Saturday, October 23, 2010

เทคโนโลยีน้ำ (Water Technology)

เทคโนโลยีน้ำ (Water Technology)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียง

Keywords: cw092, เทคโนโลยี, น้ำ, water management, การบริหารน้ำ

เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำ

ในประเทศไทยมีคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ หรือแสดงให้เห็นว่าได้มีการเตรียมการณ์เพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อันเกี่ยวกับน้ำ หลายอย่างเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง บางอย่างเป็นเพราะมนุษย์เราไม่มีความเข้าใจเรื่องน้ำอย่างเพียงพอ จึงได้รับผลร้ายจากน้ำ หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างเต็มที่

ผมขอให้คำจำกัดความของ เทคโนโลยีน้ำ (Water Technology) คือสหวิทยาการ ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของน้ำและสภาพแวดล้อม และสามารถใช้โอกาสของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียุคใหม่ ที่จะทำให้มนุษย์ได้ดำรงอยู่และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน (Sustainable development)

น้ำเกี่ยวข้องกับหลายๆมิติของชีวิตและธรรมชาติ การที่เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้ จึงทำให้เราต้องใช้หลายๆวิทยาการอย่างประสมประสาน (Interdisciplinary approach) เป็นการยากที่จะมีคนๆเดียวที่จะรู้ไปในทุกเรื่อง น้ำจึงเป็นปรากฏการณ์เหมือน ตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างรู้กันเฉพาะจุด ต่างมีผลประโยชน์เฉพาะด้านของตน จึงทำให้การตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถยังประโยชน์ต่อส่วนรวมที่กว้างขวาง มีเป็นอันมากที่เมื่อทำอย่างหนึ่ง แล้วไปก่อให้เกิดปัญหาในอีกด้านหนึ่ง ดังเช่น การสร้างถนน แต่ถนนไปปิดทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมในหลายๆเขต แม้ก่อนหน้านั้น น้ำท่วมไม่เคยเป็นปัญหามาก่อน

ช่วงนี้ (ปลายตุลาคม พ.ศ. 2553) คนไทยแทบกระอักด้วยเรื่องน้ำ นอนหลับอยู่ ได้ยินคำว่า "น้ำ" ก็ต้องตกใจตื่น กลัวน้ำท่วม เพราะหลายพื้นที่ในไทย มีสภาพปริ่มน้ำ หากน้ำท่วมจะยังให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะไม่ได้มีมาตรการณ์แก้วิกฤติอย่างเป็นระบบ อาจเป็นด้วยในช่วงเวลานี้ เราต้องแก้ปัญหาหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน และไม่มีเวลาที่จะคิดอะไรอย่างเตรียมการณ์ หรือคิดแบบล่วงหน้า (Proactive Thinking)

น้ำเป็นทั้งคุณและโทษ และน้ำในโลกก็มีหลายลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามภูมิภาคและช่วงเวลา บางแห่งในโลกขาดแคลนน้ำ เรียกว่าเป็นเขตแล้ว หรือ Arid land บางที่นับเป็นปีๆ ไม่เคยมีฝนตก บางแห่งมีน้ำมาก น้ำจืด (Fresh water) เจิ่งนองตลอดปี ดังเช่นในเขตที่ลุ่มต่ำ เรียกว่า Swamp หรือ Bayou มีไม้รก

ลองมาทำความเข้าใจด้วยเรื่องน้ำ และการจัดการน้ำกันหน่อยนะครับ

ในโลกนี้มีน้ำรวม 100 ส่วน เป็นน้ำเค็มเสีย 97 ซึ่งมีอยู่ในทะเลและมหาสมุทร มีที่เป็นน้ำจืดเพียงร้อยละ 3

ในน้ำจืดที่มีน้อยนิด ร้อยละ 30.1 อยู่ใต้ดิน ซึ่งก็ยากที่จะใช้ประโยชน์นอกจากใช้พลังงานจัดการสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์ อีก 68.7 เป็นพวกน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็ง มีน้ำจืดที่ผิวพื้นไม่ถึงร้อยละ 1 น้ำที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายๆที่สุด คือน้ำที่บริเวณพื้นผิวของโลก

ในน้ำจืดทั้งโลก ร้อยละ 2 อยู่ในแม่น้ำ ร้อยละ 11 ในที่ลุ่ม หนองบึง อีกร้อยละ 87 อยู่ในทะเลสาบ (Lakes)

น้ำจืดอย่างที่กำลังท่วมไทยอยู่นี้ (ตุลาคม พ.ศ. 2553) เป็นทรัพยากรที่หายาก และต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุด และต้องมีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บน้ำ มีระบบสำรองยามน้ำมากเกิน และยามน้ำขาดแคลน

ไทยต้องบริหารน้ำ เก็บน้ำจืด ด้วยหลายวิธีการ ทั้งที่พึ่งธรรมชาติ และมนุษย์ต้องลงทุนลงแรงเพื่อพัฒนา และเพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้มากและเหมาะสมที่สุดตลอดปี

โลกก็เป็นอย่างนี้แหละ มันเต็มไปด้วยความมากไป น้อยไป ช่วงนี้เทวดาใจดี ให้น้ำเกิน แต่ต้องคิดถึงช่วงที่น้ำจะน้อยมาก แล้วเราต้องบริหารจัดการทั้งในช่วงมีน้ำมาก และช่วงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่และพัฒนาได้อย่างมีความยั่งยืน

ในบทความนี้ ผมเขียนขึ้นโดยหวังเปิดประเด็น เริ่มจากชาวบ้าน ชาวเครือข่ายสังคม (Social Network) แล้วมาขยายความคิดต่อ ส่งความเห็นไปยังคนในภาครัฐ ในมหาวิทยาลัย ที่จะต้องช่วยกันคิด และคิดอย่างไม่ต้องหวังไปพึ่งฝรั่งเสียทั้งหมด เพราะปัญหาของเราและเขานั้น มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เราควรระดมความคิด ความรู้ และประสบการณ์จากที่เรามีอยู่ในประเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และโอกาสใหม่ๆ แทนที่จะเห็นแต่เพียงปัญหา และตกใจไม่ได้คิดทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว

ขอเชิญนะครับ มีความเห็นอะไรแสดงมาได้

No comments:

Post a Comment