Friday, March 23, 2012

ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง

ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org

Keywords: สังคม, วัฒนธรรม

มีสุภาษิตชาวโปแลนด์บทหนึ่งกล่าวว่า "Gdzie zgoda tam i siła." ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “English Translation: With unity there is strength.” อันแปลเป็นไทยได้ว่า “ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง” ~ สุภาษิตชาวโปแลนด์

คนโบราณเคยสอนด้วยวิธีการสาธิตให้ดู โดยใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวก้านหนึ่ง หยิบขึ้นมา แล้วก็หักเป็นชิ้นๆให้เห็นได้โดยง่าย แต่เมื่อนำก้านไม้กวาดทางมะพร้าวมารวมเป็นกำใหญ่ แล้วลองให้คนหักดู ก็ไม่สามารถหักได้โดยง่าย ซึ่งแสดงเปรียบเทียบให้เห็นความสำคัญของการทำงานอย่างมีพลังร่วมกัน การอยู่ด้วยกันด้วยหลักสามัคคีธรรม

แต่สุภาษิตนี้ต้องไม่ใช้ตีความอย่างเกินเลย เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน เพราะมันยังมีตัวแปรอื่นๆที่จะต้องคิดร่วมกัน

ยกตัวอย่างในระดับครอบครัว

ครอบครัวเกษตรกรหนึ่งมีพี่น้อง 5 คน มีที่ดินหลักผืนเดียวของครอบครัวรวม 100 ไร่ คิดอย่างใช้หลักแบบคนจีน ซึ่งเรียกว่า กงสีแม้สิ้นบิดาผู้เป็นหลักของครอบครัวไปแล้ว เขาจะรักษาที่ดินทั้งแปลงเอาไว้เป็นหนึ่ง แล้วให้พี่ชายคนโต ซึ่งเรียกว่า ตั้วเฮียทำหน้าที่แทนบิดามารดา แล้วน้องๆทุกคนต้องมาร่วมแรงกันทำไร่ทำนา หรือจะทำกิจกรรมอื่นใดในที่ดินนั้น แล้วนำผลประโยชน์มารวมกัน ทุกคนได้รับเงินเดือนตามงานที่ทำ ข้อดีคือที่ดินขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรกลมาช่วยงานได้ แรงงานร่วมกันกลุ่มใหญ่ ก็ทำงานได้มาก ส่วนทุกครอบครัวนั้น ก็ต้องยอมรับความเป็นผู้นำของพี่ชายคนโตที่จะดูแลจัดสรรผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม พี่ชายคนโตบางทีต้องเสียสละได้เรียนหนังสือน้อย เพราะต้องมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากินตั้งแต่ยังอายุน้อย ปล่อยให้น้องๆได้เล่าเรียนหนังสือไปเต็มที่ ดังนี้ก็มี

ในหมู่คนจีน การทำธุรกิจเป็นอันมากเป็นธุรกิจครอบครัว การทำกิจการขนาดใหญ่ เช่น โรงสี โรงเลื่อยไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินทุน หากจะทำอย่างตามลำพัง ก็จะไม่มีทรัพยากรที่จะลงทุนได้ แต่เขาใช้การดำเนินการร่วมกัน ทุกคนต้องทุ่มเททำให้กับครอบครัวก่อน โดยอาศัยฝ่ายชายเป็นตัวหลัก ส่วนภรรยาก็ต้องอยู่ในวินัยของครอบครัวฝ่ายชาย มีหน้าที่การบ้าน ดูแลการกินการอยู่ให้กับสามีและลูกๆไป

ในอีกด้านหนึ่ง ในครอบครัวแบบไทยรุ่นใหม่ เลี้ยงลูกกันมาอีกแบบหนึ่ง เลี้ยงลูกอย่างอิสระ คำว่าพี่ชายหรือพี่สาวคนโตจะได้รับเกียรติเป็นพี่ แต่ในด้านสิทธิประโยชน์ พ่อแม่มักจะต้องมองการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สมบัติอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน เพราะลูก 5 คนก็เหมือนนิ้วมือ 5 นิ้วที่ยังมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป การจัดแบ่งมรดกจึงจะออกมาเป็นลักษณะจัดแบ่งให้ในมูลค่าที่เท่าๆกัน แต่ถ้าคิดก้าวหน้าหน่อย ก็มีการพัฒนาที่ดินให้มีถนนเข้าถึงที่ทุกแปลงอย่างไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนใครจะได้ที่ดินติดถนนใหญ่ หรือในส่วนที่ลึกถัดไปนั้น ก็สามารถกำหนดเป็นอัตราส่วนที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วผลประโยชน์จะไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้บางทีเขาจะจัดแบ่งให้ได้ที่ดินอย่างใกล้เคียงกันแล้วใช้วิธีการจับฉลากก็มี

ในการคิดและทำแบบที่สองนี้ เขาใช้หลักสุภาษิตที่ว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่ออะไรที่จะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งกัน ก็ให้รีบตัดสินใจจัดการเสีย ดังเช่นเรื่องผลประโยชน์ ส่วนเมื่อตัดสินใจจัดแบ่งไปแล้ว ใครจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวไป พี่น้องคนไหนไปทำงานที่อื่นๆ อยากขายที่ดินนั้นๆ ก็ทำได้ โดยให้เลือกขายกันเองในหมู่พี่น้องก่อน แต่หากขายให้กับคนภายนอกก็สามารถกระทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละคนแล้ว ส่วนสัมพันธภาพระหว่างพี่น้องกันนั้นก็จะยังคงมีอยู่ตามสภาพโดยจะไม่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์แล้ว เพราะแต่ละคนก็อาจจะไปมีครอบครัวของตนเองมีสามี ภรรยา หรือบุตรธิดาที่ต่างต้องรับผิดชอบแยกกันไป

คิดแบบจีนหรือแบบไทยก็ไม่ผิด ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ฝ่ายไทยนั้นไม่ได้มองว่าทรัพย์สมบัติเป็นเรื่องสำคัญไปกว่าสัมพันธภาพของพี่น้องที่จะมีต่อกัน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นที่เพราะสมบัติของครอบครัวนี้ ทำให้เกิดศึกสายเลือดกันทำร้ายกันเอง ก็มีให้เห็น และไม่ได้มีผลดีต่อฝ่ายใด ทรัพย์สมบัติจึงกลายเป็นทุกขลาภ คือลาภอันมาซึ่งความทุกข์

ในอีกด้านหนึ่ง ในทางธุรกิจยุคใหม่ แต่ละคนมีทางเลือกในการพัฒนาธุรกิจโดยเริ่มอย่างอิสระจากครอบครัว เริ่มจากเล็กๆได้ โดยไปพัฒนาเครือข่ายธุรกิจของตน ทำงานร่วมกันคนที่มีความคิดเห็นและค่านิยมไปในทิศทางเดียวกัน นำความรู้ความสามารถที่ต่างกันมารวมกันเพื่อเสริมจุดแข็งให้แก่กัน เมื่อคิดที่จะทำอะไรที่แปลกใหม่ก้าวหน้า ก็ทำได้โดยไม่มีใครมาขัดขวาง ทำให้สามารถทำงานบางอย่างได้อย่างรวดเร็ว มีโอกาสประสบความสำเร็จ มีประสิทธิผลมากกว่าจำกัดกรอบทรัยากรเงินและคนเพียงในครอบครัว

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือองค์กรจัดตั้ง ความสามัคคีและการทำงานอย่างอุทิศตัวเพื่อส่วนรวมนั้น ก็ยังเป็นหัวใจของการดำเนินการ ดังคำที่ว่า ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง

No comments:

Post a Comment