ครูเป็นผู้เปิดประตูให้ แต่ท่านต้องก้าวเข้าไปเอง
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Cw022, Proverbs, สุภาษิตจีน, การศึกษา, โรงเรียนเทพศิรินทร์, Dhebsirin School
มีสุภาษิตจีนหนึ่งที่ฝรั่งนำไปเขียนเสนอเป็นภาษาอังกฤษว่า “Teachers open the door. You enter by yourself.” แปลเป็นไทยว่า “ครูเป็นผู้เปิดประตูให้ แต่ท่านต้องก้าวเข้าไปเอง”
ในปัจจุบัน การศึกษาเป็นเหมือนใบเบิกทางแห่งชีวิต ขอให้เรียนให้ดี สอบให้ชนะคนอื่นๆ ก็จะได้เรียนในที่ๆดี มีอนาคตที่ดีตลอดไป
เมื่อมีการศึกษาเป็นรางวัล พ่อแม่ที่ดีดลูกคิดบวกลบคูณหารแล้ว ก็ลงทุนจ้างครูเก่งมาสอน หรือลงทุนส่งลูกไปเรียนพิเศษ แพงเท่าไรไม่ว่า แต่ขอให้ได้เรียนกับครูเก่งๆ แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่า แล้วเด็กๆ หรือผู้เรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียน
ภาพ ตึกแม้นนฤมิตรในสมัยก่อน โรงเรียนเทพศิรินทร์
ในอดีต ที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ (ในปัจจุบันมืชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนเทพศิรินทร์ และในภาษาอังกฤษว่า Dhebsirin School) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นนำของประเทศ มีศิษย์เก่าประสบความสำเร็จในวงราชการ การเมือง และธุรกิจมากมาย มีคำขวัญเป็นภาษาบาลี แปลเป็นไทยได้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แปลกันได้หลายแบบ บ้างแปลแบบวิพากษ์ว่า เป็นคำขวัญที่ไม่ดี ทำให้คนมองแต่ตนเอง เอาตัวรอดไปตามลำพัง ทำให้คนเห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงสังคม และคนอื่นๆ
แต่สำหรับในปัจจุบัน ผมมองในแง่ดีและเห็นว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้นเป็นคำสอนมีประโยชน์เตือนใจผู้เรียนทุกคน
ด้วยเหตุที่ว่าโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนมีชี่อเสียง ใครๆก็อยากให้ลูกหลานของตนได้เข้าเรียน มีคนใหญ่คนโตมาฝากลูกหลานเข้าเรียนกันตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นนำทั้งหลาย ฝากเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้แล้ว พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไปลุ้นกันอีกทีหนึ่ง เพราะฝากไม่ได้แล้ว เมื่อจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นระบบสอบแข่งขันในระดับชาติ จะวิ่งเต้นเส้นสายกันได้ยาก ก็หวังว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ดี จะมีครูดีๆช่วยสั่งสอนให้เด็กไปเรียนรู้ดี มีความสามารถ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป มันไมได้เป็นหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนจะประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียน ตรงกันข้าม ผมเห็นมีเพื่อนๆรุ่นเดียวกันและรุ่นใกล้เคียงบางคนที่พ่อแม่ใหญ่โต แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน และชีวิต และที่เขาเสียประโยชน์ไปนั้น เพราะเขาเป็น “เด็กฝาก” แล้วเขาเข้าใจผิดว่า จะมีคนอุ้มสมเขาไปได้ตลอดชีวิต เด็กฝากพวกนี้ ส่วนหนึ่งเขาจะเติบโตมาอย่างเสียคน หรือไม่ก็กลายเป็นเด็กไม่เชื่อมั่นในตนเอง เพราะจะคิดคลอดเวลาว่า เขาไม่มีความสามารถใดๆ หากไม่มีใครช่วยแล้ว เขาจะทำอะไรประสบความสำเร็จเองได้ยาก กลายเป็นเด็กอ่อนแอ ไม่เชื่อมั่นในตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง เด็กที่ไม่ได้มีใครฝาก เข้ามาด้วยการสอบแข่งขันตามปกติ เวลาเรียนเขาก็เรียนอย่างตั้งใจ เพราะนึกตลอดเวลาว่าเขาต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด ตนเป็นที่พึ่งของตน ท้ายที่สุด ผลดีคือเขาก็ได้ประสบความสำเร็จในการเรียน
สำหรับ “เด็กฝาก” จะเป็นเด็กที่ครูหนักใจ เด็กที่พ่อแม่เป็นคนใหญ่โต เข้ามาเรียนได้ด้วยเส้นสาย ฝ่ายครูอาจารย์ก็ต้องสอนด้วยความยากลำบาก เพราะเด็กนักเรียนเองมีปัญหาความอ่อนแอทางวิชาการ บางทีพ่อแม่ใหญ่โต ครูจะไปแตะต้องก็เกรงใจหรือเกรงกลัว ท้ายสุดกลายเป็นเด็กเสียคน เรียนไม่ดี แถมเป็นเด็กเกเร ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นความสูญเสียแก่ครอบครัว และพ่อแม่ ความจริงเด็กที่เสียคนในลักษณะเช่นนี้ เขาอาจไม่มีอะไรเสียหายเลย เพียงแต่ว่า เพราะเขาคิดว่าชีวิตเขามีทุกสิ่งทุกอย่างรองรับอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปเรียนหนังสือหนังหาให้เหนื่อยยาก เขามีทุกอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าเงิน อำนาจ บารมีจากพ่อแม่
ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุที่ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่จบมาเป็นครู ผมจึงยึดคำสอนที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ให้ทุกคนได้แข่งขันกันอย่างยุติธรรม ไม่มีการฝากเด็ก ไม่รับฝากเด็ก แต่เมื่อมีใครมาเป็นศิษย์ ก็ให้ความรักและปรารถนาดีต่อทุกคน ไม่เลือกเขาเลือกเรา หากเขาประสบความสำเร็จก็ให้มั่นใจได้ว่า เป็นเพราะตัวเขา หากเขาจะมีปัญหาก็ให้คิดว่า แม้ครูอาจารย์จะมีความปรารถนาดีต่อเขา หรือพ่อแม่ ครูอาจารย์จะเอาใจช่วยเขามากอย่างไร แต่ที่สำคัญ เขาต้องใช้สติปัญญา ความสามารถอย่างเต็มกำลัง ที่จะนำตัวเขา และงานของเขาสู่ความสำเร็จ ด้วยความมั่นใจที่จะยืนบนขาของตัวเอง
No comments:
Post a Comment