Thursday, October 28, 2010

คนอ่อนแอไม่รู้จักให้อภัย

คนอ่อนแอไม่รู้จักให้อภัย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw022, proverb, quote, สุภาษิต, มนุษยสัมพันธ์, forgiveness,

มหาตมะ คานธี (Gandhi) ผู้นำจิตวิญญาณและผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย กล่าวว่า “The weak can never forgive. Forgiveness is the attribute of the strong.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า คนอ่อนแอไม่รู้จักให้อภัย การให้อภัยนั้นเป็นคุณสมบัติของคนเข้มแข็ง

ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เอเชียตะวันตก อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ ทั้งหมดยังเป็นอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ

อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ แต่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา มีความชัดแย้งระหว่างคนในชาติที่แบ่งออกเป็นมุสลิม และฮินดู และมีชนกลุ่มน้อยต่างๆอีกมากมาย ทำให้เกิดความขัดแย้งนำมาซึ่งการกระทบกระทั่งกันเป็นระยะ และในบางครั้งรุนแรงขั้นใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่แผ่กว้าง

และเมื่อคนได้ลงมือทำร้ายกัน ฆ่ากัน แล้วก็ยิ่งมีการผูกใจเจ็บ กลายเป็นฝังใจ เป็นวงจรขัดแย้งกันไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คานธีจึงสอนไว้ว่า คนอ่อนแอนั้นไม่รู้จักให้อภัย การให้อภัยกันนั้นเป็นคุณสมบัติของคนเข้มแข็ง แม้ในที่สุด อินเดียจะไม่สามารถสร้างชาติที่ยอมรับในความแตกต่างด้านศาสนา ต้องมีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นปากีสถาน ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นหลัก และอินเดียคือประเทศที่มีฝ่ายฮินดูเป็นหลัก และในปากีสถานนั้น ในท้ายที่สุด ก็ต้องมีการแบ่งแยกออกเป็นบังคลาเทศ กลายเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรมากมายในภูมิภาคชมพูทวีปนี้

ในประเทศไทยเรามีความขัดแย้งกัน ที่รุนแรงและต่อเนื่องมายาวนาน คือเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา มีคนเสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน ทั้งที่เป็นชาวพุทธ และชาวมุสลิม และความขัดแย้งนี้ในปัจจุบันมีคนที่ใช้ความขัดแย้งขยายให้มีความแตกแยกที่หวังจะให้รุนแรงกันยิ่งขึ้น และนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

การจะนำประเทศชาติกลับสู่ความสมัครสมานปรองดอง และกลับสู่ความสงบได้ ประการแรก คือต้องตัดวงจรของความรุนแรงออกเสีย (Stop violence) เริ่มจากนโยบายฝ่ายรัฐ ที่ต้องไม่ถือความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน ต้องให้ความเป็นธรรม และโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษา การบริการทางการบริการสาธารณสุข การเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ ทั้งด้านการเกษตร การค้า และการนำอุตสาหกรรมสู่ท้องที่ เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่

การนำไปสู่การปกครองตนเอง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ต้องคิดและแสวงหาทางออก การให้ความอิสระในการบริหาร (Autonomy) การปกครองตนเองไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิมีส่วนในการเลือกคนที่จะมาปกครองเขา โดยที่ท้ายสุด ต้องให้หลักประกันว่า คนทุกเชื้อชาติและศาสนานั้น ต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกครองชุมชนของตนเอง การมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนของท้องถิ่นเอง ที่สามารถรักษากฎหมายได้อย่างเคร่งครัด และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในท้องที่นั้นๆ และนำความสงบสันติกลับมาได้ นั่นย่อมเป็นความปรารถนาที่สูงสุด

ประเด็นต่อไป คือต้องสร้างวัฒนธรรมความใจกว้าง (Broadmindedness) การทำให้คนที่แตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา อยู่ร่วมกันได้ และต้องมองเห็นความแตกต่างกันนี้คือความงามและความแข็งแกร่งของสังคมอย่างหนึ่ง เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีสังคมใดในโลกนี้ที่จะเจริญและดำรงอยู่ได้ด้วยความคับแคบทางวัฒนธรรมแบบปิดหูปิดตา เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น เช่น นิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ฯลฯ

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ ท้ายที่สุด ต้องสร้างวัฒนธรรมของการรู้จักให้อภัยต่อกัน (forgiveness) หยุดทำร้ายกัน และสิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาควรเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน แต่ที่สำคัญที่สุด เขาต้องพร้อมก้าวข้ามฝันร้าย แล้วมุ่งสู่การสร้างสังคมใหม่ที่นำมาซึ่งการกินดีอยู่ดีของทุกฝ่าย สังคมใหม่ที่จะเข้มแข็งนี้ ตั้งอยู่บนรากฐานของคนที่เรียนรู้การให้อภัยแก่กัน ให้โอกาสกันในการที่จะนำสังคมหลุดจากวงจรความฝันร้าย

No comments:

Post a Comment