Sunday, November 15, 2009

ผู้บริหารสถานศึกษา ชื่อและความหมาย

HTML clipboard
ผู้บริหารสถานศึกษา ชื่อและความหมาย
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียง จาก Wikipedia สารานุกรมเสรี
Keywords: การศึกษา, การบริหารการศึกษา

ความนำ

ผมเห็นการตั้งชื่อหัวเรื่องการวิจัย แล้วมีคำว่า "ผู้บริหารวิชาการของสถานศึกษา ในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน" แปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษคงได้ว่า Academic Administrators of Educational Institutions under the Office of Basic Education Commission of Thailand" แปลได้ถูกต้องตามความหมายของสังคมและระบบราชการการศึกษาในประเทศไทย แต่คนต่างชาติอ่านคงจะงงไปสักระยะกว่าจะเข้าใจว่าที่พูดถึงนั้นหมายถึงอะไร ผมเองก็เหมือนกัน อ่านแล้วต้องถามคนที่เขาจะทำวิจัยว่าหมายถึงอะไร ต้องอธิบายกันสักระยะ แล้วจึงได้เข้าใจ
ผมจึงได้ถือโอกาสนำสิ่งที่เป็น Terminology ที่อาจจะสับสน และทำให้ไม่สื่อความข้ามวัฒนธรรมกันได้ มาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนกันมากยิ่งขึ้น หากท่านใดมีความเห็นอย่างไร ก็ช่วยกันมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับ เปิดกว้างที่จะแลกเปลี่ยนเสมอ
ประเทศไทยเรามีการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีพัฒนาการด้านต่างๆ รวมทั้งการศึกษาที่ลักษณะเฉพาะเจาะจงแตกต่างกับต่างประเทศ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่มีการใช้เรียกในวงการศึกษา ที่อาจพอเทียบเคียงกันได้ และลดความสับสนในการสื่อความลงไปได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบกันได้
ผู้บริหารสถานศึกษา (The head of an educational institution) มีชื่อเรียกในภาษาไทยและภาษาอังกฤษแตกต่างกัน แตกต่างกันด้วยระดับการศึกษา และแตกต่างกันด้วยสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่

ในภาษาอังกฤษ ผู้บริหารโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา เรียกว่า Principal (education)ในประเทศไทยสำหรับโรงเรียนของรัฐบาล ปัจจุบันนี้เรียกว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา (Primary Schools, elementary schools) ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า ครูใหญ่ หรือผู้บริหารสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา (Secondary Schools) ซึ่งเคยเรียกอย่างเป็นทางการ และอย่างเข้าใจกันว่า อาจารย์ใหญ่
คำว่า Principal หรือ หัวหน้าฝ่ายบริหารของโรงเรียน หรือเรียกว่า Head of School เป็น คำที่ใช้เรียกผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนของรัฐ ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งรวมถึง สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, ออสเตรเลีย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชน อาจมีการใช้คำอื่นๆ เช่น head teacher, head master หรือ head mistress ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นสตรี แต่จากการศึกษาในเอกสารที่มีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรยนนี้มีตำแหน่งแต่เริ่มแรกว่า Principal Teacher ซึ่งใกล้กับภาษาไทยว่า ครูใหญ่ หรือ อาจารย์ใหญ่
ในประเทศไทยปัจจุบันเท่าที่ทราบ เขาเรียกตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของรัฐบาล (Public Schools) ว่า ผู้อำนวยการ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Directors หรือ School Director
การใช้ศัพท์ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Basic Education ใน ระบบการศึกษาของไทยนี้ อาจทำให้มีความสับสนในการสื่อความกับนานาชาติ เพราะเขามีการเรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทย มีความหมายใกล้กับที่เขาเรียกในสหรัฐว่า K-12 ซึ่ง K ในที่นี้หมายถึง Kindergarten หรือ อนุบาล 12 หมายถึง 12 ปีของการเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา หรือแปลเป็นไทยได้ว่า การศึกษาขั้นอนุบาลยันมัธยมศึกษาบริบูรณ์

อธิการบดี

ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย เรียกในภาษาไทยว่า อธิการบดี หรือบางแห่งมีเรียกว่า อธิการ ซึ่งอาจหมายถึงผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในระดับขนาดเล็ก หรือเป็นวิทยาลัย (Colleges) ในประเทศไทย อาจมีการใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า President หรือ Rector
คำว่า Principal อาจหมายถึงผู้บริหารสูงสุด (chief executive) หรือผู้บริหารวิชาการสูงสุด (chief academic officer) ของมหาวิทยาลัย (university) หรือ วิทยาลัย (college) ในบางประเทศในกลุ่มเครือจักรภาพ (Commonwealth) ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่า อธิการบดี หรือผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย
ดังในสก๊อตแลนด์ (Scotland) ในการบริหารมหาวิทยาลัย มีตำแหน่ง Principal ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ควบคุมการบริหารสถานศีกษาระดับมหาวิทยาลัยในด้านนโยบาย ที่เรียกว่า University Court ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า สภามหาวิทยาลัย และ ตำแหน่ง Principal หรือเทียบเหมือนอธิการบดี หรือผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยนี้ จะทำหน้าที่เป็นประธาน (chairman) หรือ president ในคณะกรรมการด้านวิชาการ หรือ สภาวิชาการ ของสถานศึกษานั้นๆ
ในกรณีของมหาวิทยาลับในยุคโบราณของสก๊อตแลนด์ (ancient universities of Scotland) Principal ทำหน้าที่เป็นประธานของ สภาวิชาการ (Academic Senate) Principal ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัยดังในกลุ่มของสหราชอาณาจักรจะเรียกว่า Vice-Chancellor ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า President หรืออธิการบดีของมหาวิทยาลัย
ในประเทศแคนาดา (Canada) มีมหาวิทยาลัย Queen's University และ McGill University แทนที่จะใช้ชื่อว่า President ดังในมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งทั้งนี้ เพราะเป็นการรับวัฒนธรรมที่มีที่เริ่มต้นมาจากพวกสก๊อต (Scottish origins) นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆในแคนาดาที่เรียกผู้บริหารสูงสุด หรือ อธิการบดี ว่า Principals แทนที่จะเป็น Presidents สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ได้แก่ สถาบันการทหารแห่งแคนาดา หรือ the Royal Military College of Canada, และ the Memorial University Campus - Sir Wilfred Grenfell College
ในอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งสูงสุดในมหาวิทยาลัยอันเป็นตำแหน่งทางพิธีกรรม หรือแต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติ เรียกว่า Chancellor
ในหมู่ประเทศในกลุ่มเครือจักรภพ (Commonwealth) ส่วนใหญ่ ตำแหน่ง Chancellor เป็นตำแหน่งที่เขาเรียกว่า titular หรือตำแหน่งประมุข (figurehead) เป็นตำแหน่งทีแต่งตั้งสำหรับบุคคลที่ไม่ได้มาทำงานบริหารโดยปกติ (non-resident head) ซึ่งอาจได้แก่บุคคลจากราชวงศ์ เจ้าชาย หรือเจ้าหญิง อ้นเป็นตำแหน่งเกียรติยศในมหาวิทยาลัย ส่วนตำแหน่งที่เป็นนักบริหารโดยอาชีพ ก็คือตำแหน่ง Vice-Chancellor ซึ่งในประเทศอื่นๆ อาจเรียกว่า President หรือ Rector ซึ่งในประเทศไทยและภาษาไทยเรียกได้ว่า อธิการบดี
ใน ประเทศไทยในยุคที่มีการบริหารประเทศโดยเผด็จการทหาร ฝ่ายที่ทำปฏิวัติรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองของประเทศ มักจะเกรงกลัวฝ่ายวิชาการและนิสิตนักศึกษาจะก่อการกระด้างกระเดื่อง แต่ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจความจำเป็นในการบริหารมหาวิทยาลัยให้ต้องดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และพัฒนาได้ เริ่มตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506) ได้แต่งตั้งนายทหารระดับแม่ทัพ หรืออธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจทางกองกำลังที่ไว้วางใจ ให้มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยหลักๆของประเทศ มีอำนาจในการลงนาม การตัดสินใจหลักๆ แต่ในการบริหารจริง และการบริหารวิชาการ ก็มีการมอบอำนาจให้กับบุคคลในแวดวงวิชาการที่ไว้วางใจ ให้ทำหน้าที่ในการบริหารประจำวันแทน

ตำแหน่ง Provost

ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีตำแหน่งหนึ่งที่เขาเรียกว่า Provost อันเป็นตำแหน่งบริหารวิชาการอาวุโส (senior academic administrator) ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา (United States) และ แคนาดา (Canada) ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่ง pro-vice-chancellor ในแบบของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) และไอร์แลนด์ (Ireland) ในลักษณะนี้ อาจมีความหมายว่า รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (Vice President for Academic Affairs) ใน ประเทศไทย แต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกาและแคนาดานั้น เขามีการแต่งตั้งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยในแบบเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional Administrators)
ตำแหน่ง Provost นี้ในบางที่อาจจะดูสับสนสำหรับนักวิชาการไทยที่ต้องไปดูงานในต่างประเทศ เพราะบางแห่งมีการเรียกผู้บริหารสูงสุดของคณะวิชา (Schools, Colleges) ในมหาวิทยาลัยว่า Provost ซึ่งจะมีความหมายใกล้เคียงกับ คณบดี ในระบบวิชาการในประเทศไทย

รองอธิการบดี

ในประเทศไทย มีตำแหน่งบริหารที่แต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย โดยการเสนอชื่อโดยอธิการบดี เรียกว่า รองอธิการบดี (Vice Presidents) ในหนึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อาจมีตำแหน่งรองอธิการบดีหลายตำแหน่งแตกต่างกันตามวัฒนธรรมการบริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นๆ
แต่เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยไทยในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่เรียกว่า ปฏิวัตินักศึกษา (Student Revolution) นี้ ทำให้ให้ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยไปรับวัฒนธรรมทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นการเมือง (Political Model) จัง มีการแต่งตั้งรองอธิการบดี ซึ่งเป็นอำนาจของอธิการบดีจะดำเนินการได้ เพื่อช่วยในการบริหาร เพราะตำแหน่งคณบดี ก็ได้มาด้วยเสียงสนับสนุนจากคณาจารย์ภายในคณะวิชาในลักษณะการเมืองเช่นกัน ที่ทำให้คณบดีมีความเป็นอิสระ ไม่ได้ฟังเสียงจากฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยอย่างอธิการบดี ฝ่ายอธิการบดีจึงมีการแต่งตั้งตำแหน่งรองอธิการบดีจำนวนหนึ่งขึ้นมาสนับสนุน ฝ่ายบริหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีการแต่งตั้งรองอธิการบดีมากถึง 10-12 คน
ในระบบการบริหารแบบวิชาการ และการมีอธิการบดีแบบมืออาชีพ ที่คล้ายกับองค์การภาคธุรกิจชนาดใหญ่ (Corporate) การสรรหาและการแต่งตั้งคณบดี เป็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องสรรหาและคัดเลือกผู้บริหารระดับคณะวิขาในแบบมืออาชีพและเปิดกว้าง (Open Recruitment) ต้อง ให้สิทธิแก่คนมีความสามารถภายนอกอย่างมาก การเข้ารับหน้าที่ต้องเข้ามาบริหารอย่างริเริ่มเปลี่ยนแปลง และพัฒนากิจการหน่วยวิชาการอย่างประสานกับมหาวิทยาลัย อธิการบดีจึงมีบทบาทในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหาร งานคณะวิชามากกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย

คณบดี

ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา (academic administration) คณบดีหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่เหนือหน่วยวิชาการ (academic unit) ในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่า คณะ หรือคณะวิชา ในภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า Faculty, School, หรือ College ในมหาวิทยาลัย ส่วนเมื่อมีการจัดตั้งเป็นสถาบันในมหาวิทยาลัย (Institute) ดัง เช่นสถาบันหรือหน่วยงานที่ไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่ประสาท ปริญญา เช่นงานวิจัย หรือวิจัยพัฒนา เป็นต้น ดังนี้ เขาจะใช้ชื่อเรียกตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานว่า ผู้อำนวยการ (Directors) แต่มีสถานะเทียบเท่าคณบดี ในระบบบริหารงานภายในของมหาวิทยาลัย
ตำ Dean หรือ คณบดีนี้ มาจากคำในภาษาลาติน (Latin) ว่า decanus หรือแปลได้ว่า ผู้นำในกลุ่มสิบ (a leader of ten) ซึ่งเป็นธรรมเนียมการบริหารของวัดคริสต์ศาสนาในสมัยกลาง (medieval monasteries) ซึ่งวัดในสมัยนั้นมีพระ (monks) จำนวนมาก อาจจะเป็นหลายร้อยองค์ คำว่ากลุ่มหรือคณะของพระที่จัดเป็นกลุ่มสิบนี้ ก็กระทำโดยแต่งตั้งพระผู้มีอาวุโส ให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มสิบนี้ ซึ่งระบบจัดแบ่งมีลักษณะที่มีการจัดคล้ายกันในทางการทหาร ที่เขาเรียกว่า หมวดทหาร (Military platoons) เพื่อให้มีระบบในการจัดการและสั่งการ
เมื่อกิจกรรมมหาวิทยาลัยได้เติบโตและแยกออกจากการบริหารวัด ตำแหน่ง Dean จึง กลายมาเป็นคำที่ใช้สำหรับตำแหน่งบริหารระดับหนึ่งในมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทย หน่วยงานวิชาการระดับนี้ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน เรียกว่า คณบดี (Dean) ซึ่งในมหาวิทยาลัยทั่วไป มีการแบ่งหน่วยวิชาการของมหาวิทยาลัยเป็นคณะวิชา (Faculties, Schools, Colleges) ดังเช่น คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

No comments:

Post a Comment