Saturday, October 2, 2010

ผู้นำอุดมศึกษาในอนาคต

ผู้นำอุดมศึกษาในอนาคต

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ความนำ

การก้าวสู่โลกยุค การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีใหม่ ผู้นำทางการอุดมศีกษาจะต้องเผชิญกับโลกยุคใหม่ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. การเมืองใหม่ (P – New politics) การเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงด้วยการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีลักษณะเป็นทางตรง การมีการกระจายศูนย์อำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีขนาดไม่เล็กพอที่จะบริหารแบบรวมศูนย์

2. เศรษฐกิจใหม่ (E – New economy) เศรษฐกิจใหม่ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ขาดความสมดุลและไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากเน้นเพียงการพัฒนาในแบบที่ผ่านมา

3. สังคมใหม่ (S – New Society) ไม่เพียงสังคมเมือง หรือสังคมชนบท แต่อาจต้องมีการคิดและออกแบบเมืองและชุมชนใหม่ ที่ให้ความสุขแก่คน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. เทคโนโลยีใหม่ (T – New Technology) การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดำเนินไปคู่กัน แต่อะไรคือเทคโนโลยีใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาทางอธิบายถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และจะมีบทบาทต่อไป

การนำเสนอนี้สามารถหาอ่านได้จาก Manfred kets De Vries ใน The Leadership Mystique: Leading Behavior in The Human Enterprise หน้า 237-

ความสำเร็จขึ้นอยู่กับภายนอก

ความสำเร็จในการทำงานส่วนหนึ่งเกิดจากภายในตนเอง เช่นเรื่องของบุคลิกภาพ เรื่องของ Traits ความเป็นตัวตนของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นอิทธิพลจากภายนอก

อิทธิพลจากภายนอก (Outside influences) อิทธิพลจากภายนอกที่สำคัญมี 2 ส่วน

- ลักษณะสถานการณ์ (Situation) ความสำเร็จของการนำขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์เป็นต้วกำหนดลักษณะและโอกาสในการนำ

- ลักษณะผู้ตาม (Followers: transferential processes) และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

- ลักษณะของสถาบันลักษณะขององค์การที่เกี่ยวข้อง

การบริหารที่กำหนดทิศทางของตนเองได้ (Self-management)

มิใช่เพียงทำตามคำสั่ง หรือถูกสั่งให้ทำ

ผู้นำจะต้องคิดเองได้ หาทรัพยากรเองได้ ไม่ใช่รอของบประมาณจากส่วนกลาง ต้องคิดได้ทันที หาการสนับสนุนได้ทันที ลักษณะการนำยุคใหม่ เปรียบเหมือนจรวดติดระบบนำวิถีใหม่ ปรับทิศทางการเคลื่อนไหวตามเป้าหมายที่เคลื่อนที่ได้ ที่ต่างจากการยิงปืนใหญ่ในหลายๆทศวรรษหรือศตวรรษที่ผ่านมา

การบริหารในยุคใหม่ให้ และจำเป็นต้องได้รับความเป็นอิสระ (Autonomy) และความสามารถในการทำงานและตัดสินใจที่กว้างขวางกว่าเดิม

การบริหารความซับซ้อนทางด้านปัญญา (Management of cognitive complexity)

เราจะทำความเข้าใจในสิ่งที่ซับซ้อนนี้ได้อย่างไร

ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากเพียงตนเอง แต่เกิดจากการต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นงานทีท้าทาย ก้าวหน้า ก็ต้องใช้คนมีความสามารถ ซึ่งทำให้ต้องไปเกี่ยวข้องกับการใช้ และต้องเข้าใจในความซับซ้อนในเรื่องของสติปัญญา

เรียนรู้วิธีการคิดของคนฉลาด มองหาคนฉลาดอย่างที่คนอื่นๆมองไม่เห็น และเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับเขา และใช้ประโยชน์จากเขา เพื่อท้ายสุดทำให้งานดำเนินไปสู่เป้าหมายได้

การทำความเข้าใจวัฒนธรรมเชิงเปรียบเทียบ (Cultural relativity หรือ Cultural relativism)

การทำงานจะมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นหลักการที่ว่า ความเชื่อและการกระทำของแต่ละบุคคล ควรเป็นการทำความเข้าใจในกรอบของวัฒนธรรมนั้นๆ หลักการนี้เป็นการนำเสนอโดยนักมานุษยวิทยา Franz Boas ซึ่งได้นำเสนอแนวความคิดนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 โดยให้เหตุผลว่า คนจากวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งอาจมาจากวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ไปใช้กรอบของตัวเอง ไปตัดสินผิดถูก เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อน

ความเข้าใจในเรื่อง Cultural Relativism การจะตัดสินผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของคนในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน ในช่วงสมัยที่ต่างกัน

การต้องลงมือทำ (Enactment)

ดูตัวอย่างจากบริษัท BYD เป็นผู้นำการผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือในประเทศจีน หันมาดำเนินการในธูรกิจใหม่ สู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Cars – EV) อันเป็นอนาคตของรถยนต์ยุคใหม่ และจีนมีโอกาสก้าวนำหน้าประเทศอื่นๆได้

เหมือนกับการเรียนการแสดง การแสดงที่ดีต้องมีการซักซ้อมมาดี แต่ท้ายสุดต้องได้ออกเวที และแสดงในสิ่งที่เตรียมมาและสิ่งที่ได้แสดงไปนั้นคือตัวตัดสิน หากไม่ลองทำ หรือไม่ได้ทำ ก็จะไม่รู้

การลงมือทำต้องมีการเตรียมการที่ดี ต้องศึกษา แต่ท้ายสุดการต้องนำไปสู่การตัดสินใจลงมือทำ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงบ้างก็ตาม

การอยู่เฉยๆ หรือหลีกเลี่ยงการตัดสินใจอาจหมายถึงการเสียโอกาสอย่างยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น คนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางการบริหารมา หรือสังเกตคนอื่นๆเขาทำงานนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่จะไม่เท่ากับตนเองได้ลงมือปฏิบัติ แม้จะผิดบ้างถูกบ้าง ก็ต้องถือว่าได้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆ

ความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Generativity)

การเรียนจบอะไรมาไม่สำคัญเท่ากับเรียนรู้ที่จะริเริ่มงานใหม่ คิดได้ใหม่ และทำได้ใหม่

คือความสามารถของระบบที่จะสรรสร้างสิ่งใหม่ โดยที่เนื้อหาแล้ว ไม่ได้เกิดจากระบบเดิม ดังเช่น คนที่อาจไม่ได้เรียนมาในสิ่งนั้นๆ แต่เขามีความสามารถที่จะสร้างสิ่งใหม่ โดยที่เขาไม่ได้มีการศึกษาที่เตรียมมาสำหรับสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งนั้น

Generativity describes in broad terms the ability of a self-contained system to provide an independent ability to create, generate or produce content without any input from the originators of the system. In semiotics or epistemology, generativity refers to a form of communication that possesses compositionality and the ability to construct complex messages. The philosopher Daniel Dennett has argued that animals cannot have wants or desires in the sense that humans do because they lack a language with compositionality and generativity. Gordon Brittan disagrees with this evaluation.

ทักษะในการสร้างทีมงาน (Team-building skills)

ความสำเร็จในงานที่ยิ่งมีขนาดใหญ่ มีความยากและซับซ้อน ย่อมจะยากที่จะทำงานนั้นๆด้วยเพียงคนๆเดียว ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการสร้างทีมงาน ที่มีผู้ร่วมงานที่มาจากหลายความสามารถ และค่านิยม ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเหล่านั้นร่วมกันทำงานไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้

สมมุติการพัฒนา สถาบันการพัฒนาการอุดมศึกษา มี่หน้าที่พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมศึกษา การวิจัยทำความเข้าใจ และมีทางออกทางเลือกสำหรับการอุดมศึกษาของชาติ อยากถามว่า สถาบันอย่างนี้ ต้องการใช้อะไรบ้าง

คำตอบคือการจะทำงานไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบอุดมศึกษาอันเป็นการศึกษาขั้นสูงนั้น ต้องพึ่งความเป็นสหวิทยาการ อันอาจเกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย การบริหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT – Information and Communication Technology) แต่คนที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆเหล่านี้มาร่วมกันตอบปัญหาด้านอุดมศึกษา ไม่มีใครจากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งโดยเฉพาะที่จะให้คำตอบแก่ทุกด้านได้ จะต้องจัดทีมงานและรูปแบบการทำงานที่คนกลุ่มดังกล่าวสามารถมาทำงานร่วมกัน เพื่อหาคำตอบต่อสิ่งที่มีความหลากหลายและซับซ้อนนี้

จะสร้างทีมงาน หรือคนทำงานในสถาบันอย่างนี้ จะทำได้อย่างไร

Team building skills are critical for your effectiveness as a manager or entrepreneur. And even if you are not in a management or leadership role yet, better understanding of team work can make you a more effective employee and give you an extra edge in your corporate office.

โดยเหตุดังกล่าว การมีทักษะในการสร้างทีมงาน ที่จะทำให้งานเดินไปได้อย่างมีประสิทธิผล ต้องเข้าใจว่าทีมนั้นๆมีการทำงานอย่างไร การทำให้แต่ละคนทำงานมีประสิทธิภาพการทำงานก็ส่วนหนึ่ง แต่การทำให้เขาหลายๆคนได้มาทำงานร่วมกันอย่างมีผลงาน มีประสิทธิผลนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับองค์การ

การทำให้เกิดความประทับใจ (Impression management)

การทำอย่างไรจึงจะทำให้หน่วยงานขนาดเล็กของเราที่เพิ่งเริ่มต้น ได้รับความสนใจจากผู้คน โดยทั่วไป หน่วยงานขนาดเล็กๆนั้น มักจะไม่เป็นที่สังเกตของผู้คน แต่การสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่สังคมวงกว้าง นั่นจะทำให้แม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่ก็สามารถเริ่มงานได้ และก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่า Impression Management คือ

การทำให้เกิดความประทับใจ ทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งที่เรานำเสนอนั้น คนเข้าใจได้ง่าย เร็ว และประทับในความรู้สึกนึกคิด

ดูตัวอย่างจากบริษัท Better Place เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กๆ ที่เห็นโอกาสจากรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car, Electric Vehicle – EV) แต่รถยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยการชาร์ตไฟ ซึ่งต้องมีระบบชาร์ตไฟ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้าน ข้างถนน ตามระบบเส้นทางการเดินทาง รถยนต์ไฟฟ้าจึงต้องการระบบโครงสร้างพื้นฐาน Better Place จึงเสนอตัวเป็นบริษัทผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการสนับสนุนกิจการรถยนต์ไฟฟ้า

การทำให้เกิดความไว้วางใจ (Trust management)

การทำให้รู้จัก แต่การทำให้คนไว้วางใจนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ

หากเราจะต้องทำการค้าแบบออนไลน์ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ต้องการใช้บริการวางใจว่าไม่ได้ไปหลอกเขา บริษัทผู้ให้บริการขายสินค้าออนไลน์นั้น ตระหนักในเรื่องนี้ดี บางบริษัทจึงมีนโยบายประกันไม่พอใจสินค้า ให้คืนสินค้าได้ โดยจะได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวน เขาทำเช่นนี้เพื่อยืนยันให้ลูกค้าได้ตระหนักว่า เขาและบริษัทซื่อสัตย์ต่อการให้ขายสินค้าและให้บริการของตน และอาศัยชื่อเสียงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่คนจะบอกต่อๆไป

ดูตัวอย่างจากบริษัท Toyota Motors เขาฉายภาพสินค้าของเขาว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีบริการหลังการขายที่ดี รับผิดชอบต่อลูกค้า เมื่อก่อนอาจได้ชื่อในตะวันตกในฐานะเป็นบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายรถยนต์ขนาดเล็ก ราคาถูก แต่เมื่อดำเนินธุรกิจจนถึงในปัจจุบัน Toyota คือสัญลักษณ์ของสินค้าคุณภาพ กลายเป็นบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว

ความรู้ในสิ่งที่ทำ (Task-relevant knowledge)

การรู้จักว่า Core Knowledge ของเรานั้น คืออะไร ทุกบริษัทไม่ใช่ว่าจะเก่งไปในทุกเรื่อง แต่ต้องแสวงหาความชัดเจนว่า ความถนัดและวิทยาการหลักของบริษัทนั้นคืออะไร

อะไรคือความรู้แกนหลักขององค์การ (Charles Handy Shamrock Organization)

องค์การแบบแชมรอค (Shamrock Organization) ในทุกองค์กรจะประกอบด้วยกลุ่มคนทำงาน 3 กลุ่ม ได้แก่

1. คนทำงานบริหารหลัก (essential executives)

2. คนทำงานขององค์การ (workers) are supported by

3. คนทำงานตามสัญญา (outside contractors) ซึ่งอาจจะเป็นพวกทำงานตามสัญญาแบบไม่เต็มเวลา (part-time help)

องค์กรจะต้องมีความรู้ในสิ่งที่ทำ แม้จะไม่รู้ละเอียดในทุกเรื่อง แต่รู้ในสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และทำให้องค์กรเรามีความได้เปรียบกว่าองค์กรอื่นๆ มองง่ายๆ ร้านอาหารที่จะประสบความสำเร็จนั้น น่าจะต้องมีฝีมือในการทำอาหารจานพิเศษอร่อยกว่าที่อื่นๆ ส่วนเรื่องการมีสถานที่ร้านอาหารน่ารื่นรมย์ พนักงานบริการสุภาพ เหล่านี้เป็นเรื่องเสริม แต่ถ้าร้านอาหารนั้นๆทำอาหารไม่อร่อย ไม่ประทับใจ ลองสังเกตดูว่า มักจะไม่มีอนาคตไปได้ไกล

ในกิจการรถยนต์ทางเลือกใหม่ ตัวอย่างบริษัท Tesla Motors บริษัทขนาดเล็กที่ทำรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความเร็วที่สุดในโลก ออกตัวได้เร็วกว่ารถใช้เครื่องเผาไหม้ วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดในการชาร์ตไฟเพียงครั้งเดียว นั่นแสดงว่าเขาจะต้องมีวิทยาการบางอย่างที่ทำให้เขามีความสามารถเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ

เทคโนโลยีหลักของเขาคืออะไร

- แบตเตอรี่ (Battery) ซึ่งต้องเป็นแบตเตอรี่ที่ออกแบบมาให้มีพลัง และให้พลังได้ในระยะเวลายาวนานกว่าของบริษัทอื่นๆ

- ระบบจัดการด้านกำลัง (Powertrain), Motors ทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบพลังส่ง มอเตอร์มีพลัง น้ำหนักเบา ทนทาน

- วัสดุศาสตร์ (Material Sciences) – เขาเลือกออกแบบใช้วัสดุอะไรในการทำแบตเตอรี่ Lithium, Cadmium, หรือว่าตะกั่วแบบเดิม (Lead) etc. คำตอบคือ เขาเลือกใช้ Lithium ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในแบตเตอรี่เครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว เครื่องรับโทรศัพท์

บทบาทด้านการออกแบบ (Architectural roles)

ในระบบอุตสาหกรรม ต้องมีการออกแบบสินค้าที่ดี และเมื่อออกแบบได้ดี ทดสอบการใช้งานจนมั่นใจแล้ว ก็ต้องมาคิดถึงวิธีการสร้างโรงงานที่จะผลิตสินค้าเหล่านั้นให้ออกมาได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

การสร้างคน การสร้างความรู้ การวางระบบออกแบบสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยก็มีลักษณะคล้ายๆกัน

คนจะนำในโลกยุคใหม่ ต้องมีความสามารถดังเป็นสถาปนิกในการออกแบบวิธีการที่จะทำ ซึ่งมีอย่างน้อย 3 เรื่อง

1. การออกแบบ (Designing)

จะออกแบบในสิ่งที่ทำอย่างไร – การออกแบบทีมงาน การจัดองค์การ ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกแบบวิธีการทำงาน

2. การควบคุม (Controlling)

จะควบคุมในสิ่งทีทำอย่างไร – จะรู้ได้อย่างไรว่าเขากำลังทำงานในสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ หรือเขาไปทำอย่างอื่นๆ

แมวดำ แมวขาวไม่สำคัญ แต่ขอให้จับหนูได้แม้จะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อลัทธิการเมืองมากเท่ากับทำอย่างไรจะทำให้กลไกเศรษฐกิจของเขาเคลื่อนไปได้ ซึ่งต้องละวางอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วให้ความสนใจในกระบวนการควบคุม ที่จะต้องสอดคล้องกับคนและองค์การ ทำให้สามารถทำงานตามเป้าหมายได้

ในองค์กรสมัยใหม่ จำเป็นต้องใช้คนที่มีความสามารถในการทำงานสูง จึงมีการ Outsource งานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานนั้นๆ ทำอย่างไรจึงรู้ว่าเราได้เลือกคนทำงานอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า เขาได้ทำงานให้กับองค์การ และเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความต้องการขององค์กร

3. การให้รางวัล (Rewarding)

จะมีระบบรางวัล หรือวางรูปแบบระบบรางวัลอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจในสิ่งที่ทำให้คนต้องมาร่วมงานกัน

การจะให้คนทำงาน เขาก็ต้องรู้ว่า เมื่อเขาทำงานนั้นๆ แล้วเขาจะได้อะไร ระบบรางวัลที่เราจะให้นั้น จำเป็นต้องมีการประกาศล่วงหน้าให้เขาได้รู้ว่า เมื่อเขาทำงานได้อย่างดีตามที่ตกลงแล้ว เขาจะได้รับอะไรบ้าง ในองค์กรยุคใหม่ที่ต้องใช้คนทำงานจากภายนอกมาก เรียกว่า Subcontract หรือการจัดแบ่งงานเป็นแต่ละส่วน เพื่อทำให้งานนั้นๆดำเนินไปได้ ตามความเชี่ยวชาญของคน ยกตัวอย่างงานก่อสร้าง (Construction) มักจะต้องใช้คนและองค์กรต่างๆมาร่วมงานกัน สมมุติว่าจะสร้างอาคารขนาดใหญ่สูงหลายชั้น เริ่มต้น แม้แต่การออกแบบ ก็ต้องใช้คนออกแบบที่มีประสบการณ์ในงานลักษณะนั้นๆ งานออกแบบสนามบิน ไม่เหมือนกับงานก่อสร้างทาง หรือทางรถไฟฟ้าใต้ดิน

เมื่อออกแบบเสร็จตามประสงค์แล้ว ก็ต้องมีงานตั้งแต่การวางรากฐาน การตอกเสาเข็ม การเทคอนกรีตพื้น แล้วการก่อสร้งอาคารแต่ละชั้นจึงจะเริ่มขึ้นเป็นชั้นๆ เสร็จแล้วก็ต้องมีงานท่อระบายน้ำทิ้ง งานประปา งานไฟฟ้า งานลิฟต์ (Elevators) งานผนัง ประตู หน้าต่าง ฯลฯ

งานก่อสร้างนับเป็นงานที่แม้จะใหญ่ แต่มีความตรงไปตรงมา อาศัยวิทยาการบ้าง แต่ยังควบคุมได้ง่าย แต่งานบางอย่างที่ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อน ดังเช่นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ประสบความสำเร็จ เขาต้องออกแบบสิ่งที่เป็นบริการในอนาคต ซึ่งแม้ออกแบบมาอย่างดี แต่การตลาดไม่ดี บริการไปยังลูกค้าไม่ดี ระบบเครือข่ายบริการไม่ดี เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง กิจการก็อาจไม่ประสบความสำเร็จได้

ในบางโอกาส เป็นไปได้เหมือนกันที่เราไม่สามารถออกแบบระบบรางวัลไว้ล่วงหน้า แต่ทำให้เขาเชื่อได้ว่า เราจะมีความยุติธรรมและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ และมาทำงานร่วมกันได้

ลักษณะของบุคคล (Traits)

Traits อาจมีความหมายใกล้เคียงกับบุคลิกภาพ และสิ่งต่อไปนี้ คือลักษณะสำคัญสำหรับนักบริหารและผู้นำในระบบอุดมศึกษาที่พึงมี

ความมีจิตสำนึก (Conscientiousness)

ความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ลักษณะบุคลิกของคนที่ทำอะไรอย่างระมัดระวัง และทำตามมโนสำนึกของตนเรียกหา ซึ่งรวมไปถึง ความมีวินัยในตนเอง, ความระมัดระวัง (carefulness), คิดอะไรอย่างรอบคอบรอบด้าน (thoroughness), การคิดและทำอะไรอย่างเป็นระบบ จัดระบบ (organization), ใช้ตรรกะ ความเป็นเหตุและผลในการตัดสินใจ (deliberation) และความต้องการประสบความสำเร็จ (achievement)

ความไม่หยุดนิ่ง ก้าวไปข้างหน้า (Surgency)

ลักษณะของคนที่ต้องการก้าวไปข้างหน้า (Surgency) ไม่หยุดนิ่ง

Surgency เป็นลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกในสภาพของกลุ่ม ความต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าในชีวิต ไม่ต้องการอยู่ซ้ำที่เดิม ในองค์กรยุคใหม่ การที่ทำงานได้ดีเหมือนเดิมๆ นับว่าไม่พอ การอยู่กับที่ก็เท่ากับว่าเป็นการล้าหลังโดยธรรมชาติแล้ว เพราะคนอื่นๆ องค์การอื่นๆ ล้วนต้องแข่งขันกันเดินไปข้างหน้า

ผู้นำต้องเป็นคนไม่หยุดนิ่ง คือคนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อคนอื่น ในขณะที่คนมี Surgency ต่ำ จะเป็นคนที่ชอบทำงานคนเดียว ไม่มีความสนใจที่จะไปมีอิทธิพลต่อคนอื่น หรือแข่งขันกับคนอื่น ถือสันโดษ

ความมีพลัง (Energy)

ความมีพลังนั้น หมายถึงการมีสิ่งที่จะทำให้ขับเคลื่อนงานได้

พลังส่วนหนึ่งคืออำนาจ (Power) ซึ่งมีหลายๆแบบ และคนทำงานบริหารไปสู่ความสำเร็จนั้นจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเลือกใช้อำนาจต่างๆ ผลักดันให้งานไปสู่ความสำเร็จ เป็นเรื่องยากที่คนไม่มีอำนาจ ไม่อยากใช้อำนาจจะทำให้องค์การได้เคลื่อนไปข้างหน้า

ความสามารถที่จะทำให้ตกลงกันได้ (Agreeableness)

ผู้นำจะต้องเป็นคนที่สามารถทำให้เรื่องที่ยาก ตกลงกันไม่ได้ ได้มีข้อยุติ ต้องมีทางออกสำหรับปัญหาแต่ละปัญหา

ผู้นำต้องไม่ใช่คนที่เห็นต่าง ต้องการเอาแพ้เอาชนะกันไปในทุกเรื่อง มิใช่เห็นต่างหรือขัดแย้งกันไปเสียทั้งหมด

คนที่มีความเป็นตัวของต้วเองสูง มีอัตตะสูง ไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวยาก ก็ทำให้ทำงานร่วมกับคนได้ยาก โอกาสที่จะสำเร็จด้วยทำงานเพียงลำพังนั้น ก็จะมีไม่มากนัก

ทำอย่างไรจึงจะสร้างจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ทำให้คนที่ต่างกันยอมมาทำงานร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายที่ยึดเหนี่ยวร่วมกันได้ และเมื่อมีเป้าหมายร่วมกัน ก็ต้องพร้อมที่จะดำเนินการประสานให้แต่ละฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันนั้นได้

ความฉลาด (Intelligence)

ความฉลาดของมนุษย์มีหลายๆด้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องมีความฉลาดทั้งทางด้านปัญญา อารมณ์ และอื่นๆ ความฉลาดของมนุษย์อาจมีในต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

- ความฉลาดทางปัญญา (IQ – Intelligence Quotients) เป็นเรื่องของความฉลาดในการใช้สติปัญญา แน่นอนว่าคนจะเป็นผู้นำ ต้องไม่ใช่คนไม่มีสติปัญญา แต่เขาต้องมีอีกหลายๆสิ่งหลายๆอย่างร่วมด้วย

- ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คนบางคนอาจมีความฉลาดทางปัญญา แต่เมื่อมาถึงในเรื่องอารมณ์ เขาอาจมีความเปราะบาง ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆได้ดี ท้ายสุดแม้จะเป็นคนฉลาด แต่ก็ไม่มีคนยอมรับในความฉลาดเหล่านั้น งานก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

- ความฉลาดทางด้านร่างกาย (Physical/Body Intelligence) ดังเช่นคนที่จะเป็นนักกีฬาชั้นเยี่ยม เขาต้องมีความฉลาดทางด้านร่างกาย ไม่ใช่เพียงเรื่องความเร็ว หรือความแข็งแรง แต่หมายถึงการใช้ความสามารถทางด้านร่างกายหลายๆด้านมาประสานกันเพื่อให้สามารถทำงานนั้นๆไปสู่จุดหมายปลายทางได้

- ความฉลาดทางด้านสถานที่ (Spatial Intelligence) ดังเช่นคนทำงานด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบบ้าน อาคารสถานที่ เหล่านี้ต้องมีความฉลาดด้านสถานที่

การทำงานไปสู่ความสำเร็จต้องใช้ความฉลาดหลายๆด้าน และฉลาดรอบด้าน

ความเปิดเผย (Openness)

การทำตนเป็นคนเปิดเผย พูดอะไรตรงไปตรงมา ปากกับใจตรงกัน คนเข้าใจได้ง่าย นำไปสู่ความไว้วางใจได้ง่าย

มีลักษณะเปิดใจที่จะรับฟัง (Opendmindedness) ไม่มองเห็นคนอื่นๆที่คิดหรือเห็นต่างจากตนเป็นศัตรู การบริหารงานในยุคใหม่ จำเป็นต้องเปิดใจรับฟัง มองหาโอกาสจากการรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน และแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดจากข้อมูลเหล่านั้น

ความสามารถในการเข้าสังคม (Sociability)

ความสามารถในการเข้าสังคม คนรู้จัก คนฟังแล้วเชื่อ คนไว้วางใจ คนทำงานต้องเป็นคนเข้าสังคมในแบบที่ติดต่อปะทะสังสรรค์กับคน ไม่ใช่ปิดตัวเอง หรือเงียบเฉย ตัวอย่างนักการเมืองเกือบทุกคน ต้องมีลักษณะดังกล่าว เพราะต้องสื่อสาร หาคะแนนนิยม คนเข้าพบได้ง่าย

ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability)

คนจะเป็นนักบริหาร เป็นผู้นำต้องเป็นคนรู้จักควบคุมอารมณ์ แต่มิได้หมายความว่าเป็นคนไม่มีอารมณ์ แต่เป็นคนใช้อารมณ์ได้อย่างเหมาะสม ดังเช่นการจะพูดจาให้คนฟังได้เชื่อได้เข้าใจ ส่วนใหญ่ต้องมีการสื่อสารทางอารมณ์

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องไม่ปล่อยอารมณ์ตนเองในแบบคุมไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรัก โลภ โกรธ หรือหลง เป็นตัวทำลาย ไม่หลงติดกับอะไรอย่างบ้าคลั่งแบบถอนตัวไม่ขึ้น นักบริหารและผู้นำที่ดี ท้ายสุดต้องรู้จักตัดใจ ต้องยอมเสียสิ่งเล็กกว่า เพื่อประโยชน์ในสิ่งที่ใหญ่กว่า

ต้องมีความอดทน ประสบปัญหา ก็ต้องมีทางที่จะกลับไปสู่ใหม่ ไม่ท้อถอยง่ายๆ (Persistence) ต้องไม่ใช่ Quiter หรือพวกยอมแพ้เขาไปในทุกเรื่อง

สรุป

สรุปหลักและประเด็นของความเป็นผู้นำการอุดมศึกษาในโลกยุคใหม่ คือนักบริหารการอุดมศึกษา ต้องทำงานอยู่กับคนที่มีปัญญา มีความฉลาดเฉลียว ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการใหม่ๆ ต้องติดตามเรื่องต่างๆอย่างเข้าใจ จึงมีความคาดหวังในบุคลิกภาพของนักบริหารหรือผู้นำอย่างมาก แต่นั้นก็จะต้องเข้าใจว่าไม่มีใครเก่งไปในทุกเรื่อง

ผู้นำที่ดีสำคัญที่สุด คือต้องรู้จักตนเอง และสำคัญว่าความฉลาดของคนที่จำเป็นที่สุด คือไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ท้ายสุด สิ่งที่เรารู้นั้นยังเป็นเรื่องน้อยนิดเมื่อเทียบกับวิทยาการต่างๆ ที่มีมาแล้วในโลกนี้

No comments:

Post a Comment