Friday, November 20, 2009

เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ

เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

Updated: Saturday, November 21, 2009

Keywords: Cw022, Proverb, สุภาษิต

ในภาษาเยอรมันมีสุภาษิตว่า “Blut ist dicker als Wasser.” ซึ่งตรงกับคำเปรียบเปรยในภาษาอังกฤษว่า “Blood is thicker than water.” หรือ เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ

ความสำคัญของพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ถือเป็นสายเลือดเดียวกัน ย่อมมีความสัมพันธ์กันมากกว่าคนนอกครอบครัว ที่คบหากันในภายหลังที่ไม่ได้มีความเกี่ยวดองกัน

คำว่าเลือด หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Blood ในที่นี้หมายถึงความเกี่ยวพันกันด้วยสายเลือด หรือครอบครัว ความใกล้ชิดกันโดยธรรมชาติ ย่อมง่ายที่จะมีความสนิทสนม รักใคร่กัน แต่ในทางตรงกันข้าม เพราะความที่เป็นญาติกัน อยู่ใกล้กัน ก็เลยกระทบกระทั่งกันได้ง่าย

เวลาญาติพี่น้องทะเลาะกัน ตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงในวงศ์กษัตริย์ตั้งแต่สมัยโบราณ หากขัดแย้งก้นความขัดแย้งนั้นๆก็จะรุนแรง เวลาที่พี่น้องกลุ่มหนึ่งได้ครองอำนาจ ส่วนอื่นๆ ที่ห่างออกไป ก็จะไม่พอใจโดยเฉพาะข้าราชบริพารส่วนที่สนับสนุนที่ขัดผลประโยชน์กัน นำไปสู่การก่อศึกษาสงครามกลางเมืองก็มี

ความขัดแย้งในครอบครัวนำไปสู่การก่อศึกสงครามกัน ฆ่ากัน ทำลายกัน เขาจึงเรียกว่า ศึกสายเลือด ไม่ได้มีอยู่เพียงในกลุ่มพวกมาเฟีย พวกมีอิทธิพล หรือกลุ่มอาชญากรรม แต่สำหรับครอบครัวธรรมดาที่ไม่มีความผูกพันกันพอ แต่กลับเพาะความเกลียดชังกัน ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ บางครอบครัวที่เกลียดกัน ขัดผลประโยชน์กันเอง ท้ายสุดก็นำไปสู่การลอบฆ่า ลอบสังหาร ไม่มีใครได้อยู่ดีมีสุข มีทรัพย์สมบัติเงินทอง ก็กลายเป็นของร้อน

เมื่อเป็นญาติพี่น้องที่ควรจะต้องรู้จักรักใคร่ช่วยเหลือกัน แต่ต้องมาทะเลาะต่อสู้กันเอง เขาจึงมีสุภาษิตเตือนเอาไว้ว่า เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ เป็นการเตือนสติคนในครอบครัวให้ต้องรู้จักรักกัน ในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือในเอเชียอย่างในประเทศจีน เขาจึงสั่งสอนลูกหลานให้ต้องรู้จักรักกันตามลำดับญาติและอาวุโส เรียกกันเป็นพี่น้อง เป็นลุงป้า อาและหลานกัน นับเป็นเครือญาติกัน คนที่ไม่รู้จักคบหามีสัมพันธ์ในวงศ์ญาติต่อกัน เขาจะมองว่าเป็นพวกที่คบไม่ได้ แม้แต่ญาติก็ยังไม่เอาด้วย ดังนี้เป็นค่านิยมในสังคมแบบเดิมที่มีมา แต่ในทางตรงกันข้าม หากเป็นญาติกัน ฝากฝังช่วยเหลือกัน แม้การส่งเสริมให้ได้เข้าสู่ตำแหน่งราชการ หรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน คนไทยหรือในเอเชียถือว่าเข้าใจได้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งปฏิบัติอยู่โดยทั่วไป แต่ในตะวันตกที่เขามีกฎระเบียบด้านความยุติธรรม เขาเรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ความห่วงญาติพี่น้องที่ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจในงานของส่วนรวมได้ นับเป็นปัญหาคอรัปชั่นที่สำคัญส่วนหนึ่ง

ในสังคมตะวันตกยุคใหม่ คนจะมีครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง มีการย้ายถิ่นเข้ามาในเมือง และมีการย้ายถิ่นไปทำงานตามที่ต่างๆ ความใกล้ชิดในเครือญาติจะลดลง ประกอบกับองค์การยุคใหม่เป็นองค์การของรัฐหรือสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว หากใครเป็นใหญ่แล้วเกื้อประโยชน์ต่อญาติพี่น้อง เขาเรียกว่า Nepotism หรือการเล่นพรรคเล่นพวก หรือช่วยเหลือเครือญาติ นับเป็นพฤติกรรมที่ผิด บางองค์การถึงกับมีนโยบายป้องกัน ไม่รับคนเป็นญาติหรือครอบครัวเดียวกันทำงานในหน่วยงานที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน ในกรณีที่เป็นองค์การขนาดใหญ่ แต่ยังบริหารแบบครอบครัว ไม่ได้เลือกคนเก่งคนดีเข้าทำงาน แต่เลือกเพราะความเป็นญาติ ดังนี้ก็ถือว่าจะไม่ได้เป็นองค์การที่จะเติบโตได้อย่างประสบความสำเร็จ

สังคมไทยกำลังก้าวไปข้างหน้า มีค่านิยมและความเชื่อบางอย่างทับซ้อนกัน เรายังต้องอยู่และยอมรับในความเป็นครอบครัวที่จะต้องช่วยเหลือกัน มีความอบอุ่นให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ แต่ในอีกทางหนึ่ง เราก็ต้องมีส่วนในองค์การใหม่ๆ ชุมชน และสังคมใหม่ ที่มิใช่มีเพียงเราเป็นเจ้าของ เมื่อเราเป็นใหญ่ มีตำแหน่งบริหารต้องรับผิดชอบต่อคนเป็นจำนวนมาก ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนอย่างไม่เลือกหน้า ต้องให้โอกาสแก่คนที่เขาต้องไต่เต้าทางหน้าที่การงานมาอย่างเหนื่อยยาก เราคงต้องการคนเก่ง และสร้างค่านิยมส่งเสริมคนเก่งคนดี เราจะไปใช้ค่านิยมแบบ เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ในหน่วยงานที่มีความเป็นสาธารณะ หรือเป็นของคนหลายๆ ฝ่ายไม่ได้

No comments:

Post a Comment