Sunday, November 15, 2009

ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
Critical Thinking Skills

ประกอบ คุปรัตน์
E-mail: pracob@sb4af.org

Code: cw154, Operation Analysis,
Updated: Wednesday, February 15, 2006

ความนำ

ในโลกยุคใหม่ ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย แต่เราจะสามารถใช้ปัญญาและจิตใจอย่างไรที่จะทำให้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ บางอย่างเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ต้องนำมาประกอบกัน บางอย่างมีส่วนของข้อมูลที่ผิดพลาด เอนเอียง และไม่น่าเชื่อถือ บางส่วนแม้เขียนหรือค้นคว้ามาอย่างตั้งใจจริง แต่ก็ไม่สามารถเชื่อได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

ผู้ใช้ข้อมูลจำเป็นต้องมีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ บางอย่างต้องมีการฝึกฝนให้เกิดทักษะ บางอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึก ความรัก ความชอบ การมีทัศนคติที่เอนเอียง หรือตรงไปตรงมา ทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

North Central Regional Educational Laboratory, Learning Point Associates

ในปี ค.ศ. 1990 Paul, Binker, Jensen, and Kreklau ได้พัฒนา 35 ราย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 ยุทธศาสตร์เชิงจิตใจ (Affective Strategies)

1. คิดอย่างอิสระ (Thinking independently)

คนบางคนต้องสูญเสียโอกาสในการคิดอย่างเป็นอิสระไปแล้ว เพราะผูกพันในผลประโยชน์บ้าง ความรักความชอบ และความเคยชินบ้าง จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด แนวคิดหรือการตัดสินใจได้

ตัวอย่าง

อิสระจากผลประโยชน์หากเราต้องตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชน แต่เรามีผลประโยชน์ส่วนตัว เราต้องเข้าใจว่าผลประโยชน์นั้นอาจไม่ไปด้วยกัน

อิสระจากความคิด ความเชื่อ ความรัก ความชอบ หรือผูกพันส่วนตัว บางครั้ง คนเรามีความรัก ความชอบ คนที่ใกล้เรา เราเห็นความดีความงามของเขา แต่ในขณะเดียวกัน คนอื่น อาจมองเห็นเป็นลักษณะอื่นๆ และอาจทำให้การตัดสินใจหรือความเห็นของเราไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา

2. เข้าใจความเป็นตัวตน และคนอื่นๆ คิดอย่างหัวอกเขา หัวอกเรา (Developing insight into egocentricity or sociocentricity)

คิดอย่างเข้าใจความเป็นตัวตนของตนเอง (Egocentricity) และคิดอย่างเข้าใจหัวอกคนอื่นๆ อย่างที่เรียกว่าอกเขา อกเรา คนบางคนคิดอย่างเข้าใจเพียงตัวเอง แต่ไม่เข้าใจในสังคมรอบตัวและรอบด้าน

เป็นลักษณะการคิดที่ต้องหยั่งรู้ในจิตใจของตนเอง และในอีกด้านหนึ่งต้องหยั่งรู้ในจิตใจของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่าง

เราเป็นผู้จัดการโรงงานที่มีคนงาน 500 คน เราเป็นคนชั้นกลาง มีรสนิยมด้านอาหารแบบหนึ่ง ชอบอาหารไทย แต่ก็เป็นแบบ Modern Thai Cuisine มีรสชาติออกเป็นแบบคนเมือง แต่ในโรงงานอุตสาหกรรมของเรา ต้องมีโรงอาหารหรือ Cafeteria ซึ่งมีเพื่อให้บริการอาหารแก่คนส่วนใหญ่ คนทำงานมาจากภาคอีสานเป็นอันมาก เขามีความต้องการอาหารอีกแบบหนึ่ง ซึ่งให้ความพอใจกับเขาได้มากกว่า การทำอาหารสำหรับเราในโรงอาหาร อาจเป็นการขัดอารมณ์สำหรับการบริโภคอาหารคนหมู่มากในร้านอาหารนั้น

3. ฝึกการคิดอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง (Exercising fairmindedness)

คิดอย่างมีความเป็นกลาง คิดอย่างยุติธรรม ก่อนเข้าประชุมเพื่อรับฟัง ก็ต้องทำใจให้ว่าง พร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่ ไม่ใช่คิดและมีคำตอบต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว การทำใจให้ว่าง เป็นกลาง และที่สำคัญคือเป็นธรรม (Fairmindedness) จะยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีการนำเสนอที่มีมากกว่า 1 ทางเลือก มีคนมากกว่า 1 ฝ่ายมาเกี่ยวข้อง หรือการที่จะต้องตัดสินใจส่วนที่ทำอย่างไร ก็หลีกเลี่ยงความผูกพันกับสิ่งนั้นๆ ไม่ได้

ตัวอย่าง

คนสองฝ่ายอาจมีปัญหาขัดกัน มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ทางออกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์เต็มที่ดังใจไม่มี แต่ต้องมีทางออกสำหรับทั้งสองฝ่ายที่เขายอมรับได้ และที่สำคัญเขาเห็นว่าได้มีการตัดสินใจดำเนินการไปอย่างเป็นธรรม

4. สำรวจตนทั้งในด้านความคิดและความรู้สึก (Exploring thoughts underlying feelings and feelings underlying thoughts)

การได้สำรวจตนเองเป็นระยะ หรือก่อนการต้องตัดสินใจใดๆ นับเป็นเรื่องจำเป็น คนทุกคนมีความคิดและความรู้สึก มีความรักและความเกลียด ความคุ้นเคย และความไม่คุ้นเคย อึดอัดใจ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคในการคิดของเรา

ตัวอย่าง

นักคิดค้น นักประดิษฐ์คิดและตัดสินด้วยความคิดใหม่ๆ (Ideas, Thoughts) ศิลปินมักตัดสินใจด้วยค่านิยม ความรักความชอบ Feelings) และให้ค่าสิ่งเหล่านี้สูง นักการธนาคารให้ค่ากับผลประโยชน์ (Interests) ผลตอบแทน ความเสี่ยงเท่าที่เขาเห็นและปรากฏ แต่มักเลือกที่จะไม่ตัดสินใจด้วยความรู้สึก แต่ในโลกของการทำงานจริงโดยทั่วไปนั้น มันต้องการทั้งสองอย่าง แต่การตัดสินใจที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการประสมประสานระหว่าง 2 สิ่งนี้ คือการใคร่ครวญในเรื่องของความรู้สึก และอีกด้านหนึ่งคือเรื่องของความคิดที่มีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น

5. การตระหนักว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า คิดอย่างประมาณตน (Developing intellectual humility and suspending judgment)

ความตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่ว่าคนจะเก่งอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถเก่งกว่าคนที่ฉลาดและทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ และไม่ว่าเราจะเก่งอย่างไร ก็อาจมีคนอื่นๆ ที่เขาพัฒนาความคิดมาในลักษณะใกล้เคียงกันในที่อื่นๆ และอาจเลยหน้าไปแล้ว นอกจากนี้คือ ไม่ว่าความคิดจะดีอย่างไร แต่โลกเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาต่อเนื่องไปทุกวัน สิ่งที่ว่าใหม่ในวันนี้ หากไม่มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องก็จะกลายเป็นความเก่าไปอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่าง

การจะสร้างโรงแรมสักแห่ง

การทำงานเพื่อตัดสินใจหลายอย่าง หากจำเป็นจริง ก็ต้องมีการว่าจ้างหรือหาผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการ การจะออกแบบโรงแรมเพื่อรองรับชาวต่างชาติ เราเอาความรู้สึกของเราในฐานะเป็นเจ้าของ หรือคนรับผิดชอบไม่ได้ เราต้องการแบบอาคาร ห้องนอน ห้องใช้งานประเภทต่างๆ ที่ตอบสนองต่อคนพักที่เป็นชาวต่างชาติ เราอาจต้องเลือกที่ปรึกษาที่เขามีความรู้ความสามารถมาช่วย ก่อนที่เราจะตัดสินใจดำเนินการสร้าง และต้องใช้เงินนับเป็นหลายร้อยล้านบาท แล้วไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้

จักรพรรดิจะทรงปราดเปรื่องอย่างไร แต่องค์ที่ฉลาดล้ำลึกคือองค์ที่เลือกใช้ขุนนางและปราชญ์รอบตัวอย่างกว้างขวาง ดังนั้น คนที่ฉลาดที่สุด คือคนที่รู้ว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่ฉลาดในเรื่องต่างๆมากกว่าเราอีกมาก

6. การสร้างความกล้าหาญทางปัญญา (Developing intellectual courage )

คนที่ฉลาด แต่ขาดความกล้าหาญ ไม่สามารถตัดสินใจ พูด คิด เขียน หรือกระทำในสิ่งอันควรแล้ว ท้ายสุดมันก็ไม่มีประโยชน์ การตัดสินใจบางอย่างในลักษณะพวกมากลากไป ก็อาจไม่เป็นประโยชน์ งานบางอย่างอาจต้องใช้ความคิดแบบหยั่งรู้ (Intuitive Thinking) ไม่มีคนอื่นใดที่จะรู้ แต่เรารู้และอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจไม่ได้ แต่ก็ต้องตัดสินใจไป เป็นต้น

ตัวอย่าง

ในทางการบริหาร มีคำกล่าวว่า Just do it. คือคิดได้แล้ว มันเหมาะแล้ว ท้ายสุดคือต้องมีการดำเนินการไป เพราะบางครั้งการไม่กล้าตัดสินใจ ท้ายสุดก็จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยากจะแก้ไข

จากประสบการณ์ มีเป็นอันมาก หากปล่อยให้ความคิดดีๆ ต้องตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก หรือมติเอกชน (Consensus) ความคิดดีๆ และสิ่งสร้างสรรค์ที่กลายเป็นพัฒนาการใหม่ของโลกจะไม่เกิด ดังนั้น การมีความอดทนและใจกว้างที่จะให้มีคนได้คิดแตกต่างจากคนอื่นๆ และบางกรณีมีการสนับสนุนให้สามารถดำเนินการไปก่อนได้ โดยไม่ต้องให้เข้ากับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม

7. การพัฒนาทัศนคติที่ดี ทำอย่างหวังดี และอย่างมีศักดิ์ศรี (Developing intellectual good faith or integrity )

บางคนเรียกว่า เข็มทิศทางจริยธรรม (Moral Compass) กล่าวคือ การจะทำอะไรนั้นต้องเริ่มต้นด้วยการคิดและทำในสิ่งที่ดี คิดและเริ่มจากความปรารถนาที่จะทำดีต่อสังคม ทำด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตัว ทำแม้คนจะไม่สรรเสริญ แต่เรารู้ดีว่าตัวเราที่มีข้อมูล มีความรู้ และมีความคิดที่ดีนั้น เราได้ไตร่ตรองแล้ว คิดว่าควรจะต้องทำ เราก็ต้องทำ

ตัวอย่าง

ในทางตรงกันข้าม บางคนคิดและทำด้วยทัศนคติในทางลบ เช่น ทำเพราะต้องการกีดกันคนอื่นๆ ทำเพราะความอาฆาต อิจฉา ริษยา หรือทำเพราะอยากได้หน้า แต่ไม่ได้คิดถึงผลระยะยาว

8. มีความอดทนและพากเพียรทางปัญญา ไม่ถอดใจง่ายๆ (Developing intellectual perseverance)

คำว่า perseverance มีความหมายว่า ความอุตสาหะ มีความเพียร การจะทำอะไรบางอย่างต้องเริ่มต้นที่มีความอดทน ไม่มีอะไรที่จะเสร็จได้ง่ายๆ ไม่มีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ใด ที่จะได้มาโดยบังเอิญ มันต้องมีการกระทำ มีความล้มเหลว ทำไม่ได้ดังใจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นระยะๆ คนจะทำอะไรให้สำเร็จจึงต้องอดทน

ความกล้าที่จะล้มเหลวเป็นครั้งคราว นับเป็นความจำเป็น การประสบปัญหาแล้วไม่ถอดใจไปง่ายๆ เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนทำงาน และคนที่ต้องบริหารงานที่เป็นความใหม่ ไม่มีใครมีประสบการณ์สมบูรณ์แบบมาก่อน

9. พัฒนาความมั่นใจในการใช้เหตุผล (Developing confidence in reason)

บางครั้ง เมื่อเราจะใช้เหตุผล เราอาจไม่มั่นใจ เพราะคนที่เรารู้สึกว่าเขาเก่งกว่าเรา เขายังไม่คิดเหมือนกับเรา คนที่เขาฉลาด เขาไม่ได้คิดอย่างที่เรากระทำนี้ ครูเราฉลาดกว่า ท่านก็ไม่ได้คิดอย่างนี้ ผู้รู้ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดดังนี้ แล้วเราเป็นใครจึงจะกล้าคิดทำที่ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ เขา

ความกลัว ความไม่มั่นใจนั้น แม้เป็นนักมวยขึ้นชก บางครั้งก็แพ้เสียก่อนจะออกหมัดแรกแล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนมั่นใจ เมื่อคิดอะไร ได้ตรวจสอบดีแล้ว ก็ต้องคิดไป และทำไป

ส่วนที่ 2 ยุทธศาสตร์เชิงปัญญา มหาภาค (Cognitive Strategies--Macro-Abilities)

10. การสรุปได้อย่างชัดเจน และไม่ด่วนสรุปอย่างง่ายเกินไป (Refining generalizations and avoiding oversimplifications)

การคิดวิเคราะห์สิ่งใดๆ ในโลกยุคใหม่มีความซับซ้อน ต้องมีการใช้วิทยาการหลายแง่มุมมาประกอบการพิจารณา การจะด่วนสรุปสิ่งใดๆ อาจกลายเป็นความผิดพลาด บางครั้ง การตัดสินใจให้เร็วที่สุดไม่ใช่แนวทาง แต่การได้ข้อมูลให้มากเพียงพอ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ สรุปประเด็นให้ชัด แล้วก็ตัดสินใจในเวลาอันเหมาะสม จะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ตัวอย่าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีพื้นฐานมาจากนักการธนาคารท่านหนึ่งให้เหตุผลในการบริหารการเงินของประเทศ คือ ธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ธนาคารมั่นคง การเงินของประเทศก็จะมั่นคงตามไปด้วย สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีได้สรุปนั้น เป็นวิธีการคิดแบบนักการธนาคาร ธนาคารอาจมั่นคง ค่าเงินบาทแข็ง แต่ระบบการเงินของประเทศเกิดความตึงตัว ไม่มีใครอยากลงทุน ไม่มีใครอยากทำงาน ท้ายสุด เศรษฐกิจของประเทศก็อาจไปสู่จุดเสื่อมถอย และในที่สุดที่ว่าธนาคารจะอยู่ได้อย่างมั่นคง ก็จะไปไม่รอดตามไปด้วย

การสรุปหลักการ หรือทฤษฎีบางอย่างนั้น บางครั้งง่ายเกินไป และท้ายสุดอาจกลายเป็นว่ามันไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานความเชื่อที่ถูกต้อง

11. การใช้อุปมา อุปมัย และการใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน (Comparing analogous situations: transferring insights to new contexts)

บางครั้งการใช้อุปมา อุปมัย เพื่อมาเปรียบเทียบ แล้วตรวจสอบความคิดก็เป็นการช่วยทำให้สิ่งที่ยากและซับซ้อนมีวิธีการที่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้ว และผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นดังนี้ ในกรณีนี้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานไม่ต่างกัน ผลก็อาจจะออกมาในลักษณะเดียวกัน ใช่หรือไม่ การที่เราได้ตั้งสมมุติฐานเพื่อการตรวจสอบความคิดจะเป็นตัวช่วยทำให้เกิด Insight หากมันไม่ใช่ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราก็จะได้หาเหตุผลหรือตัวแปรที่สำคัญและทำความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ได้ดีขึ้น

ตัวอย่าง

ในสมัยโบราณ เขาจะมีคำอุปมา อุปมัย เพื่อช่วยทำให้เรื่องที่ยากและซับซ้อน ได้กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาเข้าใจได้ เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่งในคนรุ่นใหม่ตีความกันไปต่างๆ นานา แต่หลักดังกล่าวเขาหมายความว่า การให้ความรัก การตามใจไม่ใช่คำตอบสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก รักลูกให้ตี คือหมายความว่าเราต้องกล้าที่จะทำการขัดใจลูกได้ หากจำเป็น พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกจนอ้วน (Obeisity) น้ำหนักเกิน เพราะลูกมักจะมีแรงกดดันด้วยการแสดงอารมณ์ จนพ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกกินตามใจ กินมากเกินความจำเป็น แล้วลูกก็กลายเป็นเด็กอ้วนเกินมาตรฐาน

12. การพัฒนาวิสัยทัศน์ สร้างหรือสำรวจความเชื่อ ข้อโต้เถียง และทฤษฎี (Developing one's perspective: creating or exploring beliefs, arguments, or theories)

การที่จะศึกษาเรื่องใดๆ นั้น มันมักจะมีคนที่ได้ทำการศึกษา คนมีความเชื่อ มีข้อโต้ และทฤษฎีมาก่อนแล้ว ในการทำวิทยานิพนธ์ เราจะเรียกส่วนนี้ว่า Related Literature คือการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อศึกษาแล้ว เราก็ต้องพัฒนาส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ของเรา เหมือนกับที่คนเขียนงานวิจัย หากไปรวบรวมสิ่งที่คนอื่นๆ เขาเขียนเอาไว้ แล้วไม่มีความคิดเห็นหรือการกลั่นกรองจากเรา งานนั้นๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็น Reading Log สะสมงานเขียน หรือบทคัดย่อของคนอื่นๆ เขา

13. ทำให้เกิดความแจ่มชัดในประเด็น การสรุป และความเชื่อต่างๆ (Clarifying issues, conclusions, or beliefs)

การทำให้เกิดความแจ่มชัด หรือที่เรียกว่า Clarifying นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำ เช่นได้อ่าน และได้เขียนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมากสัก 10 หน้า แล้วประเด็นสำคัญที่ควรจะสรุปมาสักครั้งหน้า หรือ 1 หน้านั้น สาระสำคัญของมันคืออะไร

14. ทำความแจ่มชัดและวิเคราะห์ในความหมายและประโยค (Clarifying and analyzing the meanings of words or phrases)

อันการศึกษาในยุคใหม่ มีประเด็นของคำ (Words) หรือเป็นศัพท์ที่มีความเฉพาะ บางทีเราเรียกว่า Taxonomy, Glossary ซึ่งในแต่ละสายวิชาการมีความเฉพาะเจาะจงของมัน เราเรียกใช้ศัพท์นั้น เพราะมันมีความหมายเฉพาะ เราต้องการให้มีความชัดเจน

ยกตัวอย่าง

คำว่า Chief Executive Officer (CEO) มีความหมายแตกต่างกันตามวัฒนธรรม บางแห่งไม่จัดประธานกรรมการของบริษัทเป็น CEO แต่กรรมการผู้จัดการเป็น บางแห่งให้ความหมายของคนมีตำแหน่งเป็น Chief Operation Officer (COO) เป็นคนที่รับงานที่ต้องทำเป็นประจำ หรือ Routine แต่บางแห่งให้ไปทำงานพิเศษ ที่จะเป็นส่วนบุกเบิกงานของบริษัท เรียกว่า Business Development เป็นการไปพัฒนาธุรกิจที่มีความเฉพาะและสำคัญสำหรับบริษัท เป็นต้น

15. พัฒนาเกณฑ์ในการประเมิน การทำให้แจ่มชัดในค่านิยม และมาตรฐาน (Developing criteria for evaluation: clarifying values and standards)

หากเราไม่มีเกณฑ์ในการประเมิน บางครั้งเราใช้จิตใต้สำนึก หรือเพียงสามัญสำนึก (Common Sense) บางครั้งเกิดจากข้อมูลที่เราเพิ่งได้รับมาและยังจำได้ (Recent Behavior Bias) แต่ผลงานและสิ่งที่คนได้ทำมาเป็นเวลา 2-3 ปีนั้น เราไม่สามารถจำได้ หากไม่มีการบันทึกหรือมีเกณฑ์เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ

16. ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (Evaluating the credibility of sources of information)

ข้อมูลย่อมมีแหล่งที่มา

แหล่งที่มามีความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน บางแห่งไม่มีความน่าเชื่อถือ และคนทั่วไปก็ดูออก บางแห่งไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่เราดูไม่ออก แหล่งที่มาของข้อมูลบางอย่างมีความน่าเชื่อถือที่เขาสามารถสร้างขึ้นได้ แต่ในข้อเท็จจริงอาจมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง การนำเสนอภาพลักษณ์ของบริษัทผ่าน Website นั้น มีการหลอกได้หลายๆ อย่าง มีความน่าเชื่อถือได้ที่ต่างกัน คนบางคนติดยึดกับความสวยงาม ความทันสมัย ดูเก๋ มีการใช้คำพูดที่ดี

การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลต้องมองไปที่ผลประโยชน์ ความเป็นกลาง องค์กรบางแห่งเขามีคนที่มีความรู้กว้างขวางมากมาย แต่สิ่งที่เขาแสดงออกมานั้น เพราะเขาต้องการขายความคิด หรือขายสินค้าและบริการบางอย่าง ข้อมูลบางอย่างที่ควรจะได้รับรู้ จึงไม่ตรงไปตรงมา อาจเป็นการบอกความจริงเพียงบางส่วน

17. การสอบถามอย่างลึกๆ เกี่ยวกับแง่มุมและแหล่งที่มาของคำถามนั้นๆ (Questioning deeply: raising and pursuing root or significant questions)

การจะให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง บางครั้งต้องมีการตั้งคำถาม และแสวงหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้นๆ

ยกตัวอย่าง

เขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้า และการชลประทานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีสถานที่ตั้งบริเวณแผ่นที่เป็นรอยต่อของโลก และตามทฤษฎีแล้วมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามจะบอก คนกลับไม่เชื่อ เพราะคนไม่มั่นใจในความตรงไปตรงมาของข้อมูล แต่ท้ายสุด ก็ต้องให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข้อเท็จจริง เพราะการได้ทราบความเป็นจริง หากเขื่อนมีโอกาสแตกได้ คนอยู่บริเวณใต้เขื่อนจะได้มีเวลาเตรียมตัว คนจะลงทุนในที่ดินบางส่วนที่อาจมีความเสี่ยงจะได้รู้ว่าเขาควรจะลงทุนในกิจกรรมอะไรได้บ้าง

18. วิเคราะห์และประเมินการโต้เถียง การตีความ ความเชื่อ และทฤษฎีต่างๆ (Analyzing or evaluating arguments, interpretations, beliefs, or theories)

อันสิ่งที่มนุษย์คิดว่าเป็นจริงในส่วนหนึ่ง แต่ท้ายสุดก็จะพิสูจน์ได้ว่า ไม่เป็นความจริง โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยการมีทฤษฎี มีความเชื่อ และนำไปปฏิบัติ แต่ในอีกส่วนหนึ่งคือการวิเคราะห์ วิจารณ์สิ่งเหล่านั้นเพื่อจะปฎิเสธ (Anti Thesis) การได้มีการวิเคระห์ โต้เถียง การตีความที่อาจแตกต่างกัน และมีความเชื่อที่อาจไม่เหมือนกันนั้น ท้ายสุดทำให้ต้องมีการศึกษาลึกขึ้นไปอีก แต่การทำให้ได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น ท้ายสุดนำมาซึ่งการเรียนรู้ใหม่ และเกิดประโยชน์แก่โลกและสังคมได้

ตัวอย่าง

มนุษย์เคยเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัยว่าโลกแบน แต่ก็มีคนเชื่อว่าโลกกลม และพยายามชี้แจงว่ามันกลมด้วยหลักคิดและทฤษฎีต่างๆ และหาทางพิสูจน์ และท้ายสุดปัจจุบันเราทราบแน่ชัดว่าโลกนั้นกลม และเพราะความรู้เช่นนี้เองจึงได้เกิดการเดินเรือข้ามทวีปต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านั้น คนไม่กล้าที่จะเดินทางไกล ด้วยเกรงจะแล่นไปตกโลก

19. สร้างทางออกในการแก้ปัญหา และประเมินทางออกนั้นๆ (Generating or assessing solutions)

การได้รู้ว่ามีปัญหา และทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจในสภาพปัญหานั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญ และในทุกๆ ปัญหานั้น มักจะมีเรื่องของโอกาสใหม่ๆ ตามมา คนที่ไม่คิดจะแก้ปัญหา ลืมความเป็นปัญหา ก็จะเสียโอกาสที่จะมีมาด้วย

เมื่อเห็นปัญหาและต้องการแสวงโอกาสใหม่ๆ ก็ต้องมีการเปิดความคิดและแสวงหาทางออกในการแก้ปัญหานั้นๆ อย่างรอบด้าน กว้างขวาง และหลายทางเลือก และให้มีการพัฒนาทางเลือกนั้นๆ ไปสู่รายละเอียด ในแวดวงธุรกิจ เขาเรียกว่าต้องมี Business Plan คือต้องมีคนไปทำการบ้านมาว่า คิดจะทำอะไร มีแผนงานรายละเอียดอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง โอกาสดีที่สุดเป็นอย่างไร และถ้าพลาดจะเกิดข้อเสียหายสูงสุดเป็นเช่นใด

บางครั้งการพัฒนาทางออกต้องใช้คนหลายๆ คน และต้องพัฒนาด้วยทีมงานหลายๆ ทีม ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และการมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาทางเลือกที่เหมาะสมขึ้นมา

20. วิเคราะห์และประเมินการดำเนินการและนโยบายนั้นๆ (Analyzing or evaluating actions or policies)

เมื่อได้แผนงานมาแล้ว ก็ต้องมีการประเมินการดำเนินการตามแผนหรือนโยบายนั้นๆ ในรายละเอียด ซึ่งในท้ายสุด นำมาซึ่งการตัดสินใจดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ หรือให้นำไปปรับปรุงแผนงานใหม่

การศึกษานำมาซึ่งการตัดสินใจดำเนินการและมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องนี้ จำเป็นต้องมีคนที่มีทักษะในการวิเคราะห์และประเมินแผนงานและการดำเนินการ และในแผนงานนั้นๆ ก็มักจะต้องมีแนวทางในการติดตามผลกำกับไว้ด้วย เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการนั้นได้ดำเนินการไปตามแผนแล้ว

การดำเนินการในระยะแรกนั้นต้องมีการติดตามผล การมีกลไกในการให้ได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา และนำมาซึ่งการตัดสินใจ

21. อ่านอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้ข้อความนั้นกระจ่าง (Reading critically: clarifying or critiquing texts)

ทักษะการอ่าน อ่านอย่างมีวิจารณญาณ เป็นเรื่องสำคัญ

การอ่านงานที่มีเอกสารจำนวนมากๆ นั้น ในทางปฏิบัติเราจะรู้ว่าไม่ได้ต้องไปอ่านทั้งหมด ทุกหน้า ทุกตัวอักษร เรารู้ว่าส่วนไหนควรอ่านละเอียด ส่วนไหนคือเอกสารอ่านประกอบ ซึ่งอาจต้องอ่านก็ได้ หรือยังไม่ต้องอ่านก็ได้

การอ่านจะต้องอ่านอย่างจับใจความ จับประเด็นให้ได้ ในการประชุมเป็นอันมากเรามักจะไม่มีเวลาได้อ่านเอกสารอย่างจริงจังก่อนเข้าประชุม ทำให้เสียเวลาในการให้คนต้องมาชี้แจง หากได้อ่าน และอ่านอย่างจับประเด็น ส่วนใดไม่เข้าใจให้ทำบันทึกไว้ เพื่อซักถามเพิ่มเติมในที่ประชุม เป็นต้น

22. ฟังอย่างมีวิจารณญาณ มีศิลปะในการสื่อสารอย่างเงียบ (Listening critically: the art of silent dialogue)

ในการทำงานใดๆ มักต้องเกี่ยวข้องกับการมีคนมานำเสนองาน ในปัจจุบัน เขาเรียกว่า Presentation มีโปรแกรมที่เขาจะใช้เพื่อการนำเสนองานให้น่าสนใจ สามารถนำภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวมาประสมประสาน มีการแสดงเป็นกราฟ Chart ตารางข้อมูลที่ได้วิเคราะห์มาแล้ว

สิ่งที่เราเตรียมมาได้คือ การอ่านเอกสารหรือสิ่งที่เขาส่งมาให้เพื่อเตรียมประชุม อีกส่วนหนึ่งคือ การเตรียมมีทักษะการฟัง (Listening Skills) คนทำงานยิ่งระดับสูงเท่าใด จะมีคนในระดับล่างๆ เป็นฝ่ายเตรียมงานมานำเสนอ องค์กรที่มีคุณภาพ จะมีคนเก่งๆ ที่จะเสนอเรื่องดีๆ ที่ไตร่ตรองมาระดับหนึ่งแล้ว ฝ่ายบริหารมักจะเป็นฝ่ายแสวงหาโอกาสในการซื้อหรือเลือกซื้อความคิดเหล่านั้น และตัดสินใจเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ

การฟังอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Listening) จึงเป็นทักษะสำคัญของคนทำงาน การฟังอย่างมีสมาธิ การฟังและการใช้การจด ร่วมกับการจำ จดในประเด็นสำคัญ การฟังและลำดับความคิดตามได้ บางครั้งฟังไม่ทัน หากสามารถ หยุดซักถามได้ ก็ต้องกระทำ ดีกว่าฟังต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่เข้าใจและหลุดประเด็น การฟังที่ดีจึงอาจจะต้องเชื่อมโยงกับการซักถาม ถามเพื่อให้เข้าใจ ก่อนถามเพื่อจะตัดสินใจ เพราะหากไม่เข้าใจ การจะตัดสินใจก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ยาก

23. ทำให้เกิดความเชื่อมโยงแบบสหวิทยาการ (Making interdisciplinary connections)

แม้นักวิชาการที่รู้มาก แต่อาจมีการมองอย่างมิติเดียว (Disciplinary) แต่ปัญหายุคใหม่เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจแบบจากหลายมิติ ต้องมีการมองอย่างเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary)

ปัญหาและโอกาสมีลักษณะที่ต้องมองอย่างเชื่อมโยง การเชื่อมโยงอาจทำให้ต้องใช้คนหลายๆด้านมาเพื่อจะมองในหลายๆ มิติ และมีการแลกเปลี่ยนกัน

ตัวอย่าง

โรคไข้หวัดนก โรคที่เกิดจากไวรัสที่ชื่อ H5N1 ซึ่งมีอันตรายหากแพร่ระบาดในสัตว์ และมีอันตรายยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ในอดีตมีคนตายมาแล้วนับ 50 ล้านคนในปี ค.ศ. 1917-1918 การมองโรคระบาดนี้มีการมองได้หลายแง่มุม

มองอย่างสัตวแพทย์ เน้นไปที่การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์ปีก การทำให้ผู้เลี้ยงประสบความสำเร็จ บางครั้งผู้เลี้ยงเหล่านั้นก็เชื่อมโยงกับสัตวแพทย์ เช่น กับกลุ่มฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ หรือเป็นเกษตรกรรายย่อย แต่สัตวแพทย์ไม่ได้มองไปที่ความเสี่ยงของคนที่จะติดโรค

มองอย่างแพทย์ (Medical Doctors) เน้นไปที่การป้องกันคน ไม่ให้ป่วยเป็นไข้หวัดนก แต่บางครั้งก็ไปขัดกับฝ่ายสัตวแพทย์ ทำให้ไม่ได้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำให้เกิดการรับรู้ขัอมูลอย่างทันกาล กระทรวง 2 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตร ซึ่งดูแลสัตว์และสัตว์เศรษฐกิจ ก็มองแบบหนึ่ง ส่วนอีกกระทรวงหนึ่งคือกระทรวงสาธารณสุขก็มองอีกแบบหนึ่ง คือเน้นไปที่คน

มองอย่างชาวบ้าน มีผลประโยชน์ มีการรับรู้และไม่รับรู้ที่ต่างกัน มีความตระหนกและความชะล่าใจ มีการปิดบัง คนที่จะทำงานแก้ปัญหาต้องเข้าใจความเป็นอยู่ การแก้ปัญหาต้องเข้าใจการต้องแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาทางเศรษฐกิจที่คนเลี้ยงไก่ต้องประสบ หากเกิดปัญหาโรคระบาดในสัตว์ปีกของเขา

แต่สำหรับนักระบาดวิทยา (Epidemiologists) ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องหาทางแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสระบาดสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลข้ามทวีป และอาจทำให้ต้องมีคนตายนับเป็นหลายสิบล้านค ต้องเป็นคนที่มองได้หลายด้าน และมองอย่างเชื่อมโยงกัน มองทั้งมิติการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อเศรษฐกิจ การมองอย่างนักธรรมชาติวิทยาที่ต้องเข้าใจธรรมชาติของนกป่าย้ายถิ่น ต้องคิดอย่างแพทย์ที่ต้องป้องกันไม่ให้โรคระบาดในคน

24. ฝึกการอภิปรายแบบโซคราติส ทำให้แจ่มชัดในประเด็นความเชื่อ ทฤษฎี และวิสัยทัศน์ (Practicing Socratic discussion: clarifying and questioning beliefs, theories, or perspectives)

กระบวนการ Socratic Method เป็นกระบวนการสอนที่ผู้สอนจะตั้งคำถามหลักๆ และผู้เรียนต้องคิดและหาทางตอบ และคำตอบนั้นต้องเป็นคำตอบที่แสดงถึงความเป็นเหตุเป็นผล ผู้เรียนต้องยอมรับในเงื่อนไขที่ว่า ต้องตอบตามที่ได้รับคำถาม หากตอบไม่ได้ หรือยังไม่ได้ ก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติม

การซักถามเช่นนี้จะพบได้ในการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Oral Examination) ที่ผู้เรียนหรือผู้เข้าสอบต้องเตรียมตัวทางอารมณ์ที่จะต้องพร้อมที่จะตอบ ฟังให้ดีและใช้เหตุผล แต่สำหรับคนไทยนั้นมักจะเกรงการเสียหน้า หรือไม่สามารถรับฟังสิ่งที่ถูกตั้งคำถามได้ เกิดความเครียดที่บางครั้งไปปิดกั้นการได้รู้ลึกเพิ่มเติม

25. แลกเปลี่ยนทัศนะด้วยการเสวนา การเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ การตีความ หรือทฤษฎีนั้นๆ (Reasoning dialogically: comparing perspectives, interpretations, or theories)

การคิดอย่างมีวิจารณญาณจัดเป็นกระบวนการกลุ่ม ส่วนนี้คือส่วนของการใช้เหตุผล (Reasoning) เพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คนหนึ่งคนก็มองได้ไม่มากแง่มุม คนหลายๆ คน ก็มองได้ในหลายๆ แง่มุม การใช้เหตุผล การได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันด้วยกระบวนการแห่งความเป็นกัลยาณมิตร คือเรียนอย่างเป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่คู่แข่งขันที่จะทำลายล้างกัน จะเป็นประโยชน์ในกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

26. การใช้เหตุผลติดตามสิ่งที่นำเสนอ ประเมินภาพรวม และตีความทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Reasoning dialectically: evaluating perspectives, interpretations, or theories)

ในกระบวนการทำงานนั้นจะต้องมีการใช้เหตุผล การประมวลสรุปภาพรวม การตีความ และสรุปออกมาเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องมีทักษะในการประเมินภาพรวมนั้น ในขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจ

ตัวอย่าง

มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ต้องใช้ทางเลือก 2 แนวทาง ทางเลือกหนึ่งคือการใช้วิธีการเดิม แต่เน้นการพัฒนา จัดหาครูผู้สอนที่มีคุณภาพ แต่เน้นการใช้กระบวนการเรียนการสอนในแบบเน้นครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Based Approach) อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เป็นเครื่องช่วย ในการนี้ต้องมีการประเมินแนวทางทั้งสอง อาจมีการนำเสนอข้อมูล ได้รับฟังความคิดเห็นจากคนที่ได้มีประสบการณ์มาก่อน การวิเคราะห์ตัวเลขการลงทุน และผลพลอยที่จะเกิดขึ้น อะไรจะส่งผลดีต่อไปในอนาคต และอะไรอาจดีในปัจจุบัน แต่จะยังคงมีปัญหาต่างๆ ในอนาคต

มีอะไรบ้างที่พอจะสรุปเป็นแนวทางในการดำเนินการสำหรับอนาคต มีอะไรที่พอจะยึดเป็นแนวคิดและทฤษฎีได้บ้าง

ส่วนที่ 3 ยุทธศาสตร์เชิงปัญญา จุลภาค (Cognitive Strategies--Micro-Skills )

ยุทธศาสตร์เชิงปัญญาในส่วนจุลภาค (Micro) หมายถึงส่วนย่อย

การใช้ปัญญาที่จะจัดการกับปัญหาและโอกาสในทางเทคนิค ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องมีเทคนิควิทยาการมาประกอบมากขึ้น

27. เปรียบเทียบและแยกแยะอุดมคติและการปฏิบัติจริง (Comparing and contrasting ideals with actual practice)

อุดมคติ (Ideal) คือสิ่งที่อยากให้เกิด แต่ในโลกของความเป็นจริงจะมีสิ่งที่ได้ปฏิบัติจริง (Actual Practice) เป็นอันมาก 2 สิ่งนี้มักไม่ได้ไปด้วยกัน และคนทำงานจะต้องแยกแยะออกว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่เป็นอุดมคติ หรือสิ่งที่อยากไปให้ถึง และส่วนไหนคือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในโลกของการทำงาน มักจะมีคนที่ทำอะไรอย่างอุดมคติ ทำให้ได้ดี หากไม่ดีพอแล้วไม่อยากทำ ทำอะไรอย่างบริสุทธิ หากมีอะไรที่ไม่บริสุทธิ์พอที่เขาจะรับได้ เขาก็จะไม่ยอมรับ ในอีกด้านหนึ่งคือโลกของความเป็นจริง คือมีอะไรบางอย่างพอทำได้และนำไปสู่อุดมคตินั้นๆ มีอะไรบางอย่างที่ยังห่างไกลจากอุดมคติมาก และไปไม่ถึงได้ในช่วงเวลาอันสั้น

คนทำงานเป็นอันมากอยู่ในโลกสีเทา คือไม่ขาวบริสุทธิ์ และไม่ใช่ดำมืดเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องของการปะปนกันระหว่างสิ่งที่เป็นอุดมคติ และสิ่งที่เป็นความจริงในโลกที่ไม่น่าชื่นชม

28. การคิดที่ชัดเจน แม่นยำเกี่ยวกับความคิดและการใช้ศัพท์ที่ถูกต้อง (Thinking precisely about thinking: using critical vocabulary)

การคิดและใช้ศัพท์อย่างถูกต้อง คิดและพูด ใช้เวลา แต่ใช้ศัพท์ให้ถูกต้อง ดีกว่าพูดเร็วและทำให้สับสน

การใช้ศัพท์ที่ถูกต้อง อย่างเช่น คำว่า Gross National Production หรือเรียกย่อๆ ว่า GNP มีความหมายอย่างไร และเมื่อมีการนำไปตีความเป็นรายได้ต่อหัวของประชากร ที่เรียกว่า GNP Per Capita นั้นหมายความว่าอย่างไร การได้ตัวเลขมาก็ระดับหนึ่ง แต่การจะตีความก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ

ตัวอย่าง

ประเทศไทยมี GNP Per Capita ที่ต่างจากประเทศมาเลเซียไม่มาก คือประมาณร้อยละ 20-30 แต่ว่าเมื่อไปดูความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งสองประเทศบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก อะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เรื่องนี้คือการใช้ศัพท์แล้วก็ต้องมีการทำความเข้าใจในศัพท์นั้นๆ ด้วย

29. บันทึกส่วนสำคัญของความเหมือนและความต่าง (Noting significant similarities and differences)

ทักษะการเปรียบเทียบ การดูความเหมือนและดูความต่าง จะช่วยให้เราเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น

ในสิ่งนี้ เราต้องมีทักษะการบันทึก การบันทึกในส่วนที่เป็นความสำคัญ บันทึกอย่างเป็นระบบ และเมื่อได้ข้อมูลแล้ว มีการใช้รูปแบบการเสนอแบบเปรียบเทียบ อาจต้องใช้ตาราง เพื่อเปรียบสองหรือหลายสิ่งที่มีความเหมือนและความต่างกัน

ตัวอย่าง

ในทางปฏิบัติ คนทำงานจึงต้องมีทั้งความสามารถทางการวิจัยที่ต้องมีตัวเลขเปรียบเทียบ ทักษะการใช้ตัวเลข (Numerical) การวิเคราะห์ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการนำเสนอสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือต้วแลขที่ซับซ้อน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเข้าใจได้ง่ายขึ้น

30. การตรวจสอบและประเมินสิ่งที่ได้คาดการไว้ (Examining or evaluating assumptions )

การตรวจสอบและการประเมินสิ่งที่คาดการไว้ ซึ่งอาจจะเป็นไปหรือไม่เป็นไปตามนั้น แต่ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ

Assumption หมายถึงการคาดการ เมื่อการคาดการแล้วเป็นไปตามนั้นหลายๆครั้งเข้า ก็นำไปสู่การเป็นสมมติฐาน

Hypothesis หมายถึงสมมติฐาน เมื่อสมมติฐานที่ไดวางไว้ ได้พิสูจน์ว่าเป็นความจริงตามที่ได้ตั้งเอาไว้ สมมติฐานเหล่านั้นก็กลายเป็นทฤษฎี

Theories หมายถึงสิ่งที่เป็นทฤษฎี แต่ทฤษฎีทีว่าคิดว่าเป็นจริงแล้ว แต่ทฤษฎีเป็นอันมาก ก็ยังมีผู้คัดแย้งได้

31. การแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงหรือคิดว่าเป็นความจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Distinguishing relevant from irrelevant facts)

การแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง (Facts) สิ่งที่มีความสัมพันธ์ และความเป็นเหตุเป็นผล กับสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญ

Assumption คือสิ่งที่คาดการว่าจะเกิดแล้วยังไม่ได้เกิด แต่ Facts หมายถึงข้อเท็จจริงทีได้เกิดขึ้นแล้ว ข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นส่วนที่มีความสำคัญ บางส่วนที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่สาระสำคัญ ก่อให้เกิดความสับสน ก็ตัดออกไป

บางอย่างที่เรารวบรวมข้อเท็จจริงมา แต่มันมากเกินไป มากและไม่สัมพันธ์กับเรื่องที่จะต้องพิจารณา มันก็ทำให้ไปรบกวนการใช้วิจารณญาณของเราไป

ตัวอย่าง

หากเราจะเดินทางกลับบ้าน เราจำเป็นต้องรู้เส้นทางที่จะกลับถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย สะดวก และประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่เราไม่จำเป็นต้องไปศึกษาแผนที่ทั้งประเทศ หรือไปท่องจำเส้นทางภายในของแต่ละเมืองที่เราขับผ่าน เรารู้เท่าที่เราจะใช้ข้อมูลนั้นๆ

คนบางคนในการศึกษาค้นคว้า เริ่มต้นอย่างหนึ่ง แต่ท้ายสุดได้ไปทำการศึกษาในสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่คิดจะทำในเบื้องต้นอย่างมาก เรียกว่าหลุด Focus ไป

32. การทำให้เกิดการลงความเห็น การทำนาย และการตีความ (Making plausible inferences, predictions, or interpretations)

ท้ายสุดต้องมีการลงความเห็นของเราเอง อย่างที่เขาเรียกเป็นภาษาธรรมดาว่า ฟันธง ซึ่งหมายถึงตอนรถแข่งวิ่งเข้าเส้นชัยนั้น ต้องมีคนบอกให้ได้ว่า ใครเป็นคนเข้าเส้นชัยก่อน ใครเป็นผู้ชนะเลิศและรองลงไปตามลำดับ

การคิดอย่างรอบคอบ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ท้ายสุดต้องนำไปสู่การทำนาย (Prediction) การตีความหมาย (Interpretations) ซึ่งต้องเป็นทักษะในระดับสูง

ตัวอย่าง

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหนึ่ง ท้ายสุดต้องสามารถให้ภาพรวมได้ว่า ถ้าการทำนายสิ่งที่จะเกิดนั้นเป็นเช่นใด มีความเป็นไปได้สูงมากน้อยอย่างไร ฝ่ายบริหารควรต้องมีการตัดสินใจอย่างไร จะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าต้องไปปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงแผนอะไรอีก

33. การประเมินหลักฐานและข้อเท็จจริง (Evaluating evidence and alleged facts )

Evidence คือส่วนของหลักฐาน ซึ่งอาจทำให้เชื่อได้ หรือไม่ได้ Evidence หรือหลักฐานยังไม่ใช่สรุปได้ว่าเป็นข้อเท็จจริง (Facts) ส่วนข้อเท็จจริงนั้นต้องให้มีการพิสูจน์กันอย่างแน่ชัด ต้องมีวิธีการ ดังเช่น เครื่องจับเท็จให้หลักฐานได้ระดับหนึ่งว่าจำเลยมีการตอบสนองต่อคำถามอย่างไร พูดจริงหรือว่าพูดเท็จ แต่ขณะเดียวกัน คนบางคนมีทักษะพูดเท็จได้ โดยไม่มีความสะทกสะท้าน เครื่องจับก็ไม่สามารถจับเท็จได้

การมีพยานรู้เห็น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่บอกได้และเป็นพยานประเภทบุคคล แต่มีเป็นอันมาก ก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้น คือมีการชี้ตัวบุคคลผิด และทำให้คนบริสุทธิ์ต้องได้รับโทษอย่างไม่สมควร ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

ตัวอย่าง

การตรวจสอบ DNA ของผู้ต้องสงสัยในคดีข่มขืน อาจให้ความเชื่อมั่นทีมีโอกาสผิดพลาดได้น้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ประกอบกับหลักฐานอื่นๆ และได้รับความเชื่อถือที่นำไปสู่การตัดสินได้อย่างมากในระยะหลัง

34. ตระหนักในความแตกต่าง หรือข้อมูลที่ขัดแย้งกัน (Recognizing contradictions)

Contradictions หรือความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ หลักฐานมีมาจาก 2 ด้าน แต่หลักฐานทั้งสองมีความขัดแย้งกัน

พยานบุคคลคนหนึ่งบอกว่า ผู้ต้องสงสัยไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พยานหลักฐานที่ได้จากลายนิ้วมือ และการตรวจสอบ DNA ของผู้ต้องสงสัย ทำให้เชื่อได้ในอีกลักษณะหนึ่งว่า เขาอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น สิ่งที่ต้องตามมาคือการตรวจสอบหลักฐานทั้งสองด้านใหม่

การคิดอย่างมีวิจารณญาณคือการต้องตระหนักในสิ่งที่อาจเป็นความขัดแย้งกัน ในประวัติศาสตร์ มักมีคนค้นพบบางอย่างแล้วสรุปออกมา คนเป็นอันมากที่ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ก็จะยึดถือ และนำเสนอต่อๆ กันมา แต่นักประวัติศาสตร์ด้วยกันเองอาจมีความเชื่อและมุมมองไม่เหมือนกัน และนำเสนอในสิ่งที่ขัดแย้งกัน

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือการต้องยึดหลัก ฟังฟู ไว้หู คือไม่ใช่จะเชื่ออะไรได้อย่างปักใจ แต่หากความแตกต่างนั้นมีความสำคัญ ก็ต้องมีการนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความชัดเจน

35. สำรวจผลหรือสิ่งที่อาจตามมา (Exploring implications and consequences)

เมื่อตัดสินใจดำเนินการใดๆ แล้วจะมีสิ่งที่เป็นผลตามมา

บางอย่างเป็นไปตามคาด บางอย่างไม่เป็นไปตามคาด แต่ต้องมีการสำรวจผลให้ได้โดยเร็ว

บางอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ แต่มีบางอย่างที่เกิดขึ้นและน่าสนใจที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เขื่อนที่สร้างขึ้นแล้วบอกว่าจะเก็บกักน้ำได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ มันเป็นไปตามแผน แต่มีข้อมูลที่ตามมาก็คือว่า มีผลที่ทำให้บางที่มีลักษณะน้ำใต้ดินซึมขึ้นมาบริเวณที่ดินใต้เขื่อน เกลือใต้ดินได้ถูกผลักให้ผลุดขึ้นบริเวณผิดิน พื้นที่บางส่วนมีความเค็มในระดับที่ใช้ทำการเกษตรไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็น Consequences ที่ต้องมีการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจเพื่อจะได้ใช้ข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข

เช่นเดียวกับ การผ่าตัด การรักษาด้วยยา แล้วก็มีผลข้างเคียง อย่างที่เรียกว่า Side Effects ซึ่งก็ต้องมีการสรุปเป็นข้อเท็จจริง บางอย่างต้องกลับไปตรวจสอบในทางทฤษฎี บางอย่างต้องนำไปสู่การปรับวิธีการดำเนินการใหม่ทั้งหมด บางส่วนเป็นการต้องไปปรับเป็นเล็กน้อย

References

Content and general comments: info@ncrel.org Technical information: pwaytech@contact.ncrel.org
Copyright © North Central Regional Educational Laboratory. All rights reserved.
Disclaimer and copyright information.

No comments:

Post a Comment