Thursday, November 19, 2009

โรงเรียนกวดวิชาในประเทศจีน (China)

ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง

Keywords: การศึกษา, cram school, โรงเรียนกวดวิชา

ความนำ

การศึกษาคือใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น การศึกษาในอดีตมีช่องทางแคบและน้อยมากสำหรับคนทั่วไปที่จะใช้เป็นเส้นทางสู่ชีวิตใหม่ แต่ในระยะต่อมา โอกาสทางการศีกษามีมากขึ้น แต่กระนั้นโอกาสสำหรับการศึกษาทีดีในมหาวิทยาลัย ก็จำกัดด้วยสถานที่เรียน ดังนั้นนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีการต้องสร้างความสามารถพิเศษ ที่จะสามารถแข่งขัน เอาชนะผู้อื่นในการสอบแข่งขัน เพื่อการได้โอกาสที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุด

ความหมาย โรงเรียนกวดวิชา หรือ Cram school คือโรงเรียนที่มีลักษณะเฉพาะมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีและหลักสูตรในแบบเร่งรัด

คำว่า Cram แปลเป็นไทยว่า อัด ตะบัน รีบท่องหนังสือ หรือ กวดวิชา

ลองติดตามจากโรงเรียนกวดวิชาในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเทศจีน

ประเทศจีนได้รับการสถาปนาเป็นประเทศในยุคใหม่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) ในวันที่ 1 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 ประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 9,640,821 ตารางกิโลเมตร มีประชากร (Population) ในปัจจุบัน 1,345,751,000 คน หรือมีขนาดใหญ่เป็น 20 เท่าของประเทศไทย มีรายได้ประชาชาติต่อหัว (Per capita GDP) ที่ US$5,970 จัดเป็นรายได้สูงในระดับที่ 100 ของโลก แต่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกือบที่สุดของโลก โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับร้อยละ 8 ต่อปี แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกประสบวิกฤติ แต่จักรกลทางเศรษฐกิจและการผลิตในอุตสาหกรรมของจีน ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง

การศึกษาในประเทศจีน

ในด้านระบบอุดมศึกษา ประเทศจีนมีการขยายตัวทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันจีนมีสถาบันอุดมศึกษา 1552 แห่ง มีอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา 725,000 คน และมีนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาประมาณ 11 ล้านคน แต่มีมหาวิทยาลัยที่เขาเรียกว่า มหาวิทยาลัยหลัก อยู่จำนวนหนึ่งที่เขากำหนดไว้เป็น มหาวิทยาลัยหลัก 100 แห่ง (100 National Key Universities), ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้รวมถึง Beijing University และ Tsinghua University ซึ่งเป็นที่ต้องการเข้าศึกษาต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาเกือบทุกคน

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุคของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมา ได้มีการกลับมาพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน และการมุ่งสู่ประสิทธิผลในการเรียน มากกว่าความเข้มข้นทางอุดมการณ์การเมืองดังในยุคก่อนหน้านั้น โดยดูได้จากสถิติ ในปี ค.ศ. 1978 มีมหาวิทยาลัยที่จะรองรับผู้เรียนได้ประมาณร้อยละ 1.4 ของกลุ่มประชากรในระดับอายุอุดมศึกษา แต่ในปี ค.ศ. 2005 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาจบการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ได้ 450,000 คน จบปริญญาโท 50,000 คน และ 8,000 คน จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก แม้จะมีการขยายตัวของการอุดมศึกษาอย่างมากในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง

การศึกษาคือใบเบิกทางสู่อนาคตที่สดใสในโลกของการแข่งขันในตลาดเสรี ด้วยเหตุดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอันมากจะทุ่มเทให้กับการศึกษาของบุตรหลาน มีการจัดหาบริการด้านบทเรียนและกิจกรรมสันทนาการ เช่นการเรียนภาษาต่างประเทศ ดนตรี ซึ่งเป็นที่นิยมของชนชั้นกลางที่มีทรัพยากรที่จะจ่ายได้ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา (Cram schools) เฟื่องฟูในประเทศที่ครั้งหนึ่งมีการต่อสู้กันทางการเมือง ต้องผ่านสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในปัจจุบัน ได้หันมาพัฒนาประเทศ และพัฒนาอย่างรวดเร็ว

โรงเรียนกวดวิชา

โรงเรียนกวดวิชา (Cram schools) ในประเทศจีนได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องด้วยระบบการศึกษาใหม่ของประเทศจีนเน้นการต้องสอบแข่งขัน โดยมีระบบสอบที่ใช้ข้อสอบมาตรฐานกลาง (Standardised Exams) ดังเช่น การทดสอบในระดับเข้ามัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับเทียบเท่ากับหลังเกรดที่ 9 หรือเทียบกับระดับจบ Junior High ในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีระบบทดสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (National College Entrance Examination) ซึ่งเป็นการทดสอบที่บังคับสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศจีน คล้ายกับระบบสอบ A-Net และ O-Net ของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีระบบทดสอบที่ใช้มาตรฐานสากล เช่น การทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ที่จะต้องสอบผ่านระบบทดสอบ Collge English Test (CET) ในระดับ 4 และ 6 ซึ่งถือเป็นระดับที่จำเป็นสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย และเพื่อการหางานทำ ซึ่งต้องได้รับผลการทดสอบอย่าง ระบบทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ อย่าง TOEFL และระบบทดสอบสำหรับการศึกษาขั้นบัณฑิตที่ชื่อว่า GRE ที่พัฒนาโดยศูนย์พัฒนาระบบทดสอบ ETS ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจำเป็นสำหรับการต้องไปศึกษาต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการศึกษาเล่าเรียน

การต้องผ่านระบบทดสอบในโปรแกรมสอบคัดเลือก สำหรับการเข้าศึกษาต่อในโปรแกรมบัณฑิตศึกษา (Graduate Programs) ภายในประเทศ ในระยะหลัง การแข่งขันมีความเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นการยากมากขึ้นสำหรับบัณฑิตที่จบมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะหางานได้ทันที หลายคนจึงหันมาศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งก็ต้องมีการสอบแข่งขันกันด้วยระบบข้อสอบมาตรฐานต่างๆ

No comments:

Post a Comment