ขุดบ่อล่วงหน้า ก่อนที่จะหิวน้ำ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mai: pracob@sb4af.org
Cw022, Proverbs, สุภาษิตจีน, proact, pro-act, การวางแผน, การคิดการณ์ไกล
มีคำกล่าวในสุภาษิตจีนที่พบเขียนในภาษาอังกฤษว่า “Dig the well before you are thirsty.” อันแปลเป็นไทยได้ว่า “ขุดบ่อล่วงหน้า ก่อนที่จะหิวน้ำ” การขุดบ่อล่วงหน้า ก่อนที่เราจะหิวน้ำ เพราะเมื่อเรารอจนหิว แล้วไม่มีน้ำกิน จึงค่อยไปขุดบ่อน้ำนั้น โบราณท่านบอกว่าจะไม่ทันกาล
การขุดบ่อน้ำ หรือขุดเพื่อหาน้ำนั้น ต้องใช้เวลา และกำลัง บางแห่งขุดแล้วก็ยังจะไม่เจอน้ำ ดังเช่นในสภาพทะเลทราย หรือเขตแห้งแล้ง แต่เมื่อเราไม่ได้คิดเตรียมการล่วงหน้า รอให้ปัญหาเกิด ก็จะสายเกินไปที่จะแก้ปัญหา แต่คนไทยเราอยู่ในแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยได้เจอะเจอปัญหาอย่างชาติอื่นๆเขา เรามีอาหารข้าวปลาสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เวลาหิว มีข้าวหูงรอไว้ เดี๋ยวไปยกยอหาปลามาเป็นกับข้าวได้ ไม่ต้องคิดมาก
อันคนเราคิดมองเห็นปัญหา ก็ต้องคิดกาลล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า Pro-act เตรียมการล่วงหน้า ก่อนที่ปัญหาจะเกิด
หากเราต้องการรับประทานอาหารสักมื้อที่บ้าน ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก 2-3 นาทีหากใช้วิธีการไมโครเวฟ ถ้าไปกินที่ร้าน ต้องสั่งเขา ก็ใช้เวลาสั่งและรอสัก 5-15 นาที แล้วแต่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใด
กว้างไกลไปอีกสักระดับ หากเราบริหารงานองค์การ ดังเช่นมหาวิทยาลัย คนส่วนหนึ่งกำลังจะเกษียณ (Retirement) ต้องมีการเตรียมคนมาทดแทนกำลังเดิมที่กำลังจะหมดไป เราต้องใช้เวลาในการเตรียมกำลังคน หากเราประกาศหาอาจารย์ใหม่สำหรับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสักแห่ง เราต้องให้เวลาเขาสัก 3-5 ปี เพื่อการสรรหา การคัดเลือก การพัฒนา กว่าได้รับเข้ามาและได้เรียนงาน เหล่านี้เป็นเรื่องใช้เวลา
หากจะต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถแบบสู้ได้ แข่งกันแย่งกันหาคน จ่ายให้สูงกว่าเขา แต่คนอื่นๆ องค์การอื่นๆเขาก็อาจคิดอย่างเดียวกัน ไปแย่งกำลังคนที่ก็มีอย่างจำกัด ทางที่ดีต้องมีการคิดและเตรียมการเรื่องพัฒนาคณาจารย์ (Staff Development) ให้เวลาในการสรรหาคนที่มีศักยภาพ มีเวลาในการดูใจ ดูนิสัยเขา แล้วก็ให้มีเวลาให้เขาเติบโตไปกับงาน กว่าที่จะใช้งานคนดีมีศักยภาพได้จริง ซึ่งต้องใช้เวลา
ปัญหาด้านพลังงานของโลก และประเทศไทยก็เช่นกัน เห็นทีจะต้องคิดกันล่วงหน้านานๆ ข้อเท็จจริงคือน้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ คงจะหมดไปภายใน 30-50 ปีสูงสุด ช่ววที่จะมีการใช้สูงสุด หรือ Peak Oil แล้วจะมีน้ำมันให้ขุดใช้ได้ลดลงไปเรื่อยๆ น้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ถ่านหินจะขาดแคลน และต้องหาพลังงานทดแทน
การจะสร้างเขื่อนเพื่อใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้า ต้องใช้เวลาสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง การหาเงินทุน และดำเนินการก่อสร้างจริง กว่าจะได้ใช้งานจริงคงประมาณ 10-12 ปี การจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Nuclear Power Plants) ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 12-15 ปี
ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีปัญหาด้านระบบขนส่ง (Logistics) การเดินทาง (Transportation System) เราพูดกันถึงการใช้ระบบรางในการขนส่ง ขนคน ไม่ใช่ขนรถ หรือแห่กันนำรถส่วนตัวมาวิ่งกันในท้องถนน เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงในเมือง (Rapid Mass Transit System) ก็ต้องใช้เวลา เงิน การออกแบบ การเวนคืนที่ดิน การชดเชย และการลงมือก่อสร้างไปจนเสร็จ ฯลฯ ซึ่งก็ต้องใช้เวลารวมประมาณ 10-12 ปี
รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Train) เป็นเรื่องที่พูดกันมาก แต่ยังไม่ได้มีการคิด การสำรวจ การออกแบบ การประชาพิจารณ์ ทั้งหมดนี้ประมาณการว่าจะต้องใช้เวลานับ 10 ปีเช่นกัน
ในโลกนี้ไม่มีอะไรมากนักที่จะนึกแล้วได้เลย บางอย่างแม้มีเงินทองมากมาย แต่หากไม่มีการเตรียมการที่ดี เราก็จะไม่สามารถเนรมิตสิ่งต่างๆได้อย่างทันใจ
ดังนั้น เราจำเป็นต้องเตรียม "ขุดบ่อล่วงหน้า ก่อนที่เราจะหิวน้ำ" ต้องเตรียมงานล่วงหน้า ก่อนที่จะปล่อยให้ปัญหาต่างๆได้โถมเข้ามาในแบบที่เราตั้งตัวไม่ทัน
Sunday, November 29, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment