณทางวิชาการ และมีความผิดตามกรอบกฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญญา
- การนำเสนอบทความหรือเขียนกรณีศึกษา (Case Study) ต้องเน้นการเลือกกรณีที่ตนเองเกี่ยวข้อง เช่นศึกษาเกี่ยวกับหน่วยงานของตนเอง โรงเรียนที่ตนเองสอนหรือบริหารงานอยู่
การทุจริตในการลอกเลียนงานวิชาการโดยประกอบ คุปรัตน์ Keywords: pp001 การบริหารการศึกษา การบริหารวิชาการ การทุจริตในการลอกเลียนงาน (Plagiarism) เป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมาย ในการเรียนในระดับสูงยิ่งขึ้นไปนั้น มักจะใช้วิธีการวัดความสามารถด้วยการให้ทำงานนั้นๆ ในที่อื่นๆ นอกห้องเรียนได้ เช่นเป็นงานภาคนิพนธ์ (Term Paper) หรือดูที่งานวิทยานิพนธ์ (Thesis) และเมื่อเป็นการทำนอกสถานที่ๆ ไม่สามารถไปควบคุมได้ว่าผู้ทำงานนั้นได้งานมาอย่างไร ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการริเริ่มเอง หรือไปลอกงานคนอื่นๆ มา เรื่องนี้เป็นปัญหาทางงานวิชาการ และในบางกรณีมีผลไปถึงงานอื่นๆ เมื่อนำงานนี้ไปใช้และอ้างอิงกลับมายังงานดั้งเดิม ทุกสถานศึกษาต้องมีความจริงจังในเรื่องนี้ เพราะการลอกเลียนงาน (Plagiarism) ในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อแวดวงวิชาการ เป็นการทำให้ความน่าเชื่อถือของการศึกษาเป็นเรื่องที่เสียหาย และจะมีผลลบต่อสถานศึกษาที่ได้ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ในแวดวงวิชาการไทยในการศึกษาปริญญาขั้นสูง ในปัจจุบันมีบุคคลและหน่วยงานเอกชน นอกระบบรับทำงานวิชาการให้กับบุคคลต่างๆ ที่ต้องการทางลัด ก้าวหน้าทางวิชาการอย่างง่ายๆ การลอกเลียนงานนี้มีราคาตั้งแต่เป็นพันบาท จนเป็นหมื่น และแสนบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณทางวิชาการ และเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการ ปัญหาเช่นนี้บ่อนทำลายค่านิยมอันดีงามในประเทศและสังคมทั่วโลก ย้อนไปดูในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขามีค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์และการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาด้านการทุจริตทางวิชาการเช่นนี้ก็มีอย่างแพร่หลาย โดยได้มีการสำรวจพบว่าร้อยละ 36 ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ใช้งานลอกเลียนส่งอาจารย์ผู้สอน และจากรายงานของ US News และ World Report พบว่างานร้อยละ 90 ของนักศึกษาเชื่อว่าการโกงนี้ไม่สามารถจับได้ และไม่ได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสม หน่วยงานชื่อ Generation and the Nex ได้กล่าวว่ามีร้อยละ 58.3 ของนักเรียนมัธยมศึกษาได้รับว่าได้เคยให้งานเพื่อนไปลอกในปี ค.ศ. 1969 และในปี ค.ศ. 1989 หรือ 20 ปีให้หลังพบว่าร้อยละ 97.5 ได้ยอมรับในลักษณะเดียวกัน ในการศึกษาของ Ronald M. Aaron และ Robert T. Georgia ได้ศึกษาฝ่ายบริหารจัดการความไม่ซื่อสัตย์ในสถาบันอุดมศึกษา จากการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารงานด้านนักศึกษา 257 คนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในสหรัฐเองไม่ได้ใส่ใจต่อปัญหาดังกล่าวอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จากการศึกษาของ Gallup Organization ซึ่งเป็นสำนักสำรวจ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 หรือประมาณ 6 ปีมาแล้ว ได้กล่าวถึงปัญหาสำคัญ 2 ประการในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ (1) การศึกษา และ (2) วินัยและศีลธรรม ซึ่งทั้งสองด้านนี้ คนให้ความสำคัญสูงกว่าปัญหาด้าน อาชญากรรม ยาเสพติด การจัดเก็บภาษี การมีปืนในครอบครอง สภาพแวดล้อม และปัญหาการถือผิวในประเทศ จากการศึกษาในระดับชาติของสหรัฐ และตีพิมพ์ใน Education Week พบว่าร้อยละ 54 ของนักเรียนได้รับว่าได้ทำการลอกเลียนงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 74 รับว่าอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงการเรียนในปีที่ผ่านมาได้มีการกระทำดังกล่าว และร้อยละ 47 เชื่อว่าครูอาจารย์ของเขาได้เลือกที่จะไม่ใส่ใจกับปัญหาการทุจริตดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วครูอาจารย์ต่างตระหนักว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรง แต่เขาก็คิดว่ามีอำนาจน้อยไปที่จะไปหยุดสิ่งเหล่านี้ ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย หากระบบการศึกษายังอาศัยการจัดสอบในห้องเรียน วิธีการวัดความสามารถในขั้นสูง เช่น ความคิดริเริ่ม การทำงานเป็นกลุ่ม การคิดซับซ้อนที่ต้องใช้เวลา และต้องอนุญาตให้ใช้การคนคว้านอกห้องเรียน และทำงานส่ง ดังนี้เป็นการเปิดโอกาสในการทุจริต เมื่อนักเรียนนักศึกษาต้องการทำงานให้ดีที่สุดในสายตาครูอาจารย์ แต่ระบบการให้ทำงานนอกชั้นเรียนนั้น เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในโลกแท้จริงนั้นปัญหามิได้มีเหมือนกับระบบสอบแบบกระดาษและดินสอ หรือการพิสูจน์ความสามารถในห้องที่ไม่มีอะไรเลย และให้เวลาในการทำงานเพียง 1-3 ชั่วโมง ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ความจำเป็นหลัก จำได้เพียงใด ก็นำไปตอบได้ตามที่จำมาได้ โลกยุคใหม่มีข้อมูลต่างๆ มากมายที่ผู้เรียน และคนทำงานในโลกความเป็นจริง มีสิทธิที่จะไปศึกษา เลือกหา เราจะทำอย่างไรกับปัญหาทางสองแพร่งเช่นนี้ เลือกใช้การสอบในแบบเดิมที่เป็นแบบกระดาษและดินสอ (Paper and Pencils) ไม่ให้นำอะไรเข้าชั้นเรียนเลย หรือจะให้สอบในวิธีการจำลองชีวิตจริง การให้ทำงานส่ง การทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเปิดช่องให้มีการทุจริตกัน เรามีทางเลือกอื่นๆ อีกไหม _________________ ประกอบ คุปรัตน์ Pracob Cooparat, Ph.D. |
แบบสำรวจวิธีการเรียนและทำงาน
หากท่านต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงานในยุคใหม่ ลองปฏิบัติตนดังนี้
กิจกรรมและความสามารถ | Yes | No |
1. สอบความสามารถด้านภาษาผ่าน TOEFL, หรือ CU-TEP ด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 500 คะแนน |
|
|
2. สอบความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ดัง ICDL ผ่านได้อย่างน้อย 4 จาก 7 โมดูล |
|
|
3. สามารถพิมพ์งาน (Keyboard Skills) ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พิมพ์สัมผัสได้อย่างถูกต้อง |
|
|
4. พิมพ์งานภาษาไทยด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 20 คำต่อนาที (WPM) |
|
|
5. พิมพ์งานภาษาอังกฤษด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 20 คำต่อนาที (WPM) |
|
|
6. ใช้เวลาในทุกสัปดาห์อย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้วยตนเองนอกชั้นเรียน |
|
|
7. ฝึกทักษะงานเขียน/พิมพ์งาน ที่ต้องเขียนขึ้นเอง (ไม่ใช่ไป Copy หรือ Cut & Paste) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 หน้ากระดาษ |
|
|
8. เขียนผลงานวิชาการ บทความที่มีความเป็น Originality เป็นงานที่มีคุณภาพที่ตนเองพอใจได้อย่างน้อยปีละ 3 เรื่อง |
|
|
9. ได้จัดทำ Reading Logs เก็บงานวิชาการ ข้อค้นพบ และบันทึกแหล่งที่มาของข้อมูลดังกล่าวจนเป็นนิสัย |
|
|
10. สามารถใช้โปรแกรมการคำนวณอย่างง่ายๆ ด้วยเครื่องมืออย่าง MS Excel สามารถใส่สูตรการคำนวณได้อย่างถูกต้อง |
|
|
No comments:
Post a Comment