Thursday, October 21, 2010

ปิ๊ก น้ำหวาน หนุ่มอ้วนไม่หยุด

ปิ๊ก น้ำหวาน หนุ่มอ้วนไม่หยุด

ทูลกระหม่อมฯทรงรับ ปิ๊ก น้ำหวานหนุ่มอ้วนไม่หยุดเป็นผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์

Keywords: cw801, สุขภาพ, obesity, โรคอ้วน, BMI, ดรรชนีมวลกาย, Gastric bypass

สิงหาคม 25, 2010

กรณี ปิ๊ก น้ำหวาน หนุ่มอ้วนจากนครศรีธรรมราช ที่น้ำหนักตัวถึงประมาณ 320-350 กิโลกรัมนั้น เป็นเรื่องที่คนไทย พ่อแม่ และระบบการศึกษา และสุขภาพของรัฐจะต้องให้ความสนใจว่า โรคอ้วน หรือ Obesity นั้นเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว ไม่จำกัดฐานะ ไม่ใข่คนรวยมีฐานะ กินๆนอนๆแล้วอ้วน แต่ในต่างประเทศปัญหาโรคอ้วนมักเกิดกับกลุ่มเศรษฐสังคมในระดับล่างด้วยซ้ำ และเมื่อเกิดแล้วจะทำให้สถานะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่จะยิ่งทรุดหนักลงไปอีก ดังนั้นทางที่ดีรัฐสวัสดิการควรเน้นไปที่การป้องกัน หรือหากจะต้องรักษา ก็รักษาเสียแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังไม่มีโรคแทรกซ้อน เพราะหากป่วยหนักแล้ว การรักษาพยาบาลจะยิ่งซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายต่อพ่อแม่หรือระบบสังคมสูงมาก และไม่ว่าการรักษาพยาบาลจะดีเพียงใด ก็จะยังความลำบากแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล

ในหน้านำเสนอนี้ ผมขอนำข่าว ปิ๊ก น้ำหวาน หนุ่มอ้วนจากนครศรีธรรมราช ผู้ไดรับพระมหากรุณาจากทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงมีพระเมตตารับอุปธรรม เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ ปิ๊ก น้ำหวาน และเพื่อเป็นการศึกษาสำหรับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ผมจึงขอประมวลข่าว และข้อมูลที่เกี่ยวกับเขา เพื่อให้ผู้สนใจได้ติดตามศึกษา และจะเป็นแรงดลใจให้เกิดการดูแลป้องกัน และรักษาโรคอ้วน อันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยเรา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

จาก ISN Multimedia Hotnews

ภาพ ปิ๊ก น้ำหวาน ช่วงนอนป่วยอยู่ที่บ้าน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นางนารีรัตน์ มินทราศักดิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเยี่ยมพร้อมมอบเงินช่วยเหลือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้นายอรรฐพณ แดงค้ำคุณ หรือปิ๊ก น้ำหวาน อายุ 32 ปี ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน น้ำหนักเพิ่มขึ้นตั้งแต่3ขวบ ปัจจุบันมีน้ำหนักถึง350 กิโลกรัมส่งผลให้มีอาการท้องแข็งหายใจออกไม่ทัน ขณะที่วันที่ 26 สิงหาคม ดร.มนัส โนนุช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จะเป็นผู้แทนพระองค์มาดูอาการและรับเป็นผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์ โดยจะนำตัวเข้ารักษาต่อที่กรุงเทพฯ

ปิ๊ก น้ำหวาน จากเรื่องเด่นเย็นนี้

นายอรรถพล แดงค้ำกุล ปิ๊ก น้ำหวาน อายุ 32 ปี มีอาชีพขายน้ำหวานและผลไม้รถเข็นเร่ อยู่บ้านเลขที่ 153/2 ถนนศรีธรรมโศก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีรูปร่างอ้วน น้ำหนักตัว 330 กก. นอนทรมานอยู่บนเตียงในบ้าน โดยอาศัยเครื่องช่วยหายใจ นายพิภพ แดงค้ำกุล พี่ชายคนที่ 2 ของ นายอรรถพล เปิดเผยว่า น้องชาย เป็นโรคอ้วนมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และขายน้ำหวานส่งน้องสาวคนเล็ก เรียนจนจบปริญญาตรี

ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย. มีอาการท้องแข็ง และหายใจไม่ออก ท้องเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถที่จะเดิน ยืน หรือ นั่ง ได้ ต้องนอนอยู่ตลอดเวลา จึงส่งตัวไปรักษาที่ ร.พ.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หมอบอกว่าเป็นโรคอ้วน จึงให้ยาลดอาหารและยาลดความ อ้วน แต่ความอ้วนไม่ลดแต่อย่างใด แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขณะนี้น้ำหนักเกินกว่า 350 กก. แล้ว และไม่สามารถที่จะหาเครื่องชั่งน้ำหนัก มาชั่งได้จึงอยากจะส่งน้องชายไปรักษาตัวที่ กทม. แต่ไม่มีเงิน จึงอยากให้ผู้ใจบุญ หรือ หน่วยงานราชการ พอจะช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์น้องชายด้วย

แท็ก :คลิป, เรื่องเด่นเย็นนี้, โรคอ้วน, 350 กิโลกรัม, อรรถพล แดงค้ำกุล, นครศรีธรรมราช, เจาะข่าวเด่น คนอ้วน, ปิ๊ก น้ำหวาน

รายงานความคืบหน้า

รายงานความก้าวหน้าการดูแลรักษาผู้ป่วย นายอรรฐพณ แดงค้ำคุณ

, 30 ส.ค. 2010 - 15:26 | vilailux

รายงานความก้าวหน้าการดูแลรักษาผู้ป่วย นายอรรฐพณ แดงค้ำคุณจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตามที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับการติดต่อประสานงานจาก นายมนัส โนนุช ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผน มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระเมตตาโปรดให้รับ นายอรรฐพณ แดงค้ำคุณเป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ และได้ทรงติดต่อขอให้ทาง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายนี้ต่อไป

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 17.00 น.

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับตัว นายอรรฐพณ แดงค้ำคุณ ( อายุ 32 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ) ได้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วย อาการสำคัญ คือ โรคอ้วนขั้นรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างขณะนี้ ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ ขณะนี้ ได้พักรักษาตัวอยู่ ณ ห้องไอซียูอายุรกรรม ตึกคัคณางค์ ( ชั้น 3 ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ผู้ป่วยรายนี้เคยได้รับการรักษาที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน – 18 สิงหาคม 2553 หลังจากนั้น ได้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน โดยได้รับการดูแลต่อเนื่องจากแพทย์ โรงพยาบาลเทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมา ได้รับการส่งต่อมายัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ( 27 ส.ค. ที่ผ่านมา )

รศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อ พร้อมด้วย คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้ร่วมดูแลรักษาประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้แก่ อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้าน โรคต่อมไร้ท่อ โรคปอด โรคหัวใจ โรคโลหิตวิทยา โรคตับและทางเดินอาหาร โรคโภชนาการ โรคความผิดปกติของการนอนหลับ และ ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน การผ่าตัดสำหรับโรคอ้วน รังสีแพทย์ และ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้ร่วมกันวิเคราะห์และให้การรักษาผู้ป่วย รวมทั้ง ฝ่ายการพยาบาล ที่ได้ร่วมมือจัดทำจัดเตียงขนาดใหญ่พิเศษ พร้อม ห้องพักและทีมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายนี้

ปัญหาสำคัญ

ปัญหาสำคัญ ของผู้ป่วยรายนี้ ได้แก่ ...

โรคอ้วนในขั้นรุนแรง ( Morbid Obesity ) ซึ่งหมายถึง การมีปริมาณไขมันในร่างกายมาก จนเกิดโทษต่อร่างกาย อันจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ง่าย ปัจจุบัน ใช้เกณฑ์น้ำหนักตัว โดยมี ค่าดัชนี้มวลน้ำหนัก ( BMI ) มากกว่า 30 kg/m2

น้ำหนักตัว

น้ำหนักแท้จริงของผู้ป่วยรายนี้ ยังไม่สามารถชั่งโดยตรงได้ แต่คาดว่า ไม่ต่ำกว่า 320 กิโลกรัม

ภาวะแทรกซ้อน

1. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน ที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหายใจไม่พอ โดยปอดมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้เกิด ภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้างในเลือด และ ก๊าซออกซิเจนในเลือดมีปริมาณลดลง

2. ภาวะความดันโลหิตในปอดสูง ซึ่งเป็นผลมากจาก ภาวะขาดก๊าซออกซิเจนในเลือด เป็นเวลานาน

3. ภาวะหัวใจหัวใจวายซีกขวา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ภาวะความในโลหิตในปอดที่สูงเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ตัวบวม

4. ภาวะซีด โลหิตจาง

5. แผลกดทับบริเวณก้นกบและสะโพก

6. กล้ามเนื้ออ่อนแรง

7. การทำงานของตับผิดปกติ มีน้ำดีคั่งในกระแสเลือด

8. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แข็งตัวช้ากว่าปกติ

9. สงสัยว่า จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำของร่างกายท่อนล่าง

10. สงสัยว่า จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด

คณะแพทย์ได้ให้ การรักษาเบื้องต้น ด้วยการ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ ได้แก่ ความดันชีพจร , คลื่นไฟฟ้าหัวใจ , ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และ อัตราการหายใจ เป็นต้น กับทั้งยังได้ ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยทางจมูก เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม , มีการให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ และจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทาน ให้มีปริมาณวันละ 1,000 กิโลแคลอรี่ นอกจากนี้ ยังให้การพยาบาล ด้วยการพลิกตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะแผลกดทับ

สภาพผู้ป่วยขณะปัจจุบัน

รู้ตัวดี , ถามตอบได้ แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักนอนหลับ , เริ่มเคลื่อนไหว แขนขาได้มากขึ้น , มีกำลังมากขึ้น , หายใจได้ลึกขึ้น , รู้สึกเบื่ออาหาร ทานได้น้อย

วันนี้ ( 30 สิงหาคม 2553 ) คณะแพทย์ได้ดำเนินการ ติดตามผล พร้อม การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ การรักษาต่างๆ ได้แก่ การตรวจติดตามการทำงานของตับ , การตรวจติดตามการแข็งตัวของเลือด , การตรวจภาวะการหายใจและนอนกรน ( Sleep test ) , การรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง และ การใช้เตียงลม เพื่อป้องกันแผลกดทับ

แผนการรักษาในขั้นต่อไป

จะดำเนินการส่งตรวจ “ MRI ” ของ สมอง ช่องทรวงอก ช่องท้อง , การประเมินภาวะลิ่มเลือดอุดตัน , การเตรียมการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ด้วยการส่องกล้อง

ปิ๊ก น้ำหวานน้ำหนักลดแล้ว 40 กก.ฮึด!! สู้โรคอ้วนต่อ

ภาพ ปิ๊ก น้ำหวาน เมื่อได้รับการรักษาพยาบาล ก่อนเตรียมรับการผ่าตัด

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 ตุลาคม 2553 17:21 น.ปิ๊ก น้ำหวานน้ำหนักลดแล้ว 40 กก.ฮึด!! สู้โรคอ้วนต่อ ยันพร้อมพร้อมผ่าตัด กระเพาะอาหารแล้ว

วันที่ 8 ต.ค.รพ.จุฬาลงกรณ์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ในฐานะประธานมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ โปรดให้ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้แทนพระองค์เข้าเยี่ยม นายอัฐพณ แดงค้ำคุณ หรือ ปิ๊ก น้ำหวานอายุ 32 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช คนไข้ในพระอุปถัมภ์ ที่ป่วยเป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง (Mobrid obesity) ซึ่งทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ โปรดให้ รพ.จุฬาฯ รับตัวไว้รักษาพยาบาล จากนั้น นางพนิตา พร้อมด้วย นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.โรงพยาบาล แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการรักษาอาการของ ปิ๊ก น้ำหวาน หลังจากรักษาครบ 1 เดือน ว่า ทาง นพ.อดิศร ได้ถวายรายงานความคืบหน้าในการรักษาอาการของ ปิ๊ก น้ำหวาน ให้ทูลกระหม่อมทราบ โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงต้องการให้ดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย พร้อมทั้งยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ ทางมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ จะคอยอำนวยความสะดวกให้กับญาติของผู้ป่วยที่จะเดินทางมาเยี่ยมด้วย ซึ่งเชื่อว่าหากมีญาติมาเยี่ยมจะช่วยเป็นกำลังใจในการลดอาหารได้

ด้าน นพ.อดิศร กล่าวว่า ตั้งแต่ผู้ป่วยรายนี้ เข้ามารับการรักษา ทางทีมแพทย์ได้ประเมินอาการของผู้ป่วย พบว่า มีปัญหาต่างๆ คือ

1. มีอาการหัวใจเต้นเร็ว และผิดจังหวะ ทางทีมแพทย์จึงเริ่มรักษาด้วยการให้ยาทางเส้นเลือด เพื่อเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.แต่พบว่าไม่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนวิธีโดยใช้การช็อตไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.พบว่า ได้ผล ทำให้หัวใจกลับมาเต้นตังหวะปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อน

2. โรคอ้วน ส่งผลต่อการหายใจได้ไม่มีประสิทธิภาพ จึงให้หายใจผ่านทางสายเสียบจมูกในช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืนจะให้หายใจผ่านเครื่องช่วยหายใจ

3. ภาวะฮอร์โมนบกพร่อง

4. โรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดปอด เนื่องจากข้อจำกัดของผู้ป่วยที่มีรูปร่างใหญ่ ผิวหนา ไม่สามารถตรวจในเครื่องซีที สแกน ได้ จึงยืนยันไม่ได้ว่า มีลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่ ต้องให้การรักษาไปตามอาการด้วยการให้ยา พบว่า มีอาการที่ดีขึ้น

5. โรคอ้วนลงพุง ได้จำกัดอาหารของผู้ป่วยให้อยู่ที่ 800 กิโลแคลอรี ต่อวัน เน้นอาหารประเภทไขมันต่ำ มีอาหารประเภทโปรตีนร้อยละ 50 ทั้งยังให้ทำกายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์ช่วยในการแกว่งขา ดึงตัว ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี ทำให้ในระยะเวลา 1 เดือน ที่เข้ารักษา ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงจากเดิมที่มีน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม เหลืออยู่ประมาณ 160 กิโลกรัม และจากเดิมที่จะต้องใช้คนช่วยในการพลิกตัว 8-10 คน ตอนนี้ก็เหลือ 5-6 คน

ขณะนี้สภาพร่างกายผู้ป่วยถือว่าพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการ ผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง โดยวิธีการส่องกล้องแล้ว แต่จะต้องอยู่ที่ความสมัครใจของนพ.อดิศร กล่าว

ขณะที่ นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องการผ่าตัดนั้น ขณะนี้ผู้ป่วยได้ยืนยันกับแพทย์แล้วว่าพร้อมที่รับการผ่าตัดแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มผ่าตัดนั้นจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ แม้สภาพร่างกายของผู้ป่วยจะพร้อมแล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือน จะสามารถเริ่มผ่าตัดได้

1 comment:

  1. กรณีปิ๊ก น้ำหวาน นี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ออกข่าวมาสับสน คือน้ำหนักตัวของเขา เพราะมีในที่ต่างๆว่าหนัก 350, 320 กิโลกรัม และในล่าสุดตุลาคม 2553 บอกว่าหนัก 200 กก. และลดแล้วด้วยคุมอาหารเหลือ 160 กก. ก่อนผ่าตัด ซึ่งทำให้รู้สึกสับสนว่า เขาเมื่อเป็นโรคอ้วนรุนแรง ก่อนเข้ารับการรักษานั้นหนักเท่าใดแน่ จึงอยากขอให้ผู้มีข้อมูลให้นำเสนอด้วย ทั้งนี้เพื่อความถูกต้อง และเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ประสงค์จะรับการรักษาพยาบาล พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ประสงค์จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยในลักษณะเดียวกันได้รับการรักษาพยาบาลด้วย

    ReplyDelete