Thursday, November 26, 2009

มหาวิทยาลัยไอทูนส์ (iTunes U)

มหาวิทยาลัยไอทูนส์ (iTunes U)
ประกอบ คุปรัตน์

ศึกษาและเรียบเรียง
จาก Wikipedia

Updated: Friday, November 27, 2009

Keywords: เทคโนโลยี, IT, ICT, มหาวิทยาลัย, การอุดมศึกษา, E-Learning

มหาวิทยาลัยไอทูนส์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “iTunes U” ตัวไอนำหน้าเป็นตัวเล็ก และตามด้วยตัวทีใหญ่ ส่วนคำว่า Tunes จะมีตัวเอสลงท้าย แสดงถึงหลายๆจุด

ภาพ หน้าหนึ่งของกิจกรรมใน iTunes U

โครงการ iTunes U ได้เปิดตัวที่ Cupertino, รัฐแคลิฟอร์เนียในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 เป็นบริการเพื่อการจัดการ (manage), การเผยแพร่กระจาย (distribute), และการควบคุมการใช้บริการ (control access) ของเนื้อหาทางด้านการศึกษาที่สื่อออกมาในรูปเสียง และภาพเคลื่อนไหว (audio and video content) สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานของร้านออนไลน์ที่ชื่อว่า Apple’s iTunes Store บริการออนไลน์นี้จะไม่มีค่าบริการ Upload หรือ Download เนื้อหาสาระต่างๆ เนื้อหาเหล่านี้รวมถึง การบรรยายรายวิชา (course lectures), บทเรียนด้านภาษา (language lessons), การสาธิตการทดลอง (lab demonstrations), ข่าวสารและสารคดีด้านกีฬา (sports highlights) ตลอดจนการนำเที่ยวในวิทยาเขตต่างๆ (campus tours) ซึ่งเป็นบริการของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เช่น สหรัฐ (US), สหราชอาณาจักร (United Kingdom), ออสเตรเลีย (Australia), แคนาดา (Canada), ไอร์แลนด์ (Ireland) และ นิวซีแลนด์ (New Zealand)

ข้อได้เปรียบของ iTunes U ที่เหนือกว่า Podcasting ซึ่งเป็นของ Apple เช่นกัน คือ การจะเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ และการเข้าใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของ iTunes U เป็นแบบจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งแบบ end-to-end ทำให้สมาชิกที่เป็นสถาบันที่ให้เนื้อหา สามารถตรวจสอบความถูกต้องของผู้เข้าใช้งานได้อย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นบัญชีผู้เข้าใช้งาน และรหัส (Password) เป็นแบบเฉพาะสถาบัน และก็ส่งต่อมายังร้าน iTunes U ซึ่งจะเป็นการกำกับระดับของผู้เข้าเยี่ยมใช้ ดัวอย่าง หากคนที่ต้องการเข้าฟังการบรรยายของวิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยหนึ่ง จะเป็นเฉพาะของผู้ที่ได้ลงทะเบียนในชั้นเรียนนั้นๆของมหาวิทยาลัย


ภาพ หน้ากราฟิกของมหาวิทยาลัย Stanford
ที่เข้าร่วมนำเสนอเนื้อหาใน iTunes U

เนื้อหาที่ได้มีการนำเสนอโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ มีมากกว่า 75,000 ไฟล์ โปรแกรม iTunes U ทำหน้าที่คล้ายกับ Podcasts ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้การ Download ทั้งหมดของเนื้อหา แล้วค่อยมาเปิดใช้แบบ On Demand หรือจะใช้เป็นแบบเปิดไป ฟังหรือดูไปแบบที่เรียกว่า Streaming และในขณะเดียวกัน ก็เรียก Download ไฟล์นั้นเพื่อใช้งานได้ในครั้งต่อๆไป โดยไม่ต้องไปเปิดเรียกใช้จากเครือข่าย ให้เสียเวลาและทรัพยากรอีก และในอีกด้านหนึ่ง เขาก็เตรียมการสำหรับโอกาสที่จะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้านเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งในขณะนี้ iTunes Stores ได้มีการซื้อขายเพลงกันในแบบออนไลน์กันอย่างกว้างขวางแล้ว

ภาพ หน้ากราฟิกของ The Open University (OU)
มหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร

เนื้อหาสาระเป็นอันมากจะมีไว้ให้บริการฟรี บางมหาวิทยาลัยเขาถือว่าเนื้อหา การบรรยายในวิทยาเขตของเขาในหลายๆวิชานั้นเปิดเป็นบริการแบบไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เมื่อใดที่ต้องการจะเรียนแบบมีหน่วยกิตกับเขา ก็ต้องไปลงทะเบียน มีการจัดทดสอบ มีกิจกรรรมการเรียนอื่นๆ ตามระบบการควบคุมมาตรฐานวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัย การปล่อยให้มีเนื้อหาแบบเปิดนี้ เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยของเขา และเป็นบริการทางวิชาการแก่ประชาชนทั้งภายในประเทศ และสู่โลกสากล

สำหรับประโยชน์ใช้สอยเพื่อการศึกษาในประเทศไทยนั้น ผมเห็นว่าน่าจะเป็นไปเพื่อลองทดสอบระดับความสามารถของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทย และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับนักศึกษาที่ต้องเรียนรู้ในโลกที่มีความเป็นสากลเพิ่มมากขึ้นด้วย

การเรียนในลักษณะที่ใช้เนื้อหาที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทำให้ผู้สอนไม่ต้องไปเสียเวลากับการต้องเตรียมเนื้อหา แต่ให้ไปสนใจเพิ่มขึ้น ในการควบคุมกระบวนการเรียน การให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน การตรวจการบ้าน และการประเมินผลในการเรียน ซึ่งก็จะต้องมีความซับซ้อนไปตามธรรมชาติของการเรียนในยุคใหม่ ที่เนื้อหาสาระนั้นมีให้เลือกอย่างกว้างขวาง ซึ่งผู้สอนก็จะต้องตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง

No comments:

Post a Comment