Tuesday, January 31, 2012

รถยนต์ไฟฟ้า Blue Car

รถยนต์ไฟฟ้า Blue Car

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Electric car, EV, รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟ้ฟา Blue Car จำนวน 3,000 คันจะได้เข้าร่วมโปรแกรมรถแบบแบ่งกันใช้ หรือ Autolib' carsharing program ซึ่งจะมีไว้บริการทดสอบที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รถยนต์นี้เป็นรถขนาดเล็กใช้วิ่งในเมือง เป็นรถที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะผลิตโดยบริษัทที่ไม่ใช่เพื่อการผลิตรถยนต์ที่ผลิตรถจำนวนมากอย่าง Toyota, Nissan-Renault, หรือ GM

ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Blue Car ผลิตโดยบริษัท BatScap

Bolloré ได้รับสัญญาที่จะส่งรถนี้เข้าร่วมโครงการที่มีสถานี 1,120 เพื่อการชาร์ตไฟที่ทำหน้าที่เป็นที่จอดรถไปในตัว มีรถ Blue Car ได้เข้าโครงการในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 และเริ่มบริการในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2011 โดยมีรถยนต์ไฟฟ้านี้ให้บริการแก่สาธารณะ 250 คัน Autolib’ วางแผนจะเพิ่มอีก 300 คันต่อเดือน จนกระทั่วเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012

รถยนต์ไฟฟ้า Blue Car ผลิตโดยบริษัท BatScap เป็นรถแบบ 5 ประตู ขับเคลื่อนด้วยพลังมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่มี Transmission สามารถวิ่งได้ไกลระหว่าง 200-250 กิโลเมตร ขนาดลำตัวกว้าง 1,720 ซม. ยาว 3,300 ซม. สูง 1,610 ซม. น้ำหนักตัวรถรวมแบตเตอรี่แล้ว 1,070 กก. ออกแบบโดย Philippe Guédon (Matra)

Monday, January 30, 2012

ในปี ค.ศ. 2040 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน

ในปี ค.ศ. 2040 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประชากร, อาหาร, สิ่งแวดล้อม

Reuters - โลกจะมีเวลาเหลือน้อยลงอีก ที่จะแก้ปัญหาอาหาร น้ำสะอาด และพลังงานไม่เพียงพอกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชากรโลก 3,000 ล้านคนจะอยู่ในสภาวะยากจน ตามการรายงานข่าวของสหประชาชาติในวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในปี 2040 โลกจะมีประชากร 9,000 ล้านคน เพิ่มจากปัจจุบันที่ 7,000 ล้านคน คนที่ถูกจัดว่าเป็นคนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านคนในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีความต้องการใช้ทรัพยากรยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ในปี ค.ศ. 2030 โลกจะต้องการอาหารมากกว่าปัจจุบันอีกร้อยละ 50 ต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้นอีกร้อยละ 45 และต้องการน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศจะทำให้การผลิตพืชผลการเกษตรเป็นไปได้อย่างจำกัดยิ่งขึ้น

และความที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนนี้ จะทำให้คนในโลกถึง 3,000 ล้านคนต้องอยู่ในสถานะยากจน

The report is available at www.un.org/gsp/

(Reporting by Nina Chestney)

ขอเราได้อยู่อย่างมีอัธยาศัย สุภาพ และมีเมตตาต่อกัน

ขอเราได้อยู่อย่างมีอัธยาศัย สุภาพ และมีเมตตาต่อกัน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Politics, การเมือง, การปกครอง, เสรีภาพ, Liberty

ภาพ วิลเลียม เพนน์ (William Penn)

เป็นที่น่าแปลกใจไหมที่ในสหรัฐอเมริกา มีประชากรมากถึง 300 ล้านคน มาจากหลากหลายศาสนา เผ่าพันธุ์ และเชื้อชาติ แต่เขาอยู่รวมกันเป็นประเทศได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคงต้องย้อนกลับไปยังรากเง้าของประเทศนี้ ที่เกิดจากคนอพยพมาสู่โลกใหม่ เพราะความขัดแย้งด้านความเชื่อในศาสนาหลักในยุโรป คือคาธอลิค (Catholics) โปรเตสแตนท์ (Protestants) หรือฝ่ายต่อต้าน และพวกที่ไม่ได้เป็นทั้งคาธอลิคและโปรเตสแตนท์ ดังพวกนับถือนิกายเควกเกอร์ (Quakers) และความเชื่อในนิกายอื่นๆ และการจะทำความเข้าใจในสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่ การต้องมีความอดทนทางความคิดความเชื่อเรื่องศาสนา และแยกศาสนาออกจากรัฐอันเป็นหลักการอันสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา

การที่กลุ่มคนที่เชื่อในนิกายศาสนาหนึ่ง อย่างพวกเควกเกอร์ ที่ไม่ใช่ทั้งคาธอลิค และไม่ใช่กลุ่มใหม่อย่างโปรเตสแตนท์ มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา และดำรงอยู่ได้นั้น คงต้องติดตามผู้นำของเขาคนหนึ่ง คือ วิลเลียม เพนน์ (William Penn)

I know no religion that destroys courtesy, civility, and kindness. ~ William Penn quotes (English Quaker leader and Founder of Pennsylvania, 1644-1718)

ข้าพเจ้าไม่รู้จักศาสนาใดที่ทำลายความมีอัธยาศัย ความสุภาพ และความมีเมตตา ~ วิลเลียม เพนน์, ผู้นำนิกายเควกเกอร์และผู้ก่อตั้งชุมชนในอาณานิคมในอเมริกา ซึ่งต่อมาคือรัฐเพนซิลวาเนีย, ค.ศ. 1644-1718)

วิลเลียม เพนน์ (William Penn) เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1644 เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1718 รวมอายุได้ 74 ปี เพนน์เป็นชาวอังกฤษ เจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการธุรกิจ นักปรัชญา และผู้ก่อตั้งจังหวัดเพนซิลวาเนีย อันเป็นชุมชนชาวอังกฤษในอาณานิคมอเมริกาเหนือ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า Commonwealth of Pennsylvania เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในการนับถือศาสนา เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงในการมีสัมพันธภาพอันดีและทำสัญญาที่จะอยู่ร่วมกันกับชนพื้นเมืองอเมริกาเผ่าเลนาปี (Lenape Indians) และด้วยการนำของเขา จึงเกิดเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ที่ได้มีการวางแผนและพัฒนาต่อมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมืองนี้ต่อมาได้เป็นสถานที่ประกาศอิสรภาพของอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1776 และปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่สุดของรัฐเพนซิลเวเนียทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา

ประวัติของวิลเลียม เพนน์ทั้งในอังกฤษและอเมริกาเป็นเรื่องที่น่าติดตามศึกษา และมันอาจทำให้เราเข้าใจการวางทิศทางของสังคมใหม่ในประเทศไทย ที่คนมีความคิดที่แตกต่างกันในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ โปรดติดตาม แล้วนำความรู้ความเข้าใจนี้มาแลกเปลี่ยนกัน

ภาพ วิลเลียม เพนน์ เมื่อวัย 22 ปี

เสรีภาพไม่ได้เกิดจากรัฐบาล เสรีภาพมาจากประชาชน

เสรีภาพไม่ได้เกิดจากรัฐบาล เสรีภาพมาจากประชาชน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Politics, การเมือง, การปกครอง, เสรีภาพ, Liberty

Liberty has never come from Government. Liberty has always come from the subjects of it... The history of liberty is a history of limitations of governmental power, not the increase of it. ~ Woodrow T. Wilson (American 28th President of the United States 1856-1924)

เสรีภาพไม่เคยมาจากรัฐบาล แต่เสรีภาพมักมาจากประชาชนผู้ถูกปกครอง ประวัติศาสตร์สอนว่า ประวัติศาสตร์ของเสรีภาพคือการที่รัฐบาลถูกจำกัดอำนาจ ไม่ใช่ไปเพิ่มอำนาจให้รัฐบาล ~ วูดโรว์ ที วิลสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐอเมริกา ผู้เกิดและมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1856 ถึงปีค.ศ. 1924)

ภาพ วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow T. Wilson) ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐอเมริกา

หลักของการปกครองที่มีประสิทธิภาพ คือการที่รัฐบาลกลางของประเทศขนาดใหญ่นั้นมีอำนาจพอเหมาะสม และมีอำนาจที่จะทำหน้าที่ในส่วนที่เขาทำได้ดีที่สุด เสรีภาพของรัฐบาลในส่วนกลางนั้น ต้องมีความสมดุลกับอำนาจของรัฐบาลในส่วนท้องถิ่น ในสหรัฐอเมริกาหมายถึง รัฐบาลของแต่ละรัฐ (State Government) และการปกครองในระดับเมืองและชุมชนทั้งหลาย

ไม่มีใครบอกได้ว่าการแบ่งปันอำนาจอันเหมาะสมนั้นอยู่ที่ตรงไหน บางครั้งการใช้หลัก “รัฐบาลกลางที่ดีคือการมีอำนาจให้น้อยที่สุด” เป็นสิ่งที่ได้ผลดี แต่ในบางครั้ง การมีรัฐบาลกลางที่แข็งแกร่ง ก็ช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังในสมัยของประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt ผู้ซึ่งเกิดในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1882 และเสียชีวิตในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 เขาต้องใช้ความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีและทุกเครื่องมือที่รัฐบาลกลางจะมีและใช้ได้ ในการจัดการกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่คุกคามทั่วประเทศในช่วงหลังปี ค.ศ. 1929

เมื่อเราพูดถึงหลักเสรีภาพ (Liberty) เราต้องตระหนักว่า ประชาชนทุกคนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซี่งเสรีภาพทั้งหลาย ทั้งในการแสดงออก เสรีภาพในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เสรีภาพส่วนบุคคล และรวมถึงเสรีภาพในทางวิชาการ ทั้งหมดนี้ล้วนมีค่าใช้จ่าย หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี ใช้อย่างไม่มีการศึกษา ขาดสติและปัญญา เราก็จะเสียเสรีภาพนั้นไป แต่หากเราใช้อย่างมียุทธศาสตร์ ใช้อย่างเข้าใจจังหวะอันเหมาะสม เสรีภาพนั้นก็จะยิ่งพอกพูน และยังประโยชน์ให้ผู้คนเห็นความจำเป็นต้องมีเสรีภาพนั้น

Sunday, January 29, 2012

สลัดพ่อครัว หรือเชฟสลัด (Chef Salad)

สลัดพ่อครัว หรือเชฟสลัด (Chef Salad)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Foods, อาหาร, Salad, สลัด

ภาพ สลัดพ่อครัว หรือ Chef Salad

เชฟสลัด (Chef Salad) หรือจะเรียกว่า “สลัดพ่อครัว” ก็ได้ เป็นสลัดหรืออาหารจานผักชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยไข่ต้ม และมีเนื้ออีกหนึ่งหรือมากกว่า เช่น แฮม (Ham), เนื้อไก่งวง (Turkey) ไก่ (Chicken), เนื้อวัวย่าง (Roast beef) มะเขือเทศ (Tomatoes) แตงกวา (Cucumbers) และเนยแข็ง (Cheese) โดยมีผักกาดรองอยู่ด้านล่าง บางตำรามีส่วนผสมของปลาเค็มป่น (Anchovies) ร่วมด้วย ส่วนน้ำสลัดนั้นสามารถใช้ได้หลายอย่างในสลัดนี้ แล้วแต่จะเลือก

Chef = พ่อครัว, กุ๊ก, หัวหน้าพ่อครัว, หัวหน้า

Anchovies = ปลากะตัก, หรือปลาตัวเล็กๆ ที่มาทำเป็นปลาเค็มในแบบฝรั่ง แต่เวลาคนไทยจะใช้ปลาเค็มแบบไทยเป็นส่วนผสมแทน Anchovies ก็ใช้ได้ นับว่าใกล้เคียง แลให้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง

ภาพ Chef Salad ในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำได้อย่างง่าย ดังที่เห็น


Broccoli slaw อีกแบบหนึ่งของ Coleslaw

Broccoli slaw อีกแบบหนึ่งของ Coleslaw

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Foods, อาหาร, Salad, สลัด

ภาพ Broccoli slaw

Broccoli slaw เป็นอีกแบบหนึ่งของ โคลสลอว์” (Coleslaw) ที่ใช้ก้านบรอคโคลี (broccoli stalks) แทนกล่ำปลี อาจมีส่วนประกอบของ มายองแนส (mayonnaise), แครอต (carrots), น้ำส้มสายชู (Vinegar) หรือ น้ำมะนาว (Lemon juice) น้ำตาล (Sugar) เกลือ (Salt) และพริกไทย (Pepper) เป็นสลัดที่สามารถเก็บแบบข้ามคืนไว้ในตู้เย็น แล้วเมื่อนำกลับมากินในวันต่อไป รสชาติจะดียิ่งขึ้นเมื่อน้ำสลัดจะซึมเข้ากับผัก รสกลมกล่อมขึ้น

ข้อดีของสลัดลักษณะนี้ คือทำแล้วเก็บไว้กินในมื้อต่อๆไปได้ โดยอาหารไม่เสียรสชาดและคุณค่า

Saturday, January 28, 2012

ปีนี้ เราจะต้องประสบปัญหาเหนื่อยมากขึ้น เพียงเพื่อยังมีชีวิตที่พอเพียง

ปีนี้ เราจะต้องประสบปัญหาเหนื่อยมากขึ้น เพียงเพื่อยังมีชีวิตที่พอเพียง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ข้อความที่ได้แนวคิดจาก Suthichai's News Junkies Club

เราซื้อสิ่งของที่เราไม่จำเป็นต้องมี ด้วยเงินที่เราไม่มี เพื่อสร้างความประทับใจต่อคนที่เราไม่ชอบ...แม่นแท้!

We buy things we don't need, with money we don't have, to impress people we don't like.

ชีวิตในทุกวันนี้ เรามีทางที่จะใช้เงินที่เราไม่มี เพียงแต่ว่า เราหาทางพิสูจน์ได้ว่า เรามีความสามารถที่จะจ่ายคืนได้ในอนาคต ทั้งนี้ด้วยบัตรเครดิต ที่เราอาจมีได้หลายๆใบ แล้วก็แสดงความสามารถที่จะหาเงินจ่ายเขาไปได้เรื่อยๆ โดยการจ่ายเพียงเงินค้างชำระขั้นต่ำ คนรุ่นใหม่มีนิสัยเสียแบบใหม่ คือกลายเป็นนักจับจ่าย หรือ Shopaholic จ่ายเพื่อซื้อของมีแบรนด์ ราคาแพง ได้ใส่ของหรือมีของเหล่านั้นแล้วถือว่าโก้ มีเอาไว้เพื่อวดคน แต่หากมองลึกๆ ของเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นของจำเป็นในชีวิตเลย

เริ่มตั้งแต่กางเกงตัวละหลายพันบาท รองเท้าคู่ละ 4,000-7,000 บาท แล้วมีกันหลายคู่ นาฬิกาเรือนละเป็นแสน รถยนต์คันละหลายล้านบาท ทั้งๆที่หากจะมีรถสักคันๆละ 600,000-800,000 บาท ก็ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว หรือหากจำเป็นจะซื้อรถยนต์เก่า คันละ 100,000-200,000 บาท ก็ทำหน้าที่ได้ หรือจะใช้วิธีการไม่ต้องใช้รถยนต์เลย โดยใช้รถประจำทาง รถไฟฟ้า รถแทกซี่เป็นครั้งคราว

หากกินข้าวกลางวันที่ร้านหรูทุกวัน หรือบ่อยครั้ง แล้วจ่ายครั้งละหลายร้อย หรือเป็นพันบาท แต่หากกินข้าวแกงจานละ 30 บาท ก็มีชีวิตที่อิ่มได้เหมือนกัน

ชีวิตเป็นของเรา จงใช้ชีวิตอย่างที่เราไม่ต้องไปคำนึงถึงหน้าตา มีชีวิตที่พอเพียง มีความเป็นอิสระในตัวเอง มีชีวิตที่อยู่อย่างสบายใจและสบากาย โดยไม่ต้องไปเป็นหนี้เป็นสินเขามากมาย

Friday, January 27, 2012

โรงแรมแบบห้องจิ๋ว (Capsule Hotel)

โรงแรมแบบห้องจิ๋ว (Capsule Hotel)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Human habitation, dwellings, ที่พักอาศัย, โรงแรม

โรงแรมแบบห้องจิ๋ว (Capsule hotel) ญี่ปุ่นเรียกว่า カプセルホテルkapuseru hoteru เป็นโรงแรมประเภทหนึ่งที่พัฒนาในประเทศญี่ปุ่น ที่มีโรงแรมที่สามารถให้บริการห้องพักได้มากห้อง ด้วยพื้นที่ห้องขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็น “หลอด” (Capsules) เจตนาเพื่อให้บริการห้องพักราคาประหยัดสำหรับคนที่ต้องการเพียงพักชั่วคราว และไม่ได้ต้องการบริการอะไรมากมายเหมือนดังโรงแรมทั่วไป

ลักษณะของโรงแรมห้องจิ๋ว
Description

ขนาดที่พักของแขกในแต่ละหน่วยเป็นห้องที่ทำเป็นหลอด หรือแคปซูลจากพลาสติกหรือไฟเบอร์กลาส (Fiberglass block) ขนาดลึก 2 ม. กว้าง 1 ม. และสูง 1.25 ม. เพื่อเป็นที่พักสำหรับนอน แต่มีวัสดุอุปกรณ์บริการ เช่นโทรทัศน์ หน้าปัดอิเลคโทรนิกส ระบบอินเตอร์เน็ต ห้องนอนแบบแคปซูลแต่ละหน่วยวางซ้อนกัน 2 หลัง ในโถงขนาดกว้าง สามารถบรรจุแคปซูลได้ถึง 20 หน่วย โดยมีอ่างล้างหน้า ส้วม และห้องอาบน้ำเป็นส่วนกลาง อาจมีบริการร้านอาหาร หรือตู้อาหารแบบหยอดเหรียญ (vending machines) และมีบริการสันทนาการอื่นๆ

บริการห้องพักแบบแคปซูลนี้ได้รับความนิยมเพียงในเมืองใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาที่ดินสูงมาก แต่ไม่ได้รับความนิยมนอกประเทศ ส่วนแขกผู้มาพักในโรงแรมมีห้องจิ๋วนี้จะไม่สามารถสูบบุหรี่หรือกินอาหารภายในห้องพักจิ๋วได้

ในตะวันตกมีบริการโรงแรมแบบประหยัดคล้ายกัน ที่เรียกว่า Pod Hotels แต่มีขนาดใหญ่กว่านี้และมีห้องอาบน้ำส่วนตัว

โรงแรมห้องจิ๋วนี้มีแตกต่างกันตามขนาด โรงแรมบางแห่งมีห้องเพียง 50 ห้องจิ๋ว แต่บางแห่งมีขนาดถึง 700 ห้อง หลายแห่งเป็นที่พักสำหรับผู้ชาย มีบางแห่งที่เป็นที่พักแยกผู้หญิงและผู้ชาย มีเสื้อผ้าชุดนอน และรองเท้าแตะแบบญี่ปุ่นไว้ให้เปลี่ยนขณะมาพัก มีบริการผ้าเช็ดตัว ประโยชน์ของโรงแรมแบบนี้คือราคาค่าที่พักที่ประหยัด ซึ่งตกประมาณ US$26–52 หรือ 780 บาท ถึง 1,560 บาทต่อคืน

คนที่มาพักมักจะเป็นพวกที่ไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับที่พักในวันทำงาน และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในญี่ปุ่นในช่วงต้นปี ค.ศ. 2010 คนที่มาพักร้อยละ 30 ในโรงแรม Shinjuku 510 ในกรุงโตเกียว (Tokyo) เป็นผู้ว่างงาน หรือไม่มีงานเต็มเวลา และเช่าที่พักแบบเป็นรายเดือน คืออยู่อย่างเกือบประจำ

ภาพ แต่ละ Capsule มีลักษณะดังที่เห็น ลึกประมาณ 2.0 เมตร กว้าง 1.0 เมตร สูง 1.25 เมตร


ภาพ แต่ละ Capsule วางเรียง และซ้อนกัน 2 ชั้นอย่างเป็นระเบียบ จะจุคนได้ 20 คนในพื้นที่โถงที่ไม่ใหญ่นักได้

ภาพ ภายใน Capsule เมื่อมีผู้มาพัก จะมีลักษณะดังในภาพ


ภาพ หน้าปิดที่เป็นสำหรับเครื่องมือสื่อสาร สามารถทำให้ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และวางของอื่นๆได้เล็กน้อย

ประวัติศาสตร์
History

โรงแรมจิ๋วแห่งแรกในญี่ปุ่นคือ Capsule Inn Osaka ออกแบบโดย Kisho Kurokawa และตั้งอยู่ที่เขต Umeda ในเมือง Osaka ซึ่งเริ่มเปิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979

ศึกษาเพิ่มเติม
See also

§ YOtel

§ Sleep box

Thursday, January 26, 2012

ผมเป็นพวกมนุษยนิยม (Humanism)

ผมเป็นพวกมนุษยนิยม (Humanism)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Philosophy, ปรัชญา, beliefs, ความเชื่อ, Humanism, มนุษยนิยม

มีคนใกล้ตัวบอกลึกๆ ผมเป็นคนเหมือนไร้ศาสนา (Atheist) เพราะไม่ค่อยไปวัด หรือทำบุญที่วัด ส่วนใหญ่จะไปวัด เพราะมีคนอื่นๆที่ทำให้ไปวัด ผมไปวัดแบบตามๆเขาไป ผมตรวจสอบตนเอง และเลยต้องมาแสดงออกว่าตัวตนของผมจริงๆนั้นเป็นอย่างไร เชื่อถืออะไร และใช้หลักดำรงชีวิตอย่างไร

ผมเลยขอเขียนตอบเลยว่า จริงๆแล้ว ผมเห็นความจำเป็นของการมีศาสนา และผมเคารพและชื่นชมในคนที่เขามีศาสนา และใช้ชีวิตอย่างมีความยึดมั่นในศาสนา ไม่ว่าเขาจะเชื่อถือในพระเจ้าหรือไม่ หรือยึดหลักพุทธศาสนา หรืออื่นใด แต่เพราะผมเคารพในความคิดต่างของแต่ละศาสนาว่ามีหลักการที่ดี แต่ก็ตระหนักว่าในโลกนี้ เพราะความยึดมั่นในศาสนาของตนอย่างไม่เปิดใจ ที่ทำให้มนุษย์ต้องมาขัดแย้งกัน ฆ่าฟันกันอย่างไม่รู้จบ ที่ท้ายสุด ผมไม่อยากนำเอาศาสนาใดมาเป็นบรรทัดฐาน แล้วมองศาสนาอื่นๆว่าไม่มีความหมาย หรือไม่ถูกต้อง

ผมยึดหลัก “มนุษยนิยม” (Humanism) ผมยังยึดหลักการศึกษา การมีปรัชญา โลกทัศน์ หรือการปฏิบัติที่เน้นไปที่คุณค่าของมนุษย์ แทนที่จะเน้นไปที่สิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ ที่เราไม่สามารถอธิบายได้ หากผมจะมีความเชื่อในสิ่งใด แล้วต้องไปพบกับใครที่เขาคิดไม่เหมือนกับผม ผมจะนิ่งฟัง และยอมรับในความแตกต่างกันนี้ แต่เราก็จะยังพูดคุยกันได้ คบกันได้

ผมเชื่อในหลักธรรมชาตินิยม ผมเชื่อว่ามนุษย์มีปัญญา แต่ปัญญาของเราว่ามากแล้ว แต่ไม่มีอะไรที่มากและยิ่งใหญ่พอที่จะขวางทางเดินของธรรมชาติ เราล้วนเกิดมา แล้วผ่านประสบการณ์ เรียนรู้ทำในสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ เราพัฒนาได้อย่างไม่หยุดยั้ง แต่แล้วเราก็แก่ลง เจ็บ และตาย ไม่มีใครหนีหลักเกิด แก่ เจ็บ และตายไปพ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจะเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติและสิ่งรอบตัวให้มาก ใช้สติและปัญญาที่จะดำรงชีวิต ทำให้ตนเองอยู่ในโลกอย่างขัดหลักธรรมชาติให้น้อยที่สุด

ในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมาค่อนชีวิต ตลอดเวลา ในทางเศรษฐกิจและสังคม ผมไม่ได้เชื่อในทุนนิยมอย่างสุดตัว เพราะผมเห็นจุดอ่อนของมันเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักสังคมนิยม (Socialist) ไม่ได้ ผมเห็นว่าการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรู้จักแบ่งปันเป็นสิ่งที่ดี การรู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์นี้ ไม่เคารพในความคิดเห็นของคนที่คิดแตกต่างจากตนเอง ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก นอกจากนี้ ผมยังตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถสร้างหลักประกันในชีวิตของประชาชนที่มากเกินกว่าสังคมจะแบกรับได้ และมันจะขัดกับหลักความเป็นจริงตามธรรมชาติ

ผมคิดว่าในมหาวิทยาลัยมีหลัก “เสรีภาพทางวิชาการ” (Academic freedom) ว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษา ต้องมีความยึดมั่นในชุมชนวิชาการนี้ดังเป็นศาสนา เราอาจจะเห็นต่างกัน วิพากษ์กันในชุมชนวิชาการ แต่ผมเห็นชัดเจนว่า นักวิชาการต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอสิ่งที่เขาเชื่อ เขาศึกษา และใช้หลักวิชาในการแสดงออกของเขาอย่างมีความรับผิดชอบ

ตรงกันข้าม ผมไม่นิยมนักวิชาการที่ทำตนเป็นเพียง “คนที่น่ารัก” จะคิด พูด แสดงออก หรือกระทำอย่างระวังตัวเอง กลัวคนเกลียดเสียจนเหมือนไม่มีจุดยืนความเชื่อใดๆเลย ผมถือว่านี่ก็เป็นการต่อต้านความก้าวหน้าทางวิชาการ ในอีกด้านหนึ่ง ผมไม่นิยมนักวิชาการที่จะพูดทุกเรื่อง แต่อย่างไม่เตรียมตัว ไม่มีข้อมูลที่ศึกษากันมาอย่างเป็นระบบ หรือใช้เสรีภาพทางวิชาการอย่างฟุ่มเฟือย นักวิชาการควรมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้ง และหากมีความเชื่อใดๆแล้ว ก็แสดงออกมา แล้วเพื่อนนักวิชาการที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ต้องเคารพในความคิดและผลของการศึกษานั้นๆ แล้วก็ทำหน้าที่ดูแลปกป้องสิทธิในการแสดงออกของเขา แม้เราโดยส่วนตัวอาจไม่เห็นด้วยกับเขา

และนี่คือตัวตนของผม

มีใครจะแข่งขี่จักรยาน 25 ไมล์กับ Ron Paul วัย 77 ปีไหม?

มีใครจะแข่งขี่จักรยาน 25 ไมล์กับ Ron Paul วัย 77 ปีไหม?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Politics, การเมือง, สหรัฐอเมริกา, libertarian, Tea Party

RT @CBSNews: Ron Paul: Question of releasing his medical records--challenges other candidates to 25-mile bike ride #cnndebate

RT @CBSNews: รอน พอลถูกถามให้เปิดเผยประวัติทางการแพทย์ของเขา แต่พอลท้าผู้สมัครคนอื่นๆ ให้แข่งขี่จักรยาน 25 ไมล์กับเขา

ภาพ Ron Paul สมาชิกสภาผู้แทนรัฐสภาสหรัฐจากเทกซัสเขตที่ 14 (Member of the U.S. House of Representatives จาก Texas's 14th district)

คุณหมอรอน พอล (Ronald Ernest "Ron" Paul) วัย 77 ปี เป็นแพทย์ นักเขียน สมาชิกรัฐสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2012 เขาเป็นคนวิจารณ์นโยบายการต่างประเทศและนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาอย่างหนัก และเขาก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรคของเขาเองในหลายกรณี ในปี ค.ศ. 1997 เขาได้เป็นตัวแทนของรัฐเทกซัสเขต 14 ในรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองฮิวสตัน (Houston) และ แกลเวสตัน (Galveston) พอลได้รับหน้าที่ในคณะกรรมการเกี่ยวกับการต่างประเทศและการเงิน และในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และเป็นประธานในคณะกรรมการด้านการเงิน นโยบายการเงินและเทคโนโลยีภายในของประเทศ (Financial Services Subcommittee on Domestic Monetary Policy and Technology) ในรัฐสภาของสหรัฐ

พอลมีถิ่นฐานเดิมที่เมืองพิทส์เบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Gettysburg College และเรียนด้านการแพทย์ที่ Duke University School of Medicine และเขาได้รับปริญญาด้านการแพทย์ที่นี้ และทำงานรับใช้เป็นแพทย์ทหารแห่งกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา จากช่วงปี ค.ศ. 1963 ถึงปี ค.ศ. 1968 เขาทำหน้าที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติแพทย์-นารีแพทย์ (Obstetrician-gynecologist) ในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s เขาทำคลอดให้กับทารกกว่า 4,000 คน ก่อนที่เขาเข้าสู่วงการเมืองในปี ค.ศ. 1976

ในปี ค.ศ. 2008 พอลสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นผู้ริเริ่มรณรงค์ประกาศเสรีภาพ แนวคิดของเขาปรากฏในหนังสือชื่อ Liberty Defined: 50 Essential Issues That Affect Our Freedom (2011), End The Fed(2009), The Revolution: A Manifesto (2008),Pillars of Prosperity (2008), A Foreign Policy of Freedom: Peace, Commerce, and Honest Friendship (2007), and The Case for Gold (1982).

บุตรชายของพอลชื่อ Rand Paul ได้สมัครชิงตำแหน่งและได้เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเคนตักกี้ (Kentucky) ในปี ค.ศ. 2010 นับว่าพอลเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่มีบุตรได้เข้าสู่รัฐสภาสหรัฐด้วยกันในเวลาเดียวกัน พอลได้ชื่อว่าเป็น “ปัญญาชนบิดาของกลุ่ม Tea Party movement” เขาเป็นคนที่รู้จักกันในฐานะยึดมั่นในหลักการเสรีนิยม (libertarian) ในทางการเมือง หลายแนวคิดของเขา ต่างทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคดีโมแครต พอลจัดเป็นนักการเมืองที่มีลักษณะคิดอย่างไร พูดอย่างนั้น เขียนไปอย่างนั้น ทำและดำเนินชีวิตไปอย่างที่เขาเชื่อ

ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 เขาประกาศว่าจะไม่สมัครชิงตำแหน่งในรัฐสภาสหรัฐอีก เพื่อจะใช้เวลากับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เขาเคยเป็นตัวแทนของพรรค Libertarian Party มาก่อน และในปี ค.ศ. 2008 เขาเสนอตัวในฐานะเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน

หอพัก (Boarding House) กำลังจะหมดไป

หอพัก (Boarding House) กำลังจะหมดไป

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: habitation, human settlement, dwellings, ที่พักอาศัย, บ้าน

หอพัก (Boarding house) เป็นบ้าน (House) บางทีเป็นบ้านสำหรับครอบครัวทั่วไป (Family home) ที่แบ่งห้องที่มีอยู่เกินความต้องการ เพื่อให้คนอื่นๆได้เช่าอาศัย อาจเป็นสัปดาห์ เดือน หรือเป็นปี บ้านในลักษณะเช่นนี้จะมีที่ซักผ้า แต่ที่ต้องมีแน่ๆคือมีที่นอน และอาจมีหรือไม่มีอาหาร บางทีในสหรัฐเรียกว่า Lodging house หรือบางทีก็เรียกว่า Rooming house ซึ่งอาจไม่มีบริการอาหาร ผู้เช่าพักเมื่อจ่ายค่าเช่า ก็มีสิทธิในการใช้ห้อง แต่มิได้หมายความว่าเป็นเจ้าของห้อง ผู้เป็นเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของหอพัก จะเรียกว่า Landlord

ลักษณะกิจการดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีมหาวิทยาลัย เป็นเมืองมหาวิทยาลัย (University town) ซึ่งจะมีคนมาอยู่แบบในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต แต่ในช่วงหลัง ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมเมืองมหาวิทยาลัยที่เคยอยู่ ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบมหาวิทยาลัย บ้านพักแบบ Boarding house จะถูกรื้อทิ้งไป กลายเป็นอาคารอพาร์ทเมนท์ขนาดใหญ่ขึ้น หรืออาคารชุด ที่ผู้เช่าพักห้องชุดที่มีห้องนอนขนาดเล็ก 3-4 ห้องต่อหน่วย อาคารหนึ่งอาจมีเป็นร้อยห้อง มีส่วนครัว ห้องรับประทานอาหารเป็นส่วนกลาง ค่าเช่าแพงกว่าในแบบ Boarding house เดิมบ้าง แต่ให้ความเป็นอิสระแก่ผู้พักมากกว่า และขณะเดียวกัน คนที่มาพักอาศัยนั้นจะเป็นพวกที่มีอายุมากขึ้น ทำงานแล้วเรียนไปด้วย

ภาพ หอพัก หรือ Boarding house ในแบบเดิม เน้นที่พักหลับนอน แต่ห้องน้ำ ห้องสุขา ต้องใช้ส่วนกลางของแต่ละชั้น

ภาพ อาคารที่พักสำหรับนักศึกษา หรือคนทำงานจะมีลักษณะไม่ต่างกัน คือให้ความสะดวก ความเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกัน ค่าเช่าก็จะแพงกว่าในลักษณะแบบเดิม แบบหอพัก

ภาพ นักศึกษาในยุคใหม่มักนิยมพักอาศัยในแบบ Apartments, หรือ Condominium ซึ่งมีความสะดวกสบายมากกว่า ส่วนบางคนที่ต้องการพักในลักษณะ Apartment Complex ก็จะต้องไปจัดการหาคนมาร่วมกันแบ่งจ่าย เพือลดค่าใช้จ่ายของแต่ละคน

เตียงสองชั้น (Bunk Bed)

เตียงสองชั้น (Bunk Bed)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: habitation, human settlement, dwellings, ที่พักอาศัย, บ้าน

From Wikipedia, the free encyclopedia

ภาพ เตียงนอนสองชั้น (Bunk bed) ออกแบบสำหรับเด็กๆ การใช้สีชมพูที่ทำให้ออกมาดูใสๆ

ความนำ

ท่านอาจมีปัญหาบ้างไหม เมื่อมีอพาร์ทเมนท์ (Apartments) หรือคอนโดมิเนียม (Condominium) ที่มีที่จำกัด ขนาดอาจจะ 30-40 ตารางเมตร เมื่ออยู่กัน 2 คนสามีภรรยาหนุ่มสาว ก็พออยู่ได้ แต่เมื่อมีลูกเล็กเพิ่มขึ้นอีก 2 คน แล้วจะทำอย่างไร หากจะหาที่อยู่ขนาด 70-80 ตารางเมตร ได้ก็ดี แต่ราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก หากเป็นคอนโดมิเนียมราคาตารางเมตรละ 80,000 – 100,000 บาท เพื่อให้มีห้องนอนเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง ค่าคอนโดที่ใหญ่พออาจต้องใช้เงินรวมราว 7-8 ล้านบาท

ท่านอาจไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินก่อนใหญ่ขนาดนี้ และคิดว่า “คับที่อยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยาก” คับใจในที่นี้ก็คือ การต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ จะทำอย่างไร

คำตอบคือ หาทางจัดห้องใหม่ที่ทำให้มีที่นอนเพิ่มขึ้นอีก 2 ที่นอน แล้วไม่ดูคับแคบเกินไป ปรับห้องรับแขกให้กลายเป็นห้องนอนสำหรับลูกๆไปด้วย ทนอยู่ไปได้สัก 5-7 ปี มีเงินเหลือพอค่อยมาคิดกันใหม่

ลองดีความคิดเรื่องเตียงสองชั้น (Bunk bed) ดูนะครับ

เตียงสองชั้น (Bunk bed)

เตียงสองชั้น (Bunk bed) คือเตียงหนึ่งกรอบที่วางอยู่บนของอีกเตียงหนึ่ง ทำให้คนสองคนสามารถนอนอยู่ในห้องเดียวกัน โดยใช้พื้นที่ห้องได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม้ต้องอยู่ในพื้นที่คับแคบดังในเรือ (Ships) หรือค่ายทหาร (Army garrisons) หรือในสถานที่ๆต้องการใช้พื้นที่ของเตียงได้อย่างเต็มที่ ดังเช่นหอพัก (Dormitories), ที่พักในค่ายฤดูร้อน (Summer camp cabins), โรงแรมแบบประหยัด (Hostels), ห้องของเด็กๆ (Children's rooms), คุก (Prison cells), หรือที่พักของหอพักในมหาวิทยาลัย (University residence halls)

เตียงสองชั้นโดยทั่วไปจะมี 4 ขา และเป็นขาที่มีขนาดใหญ่ หรือมีลักษณะมั่นคง เพื่อไม่ให้ไหวได้ง่ายเมื่อคนนอนส่วนบนหรือล่างพลิกตัว ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงอีกคนหนึ่ง ในกรณีเตียงส่วนบนจะต้องมีบันไดขึ้น หรือต้องออกแบบให้คนสามารถปีนขึ้นไปนอนเตียงบนได้สะดวกพอสมควร เตียงบนจะมีราวกันผู้นอนหลับตกลงมาเบื้องล่าง บางแบบมีม่านสำหรับเตียงส่วนล่าง เพราะเตียงบนต้องอยู่ในที่สูง จึงไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือคนที่มีธรรมชาตินอนดิ้น ให้นอนในส่วนบน

ภาพ เตียงสองชั้นแบบไม้ ชั้นล่างเป็นโซฟาได้ด้วย มี 2 ลิ้นชักสำหรับเก็บของ มีราวกันผู้นอนเตียงบนตกลงมาที่พื้น มีขั้นไม้ที่ด้านหัวนอนและปลายที่นอน ทำให้เหยียบขึ้นไปนอนได้

ภาพ เตียงสองชั้น ใข้ที่นอน (Mattress) แบบไม่หนา มีราวขนาดสูงป้องกันคนนอนเตียงบนตกลงมา มีบรรไดแบบเอียงที่ทำให้ปีนขึ้นไปเตียงบนได้ง่าย

ภาพ เตียงสองชั้น ใข้ที่นอน (Mattress) แบบไม่หนา มีราวขนาดสูงป้องกันคนนอนเตียงบนตกลงมา มีบรรไดแบบเอียงที่ทำให้ปีนขึ้นไปเตียงบนได้ง่าย ใช้ไม้เนื้อสีอ่อน
ภาพ เตียงสองชั้น ใข้ที่นอน (Mattress) แบบหนา มีราวขนาดสูงป้องกันคนนอนเตียงบนตกลงมา มีบรรไดออกแบบติดกับเตียง ทำให้ราวส่วนบนแข็งแรงขึ้นไปอีก ใช้ไม้เนื้อสีอ่อน

เตียงยกสูง (Loft bed)

เตียงยกสูง (Loft bed) คือเตียงแบบชั้นเดียว ที่ถูกยกขึ้นไปสูงเหมือนเตียงส่วนบนของเตียงสองชั้น แต่ไม่มีเตียงชั้นล่าง ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างสำหรับใส่เฟอร์นิเจอร์อย่างอื่น เช่น โต๊ะเขียนหนังสือ ซึ่งอาจมีการออกแบบมาพร้อมๆกัน

Loft = ห้องหอ, ห้องเพดาน, รังนกพิราบ

เตียง 3 ชั้นยกสูง (Triple Wretham loft bed)

ภาพ เตียงแบบสามชั้น (Triple Wretham Loft Bed)
เตียงที่ทำเป็นถึง 3 ชั้น สำหรับลูกเรือบรรทุกเครื่องบิน aircraft carrier Clemenceau.

เตียงสามชั้น หรือ triple Wretham loft bed จะประกอบด้วยเตียงสามเตียง ประกอบในลักษณะเป็นลักษณะตัว L คือด้านหนึ่งติดแนบกับผนัง เตียงในลักษณะนี้จะใช้ในพื้นที่ๆมีอย่างจำกัด เช่นในเรือเดินสมุทร แต่เตียงมักจะไม่มีความกว้างมากนัก คนนอนจะต้องมีความคุ้นกับความแคบ และคุ้นกับการที่ต้องนอนในที่สูง มักเป็นการออกแบบสถานที่นอนในเรือเดินสมุทร เตียงสามารถพับขึ้นเก็บได้ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอย ทำความสะอาดได้ง่าย เก็บเตียงได้ในช่วงไม่ได้ใช้นอน

ความปลอดภัย (Safety)

สำหรับเตียงบนของเตียงสองชั้นจะต้องมีราว (Rails) ป้องกันไม่ให้ผู้นอนเตียงบนตกลงมาที่พื้น ส่วนการออกแบบนั้นขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบที่จะทำให้ดูสวยงาม ดูไม่เทอะทะ แต่ก็ดูปลอดภัยสำหรับผู้นอนเตียงบน

การอ้างอิง (References)

1. ^ US Consumer Product Safety Commission: CPSC Document #5007

2. ^ "How To Build A Dorm Loft", Elephant Staircase

3. ^ Tim Carter, "Building a Loft Bed" and "Build a Loft Bed", Ask The Builder

4. ^ Jan 17, 2002. WIRED. "Sleeping 101".

5. ^ Woods, Vanessa. Dec 14, 2001. "Housing reviews bunk bed policy." The Daily Princetonian"Housing reviews bunk bed policy"

Tuesday, January 24, 2012

เห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว

เห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Proverbs, สุภาษิต, การสังเกต, Research, การวิจัย, สถิติ

มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษบทหนึ่งกล่าวว่า “One swallow doesn't make a summer.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ด้วยความหมายใกล้เคียงว่า “เห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว” ~ สุภาษิตอังกฤษ

ในต่างประเทศ เมื่อยามฤดูหนาว นกเล็กๆอย่างนกกระจอกจะต้องบินลงใต้ เพื่อหลบลมหนาว เมื่อยามอากาศหนาวสุด ในอเมริกาหรือยุโรป มีหิมะตก มีน้ำแข็งเกาะ ก็จะไม่ได้ยินเสียงนกเลย นกเล็กดังนกกระจอก จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ และการก้าวย่างเข้าฤดูร้อน

ในโลกเรานี้ คนเป็นอันมากสรุปบทเรียนของเขาจากสิ่งที่พบเป็นเพียงครั้งแรก และอาจเป็นครั้งเดียวของเขา และในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้

ตัวอย่าง มีเพื่อนคนเหนึ่งสมัยไปเริ่มต้นเรียนหนังสือในต่างประเทศ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา แล้วไปเดินเที่ยวยามเย็นในย่านหนึ่งของกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington D.C.) อันเป็นเมืองหลวง แล้วในวันแรกของเขาก็ถูกคนผิวดำทำร้าย จนสลบไป ต้องไปนอนโรงพยาบาลอยู่หลายวัน และด้วยเหตุดังกล่าว เขาจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา และพลอยมีทัศนคติไม่ดีต่อคนผิวดำที่มีเชื้อสายจากอัฟริกาอื่นๆด้วย

ด้วยเหตุของการที่คนๆหนึ่งอาจกำหนดค่านิยม หรือทัศนคติต่อสิ่งต่างๆนั้น จากเพียงประสบการณ์สั้นๆ หรือเพียงครั้งเดียวนี้ หากต้องใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น คนจะทำงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ต้องมีการเก็บข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริง ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลต่อเรื่องนั้นๆทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในที่หนึ่ง และยังที่อื่นๆทั่วประเทศ

ผมเคยพบการวิจัยด้านทัศนคติทางการเมืองที่ทำกันอย่างง่ายๆ โดยใช้ตัวอย่างประชากรในกรุงเทพฯ จำนวนเพียงไม่กี่ร้อยคน และอาศัยวิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ตอบจากทางโทรศัพท์ ซึ่งนับว่าง่ายที่สุด แต่เวลาเขาสรุปผลทัศนะทางการเมืองนั้น กลับไปสรุปในภาพรวมระดับประเทศ ประการแรก กรุงเทพฯไม่ใช่ตัวอย่างประชากรที่จะแทนคนทั้งประเทศได้ และประการที่สอง การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ง่ายดี ไม่ต้องเดินทางไปถึงตัวกลุ่มตัวอย่าง แต่มันจะต่างจากประชากรที่เขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะใช้โทรศัพท์ มักจะได้แก่คนทำงาน จะมีโอกาสได้ประชากรคนสูงอายุน้อยกว่า ในทางการวิจัย (Research methodology) จึงต้องให้ความสำคัญต่อกลุ่มตัวอย่างอย่างมาก

ในรายการข่าวโทรทัศน์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถนำเสนอภาพอย่างที่เห็น (Perceptions) แต่มีส่วนบิดเบือนภาพความเป็นจริงได้อย่างมาก เช่นถ้าหากอยากจะโจมตีรัฐบาล ไปสัมภาษณ์คนที่เขาไม่พอใจ แล้วนำมาออกรายการ เพียงหนึ่งคนพูด แต่มีคนฟังและดูหลายล้านคน ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลเองก็ใช้กลไกสื่อนี้เอง สร้างกระแสนิยมรัฐบาลที่อาจไม่ใช่ของจริงได้ โดยใช้คนที่ให้สัมภาษณ์ หรือทำเรื่องตามคนๆหนึ่งที่ต้องการจะแสดงความสำเร็จของนโยบายหนึ่ง แล้วให้เขาพูดอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ พูดอย่างเป็นจริง แต่เป็นการพูดเชียร์รัฐบาล ดังนี้ก็มีส่วนโน้มน้าวคนให้คล้อยตามได้

ด้วยเหตุดังกล่าว ประชาชนคนทั่วไปจึงต้องรับฟังความคิดเห็น หรือได้เห็นข้อเท็จจริงที่กว้างขวางมากกว่าการเห็นหรือได้ฟังมาเพียงครั้งเดียวแล้วนำมาสรุป เพราะ “การเห็นนกกระจอกหนึ่งตัว ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนมาถึงแล้ว”

ภาพ Nick Santorum หนึ่งในผู้สมัครแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2012

Nick Santorum ได้คะแนนเสียงนำในการหยั่งเสียงครั้งแรกที่รัฐ Iowa คู่กับ Mitt Romney ผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งได้อย่างเหลือเชื่อ ประเด็นอยู่ที่ว่ารับ Iowa เป็นรัฐชาวนาที่คนมีทัศนะเป็นอนุรักษ์ คนที่นำเสนอสิ่งที่เป็นแนวอนุรักษ์ก็ได้รับความนิยม แต่เมื่อต้องหาเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งคนมีลักษณะหลากหลาย มีทั้งที่เป็นสายกลาง หัวก้าวหน้า มีพวกแรงงานที่มีความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป คะแนนเสียงของ Nick Santorum จึงต้องได้รับการพิสูจน์ในแวดวงที่กว้างขวางออกไป และที่สำคัญที่สุด ผู้สมัครที่จะได้เป็นตัวแทนนั้น อาจไม่ชนะคะแนนเสียงในการหยั่งเสียงครั้งแรก แต่หากโดยรวม เขาสามารถทำคะแนนได้ดีที่สุด นั่นแหละ คือการตัดสิน

7 รัฐสาวพี่น้องแห่งอินเดีย

7 รัฐสาวพี่น้องแห่งอินเดีย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org


Keywords: ภูมิศาสตร์, อินเดีย, India, อรุนาจันประเทศ (Arunachal Pradesh), อัสสัม (Assam), เมฆาลัย (Meghalaya), มณีปุระ (Manipur), มิโซรัม (Mizoram), นาคาแลนด์ (Nagaland) และ ตริปุระ (Tripura)

บทบรรณาธิการ

ผมได้ศึกษารัฐทั้ง 7 ของรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แล้วนำเสนอเป็นบทความใน My Words ซึ่งมี URL http://pracob.blogspot.com บทความเหล่านี้อาศัยการรวบรวมข้อมูลจาก Wikipedia ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ แนวการเขียนคือ ใช้เป็นแบบสองภาษา คือภาษาไทยและอังกฤษ โดยทิ้งศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยังอาจแปลความแตกต่างกันเอาไว้ และสำหรับคนที่ต้องการนำเสนอต่อไป ด้วยรายละเอียดที่มากขึ้น และปรับให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา


ภาพ แผนที่ประเทศอินเดีย รวม 7 รัฐสาวพี่น้อง (Seven sister states of India) ที่เป็นส่วนหนึ่งของจงอยสีแสดทางมุม่ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีบังคลาเทศเป็นส่วนขวางอยู่

ภาพ แผนที่ 7 รัฐสาวพี่น้องของอินเดีย (Seven Sister States of India) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นบริเวณที่ไม่มีทางออกทะเล เรียกว่า Landlock

7 รัฐสาวพี่น้องแห่งอินเดีย (Seven Sister States) หรือมีชื่อเรียกว่า “สวรรค์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ” เป็นชื่อของรัฐ (States) ขนาดเล็ก 7 แห่งของอินเดียที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ อันประกอบด้วย อรุณาจันประเทศ (Arunachal Pradesh), อัสสัม (Assam), เมฆาลัย (Meghalaya), มณีปุระ (Manipur), มิโซรัม (Mizoram), นากาแลนด์ (Nagaland) และ ตริปุระ (Tripura) 7 รัฐเหล่านี้มีพื้นที่รวม 250,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 7 ของประเทศอินเดีย มีประชากรรวม 38.6 ล้านคน (ปี ค.ศ. 2000) หรือร้อยละ 3.8 ของประเทศอินเดีย ใน 7 รัฐเหล่านี้มีความแตกต่างกันในเชื้อชาติ ศาสนา แต่มีความคล้ายเคียงกันในด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
ภาษาหลักที่ใช้กันในรัฐอัสสัม อันเป็นรัฐใหญ่มีประชากรมากที่สุด คือภาษาอัสสัม (Assamese) ส่วนรัฐตริปุระ คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเบงกอล (Bengali) ในภูมิภาคนี้ประชากรชนเผ่าพูดภาษาหลากหลายในกลุ่มทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) และออสโตร-เอเชียติก (Austro-Asiatic languages) ส่วนภาษาไมไต (Meitei) อันเป็นภาษาที่ใช้พูดกันมากที่สุดอันดับสามของภูมิภาคนี้เป็นภาษาในกลุ่มทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman language)

ในด้านศาสนา ศาสนาฮินดู (Hinduism) และคริสต์ศาสนา (Christianity) เป็นศาสนาหลักในภูมิภาคนี้ ในรัฐที่มีประชากรมากอย่าง อัสสัม (Assam), ตริปุระ (Tripura) และมณีปุระ (Manipur) นั้นประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู โดยมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Muslim) เป็นชนกลุ่มน้อย และด้วยการทำงานของมิชชันนารีในคริสต์ศาสนา จึงทำให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาหลักในรัฐนาคาแลนด์ (Nagaland), มิโซรัม (Mizoram) และเมฆาลัย (Meghalaya)

อุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคนี้คือ ชา น้ำมันดิบ และก๊าสธรรมชาติ ไหม (Silk) ไม้ไผ่ (Bamboo) และงานหัตถกรรม (Handicrafts) ในทั้ง 7 รัฐเป็นป่าทึบ มีฝนตกหนัก เป็นเขตมีสัตว์ป่าที่สงวนไว้ มีไร่ชา และแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำพรมบุตร (Brahmaputra)

เขต 7 รัฐนี้เป็นบ้านของแรดนอเดียว (one-horned rhinoceros) ช้าง (Elephants) และสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ด้วยความที่เขตนี้มีความตึงเครียดกระทบกระทั่งระหว่างชนเผ่า และการก่อการร้าย และความขัดแย้งในเขตแดนกับประเทศจีน จึงทำให้ต้องมีการเข้มงวดสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างสูงในเขตนี้

แม่น้ำพรหมบุตร (เทวนาครี: ब्रह्मपुत्र พรฺหฺมปุตฺร; อังกฤษ: Brahmaputra) เป็นแม่น้ำสายหลักที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และสังคมของบริเวณนี้

ภาพ ทิวทัศน์ของแม่น้ำพรหมบุตร ความยาว 2,900 กิโลเมตรไหลผ่านจากตอนบนของอินเดีย

แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra River) เป็นแม่น้ำที่กั้นเขตแดนสายสำคัญสายหนึ่งของทวีปเอเชีย (Asia) มีความความยาว 2,900 กิโลเมตร ส่วนความยาวของลำน้ำตอนบนนั้นไม่ทราบแน่ชัด มีต้นกำเนิดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาทิเบตว่า "แม่น้ำยาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo)" [หมายถึง เลือดขัตติยะ] จากนั้นไหลผ่านพื้นที่ตอนใต้ของทิเบต มีชื่อเรียกว่า "แม่น้ำดีฮัง (Dihang)" ไปตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัยในโกรกธารใหญ่ แล้วไหลวกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ผ่านหุบเขาอัสสัม (Valley of Assam)และไปทางใต้ผ่านประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ซึ่งเรียกว่า "แม่น้ำยมุนา (Jamuna River)" จากนั้นได้ไหลมารวมกับแม่น้ำคงคา (Ganges River) เกิดเป็นดินดอนสามเหลี่ยม (Delta) ขนาดใหญ่ นับเป็นแหล่งชลประทานและการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่ง

แม่น้ำส่วนใหญ่ของอินเดียและบังกลาเทศจะมีชื่อเป็นเพศหญิง แต่แม่น้ำพรหมบุตรมีชื่อเป็นเพศชาย ในภาษาสันสกฤต คำว่า "พรหมบุตร" หมายถึง โอรสของพระพรหม

ภาพ แผนที่ แม่น้ำพรหมบุตร ไหลผ่านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ผ่านบังคลาเทศ เป็นแม่น้ำที่มีผลต่อชีวิตและเศรษฐกิจของชาว 7 รัฐสาวพี่น้องของอินเดีย โดยเฉพาะรัฐอัสสัม (Assam)

ภาพ ชนเผ่าพื้นเมืองในนาคาแลนด์ ที่มีประเพณีการเจาะหูดังที่เห็นในภาพ

ภาพ สตรีกำลังแบกฟืน โดยใช้สายโยงไปยังบริเวณหน้าผากเป็นส่วนรับน้ำหนัก, นาคาแลนด์