ขอให้มีรัฐมนตรีศึกษาอีก 185 คน
ประกอบ คุปรัตน์
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
Keywords: บันทึกการศึกษา, Education Diary, คุณภาพชีวิต, เศรษฐกิจใหม่
ที่ผ่านมา เรามี “รัฐมนตรีศึกษา 11 ปี 14 คน” ผม ในนามของประชาชน ขอให้มีรัฐมนตรีศึกษาอีก 185 คน
ผมได้เปิดประเด็น "รัฐมนตรีศึกษาฯประเทศไทย 11 ปี 14 คน" ที่ My Words http://pracob.blogspot.com/2009/10/11-14.html
โดยได้นำข้อมูลที่ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา 11-12 ปีหลังนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ชื่อว่ามีกฎหมาย "ปฏิรูปการศึกษา" (Education Reform) แล้ว แต่ว่า การศึกษาไทยไม่ได้มีอะไรที่ก้าวหน้าขึ้น ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเปรียบเทียบได้ชี้ให้เห็นถึงทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ของ ไทยนั้นลดขีดความสามารถในการแข่งขันลง ในขณะที่ช่วงก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยเคยได้ชื่อว่าเป็น "เสือตัวที่ห้า" ของเอเซีย เป็นประเทศที่มาแรงในตะวันออกเฉียงใต้ ความชะงักงันเกิดจากคนของเรา อายุเฉลี่ยสูงขึ้น อายุยืนขึ้น สุขภาพอนามัยดีขึ้น แต่เกิดน้อยลง เมื่อเขาเติบโตขึ้น ความสามารถในการทำงานน้อยลง เมื่อเทียบกับรายได้ค่าตอบแทนที่จะต้องสูงขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยในระยะหลังไม่เป็นที่ดึงดูดสำหรับนักลงทุน ที่เข้ามาดำเนินการธุรกิจ
สาเหตุประการหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น คือ “คุณภาพของการศึกษาไทย” เราสอนกันโดยนับพัฒนาการจากจำนวนปีที่คนได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นเชิงปริมาณว่า เพิ่มขึ้น แต่โดยคุณภาพแท้จริงแล้วลดลง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้มีความพยายามของคนที่เกี่ยวข้องที่จะปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) โดยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความเป็นราชการแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) โดยดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยได้จัดให้มีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในปัจจุบันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Education Service Area โดยในปัจจุบันได้จัดแบ่งให้มีขึ้น 185 แห่ง
ผมไม่หวังอะไรมากจากการมีรัฐมนตรีศึกษาธิการในส่วนกลางที่ 11 ปี ใช้รัฐมนตรีไปแล้ว 14 คน และพิจารณาระบบและวัฒนธรรมการเมืองในระดับชาติแล้ว เห็นว่าแนวโน้มความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง อีกสิบปีต่อไปนี้ เราอาจมีรัฐมนตรีศึกษาเวียนกันมารับผิดชอบน้อยลงกว่า 14 คน แต่ก็จะยังไม่แน่นอน
ประเทศไทยมีการแบ่งการปกครองเป็น 76 จังหวัด นับรวมกรุงเทพมหานคร แต่เรามีเขตพื้นที่การศึกษา 185 แห่ง ผมขอให้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง “ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา” ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในท้องที่ๆเขารับผิดชอบ
โดยหลักการแล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานี้ ต้องเป็นคนของประชาชน เลือกเข้ามาโดยประชาชน มีเวลาต่อเนื่องสัก 4 ปีต่อวาระ (terms) มีเวลาทำงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องตามวาระ มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะคิดถึงการทำงานที่ดีมีหลักวิชาและตอบสนองต่อประชาชน เป็นที่ตั้ง เขาเป็นคนของประชาชน เงินเดือนกำหนดโดยประชาชนในท้องที่นั้นๆ และหากเขาทำงานดี ประชาชนมีความประสงค์ให้เขาทำงานต่อ เขาก็ทำงานต่อไปได้อย่างมีวาระ ทั้งนี้โดยประชาชนในท้องที่ให้ความเห็นชอบ
เขาคือรัฐมนตรีศึกษาแห่งท้องที่นั่นเอง จะเรียกว่า เป็น CEO ทาง การศึกษา หรือนักการศึกษาที่ดำเนินการทางวิชาการและการตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็น มืออาชีพ เขาคือรัฐมนตรีศึกษาธิการของท้องที่ และหากเขาทำหน้าที่อย่างดีบรรลุผลเพื่อการศึกษาแห่งท้องที่นั้นๆ เขาควรได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็น “รัฐบุรุษทางการศึกษา” ได้เลยทีเดียว
แล้วผมจะเขียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ทำไมจึงเสนอเช่นนี้ แล้วเราจะทำกันได้หรือไม่ และอย่างไร
Monday, November 2, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
แนวคิดมีอยู่ว่า เราจะกระจายอำนาจการศึกษาหรือไม่ หากคิดว่าจะกระจายอำนาจการศึกษา เราต้องยอมทำใจว่า ปล่อยให้ประชาชน และท้องถิ่เเข้ามาดูแลการศึกษา หากมีอะไรผิดพลาด ก็ต้องปล่อยให้ท้องถิ่เขาไปดำเนินการเป็นหลัก
ReplyDeleteต้องทำใจเสียระดับหนึ่งว่า ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการกันไป แต่ด้านหนึ่ง คือการให้ผอ. เขตพื้นที่การศึกษามี Term ที่ชัดเจน และให้เขาได้ใช้ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional Administrators)ที่จะจัดการ ไม่ปล่อยให้มีการเมืองไปมีอิทธิพลต่อเขามากจนเกินไป เขามี Term ของการบริหาร อย่างน้อยสักระยะเวลาหนึ่ง คือ 3-4 ปี มีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเอง ว่าสามารถทำงานอย่างมีแผนงาน มีขั้นตอน และแสดงความโปร่งใสในการจัดการได้ และหากมีอะไรผิดพลาด เขารับผิดชอบตามกฏหมาย