Monday, November 2, 2009

นโยบายการศึกษาต้องมากกว่าเรียนฟรี

นโยบายการศึกษาต้องมากกว่าเรียนฟรี


เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ
Thursday, 18 October 2007

ผมได้เข้าไปพบในอินเตอร์เน็ต บทความของ ดร.เสรีพงศ์พิศ เรื่อง "นโยบายการศึกษาต้องมากกว่าเรียนฟรี" นำเสนอเมื่อปี ค.ศ 2007 เห็นว่า น่าจะไ้ด้มีการศึกษาทัศนะของท่าน และตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันว่า ได้เดินไปถูกทางแล้วหรือไม่ และอย่างไร

จึงขออนุญาตนำมาเสนออีกครั้งครับ

ประกอบ คุปรัตน์

ถ้าจะบอกว่า ยังไม่เห็นพรรคไหนที่มีวิสัยทัศน์การศึกษา ก็เพราะการมีวิสัยทัศน์นั้นไม่ใช่เพียงแต่สัญญาประชาชนก่อนเลือกตั้งว่าจะ ให้เรียนฟรีจนจบชั้นมัธยม หรือที่บางพรรคอาจหาญต่อให้ถึงปริญญาตรี แต่ต้องเสนอภาพฝัน และเสนอวิธีการที่เหมาะสมเพื่อทำให้ฝันนั้นเป็นจริง

วิธีการและเป้าหมายต้องไปด้วยกัน ถ้าเป้าหมายดี วิธีการต้องดีด้วย (Means justifies the end)

การ ปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ได้ผลอย่างที่ทุกคนปรารถนา เพราะผู้คนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งให้ดูแลทุกอย่าง คิดให้เสร็จแล้วนำไปให้ทำประชาพิจารณ์ เท่านั้นก็คิดว่าปฏิรูปการศึกษาแล้ว

จะ ปฏิรูปได้อย่างไร ถ้าไม่มีพลังแผ่นดินร่วมกันตั้งแต่แรก ไม่มี "เป้าประสงค์" (purpose) ร่วมของผู้คนทั้งประเทศ อย่างที่คุณหมอประเวศ วะสี เคยเสนอว่า "ร่วมกันปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ของแผ่นดิน"

แผ่นดินนี้มีทุกข์ ทุกข์สำคัญประการหนึ่ง คือ หนี้สิน ซึ่งคนจำนวนมากไม่ได้เป็นหนี้ธรรมดา เป็นหนี้เน่าที่หาทางใช้เขาไม่ได้
การศึกษาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้หรือไม่ ทำไมการศึกษาถึงได้แปลกแยกจากชีวิตจริง สิ่งที่เรียนกับชีวิตจริงทำไมถึงได้ไกลกันนัก

ทำไม ถึงดูเหมือนว่า ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งเรียนก็ยิ่งช่วยตัวเองไม่ได้ เรียนจบปริญญาตรีกลับบ้านทำงานไม่เป็น ได้แต่ขอพ่อแม่กิน นั่งนอนรอเขาเรียกไปทำงาน

เพราะการศึกษาไม่มีพลัง คนทั่วไปถึงได้คิดถึงแต่เงินและอำนาจ คิดว่าถ้ามีเงินก็จะปลดหนี้ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้สินต้องแก้ด้วยความรู้ด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการตั้งกองทุนมาซื้อหนี้ แล้วก็ไปก่อหนี้ใหม่ แล้วก็เวียนไปเวียนมาในวงจรอุบาทว์

การพัฒนาประเทศ วันนี้ยังเน้นกันที่การใช้เงิน การเมืองก็เริ่มด้วยเงินและอำนาจ นโยบายจึงเกี่ยวข้องกับเงินและอำนาจมากกว่าความรู้และปัญญา

ถ้า จะสร้างวิสัยทัศน์การศึกษาอย่างจริงจัง นักการเมืองต้องถามตัวเองว่า ให้ความสำคัญกับการศึกษามากพอที่จะพูดว่า "ชะตากรรมของประเทศ ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน" อย่างที่เบนจามิน ดิสราเอลี พูดไว้ร้อยกว่าปีมาแล้วหรือไม่

เห็นด้วยไหมกับเบนจามิ น แฟรงคลินที่ว่า "การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงยิ่งกว่า" หรือพูดอีกแบบหนึ่ง "ค่าเล่าเรียนนั้นแพง แต่ค่าโง่นั้นแพงกว่า"

เมื่อ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เริ่มรัฐบาลของเขาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เขาตั้งนายเดวิด บลังเคตต์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายคนนี้ตาบอด แต่มีวิสัยทัศน์การศึกษาดีกว่าคนตาดี

เขาบอกว่า การที่สหราชอาณาจักรด้อยพัฒนากว่าหลายประเทศ เพราะการศึกษาภาคประชาชนยังล้าหลังประเทศอื่น เขาจึงเสนอให้มีการส่งเสริมให้คนได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาให้ได้อย่างน้อย สักร้อยละ 50 ของวัยแรงงาน โดยชวนคนที่กำลังทำงานอยู่ ที่ยังไม่จบอุดมศึกษาให้กลับมาเรียน

นั่นคือความสำเร็จ ของรัฐบาลโทนี แบลร์ ซึ่งครองอำนาจมาสามสมัยติดต่อกัน และประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่า "ถามผมสิว่า สิ่งสำคัญที่สุดสามประการของรัฐบาลของผมคืออะไร ผมจะบอกคุณว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา"

ฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลโทนี่ แบลร์ มาจากฐานประชาชนที่มีโอกาสได้เรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทางใกล้ทางไกล หลากหลายระบบและรูปแบบ จนวันนี้ชาวสหราชอาณาจักรเรียนระดับอุดมศึกษากว่าร้อยละ 60

นาย เดวิด บลังเคตต์ แสดงวิสัยทัศน์ของเขาในปาฐกถาต่างๆ ตอนหนึ่งบอกว่า "ในเศรษฐกิจฐานความรู้ อุดมศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม เนื่องจากอุดมศึกษาไม่ใช่เพียงเพื่อการสร้างความมั่งคั่ง แต่เป็นตัวกำหนดโอกาสต่างๆ ในชีวิตของผู้คน"

"เมื่อเราขยายโอกาส การเข้าถึงอุดมศึกษาก็กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ข้อยกเว้นอีกต่อไป ระบบอุดมศึกษาก็จะเสริมสร้างความยุติธรรมทางสังคมในชุมชน แทนที่จะสร้างชนชั้นทางสังคมเหมือนในศตวรรษที่ 20"

"อุดมศึกษายุค ใหม่ที่เปิดกว้างจะเกิดขึ้นในกรอบที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอด ชีวิต ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญเพื่อความยุติธรรมทางสังคม"

สังคม บ้านเรายังเวียนว่ายอยู่ในระบบอุปถัมภ์ เป็นสังคมทาสแบบหนึ่ง สิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยให้คนเป็นอิสระจากระบบนี้ได้ คือ การศึกษาเท่านั้น

สังคม ที่พัฒนาแล้ว เป็นสังคมที่อยู่บนฐานข้อมูล-ข่าวสาร-ความรู้ คนมีความรู้ มีการศึกษา มีปัญญา จะคิดเป็น ตัดสินใจเป็น และเลือกเป็น มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่อใครหรือเดินตามหลังใครง่ายๆ

นักการ เมืองไทยที่เสนอตัวเข้าไปรับใช้ประชาชนไม่ว่าระดับไหน ท้องถิ่นหรือระดับชาติ ต้องอ่านข้อความของ วิลเลียม เบลค และเอาไปคิดต่อให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้หาทางสร้างนโยบายการศึกษาที่มีพลังสร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง เขาบอกว่า
"การศึกษาทำให้นำประชาชนได้ง่าย แต่บังคับพวกเขาได้ยาก ทำให้ปกครองง่าย แต่กดขี่ข่มเหงพวกเขาไม่ได้เลย"
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Sunday, 21 October 2007 )

No comments:

Post a Comment