สุภาษิตจีน - หมึกที่จาง ก็ยังดีกว่าใช้เพียงความจำ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
กาพ การทำงานใดๆ ต้องรู้จักบันทึก (Notes) หากใช้เพียงความจำ เราอาจลืมได้
มีสุภาษิตจีนหนึ่งกล่าวว่า “หมึกที่จาง ก็ยังดีกว่าใช้ความจำ” ซึ่งมีผู้แปลเป็นอังกฤษว่า “The palest ink is better than the best memory.”
การเข้าร่วมประชุม มีคณะกรรมการที่ประชุมกัน เสร็จแล้ว หากเป็นการประชุมที่ไม่มีการจดรายงานการประชุม ต่างคนต่างพูด แต่ไม่มีใครสักคนที่จะบันทึก สิ่งที่ได้พูดคุยกันนั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีบันทึกรายงานการประชุมอย่างเป็นหลักเป็นฐาน
ในการประชุมที่ดี และดำเนินการอย่างเป็นทางการนั้น จะต้องมีจดหมายเชิญประชุม มีสิ่งที่เขาเรียกว่า Agenda หรือวาระการประชุม
การประชุม ต้องมีเลขานุการการประชุมที่ดี ที่ต้องรู้จักการบันทึก ซึ่งทำได้สองอย่าง คือบันทึกทุกคำพูด แล้วนำมาเรียบเรียง อีกด้านหนึ่งคือการบันทึกในส่วนเนื้อความหลัก ตัดส่วนที่เป็นน้ำๆออกไป การประชุมที่ดีจึงต้องมีเลขาการประชุมที่มีประสบการณ์ รู้ว่าอะไรควรจะต้องบันทึก และเมื่อต้องมีการตกลงกัน ก็ต้องมีการทวนความว่าเห็นพ้อง และเข้าใจตรงกัน และมีการตัดสินใจไปในแนวทางใด
การประชุมเป็นเรื่องของการต้องจัดทำเอกสาร และต้องมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เมื่อมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น ก็ต้องย้อนกลับมาดูในเอกสารต่างๆที่ได้เคยบันทึกเอาไว้
การรับรองรายงานการประชุม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังการประชุมในคณะกรรมการที่ต้องมีการประชุมต่อเนื่อง หลายครั้งหลายคราว การประชุมครั้งก่อนได้มีการพูดกันในเรื่องใด และมีการตัดสินใจกันไปอย่างไร ก็ต้องรับรองรายงานการประชุมในครั้งต่อไป หากมีอะไรที่จดความผิดไป เข้าใจไม่ตรงกัน ก็ต้องแก้ไข และรับรองรายงานการประชุมไป คนที่จะทำงานในรูปแบบองค์การ หรือคณะกรรมการจึงต้องเรียนรู้ที่จะบันทึกการประชุมอย่างเป็นระบบ
คนบางคนมีแนวโน้มเป็นคนชอบทำ (Action Oriented) ไม่ค่อยชอบจดจำอะไรอย่างเป็นระบบ เหมือนพ่อค้าแม่ค้า ในแต่ละวันค้าขายอะไรไปบ้าง ก็ไม่ต้องรู้ มีเงินได้ก็เก็บใส่ลิ้นชัก จะจ่ายก็ควักจากลิ้นชัก เมื่อไม่มีการบันทึก ก็ต้องอาศัยความจำ เวลามีปัญหา ต้องการกลับไปศึกษาว่าได้กระทำอะไรถูกต้องหรือผิดพลาด ก็ไม่รู้ จะให้ที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา เขาก็ไม่รู้จะทำอะไรได้ เพราะไม่มีข้อมูลที่จะให้เขาวิเคราะห์ ดังนี้เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง
ในทางการศึกษา นักวิจัยจะถูกสอนให้ต้องบันทึกในสิ่งที่ได้พบเห็น พบอะไรเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ก็ต้องบันทึกเอาไว้ หากบันทึกไม่ทัน ก็ใช้การอัดเทป หรือบางทีมีการถ่ายภาพเก็บเป็นการประมวลความจำเอาไว้ด้วย เพื่อท้ายสุดจะได้นำกลับมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ แต่การบันทึกในลักษณะดังกล่าว
ในโลกยุคใหม่ เรามีวิธีการบันทึกเสียง การเก็บเป็นรูปภาพ หรือเสียง หรือภาพเคลื่อนไหว หรือจะบันทึกข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ที่เรียกว่าร GPS เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการบันทึกในอีกลักษณะที่แตกต่างกัน แต่โดยหลักการแล้ว ก็คือหลักของการต้องบันทึก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น จึงสรุปบทเรียนหนึ่งสำหรับคนที่จะต้องทำงานในองค์การ การศึกษาเล่าเรียน การทำวิจัย หรือจะเป็นคนบริหารคน ล้วนต้องรู้จักใช้การบันทึก (Memo, Recording, etc.) ที่จะต้องบันทึกอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย จัดเก็บอย่างเป็นระบบได้ ทั้งนี้จะด้วยเราต้องทำเอง หรือให้คนอื่นที่เรามอบหมายให้ทำอย่างเป็นระบบก็ตาม
ดังนั้น ความหมายของผู้ใหญ่ที่บอกว่า “หมึกที่จาง ก็ยังดีกว่าใช้ความจำ” พึงเป็นแนวทางให้คนรุ่นหลัง ได้ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากการบันทึกๆๆ และในรูปแบบที่แม้อาจแตกต่างไปจากเขียนด้วยหมึกในสมัยเดิม
No comments:
Post a Comment