Sunday, March 11, 2012

12 มีนาคม 1933 ประธานาธิบดีรูสเวลท์เริ่มรายการวิทยุ “คุยกันหน้าเตาผิง”

12 มีนาคม 1933 ประธานาธิบดีรูสเวลท์เริ่มรายการวิทยุ “คุยกันหน้าเตาผิง”

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประวัติศาสตร์, อเมริกา, ประธานาธิบดี, วิทยุ

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Mar 12, 1933: FDR gives first fireside chat” จาก History.com

ภาพ ประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt กำลังออกอากาศรายการวิทยุ "Fireside Chat" ตรงจากที่ทำานในนำเทียบชาว

วันนี้ในอดีต 12 มีนาคม ค.ศ. 1933 ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ได้ออกอากาศรายการวิทยุประวัติศาสตร์ "คุยกันหน้าเตาผิง" ให้ความอบอุ่นใจประชาชนยามเศรษฐกิจสิ้นหวัง

นับเป็นเวลาเพียง 8 วัน หลังจากประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลท์ เข้ารับตำแหน่ง เขาได้ออกอากาศรายการวิทยุที่ส่งกระจายเสียงทั่วประเทศใน “คุยกันหน้าเตาผิง” (Fireside Chat) โดยออกอากาศตรงจากทำเนียบประธานาธิบดีไปยังทุกบ้านเรือนที่มีเครื่องรับวิทยุ

รูสเวลท์เริ่มต้นด้วยการกล่าวอย่างง่ายๆว่า “ผมต้องการพูดสักไม่กี่นาทีกับประชาชนชาวสหรัฐเกี่ยวกับสถานะของการธนาคารของเรา” เขาได้กล่าวต่อไปเกี่ยวกับการตัดสินใจหยุดการดำเนินการของหลายธนาคารในประเทศ เพื่อยุติการตื่นตระหนกถอนเงินของนักลงทุนทั้งหลายที่กลัวว่าธนาคารจะล่มสลาย “ธนาคารควรจะเปิดดำเนินการได้ในวันต่อไป” เขาได้กล่าวขอบคุณประชาชนในความอดทนและด้วยอารมณ์ที่ดี ในช่วงของ “วันหยุดธนาคาร” นี้

ในช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุด (The Great Depression) กำลังคนทำงานร้อยละ 25-33 ตกงาน ทั้งชาติกำลังหวั่นวิตก และการกล่าวปราศรัยผ่านทางวิทยุไปทั่วประเทศนี้เป็นการลดความหวาดวิตกและสร้างความเชื่อมั่นในกับความเป็นผู้นำของเขา รูสเวลท์ได้กล่าวปราศรัยผ่านทางวิทยุในรายการนี้ต่อมาอีก 30 ครั้งในช่วงมีนาคม ค.ศ. 1933 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1944 คำปราศรัยนี้มีพลานุภาพมาก ร้อยละ 90 ของคนมีวิทยุเปิดรับฟังรายการนี้

นักหนังสือพิมพ์ชื่อ Robert Trout เป็นคนเรียกขานรายการนี้ว่า คุยกันหน้าเตาผิง” (Fireside chat) เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประธานาธิบดี นั่งในห้องนั่งเล่น แล้วกล่าวอย่างเปิดอกตรงไปตรงมากับคนอเมริกัน เกี่ยวกับความหวังและความฝันของชาติของเขา ด้วยความเป็นจริงแล้วรูสเวลท์ระมัดระวังอย่างยิ่งที่ให้คำกล่าวแต่ละครั้งของเขานั้น คนอเมริกันทั่วๆไปเข้าถึงและเข้าใจได้ ไม่ว่าเขาจะมีการศึกษาระดับใด รูสเวลท์ใช้ศัพท์ง่ายๆ มีคำเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยอธิบายสิ่งที่ซับซ้อนที่ทั้งชาติกำลังเผชิญอยู่

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 12 ปี รูสเวลท์ได้ใช้รายการพูดคุยทางวิทยุนี้สร้างความนิยมและแรงสนับสนุนในนโยบาย “ความหวังใหม่” (New Deal policies) ของเขา ยามที่เขาได้รับแรงต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มธุรกิจใหญ่และอื่นๆ เขาก็ใช้ช่องทางนี้ในการชี้แจงโดยตรงต่อประชาชน เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้อุบัติขึ้น เขาใช้รายการนี้ในการอธิบายเหตุผลความจำเป็นต้องเข้าสู่สงครามใหญ่สุดของมนุษยชาตินี้ รายการวิทยุนี้นับเป็นหลักฐานความสำเร็จที่มิใช่ปรากฏเพียงทำให้เขาได้รับเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง แต่จากจดหมายนับล้านๆฉบับที่หลั่งไหลมายังทำเนียบขาว ชาวนา นักธุรกิจ ชาย หญิง คนรวย คนจน ทั้งหมดแสดงความรู้สึกถึงการที่ประธานาธิบดีได้เข้ามาในบ้านของเขาและพูดคุยกับเขา ในขณะที่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีสื่อสารกับประชาชนโดยอาศัยโฆษกและมีสื่อสารมวลชนที่ส่งสารต่อ การเริ่มรายการอย่าง “คุยกันหน้าเตาผิง” จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

No comments:

Post a Comment