มารู้จักยาจกพเนจร (Hobo)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: สังคม, เศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา, USA
มีศัพท์ในภาษาอังกฤษคำหนึ่งว่า โฮโบ (Hobo) หมายถึงคนพเนจรที่มีนิสัยชอบโดดขึ้นรถไฟแล้วโดยสารฟรีไปในที่ต่างๆ เพื่อหางานทำ หรือแสวงโชค เป็นคำที่พบมากในช่วงที่อเมริกากำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ (Great Depression)
ที่มาของคำว่า Hobo มีกล่าวกันไปต่างๆนาๆ เช่น
Hoe-boy หรือเด็กหนุ่มที่แบกจอบ หรือเครื่องมือการเกษตรพื้นๆ รับจ้างทำงานตามไร่ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
บ้างว่ามาจากที่แห่งหนึ่งในเกาะแมนฮัตตัน (Manhattan) เมืองนิวยอร์คเป็นบริเวณแยกระหว่างถนนสาย Houston กับ Bowery ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเป็นที่ๆมีคนยากจนในลักษณะโฮโบมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
บางส่วนบอกว่ามาจากคำว่า Homeless Bohemian หรือพวกชาวโบฮีเมียนที่ไร้ที่พักอาศัย
แต่โดยรวมๆ หมายถึงคนยากจนที่ไม่มีงานทำ ต้องการเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อหาโอกาสทำงานเพื่อยังชีพ แม้งานในเมืองหายาก พวกโฮโบ ก็จะเดินทางไปตามฟาร์มในชนบทที่ซึ่งพอมีอาหารการกิน มีที่พักอาศัย พอให้มีชีวิตผ่านช่วงวิกฤติไปสักระยะหนึ่ง
มีการศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกันว่า ในช่วงสงครามกลางเมืองในกลางศตวรรษที่ 19 ทหารจำนวนมากเดินทางกลับบ้าน โดยอาศัยกระโดดขึ้นรถไฟในช่วงที่กำลังวิ่งช้าๆ แล้วแอบโดยสารเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ บางส่วนอาศัยการเดินทางไปด้วยรถไฟเพื่อเดินทางสู่ตะวันตก เพื่อหางาน
ในปี ค.ศ. 1906 ศาสตราจารย์ Layal Shafee ได้ทำการศึกษาอย่างกว้างขวาง และประมาณว่ามีคนยากจนที่ร่อนเร่ไปในลักษณะดังกล่าวประมาณ 500,000 คน หรือประมาณร้อยละ .6 ของประชากรสหรัฐในขณะนั้น ในปี ค.ศ. 1911 หนังสือพิมพ์ The New York Telegraph ประมาณว่ามีคนที่ร่อนเร่พเนจรในลักษณะ Hobo ประมาณ 700,000 คน ในช่วงเวลาดังกล่าว นับเป็นช่วงเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเติบโต ดีสำหรับผู้ประกอบการ แต่เป็นช่วงที่คนจนกลับมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนในเมืองและคนชนบท
ประชากรของคนจนร่อนเร่พเนจรยิ่งเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษที่ 1930 ในปี ค.ศ. 1929 ที่เรียกว่า Great Depression คนตกงานอย่างกว้างขวางทั้งประเทศ โรงงานต้องปิดตัว ธนาคารต้องล้มกิจการ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีงานที่บ้านหรือชุมชนของตน จึงตัดสินใจเดินทางแบบไม่เสียค่าโดยสาร อาศัยรถไฟไปตามที่ต่างๆแบบแสวงโชค
การท่องเที่ยวไปบนรถไฟแบบผิดกฎหมาย ไม่เสียค่าโดยสารนี้มีความเสี่ยง ต้องพบกับทัศนคติที่ไม่ดีจากคนทำงานรถไฟ และอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากพวกรักษาความปลอดภัยของบริษัทรถไฟ บางคนเสี่ยงโดยสารไปกับรถบรรทุกตู้น้ำแข็ง แต่เมื่อแอบเดินทางไปในระยะยาว เมื่อเปิดตู้ออกมา ก็พบว่าได้หนาวตายไปแล้ว
สัญลักษณ์ของโฮโบ หรือคนจนพเนจร อาจไม่ค่อยพบในปัจจุบัน แต่จะมีประชากรส่วนหนึ่งที่เป็นคนจนสุดในเมืองที่เรียกว่า “คนไร้บ้าน” หรือ Homeless ต้องอาศัยนอนตามสวนสาธารณะ ใต้สะพาน ทางระบายน้ำ หรือซอกตึก ไม่ว่าในสังคมที่มั่งมีอย่างไร แต่หากการไม่คำนึงถึงการดูแลคนในระดับล่าง ปัญหาสังคมที่ถูกละเลยก็จะก่อให้เกิดคนยากจนในแบบดังกล่าว
No comments:
Post a Comment