มารู้จักพยาธิโสด (Parasite single) ในสังคมญี่ปุ่น
Keywords: สังคม-วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, Japan, Parasite single, พยาธิโสด
ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia
พยาธิโสด ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Parasite single (パラサイトシングル, parasaito shinguru) เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่เรียกคนโสดที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่จนเกินกว่าวัย 20 ปี ทั้งนี้เพื่อใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ยังอยู่อย่างสุขสบาย
Parasite = ปรสิต, พยาธิ, กาฝาก, ตัวเบียน, ผู้ที่เกาะคนอื่นกิน
คำเรียกเช่นนี้ใช้ในสังคมญี่ปุ่น แต่ปรากฏการณ์นี้จะพบในประเทศอื่นๆเช่นกัน ดังเช่น กรณีประเทศอิตาลี คนหนุ่มสาวที่ยังโสดและยังต้องอาศัยและพึ่งพ่อแม่ มีคำเรียกติดตลกโดย Tommaso Padoa-Schioppa รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการเงินของอิตาลีเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Bamboccioni หรือ “ทารกที่โตแล้ว” (Grown-up babies) หรือ ทารกที่ไม่รู้จักโต คำกล่าวของ Tommaso Padoa-Schioppa ได้รับการวิพากษ์ในสื่อมวลชนว่าเขาไม่รู้สถานการณ์ของประชากรวัย 20-30 ปี ของอิตาลีที่ไม่สามารถหาเงินมาได้เพียงพอที่จะออกจากบ้านพ่อแม่ไปอยู่ตามลำพัง
ในประเทศเยอรมนี คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Nesthocker ซึ่งในภาษาเยอรมันมีความหมายว่า “นกที่ถูกขลิบปีก” หมายถึงคนที่ยังอาศัยอยู่ในที่ๆเขาเรียกว่า Hotel Mama ซึ่งคำนี้มีความหมายถากถางว่าบ้านของพ่อแม่เป็นดังโรงแรม ที่มีแม่เป็นคนทำครัว ดูและซักรีดเสื้อผ้า โดยมักไม่ได้คิดค่าบริการ
ในประเทศบราซิล คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Paitrocínio ซึ่งคำว่า Pai หรือ Pais มีความหมายว่าพ่อและผู้ปกครอง Paitrocínio คือผู้อุปถัมภ์ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในประเทศอาร์เจนติน่า (Argentina) เรียกคนกลุ่มนี้ว่า no se va más ในภาษาอังกฤษมีคำที่สื่อกันในหมู่คนใช้อินเตอร์เน็ตเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ผู้อาศัยอยู่ห้องใต้ถุนบ้าน” (Basement dweller) ซึ่งหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในห้องใต้ถุนบ้านของพ่อแม่
ไม่ว่าจะเป็นสังคมญี่ปุ่นหรือสังคมตะวันตก มักจะมองคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และยังต้องอาศัยพ่อแม่อยู่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าภูมิใจ
ประวัติความเป็นมา
ในคำกล่าวว่าพยาธิโสดนี้ เริ่มโดยศาสตราจารย์ Masahiro Yamada แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo Gakugei University เขาได้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “ยุคของพยาธิโสด” (The Age of Parasite Singles (パラサイトシングルの時代 ซึ่งอ่านว่า parasaito shinguru no jidai) ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1999 คำว่าพยาธิโสดจำได้ง่าย แล้วสื่อนำไปเผยแพร่ต่อจนเป็นคำที่แพร่หลายทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ตามความหมายของ Yamada เดิมเขาเรียกว่า “พยาธิคู่” (Parasite couple) ซึ่งหมายถึงคนที่แต่งงานแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่กับบิดามารดาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คำนี้ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เพราะการที่คนแต่งงานแล้วยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมดั่งเดิมของญี่ปุ่นและชาวเอเซียทั่วไปอยู่แล้ว แต่ลดลงในระยะปีหลังๆ
สถานการณ์Situation
ในปี ค.ศ. 1995 คาดการณ์ว่ามีพยาธิโสดอยู่ในญี่ปุ่นประมาณ 10 ล้านคน จากการศึกษาโดยกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ ในคนวัย 20 – 34 ปี มีชายที่เป็นพยาธิโสดร้อยละ 60 มีหญิงร้อยละ 80 ที่เป็นโสดและยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ จำนวนนี้กลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา ในจำนวนนี้ที่เป็นลูกๆที่โตแล้วยังช่วยทำงานบ้าน หรือจ่าย หรือแบ่งค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่า แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มีสถิติอย่างไม่ได้รับการยืนยันว่ามีร้อยละ 85 ของคนกลุ่มนี้ที่ไม่ได้แบ่งรับค่าใช้จ่าย แต่ยังรับบริการด้านทำความสะอาดสถานที่ งานซักรีดเสื้อผ้า การทำอาหารโดยพ่อแม่ นอกจากนี้ ร้อยละ 50 ยังอาศัยเงินอุดหนุนจากพ่อแม่ของตนในการดำรงชีพ
ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้บรรดาลูกๆได้อยู่อาศัยอย่างสบาย สามารถเก็บเงินทองได้ แต่บางคนใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายซื้อข้าวของราคาแพง ท่องเที่ยว และใช้จ่ายในสิ่งไม่จำเป็นอื่นๆ ลูกๆหลายคนหวังจะอาศัยพ่อแม่จนกระทั่งเขาได้แต่งงาน
ส่วนพ่อแม่ก็พอใจในการได้อยู่กับลูกๆ พ่อแม่บางคนปกป้องลูกๆและให้เขาได้ในสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต พ่อแม่บางคนมีความสุขกับการได้มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับลูกๆ สำหรับค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องจ่ายให้กับสมาชิกครอบครัวที่เพิ่มขึ้นนี้นับว่าเป็นส่วนน้อย เพราะค่าใช้จ่ายที่ตายตัวดังค่าบ้านได้มีการจ่ายไปแล้ว พ่อแม่บางคนมองการได้มาอยู่ร่วมกันเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้ลูกๆ จะได้มีเงินเก็บเพื่ออนาคตของลูกๆเอง และหวังว่าลูกๆจะดูแลตนยามที่ตนเองมีอายุมากขึ้น นี่เป็นวิถีชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นลูกๆมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า ในบางประเทศดังในอเมริกาใต้ นี่เป็นเหตุผลที่บางครอบครัวจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมาก
สาเหตุCauses
เหตุผลของการมีพยาธิโสดนี้ไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจเสียทั้งหมด และสภาพเช่นนี้ได้มีมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ค่าเช่าบ้านในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ สำหรับคนเป็นพยาธิโสดที่ต้องอาศัยอยู่ตามลำพังนั้น ค่าเช่าบ้านจะมีมากถึงระดับ 2/3 จากรายได้ของเขา
นอกจากนี้ พยาธิโสดก็ต้องทำความสะอาดและการทำอาหารกินเอง นอกจากนี้คือเรื่องค่าบ้านอื่นๆที่ยังต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ตู้เย็น (refrigerator), เครื่องเฟอร์นิเจอร์ (furniture), เครื่องซักผ้า (washing machine)
ในกรณีที่คิดจะแยกกันอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ ถ้าจะเช่าบ้าน ก็ยังต้องคิดถึงเรื่องค่ามัดจำเพื่อความปลอดภัย (Security deposit) เงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา ซึ่งเขาเรียกว่า “เงินค่ากุญแจ” (Key money) ซึ่งเป็นเงินเรียกเก็บจากนายหน้าหาบ้าน ซึ่งจะเรียกค่าเช่าล่วงหน้าถึง 6 เดือน และเป็นเงินที่เรียกคืนไม่ได้ กล่าวโดยย่อ การที่จะแยกบ้านออกไปเป็นอิสระมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดภาระและทำให้คุณภาพการครองชีพต้องยิ่งลดลง
ภาพ ชีวิตยามเช้าในกรุงโตเกียว ที่ค่าครองชีพสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นความยากลำบากสำหรับคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นอิสระจากพ่อแม่
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นประชากรที่อยู่ในเมืองเป็นหลัก การมีงานทำและการได้อยู่ใกล้แหล่งบันเทิงก็อยู่ใกล้กับบ้านของพ่อแม่
ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการเป็นพยาธิโสดมีมากมายหลายด้าน แต่ในบรรดาคนที่ถูกเรียกว่าพยาธิโสดนั้นยังมีลักษณะที่จำแนกได้แตกต่างกันไป บางคนเป็นคนหนุ่มสาวที่รับเงินเดือน และหญิงทำงานสำนักงานที่อาจมีความสามารถที่จะอาศัยแยกตามลำพัง แต่ก็เลือกความได้เปรียบที่จะได้รับประโยชน์ทางการเงิน ความมั่นคงปลอดภัยในการได้อยู่ร่วมในบ้านของพ่อแม่
ลูกๆที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วมีปัญหาที่จะมีงานอย่างสม่ำเสมอในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก บ่อยๆครั้งงานที่ได้จะเป็นงานชั่วคราว งานบางเวลา และมีรายได้ต่ำ เป็นงานที่ได้รับการจ้างแบบไม่เต็มเวลา (Underemployed) เรียกว่าพวก “Freeters” อันเป็นคำเรียกล้อเลียนจากคำว่า Freelance หรือพวกทำงานอิสระ แต่ Freeter เป็นพวกที่ได้ชื่อว่าทำงานอิสระ แต่ไม่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวเอง แต่บอกคนอื่นได้ว่า ยังมีงานทำ แต่เป็นการทำงานแบบอิสระ
ในท้ายสุดลูกๆที่เป็นผู้ใหญ่ (Adult children) ที่มีลักษณะสุดขั้ว มักจะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากโลกภายนอกเลย ไม่ต้องการหางานทำ ซึ่งนับเป็นกรณีที่รุนแรงที่สุด เขาจะไม่อยากออกจากบ้านพ่อแม่ไปเลย คนพวกนี้สังคมเรียกว่า “Ashikikomori” หรือคนที่ได้หลบออกจากสังคมแล้ว และหันมาใช้ชีวิตอย่างสันโดษ (Seclusion)
---------------------
No comments:
Post a Comment