การเรียนออนไลน์แบบประสมประสาน
(Mixed Mode Learning)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Updated: Sunday, November 01, 2009
Keywords: CW154, การบริหาร, การจัดการ, การเรียนการสอน
ความนำ
ต่อไปนี้เป็นรายงานการวิจัยในชั้นเรียนอย่างง่ายของ รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ผู้ได้ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบประสมประสาน (Mixed Mode Learning) โดยเลือกรายงานการดำเนินการเรียนการสอนที่ได้ทำขึ้นในช่วงเวลา 1.5 ปี ในการสอนวิชาระดับดุษฎีบัณฑิต ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงปี พ.ศ. 2548-2551
สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่จะได้เริ่มขึ้นในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2549 จะได้เริ่มให้ใช้วิธีการดังกล่าวนี้ในทุกวิชาที่สอน และทั้งหลักสูตร เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนที่ทั้งหมดเป็นการเรียนนอกเวลาราชการ และบางคนมีสถานที่พักและที่ทำงานห่างไกลจากสถานศึกษากว่า 450 กิโลเมตร หากต้องเดินทางไปกลับ ก็จะต้องเดินทางประมาณ 1000 กิโลเมตร ต่อสัปดาห์
รายละเอียดของหลักสูตร หาดูได้จาก www.srru.ac.th/leadership/
สำหรับรายงานการดำเนินการ จะได้เขียนเล่าให้ผู้สนใจได้รับทราบ หากท่านต้องการเอกสารนี้ หรืออื่นๆ ติดได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
E-mail: pracob@sb4af.org
รายวิชา
รายวิชา 2706803 การวิเคราะห์รูปแบบการปฏิบัติการในการบริหารการศึกษา สาขาวิชาบริหารการศึกษา (2706803 Operation Analysis of Educational Administration) เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตฯ สำหรับผู้เรียนในเวลาราชการ และนอกเวลาราชการ ภาควิชานโยบาย การจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้มีการสอนโดยผู้สอน รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ตั้งแต่ภาคปลาย ปีการศึกษา 2548 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวน 9 รุ่น แต่ละรุ่นมีผู้เรียนและสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะต่างกัน มีจำนวนผู้เรียนในกลุ่มเรียนในเวลาปกติ จำนวนต่ำสุด 4 คน และจำนวนสูงสุด 25 คนในภาคนอกเวลาราชการ รูปแบบการเรียนการสอนได้มีการปรับให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้านเวลาเรียน กลุ่มผู้เรียน และอื่นๆที่ต่างกัน
1. หลักการที่ใช้
Anyone, Anywhere, and Anytime หมายความว่า ใครก็ได้ เรียนที่ใดก็ได้ และเมื่อใดก็ได้
การเรียนการสอนในระบบออนไลน์แบบประสมประสานนี้ เป็นความร่วมมือจาก สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Information
website: www.itie.org/eqi/ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Education Quality Improvement Project – EQI) ดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เปิดให้ใช้เพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในแบบเปิด
2. การเรียนในชั้นเรียน
ยังมีระบบการเรียนในชั้นเรียนเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Teacher-Led Learning เรียน 16 สัปดาห์ๆละ 3 ชั่วโมง รวม 48 ชั่วโมง ตามวันเวลาที่กำหนด
เรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หรือ 13.00-16.00 น. นับว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเรียนในเวลา 18.00-21.00 น. ของวันศุกร์ ซึ่งในเวลาดังกล่าวที่เป็นวันปกติ ผู้เรียนหลายคนต้องขับรถหรือเดินทางมาไกล เมื่อประกอบกับความเหนื่อยในการทำงานเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ จึงมีสภาพความล้ามาก สังเกตได้ แต่สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์นั้น ผู้เรียนมีเวลาเรียนและมีช่วงพักผ่อน นอนพอได้ตามปกติ
ในการเรียนในชั้นเรียน ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยภาคปกติบังคับให้มีเวลาเรียนร้อยละ 80 จึงจะมีสิทธิสอบ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการพัฒนาเป็นรูปแบบประสมที่ยอมรับได้สมบูรณ์แล้ว สามารถลดการบังคับเวลาเรียนให้เหลือร้อยละ 60 เพราะเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ในระบบออนไลน์ด้วยตนเองนั้นจะมีได้มากขึ้น สะดวกขึ้น
3. การเรียนออนไลน์
ใช้หลัก Anywhere - ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้จากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือหรือที่ใดๆ ก็ได้ เช่น มีเวลาว่างตาม Cyber Cafe ก็สามารถเข้ามาใช้เวลาทำกิจกรรม
ใช้หลัก Anytime – เรียนในเวลาใดๆ ก็ได้
เรียนได้ตลอดเวลาเพียงมีเวลา 15-30 นาทีก็สามารถเข้ามาทำกิจกรรมออนไลน์ได้ สำหรับการเรียนออนไลน์นั้น คาดหวังให้ผู้เรียนหาเวลาว่างในแต่ละสัปดาห์ 1-3 ชั่วโมง เพื่อเข้ามานำเสนอและร่วมกิจกรรมเรียนออนไลน์ หรือประมาณว่าร้อยละ 40 ของกิจกรรมการเรียนเป็นการเรียนออนไลน์ จึงเรียกระบบนี้ว่า 60 : 40 คือเรียนในชั้นเรียนร้อยละ 60 และเรียนออนไลน์ร้อยละ 40 ของเวลา
Website ที่ให้ผู้เรียนเข้าใช้งานหลักคือ www.itie.or/eqi/ ชื่อ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” (Education Quality Improvement Project – EQI) ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Information
4. ลักษณะผู้เรียน
ผู้เรียนที่ได้ศึกษาจากการนำเสนอ และซักถาม เกือบทั้งหมดมีลักษณะดังต่อไปนี้
มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้เป็นการส่วนตัว ที่บ้าน และที่ทำงาน บางส่วนได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ Laptop เพื่อใช้ในการเรียน เมื่อได้รับการเข้าศึกษาต่อ
เกือบทั้งหมดมี Internet ทั้งความเร็วปกติ และความเร็วสูงใช้ที่บ้าน
จากการศึกษาทั้งผู้เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วง 40-50 ปี และมีบางส่วนอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และในอีกด้านหนึ่งมีผู้ที่มีอายุ 30 -40 ปีขึ้นไป แต่ทั้งหมดมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และ Keyboard ที่ต่างกัน ผู้เรียนกลุ่มมีอายุน้อย มักจะมีทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์มากกว่า
ข้อสังเกต ด้วยความที่ทักษะพื้นฐานก่อนเรียนมีความสำคัญ จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตรเสริมให้กับผู้เรียน โดยที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ได้มีการจัดบริการเสริมวิชา Student Capacity Enhancement (SCE) โดยเป็นการเรียนในแบบทั้งในชั้นเรียน การเรียนอิสระ และระบบเรียนออนไลน์ โดยเปิดสอนให้กับผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นสูง หรือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน โดยสำหรับผู้เรียนในหลักสูตร จะได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียนในวิชานี้ ซึ่งเป็นวิชาไม่นับหน่วยกิต แต่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ โดยใช้มาตรฐาน TOEFL หรือ CU-TEP เป็นเกณฑ์ และมาตรฐานคอมพิวเตอร์ ใช้ International Computer Driving License (ICDL) เป็นเกณฑ์ |
ประเด็นของการมีเครื่องมือในการเรียนนั้น จากการติดตามผู้เรียนในชั้นเรียน ผู้เรียนเกือบทั้งหมดมีความสามารถที่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือมี Laptop ที่สามารถนำติดตัวไปเรียนในที่ต่างๆ หรือไปทำงานในที่อื่นๆ นอกจากที่บ้านหรือที่ทำงานได้ ประเด็นของสถานศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้หรือลดปัญหาดังต่อไปนี้
เครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น (Internet Network) ต้องมีให้ผู้เรียนได้ใช้อย่างเพียงพอ แต่ในชั้นเรียนนั้น พบว่าในบางช่วงเวลา จะมีปัญหาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีความช้า หรือหลุดขาดเป็นประจำ นั่นเป็นธรรมชาติของมหาวิทยาลัยที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อเป็นเครือข่ายหลายร้อยหรือหลายพันเครื่อง เมื่อนิสิตนักศึกษาใช้กันเป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ก็จะเกิดปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบ
การแก้ไขสำหรับระบบการสอนในชั้นเรียน ที่ยังต้องใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้และสาธิต
เครื่องและโปรแกรมสำหรับผู้สอน มักจะมีปัญหาด้าน Virus เพราะเป็นเครื่องที่มีประจำในห้องสอน แต่เมื่อมีการนำ Files จากที่ต่างๆ มาใช้งาน จึงทำให้เกิดการรับและถ่ายทอด Virus ปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาวิธีการแก้ไขในทางเทคนิค หรือมิฉะนั้น ผู้สอนต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ Laptop ติดตัวมา และทางสถาบันฯ ต้องมีคนคอยช่วยงาน หรือที่เรียกว่า Help Desk หรือ ICT Supporting Staff เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้สอนที่จะใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การใช้ห้องเรียนแบบเปิด (Open Classroom)
การใช้หลัก Anyone ใครก็ได้ มีสิทธิเข้ามาร่วมเรียน และใช้บริการเพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ของตนอย่างรับผิดชอบ
เปิด Forum ของวิชา โดยแจ้งทาง Webmaster ผู้ดูแลระบบของโครงการ
Forum หลักที่เป็นสำหรับวิชานี้คือ
การใช้งาน ไม่เสียค่าใช้จ่าย สะดวก เพราะเป็นความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ITIE) และเป็นโครงการในขันทดลอง
ครูอาจารย์ผู้สอน ใครๆ ก็เข้าใช้งานได้ เพราะเป็นระบบเปิด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีสมาชิกเข้ามาร่วมนำเสนอและใช้งานที่ส่วนใหญ่เป็นครู อาจารย์ ผู้เรียนรู้การเรียนการสอนแนวใหม่กว่า 400 รายทั่วประเทศ
6. การใช้ PHP-Nuke เป็นระบบจัดการ
Website “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” (Educationa Quality Improvment Project – EQI) นี้ เลือกใช้โปรแกรมจัดการ Website มีชื่อว่า PHP-Nuke ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการในแบบ Shareware ไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ข้อแตกต่างจาก Website ในแบบ Static คือมี Webmaster 1 คน หรือน้อยคน เข้ามาทำหน้าที่ปรับปรุง ใส่ข้อมูลใหม่ ลบข้อมูลเก่า ซึ่งในระบบนี้ต้องพึ่ง Webmaster หรือผู้ดูแลระบบมาก เพราะจะทำอะไรก็ต้องส่งข้อมูลผ่าน Webmaster นั้น
EQI Website นี้ เป็นลักษณะ Dynamic Homepage เป็นระบบที่หลายๆ คนสามารถเข้าใช้งานได้ตามลำดับ เช่น เป็น (1) System Administrator, (2) เป็นผู้ดูแลแต่ละส่วนงาน ดังเช่นอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชา (3) เป็นผู้ใช้ระดับ Registered Users และ (4) เป็นผู้สนใจทั่วไปเข้าดูงานเฉยๆ ก็สามารถทำได้
7. ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเข้าใช้งาน
สำหรับบุคคลทั่วไป จะเข้ามาเยี่ยมชม หรือค้นคว้าหาข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด แต่สำหรับผู้เรียนที่ต้องการเข้ามาเรียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต้องขอให้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก
สำหรับในการเรียนการสอนวิชานี้ ได้แนะนำให้ผู้เรียนทุกคนเข้ามา ต้องลงทะเบียนก่อน เพื่อสามารถใช้สิทธิในการนำเสนองานต่างๆ ได้
ในการใช้งาน ผู้เรียนต้องมีการ Login และใส่ Passwords และขณะเดียวกัน เมื่อเรียนเสร็จแล้ว ต้องมี Logout เพื่อบันทึกการออก และป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้งานในชื่อของตน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย เช่นเข้ามาลบงาน หรือเขียนงานที่ไม่รับผิดชอบได้
การต้องให้ใส่ Signature ทำให้งานแต่ละส่วนที่นำเสนอนั้น ต้องมีชื่อคนแสดงความรับผิดชอบ ในวิชานี้และเช่นเดียวกับชุมชนออนไลน์ ส่งเสริมการให้นำเสนอความคิดความเห็นได้อย่างเสรี แต่ต้องรับผิดชอบต่อความคิดและข้อเสนอนั้นๆ
ตัวอย่าง Signature
_________________
ประกอบ คุปรัตน์ Pracob Cooparat, Ph.D.
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
(SpringBoard For Asia Foundation – SB4AF)
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5, โทรสาร 0-2354-8316
E-mail: pracob@sb4af.org
8. ผู้สอนขอเปิด Forum การเรียนในวิชานี้
ผู้สอนขอเปิด Forum เฉพาะสำหรับวิชา ซึ่งมีวิชาต่างๆ ที่เปิดฝึกอบรม และจัดการเรียนการสอนมาใช้งานกว่า 20 รายการ เป็นบริการไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นระบบห้องเรียนแบบเปิด คนอื่นๆที่ไม่ได้เรียนในวิชานี้ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอได้เช่นกัน
สำหรับผู้สอนในวิชาต่างๆ ก็สามารถขอใช้บริการได้ โดยติดต่อไปนี้ ITIE
9. ผู้เรียนเข้าใช้ส่วนของ “เสวนาและข่าว” (Webboard)
ผู้เรียนสามารถเข้ามานำเสนอได้ในรูปของ “กระทู้ใหม่” หรือเป็นการ “ตอบกระทู้” ที่ได้มีการนำเสนอไปแล้ว กิจกรรมส่วนนี้โดยทั่วไปในภาษาอังกฤษเรียกว่า Webboard หรือบางแห่งเรียกว่า กระดานข่าวและความคิดเห็น คือใครๆ ก็เข้ามาเสนอได้ และเสนอในเวลาใดก็ได้
Webboard หรือบางทีก็เรียกว่า กระดานข่าว คือกิจกรรมที่มี 1 คนนำข้อความใดๆ ก็ได้ไปนำเสนอ แล้วทุกคนสามารถเข้ามาอ่านได้ เหมือนครั้งหนึ่งในประเทศจีนมีหนังสือพิมพ์ประเภท อยากเขียนหรือนำเสนอะไร ก็เขียนลงในกระดาษ แล้วนำไปปะติดข้างกำแพง ใครผ่านไปผ่านมา ก็สามารถเข้ามาอ่านได้
กระทู้แรกที่ผู้เรียนทุกคนต้องเข้ามานำเสนอคือ ให้นำเสนอ “แนะนำตนเอง” หรือให้เข้ามาเขียนแนะนำตนเอง อย่างที่เรียกว่า Resume หรือ Biodata การที่มีข้อมูลนี้ทำให้ผู้สอนจำผู้เรียนได้ว่าเขาคือใคร และมีพื้นฐานมาอย่างไร ช่วยทำให้เข้าใจผู้เรียน รู้จักผู้เรียนได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบเปิด คนอื่นๆ ต้องการแสดงความคิดเห็นตอบโต้ ก็สามารถกระทำได้ ผู้เขียนแต่ละคน ก็ต้องนำเสนออย่างตรวจสอบตนเอง และต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ซึ่งจะแตกต่างจาก Webboard หลายแห่งที่ผู้ใช้ไม่ต้องแจ้งตนเอง เป็นลักษณะนิรนาม มีข้อดีก็จริง แต่จะทำให้มีคนประเภทที่ต้องการระบายอารมณ์เข้ามานำเสนอด้วยข้อความหยาบคาย ด่าว่า หรือนำเสนออย่างไม่รับผิดชอบ
ทักษะในการนำเสนอนี้ ผู้สอนเน้นให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมที่ต้องหัดเขียนข้อความต่างๆ เองให้มาก เป็นการฝึกเขียนเพื่อนำเสนอ เพราะจากประสบการณ์ มีเป็นอันมากที่ผู้เรียนมักจะขาดทักษะในการเขียนและการเรียบเรียง เวลาพูดในชั้นเรียนจะพูดได้ เพราะกลุ่มครูและนักบริหารที่อยู่ในระบบการศึกษานี้จะมีทักษะการพูดอยู่แล้ว แต่ทักษะการเขียน เขียนอย่างเรียบเรียงนั้น ยังต้องมีการพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่
10. ผู้เรียนเข้าใช้ส่วนของบทความ (Essays)
ส่วนของการนำเสนอบทความ หรือ Essay นั้น ต้องการให้ผู้เรียนเมื่อเขียนงานใดๆ แล้ว ให้ต้องฝึกที่จะนำเสนอออนไลน์ ทั้งนี้โดยได้ฝึกให้ผู้เรียนที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พื้นฐานมาแล้ว ได้ใช้งาน Editing Tools อย่าง MS Word, MS FrontPage, หรือ DreamWeaver เพื่อการจัดทำเอกสารในรูป HTML สามารถนำเสนอผ่านเครือข่ายได้โดยไม่ยาก
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องใช้เวลาในการฝึกสักระยะหนึ่ง แต่จะเป็นประโยชน์ เพราะทำให้ผู้เรียนต้องรับผิดชอบว่าสิ่งที่ตนนำเสนอนั้น ต้องมีความเป็นของตนเอง หากใช้วิธีการ “ตัดและแปะ” (Cut & Paste) หรือไปลอกบทความของคนอื่นๆ มานำเสนอนั้น งานนี้ก็จะเผยแพร่ และสามารถสืบค้นได้โดยง่าย
สำหรับงานที่มีคุณภาพ ทางสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ITIE) จะได้มีฝ่ายวิชาการเลือกนำเสนอเป็นส่วนบทความหลักของสถาบัน นับว่าได้รับการตีพิมพ์แล้ว
11. การสามารถปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือลบทิ้งได้
ในงานทุกงานที่นำเสนอ ทั้งในส่วนของ Webboard และ Essays ผู้เขียน หรือผู้นำเสนอสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ลบทิ้งข้อความ เหล่านี้สามารถทำได้โดยง่าย ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเกร็งว่าจะต้องเรียบเรียงตรวจสอบที่ต้องใช้ความประณีตเสียเวลาเกินไป
ทำให้นำเสนอได้โดยง่าย และก็รอความคิดเห็นจากชุมชนวิชาการนี้ และก็นำมาปรับปรุง
12. ส่งเสริมให้พัฒนาทักษะการใช้ Keyboard
ในการเรียนวิชาในลักษณะใช้การเรียนออนไลน์แบบ Interactive ผู้เรียนต้องสามารถนำเสนอข้อความต่างๆ ของตนเองได้อย่างคล่องตัว จึงแนะนำให้ผู้เรียนทุกคนพัฒนาขีดความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยเน้นหลักดังต่อไปนี้
ฝึกใช้งาน Keyboards ให้ได้อย่างถูกต้อง พิมพ์สัมผัส หากยังทำไม่ถูกหลัก จะแนะนำให้ใช้แบบฝึกหัดที่มีอยู่ทั้งที่เป็น Download หรือไปซื้อ CD-ROM ที่ใช้เพื่อการฝึกเรียนรู้และทดสอบด้วยตนเองได้
ความสามารถที่เสนอให้พัฒนาคือ พิมพ์ไทยและอังกฤษได้อย่างถูกต้อง พิมพ์สัมผัสความเร็ว 15-20 คำต่อนาที
ในกิจกรรมการเรียนจะได้ขอใช้ห้องคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวิชา เพื่อใช้สอนเครื่องมือในการเรียน โดยหวังว่าทักษะด้าน Keyboards และคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่ผู้เรียนจะได้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียน และการใช้ชีวิตนักวิชาการต่อไปในอนาคต
13. ส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้แบบเปิด
เมื่อผู้เรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้นั้น ช่องทางในการเรียนจะเปิดกว้าง ในวิชานี้ได้แนะนำแหล่งข้อมูลหลักที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ เช่น
www.google.co.th – เพื่อการสืบค้นชื่อเรื่อง เนื้อหา ภาพ และรวมถึงเสียง
www.wikipedia.org – The Free Encyclopedia เพื่อการหาแหล่งเนื้อหาพื้นฐาน และเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาต่อ
www.cia.gov – CIA The World Factbook – เพื่อการทำความเข้าใจพื้นฐานของสังคมประเทศแต่ละประเทศ
เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เป็นระบบความร่วมมือบนเครือข่าย สามารรถรองรับได้หลายภาษา (Multi-lingual) มีข้อความรู้ต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และภาษาจีน ญี่ปุ่น และรวมถึงภาษาไทย
ทีมี files ในภาษานั้นๆ เกินกว่า 100,000 ไฟล์ ได้แก่ 日本語 | 中文 | Русский • Deutsch | English | Español | Français • Italiano | Nederlands | Polski | Português | Svenska
มีที่เป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด ประมาณ 1,500,000 ไฟล์
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนที่เป็นอันมาก อยู่ในที่ๆ ห่างไกล และอาจไม่มีเวลามาค้นคว้าหาหนังสืออ่านได้อย่างสะดวก ระบบการสืบค้นและหาแหล่งข้อมูลเพื่อเรียนรู้ออนไลน์ จึงเป็นทางเลือกของผู้เรียนในการจะศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัดด้วยเวลา และสถานที่ อนึ่งเมื่อผู้เรียนต้องเรียนในปีที่ 2 และเริ่มต้องเตรียมตัวเพื่อทำวิทยานิพนธ์นั้น ทักษะการค้นคว้าจะเป็นตัวสำคัญในการทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างมีคุณภาพ
14. ติดตามการเรียนของผู้เรียนได้
เมื่อใช้ Dynamic Website อย่าง www.itie.org/eqi/ ที่ใช้ซอฟต์แวร์จัดการที่เป็นระบบฐานข้อมูลด้วย PHP-Nuke นั้นได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้สอนหลายๆ ประการ กล่าวคือ
ในหน้าแรก ได้มีการนำเสนอ 10 ข้อความที่นำเสนอใหม่ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าได้มีข้อความนำเสนอใหม่ล่าสุดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
อีกส่วนหนึ่งคือ ผู้สอนสามารถติดตามผู้เรียนได้จาก “ข้อมูลผู้นำเสนอ” ซึ่งจะพบว่าบางคนนำเสนอข้อความต่างๆ จำนวนเป็นหลายสิบรายการ บางส่วนนำเสนอหลายครั้ง แต่เป็นการนำเสนอที่มีปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ บางคนนำเสนอเป็นแค่ 2-3 ประโยค บางคนนำเสนอเป็นเรื่องราว มีการเรียบเรียงอย่างมีคุณภาพ
ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้รับทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนได้นำเสนออะไรไปบ้าง มีจำนวนเท่าใด และนำเสนอในช่วงเวลาใด บางคนเข้ามานำเสนอในเวลากลางวันปกติ เมื่อว่างจากการทำงาน บางคนเข้ามาทำงานในเวลา ตี 3 ตี 4 ของแต่ละวัน บางคนนำเสนอ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมสม่ำเสมอแต่เริ่มแรก บางส่วนเข้าไปใช้งานเมื่อปลายๆ ภาคการศึกษา
ด้วยระบบฐานข้อมูล จะมีข้อมูลของผู้เรียนทุกคน
ผู้สอนไม่จำเป็นต้องเข้าไปตอบโต้กับงานของผู้เรียนแต่ละคนตลอดเวลา แต่ได้เตรียมที่จะใช้เวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เข้าไปร่วมในกิจกรรมออนไลน์กับผู้เรียน และขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้สอนได้นำเสนอไปในระบบออนไลน์นั้น ก็ได้รวบรวม เพื่อสามารถเขียนเป็นหนังสือ หรือบทความได้ เมื่อความนั้นๆ ได้มีการตรวจ ปรับแก้ไปตามความเหมาะสมแล้ว
ผลการดำเนินการ
เวลาในการจัดการเรียนการสอน
ขณะนี้ได้ดำเนินการเรียนการสอนมาได้ 4 รุ่นแล้ว โดยมีจำนวนผู้เรียนดังต่อไปนี้
รุ่นที่ 1 | นิสิตดุษฎีบัณฑิตภาคปกติ | 13 | สอนวันพฤหัสบดี เวลา 16.00-19.00 น. |
รุ่นที่ 2 | นิสิตดุษฎีบัณฑิตภาคพิเศษ | 20 | สอนวันศุกร์ เวลา 18.00-21.00 น. เปลี่ยนเป็นวันเสาร์ 9.00-12.00 น. |
รุ่นที่ 3 | นิสิตดุษฏีบัณฑิตภาคปกติ | 5 | สอนวันศุกร์ เวลา 9.00-12.00 น. |
รุ่นที่ 4 | นิสิตดุษฎีบัณฑิตภาคพิเศษ | 26 | สอนวันเสาร์ เวลา 13.00-16.00 น. |
พบว่า เวลาในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาภาคพิเศษนั้น เมื่อสอนในวันศุกร์ เวลา 18.00-21.00 น. นั้น ผู้เรียนจะรู้สึกล้า โดยเฉพาะหลายคนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดด้วยระยะทาง 100-200 กิโลเมตร กลุ่มที่ต้องทำงานและเดินทางมาเรียนนั้น การจัดสอนในวันปกติในตอนเย็นนั้นจะกลายเป็นความเครียดและล้าสำหรับผู้เรียนอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นรุ่นที่ 2 ที่เคยสอนวันศุกร์ และย้ายมาสอนเป็นวันเสาร์ จะพบว่าผู้เรียนเมื่อเรียนวันเสาร์จะสดชื่นกว่าเรียนวันศุกร์มาก
เพิ่มเติม
สำหรับการเปิดสอนในปี พ.ศ. 2552 ได้เปิดให้วิชานี้เป็นการเรียนออนไลน์แบบเปิด ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย (E-mail: pracob@sb4af.org ) เนื้อหาสามารถใช้ร่วมระหว่างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก (Updated: 1-Nov-09)
การบรรยายหรือศึกษาเอง
สำหรับการสอนในรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 4 มีผู้เรียนที่ 20 และ 26 คนนั้น วิธีการสอนจะต้องใช้การเตรียมการจากผู้สอนมากขึ้น (Teacher Led Instruction) เมื่ออยู่ในชั้นเรียน คือให้มีการปูพื้นเพิ่มเติมขึ้น โดยจากที่คิดว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้เองนั้น ต้องยอมรับสภาพว่า ผู้เรียนมีความจำกัดด้านเวลา ต้องสอนและทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งต้องคอยตรวจสอบผู้เรียนในชั้น ประมาณการว่าเขาจะขาดอะไร และอะไรที่เขาพอเรียนได้ ก็ให้อ่านเอง ศึกษาเอง แต่อะไรที่เป็นหลักวิชาที่หากบรรยายอย่างเป็นระบบ และช่วยทำให้เขามีพื้นฐานที่ดีขึ้น ก็จะกระทำ พบว่า การประสมประสานระหว่างเรียนรู้เอง กับมีการนำเสนอให้นั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
สำหรับรุ่นที่ 3 ซึ่งมีผู้เรียนเพียง 5 คน มีคนนำ Laptop มาในชั้นเรียน 4 เครื่อง จึงใช้วิธีการสอนแบบฝึกทักษะการค้นคว้าเพิ่มเติม และสอนแบบเป็นทฤษฎี (อาจจะน่าเบื่อหน่าย แต่หวังว่าจะช่วยผู้เรียนเมื่อต้องทำวิทยานิพนธ์) นับว่าเป็นประโยชน์ พบว่าสิ่งที่ผู้สอนคิดว่าผู้เรียนจะรู้มาแล้ว มีทักษะการค้นคว้ามาแล้ว แต่จะพบว่าเมื่อเป็นทักษะการค้นคว้าระดับสูงที่ต้องมีการฝึกประสบการณ์เพิ่มขึ้น ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้มาก
การมีเอกสารแจกให้
ผู้สอนได้เตรียมเอกสารในแบบ Bilingual และเป็นการแนะนำแหล่งการเรียนรู้ การมี Keywords ภาษาอังกฤษที่จะไปค้นคว้าต่อไป นับว่าได้ประโยชน์ดี เพราะหากเป็นภาษาไทย ผู้เรียนจะไปค้นหาแหล่งข้อมูลได้ยากกว่า
ในรุ่นแรกๆ มีการจัดให้มี files จำนวนมากที่ผู้เรียน Download ไปศึกษาต่อ แต่พบว่าบางคนไม่มีพื้นทางคอมพิวเตอร์เพียงพอ ไม่มีเวลาที่จะไปค้นหาอ่านต่อ การมีเอกสารสิ่งพิมพ์ที่อ่านได้ในเวลาที่ว่างจะเป็นประโยชน์ เอกสารนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเขียนเองทั้งหมดก็ได้
No comments:
Post a Comment