Friday, November 6, 2009

ศึกษาธิการในประเทศสหรัฐอเมริกา Superintendents in the United States

ศึกษาธิการในประเทศสหรัฐอเมริกา
Superintendents in the United States

ประกอบ คุปรัตน์
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย

SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)

Updated: Wednesday, November 04, 2009
Keywords: บันทึกการศึกษา, Education Diary, การบริหารการศึกษา, ความเป็นผู้นำ

ความนำ

ผมได้เคยนำข้อมูลที่ว่า ในช่วง 11-12 ปีผ่านมา อันเป็นช่วงของการใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่ต้องมีความต่อเนื่องด้านการศึกษา แต่ปรากฏว่าเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 14 คน ซึ่งมาจากต่างพรรคและต่างพวกกัน ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะทำให้การพัฒนาการศึกษาของชาติเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง

กระนั้นผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างสิ้นหวังต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพราะประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางการศึกษามากที่สุดในโลกดังเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States) ก็ไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีบทบาทอะไรมากนัก รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ด้านการศึกษาสมัยก่อน เขาเรียกว่า Secretary of Department ในรัฐบาลกลาง และกระทรวงในสมัยก่อน ว่าการที่เดียว 3 เรื่อง คือ เรื่อง สาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการสังคม (Department of Health, Education, and Welfare) ในระยะหลังเขามีกระทรวงศึกษาธิการ (Department of Education, Federal) ในรัฐบาลกลาง ซึ่งมีรัฐมนตรีในระดับเรียกว่า Secretary อยู่ในคณะรัฐมนตรีอันมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยตรง

ข้อมูลจาก Wikipedia

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐมีพื้นที่ (Area) ทั้งสิ้น 9,826,675 ตารางกิโลเมตร (km2) จัดว่ามีบริเวณใหญ่เป็นอ้นดับที่ 3 ของโลก มีประชากร 307,855,000 คน จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2009 มีขนาดของรายได้ประชาชาติรวม (GDP) ใหญ่ที่สุดในโลก คือ 14.441 trillion เหรียญสหรัฐ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP Per Capita) ที่ USD 47,440 จัดว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการแบ่งการปกครองออกเป็นรัฐ (States) รวม 50 รัฐ และหลายๆรัฐจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษา เรียกว่า Department of Education ซึ่งใกล้กับคำว่า กระทรวงศึกษา หรือ Ministry of Education ในประเทศไทย แต่ในแต่ละรัฐมีระบบการบริหารการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน

การศึกษาของสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น USD 972,000,000,000 (2007) ซึ่งมาจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรวมในทุกระดับ คือตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงบัณฑิตศึกษา จนระดับปริญญาเอก ค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมจ่าย ซึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง ค่าเล่าเรียนอาจสูงถึงคนละ USD 50,000 ต่อปี จากประชากร 300 ล้านคน มีนักเรียนนักศึกษาทั้งระบบ 76,666,666 คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณ USD 12,678.26 หรือประมาณ 443,730 บาทต่อคนต่อปี

ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน (Primary Languages) ในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆในสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาอังกฤษ (English) อัตราการรู้หนังสือของสหรัฐอยู่ที่ เพศชาย (Male) ร้อยละ 99.0 และในเพศหญิง (Female) ร้อยละ 99

ในระบบการศึกษาของสหรัฐนั้นจัดได้ว่ามีทั้งที่เป็นของรัฐบาลกลางรับผิดชอบ (Federal) รัฐแต่ละรัฐ (state) และเป็นระบบสถานศึกษาเอกชน (Private) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นความรับผิดชอบในระดับท้องถิ่น (Local) ตามมาด้วยระดับรัฐบาลของรัฐ (State) ส่วนในระดับรัฐบาลกลาง (Federal) นั้นมีบทบาทไม่มากนัก

ระบบการศึกษาของสหรัฐมีผู้เรียนรวม 76.6 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าประมาณร้อยละ 25.5 ของประชากรอยู่ในระบบการศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นระดับประถมศึกษา (Primary) 37.9 ล้านคน ระดับมัธยมศึกษา (Secondary) 16.5 คน ระดับหลังมัธยมศึกษา (Post Secondary) หรืออุดมศึกษา 17.5 ล้านคน ซึ่งในที่นี้รวมถึงระดับบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโทและเอก

จากประชากรในแต่ละช่วงอายุ จะได้เรียนจนจบมัธยมศึกษาร้อยละ 85 และจบการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ร้อยละ 27 ในระดับปริญญาตรี หรือกล่าวได้ว่าในทุก 4 คนจะมี 1 คนที่เป็นบัณฑิต จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ในการสำรวจในปี ค.ศ. 2002 โดยสำนักสำรวจสัมโนประชากร (Census of Governments, the United States Census Bureau) ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีตัวเลขของหน่วยงานด้านการบริหารการศึกษาในสหรัฐดังนี้

- 13,506 เขตพื้นที่การศึกษา (school district governments) หรือเฉลี่ยประมาณ 270 เขตพื้นที่การศึกษาต่อรัฐ แต่โดยข้อเท็จจริง แต่ละรัฐมีระบบการจัดแบ่งหน่วยงานเพื่อการศึกษาที่แตกต่างกัน

- 178 ระบบการศึกษาภาครัฐที่ขึ้นกับรัฐบาลของรัฐ (state-dependent school systems)

- 1,330 ระบบที่ขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับท้องถิ่น (local-dependent school systems)

- 1,196 หน่วยงานบริการการศึกษา (education service agencies/agencies providing support services to public school systems) ที่ให้การสนับสนุนบริการเพื่อการศึกษาแก่ระบบโรงเรียนรัฐบาล

ศึกษาธิการ (Superintendents)

ผู้บริหารที่จะทำหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาระดับสูงในหลายๆรัฐ จะเรียกว่า Superintendent ซึ่งจะขอใช้คำเรียกอย่างที่พอจะคุ้น คือ ศึกษาธิการ หรือผู้รับผิดชอบด้านการบริหารการศึกษาสูงสุด ในบางแห่งอาจใช้ชื่อเรียกว่า Chancellor ดังกรณีผู้บริหารการศึกษาสูงสุดของเมืองนิวยอร์ค (New York City) ที่เป็นผู้รับผิดขอบด้านการศึกษาที่แต่งตั้งโดยนายกเทศมนตรีของเมือง เมืองนิวยอร์คจัดเป็นเมืองใหญ่สุดของสหรัฐ มีประชากรกว่า 8.5 ล้านคน ส่วนตำแหน่งนายกเทศมนตรีนั้น เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเมืองนั้นๆ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นอันมากประมาณวาระละ 4 ปี

ในสหรัฐอเมริกา การศึกษาเกิดจากการพัฒนาและรับผิดชอบกันเองในระดับท้องถิ่น (Local Governments) ซึ่งอาจเป็นเมือง (Cities, Towns) หรือเขตการปกครอง ซึ่งเรียกว่า districts หรือ Counties คล้ายกับอำเภอในประเทศไทย

โดยทั่วไป ศึกษาธิการเขตพื้นที่การศึกษา (Public school district superintendents) ที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการการศึกษาของท้องถิ่น (Local School Board) จัดได้ว่าเป็นผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer – CEO) ของเขตหรือชุมชนนั้นๆ การศึกษาจัดได้ว่าเป็นกิจการขนาดใหญ่ทีเดียวของท้องที่นั้นๆ

บทบาทหน้าที่

ศึกษาธิการจะมีหน้าที่โดยรวมเกี่ยวกับการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (Personnel Selection) การแต่งตั้ง (Appointment) การปฐมนิเทศและการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเข้าสู่ตำแหน่ง (Preparation, Staff Development) การจัดเตรียมงบประมาณและบริหารการเงิน (Operating Budgets) การดำเนินการตามนโยบายและกฎระเบียบ (School Policies and Regulations)

ในด้านคุณสมบัติ (Qualification) โดยหลักการแล้ว ศึกษาธิการ (Education Superintendents) จะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายการศึกษา (School Law) การเงินเพื่อการศึกษา (School Finance) และยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อการศึกษา (Investment Strategies) งานก่อสร้างโรงเรียน (School construction) เทคโนโลยี (Technology) หลักสูตรและการเรียนการสอน (Curriculum and Teaching and Learning Styles and Methods) การสร้างทีมงาน (Team Building) ทักษะที่จะมองภาพใหญ่ (Seeing the Big Picture) หรืออาจเรียกว่าการต้องมีวิสัยทัศน์ สามารถมีความเป็นผู้นำที่ทำให้เกิดพลังร่วมที่จะทำงานร่วมกันได้ มากกว่าแต่ละโรงเรียนต่างคนต่างอยู่

บทบาทต่อคณะกรรมการการศึกษา

ศึกษาธิการส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการศึกษา (Board of Education หรือมีเรียกว่า School Boards) ซึ่งกำกับและดูแลในเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ แต่โดยทั่วไปแล้ว เขาจะไม่ออกเสียงเหมือนกับคณะกรรมการคนอื่นๆ แต่มีหน้าที่ให้ข้อมูลที่จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของคณะกรรมการการศึกษา

ในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของศึกษาธิการนั้น แม้จะไม่มีข้อบังคับไว้เป็นกฎหมาย แต่หลายๆเขตพื้นที่การศึกษาได้บังคับ หรือประสงค์ให้ศึกษาธิการของเขาต้องจบการศึกษามาในระดับปริญญาเอก

ในแต่ละรัฐที่เขารับผิดชอบ ศึกษาธิการ หรือผู้บริหารด้านการศึกษาสูงสุด อาจเรียกได้ว่าเป็น CEO หรือ Chief Education Officer หรือ Chief Executive Officer มีลักษณะคล้ายกับงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจ เพียงแต่ในระบบการศึกษานั้น ประชาชนในท้องที่นั้นๆเป็นเจ้าของ และสนับสนุนการศึกษาโดยระบบภาษีอากรและรายได้ต่างๆที่ได้กำหนดขึ้น กิจการการศึกษาของท้องถิ่นนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะบริหารให้เกิดกำไร แต่ให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาและเยาวชน และผู้รับประโยชน์ด้านการศึกษาทั้งหลาย แต่กระนั้นก็ต้องแสดงว่าได้มีการใช้เงินอย่างคุ้มค่า (Accountability)

การสรรหาและว่าจ้าง

ศึกษาธิการของเขตพื้นที่การศึกษา (Superintendent) นี้จะถูกว่าจ้างโดยคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (School Board, หรือ Board of Education) ที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ และด้วยความที่ตำแหน่งศึกษาธิการนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ จึงมีการตั้งที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษา (Consultant) ที่อาจได้รับการว่าจ้าง หรือเชิญเข้ามาทำหน้าที่โดยคณะกรรมการการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ เพื่อสรรหาบุคคลมาจำนวนหนึ่งที่จะถูกเลือกโดยคณะกรรมการ

ก่อนที่จะมีการจ้างศึกษาธิการมาได้สักคนนั้น จะมีการระดมความคิดเห็นจากครูอาจารย์ที่เขาจะต้องรับผิดชอบ จากชุมชนที่เขาจะต้องดูแลให้บริการ ทั้งนี้อาจโดยมีการจัดประชุมสาธารณะ (Public Meetings) ในการประชุมร่วมกับกลุ่มต่างๆนี้ อาจมีการให้แสดงวิสัยทัศน์ และมีการจัดลงคะแนนประเมินคุณสมบัติผู้สมัคร ในด้านทักษะ (Skills) บุคลิก (Attributes) ประวัติการศึกษา (Education) และคุณสมบัติที่พึ่งประสงค์ในการดำรงตำแหน่งและทำงานในหน้าที่ศึกษาธิการนี้

การได้สรรหาผู้สมัครจำนวนหนึ่งให้ได้มาซึ่งผู้จะดำรงตำแหน่ง 1 คนนั้น มีกระบวนการ ซึ่งที่ปฏิบัติกันนั้น คือการได้ผ่านการสัมภาษณ์จากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ของทั้งบุคลากร ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนภาคธุรกิจ ชุมชน และท้ายที่สุด การตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการการศึกษา (Board of Education) นั้นๆ

การได้มาซึ่งผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเรื่องใช้เวลา โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี

สัญญาการทำงาน

ศึกษาธิการเป็นตำแหน่งที่มีความคาดหวังสูง ทั้งได้รับเกียรติ์ มีอำนาจ มีความรับผิดชอบ และขณะเดียวกัน ก็มีความกดดันต่อผู้ดำรงตำแหน่ง

ตำแหน่งศึกษาธิการจะไม่ได้รับสัญญาหรือสิทธิที่ได้รับการปกป้องเหมือนเจ้าหน้าที่หรือครูอาจารย์ทั่วไป เขาไม่มีความเป็นสามัญฐานะ (Tenure) ไม่ได้รับการปกป้องจากสหภาพแรงงานเหมือนครูหรือเจ้าหน้าที่โรงเรียน และมักขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละท้องที่ ศึกษาธิการคนหนึ่ง อาจได้รับสัญญาว่าจ้างเป็นรายปี หรือ 2 ปี หรือ 3 ปี แต่สัญญาครั้งละ 3 ปีถือว่าเป็นปกติทั่วไป แต่ไม่ว่าสัญญานั้นจะมีข้อตกลงอย่างไร ศึกษาธิการจะถูกประเมินเป็นรายปีโดยคณะกรรมการการศึกษา และอาจมีการเลิกจ้างได้โดยไม่มีสิทธิพิสูจน์โดยหลักความยุติธรรม โดยทั่วไปในแต่ละปีจะมีการประเมินผลงานของศึกษาธิการโดยคณะกรรมการการศึกษา

ศึกษาธิการมีความรับผิดชอบต่อการศึกษาทั้งหมดของระบบเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งอาจมีโรงเรียนประถมศึกษา (Elementary Schools), โรงเรียนระดับกลาง (Middle School) และมัธยมศึกษา (High School, Secondary School) ความรับผิดชอบนั้นรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การงบประมาณและการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาต่างๆ

เกี่ยวกับกฎหมาย

ศึกษาธิการต้องมีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาของรัฐ (Public Schools) สามารถตีความกฎหมายที่จะมีผลในด้านปฏิบัติได้อย่างฉลาดและถูกต้อง เขามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะไม่ทำให้เขตพื้นที่การศึกษาต้องถูกเป็นจำเลยในคดีฟ้องร้อง และหากมีการฟ้องร้องไม่ว่าจะเป็นจากประชาชน หรือจากเอกชนใดๆ เขาจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขตพื้นที่การศึกษาในฐานะจำเลย เขามีหน้าที่ที่จะต้องตอบในคดีฟ้องร้อง และอะไรที่ยังผิดหรือบกพร้อง ก็ต้องทำหน้าที่อันนำไปสู่การต้องปรับปรุง

ศึกษาธิการไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แต่ต้องรู้กฎหมายเพียงพอที่จะไม่ทำผิดพลาดทางด้านกฎ ระเบียบ หรือกฎหมาย บางส่วนอาจเรียนรู้ได้ด้วยประสบการณ์ บางคนอาจเรียนรู้กันเอง หรือมีการไปลงทะเบียนเรียนวิชาว่าด้วยกฎหมาย หรือกฎหมายการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน

ในด้านการทำหน้าที่เกี่ยวกับสื่อ รวมถึงการต้องตอบหรือสื่อสารกับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เขาควรต้องมีทักษะในการสื่อสาร สามารถให้สัมภาษณ์ หรือให้คำตอบได้อย่างมีสติ รอบคอบ ตามกฎหมาย อย่างซื่อสัตย์ และทำให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการศึกษาที่อาจซับซ้อน ให้เข้าใจได้อย่างง่าย

ศึกษาธิการจะต้องเป็นคนที่ทำให้คณะกรรมการการศึกษาได้รับทราบ ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับเขตพื้นที่การศึกษา สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษาที่นำไปสู่การตัดสินสินใจ ที่จะทำให้ระบบการศึกษาของเขตพื้นที่ได้ดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง ไม่เป็นปัญหา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีทักษะในการทำงานที่ต้องฟัง และรับผิดชอบต่อความหลากหลายที่อาจมีความขัดแย้งต่อกัน ทั้งทางด้านความคิด ประเด็น ผลประโยชน์ และการต้องมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

พัฒนาการสายอาชีพ

ศึกษาธิการส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากความเป็นครูในชั้นเรียน แล้วทำงานผ่านจากสายการเรียนการสอน สู่สายบริหารการศึกษา การเป็นครูใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน (Principals) หรือทำงานผ่านมาในสำนักงานส่วนกลางของเขตพื้นที่การศึกษา (Central District Office) ก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งศึกษาธิการ แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (Board of Education) จะเลือกคนมาจากสายอาชีพอื่นๆอย่างสิ้นเชิง เช่น จากสายทหาร ภาคธุรกิจ ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก และนั่นเป็นอำนาจของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

ส่วนใหญ่ศึกษาธิการจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการศึกษา (Bachelor’s degree in Education) ปริญญาโททางด้านบริหารการศึกษา (Master’s Degree in School Administration) มีเป็นอันมากเช่นกันที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางบริหารการศึกษา (Doctorate in School Administration) ถีงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่จะต้องได้รับใบประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาต (Special Certification) ที่จะทำหน้าที่บริหารการศึกษาในระดับสูงในแต่ละรัฐนั้นๆ และผ่านการตรวจสอบความถูกต้องด้านกฎหมายจากหน่วยงานด้านกฎหมาย หรือมีการสอบประวัติโดยฝ่ายตำรวจหรือความมั่นคงมา

การทำงาน 12 เดือน

ในประเทศไทย ครูอาจารย์ และนักบริหารการศึกษาในระบบราชการทำงานและรับเงินเดือน 12 เดือนต่อปี แต่ในสหรัฐอมริกามีความแตกต่างกัน

ในประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาว่าจ้างศึกษาธิการแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา แต่สัญญาทั้งหมดจะเป็นการว่าจ้างทั้งปี หรือ 12 เดือน ในขณะที่สัญญาว่าจ้างครูทั่วไปมักจะเป็นสัญญา 9 เดือนในแต่ละปี และครูทั่วไปจะมีเวลาว่างระหว่างภาคการศึกษา และภาคฤดูร้อน หรือต้องไปหางานอื่นทำเสริมในระหว่างนั้น หรือไปใช้เวลาว่างนั้นเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม หาความรู้

ในด้านการมีสิทธิลาพักนั้น โดยทั่วไปศึกษาธิการจะมีสิทธิพักโดยได้รับค่าตอบแทนประมาณ 10-20 วันต่อปี สัญญาว่าจ้างจะสอดคล้องกับปีการศึกษา คือจะเป็นช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม จนถึง 30 มิถุนายน ในระหว่างนี้ เขาอาจลาพักผ่อนในช่วงใดๆของปีได้ คราบเท่าที่ไม่ทำให้งานในหน้าที่รับผิดชอบบกพร่อง

การสื่อสารติดต่อ

โดยทั่วไป ศึกษาธิการจะมีการติดต่อและสื่อสารผ่าน E-mail และโทรศัพท์มือถือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของตนแม้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ วันหยุดราชการ(Holidays) หรือวันลาพักร้อน โดยมีข้อยกเว้นน้อยมาก ศึกษาธิการจึงเป็นคนที่ต้องถูกตามตัวได้ตลอดเวลา แม้เขาจะอยู่ในช่วงลาพัก หรือออกนอกเมือง หรือไปร่วมสัมมนา ณ ที่ต่างๆ

เขตพื้นที่การศึกษาส่วนใหญ่กำหนดให้ศึกษาธิการต้องพักอาศัยภายในบริเวณเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ ในขณะที่ครูใหญ่ (Principals) อาจไม่ต้องอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงเรียนที่ตนทำงาน ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไปไม่ได้ถูกกำหนดด้านที่พักอาศัยว่าจะต้องพำนักอยู่ที่ใด

2 comments:

  1. ในประเทศไทยมี่ตำแหน่งที่เรียกว่า ผู้อำนวยการเขตพื้นทีการศึกษา (Education Service Areas - ESA) ในประเทศอังกฤษเรียกว่า LEAs มาจากคำว่า Local Education Authorities มีอำนาจที่ชัดเจน แต่ในประเทศไทย ผมสงสัยว่าเราไม่ได้มีการมอบอำนาจให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาอย่างชัดเจน แถมยังมีการปล่อยให้มีการเมืองท้องถิ่นเข้าไปวิ่งเต้นเส้นสายกันอย่างกว้างขวาง ผมเห็นว่า น่าจะต้องมีการศึกษาหาทางออกสำหรับบทบาทของผอ.เขตพื้นทีีการศึกษากันให้ชัดเจนยว่า เรามีปัญหากันอย่างไร และจะหาทางแก้ไขปัญหา เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสกันอย่างไร

    ReplyDelete
  2. It is really useful for my study.Thanks for your efforts.

    ReplyDelete