Thursday, March 8, 2012

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในองค์กรการศึกษา

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในองค์กรการศึกษา
Efficiency and Effectiveness of the Educational Organizations

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw908 ประสิทธิภาพ, ประสิทธิผล, การศึกษา, education management, efficiency, effectiveness,

Updated: Friday, March 09, 2012

ข้อเขียนนี้ได้จัดเตรียมสำหรับผู้เรียนระดับบัณฑิตศึกษาทางบริหารการศึกษา ที่จะต้องทำการวิจัย หรือเขียนงาน ที่อาจต้องใช้ศัพท์เทคนิค ศัพท์และแนวคิดที่เกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จำเป็นต้องใช้ศัพท์ในการดำเนินการ (Operational Definitions)และใช้เพื่อการค้นคว้าต่อ โดยอาศัยการค้นผ่านทางอินเตอร์เน็ต และต้องมีคำที่เป็นคำหลักเพื่อการสืบค้น (Key Words) บทความที่เขียนนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์ แต่ผู้เขียนมีความตั้งใจว่าในระยะเวลาอันใกล้ เมื่อมีเวลาเพียงพอ และได้รับข้อมูลสะท้อนกลับมาแล้ว จะได้จัดทำเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนในวงการศึกษา และวิจัยต่อไป

สำหรับบทความนี้ หากท่านอ่านแล้ว ไม่เข้าใจ มองเห็นข้อมูลทียังไม่ชัดเจน คลาดเคลื่อน หรือมีทัศนะที่อาจเห็นต่างออกไป ผู้เขียนยินดีรับฟัง โดยท่านสามารถเขียน E-mail ถึง หรือเข้าไปใช้ Webboard ใน Website: www.itie.org/eqi/ ผมได้เปิดประเด็นการเสวนาเรื่อง ประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรการศึกษา เอาไว้ หรือค้นจากคำว่า Efficiency หรือ Effectiveness

เรื่องที่จะนำเสนอในบทความนี้ประกอบด้วย

1. ความหมายของคำ

2. แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิผลขององค์การ (Organization Effectiveness)

3. วิธีการเชิงระบบ (System Approach)

4. ประสิทธิผลขององค์การ 4 รูปแบบ

5. รูปแบบเน้นเป้าหมาย (Goal Model of Organizational Effectiveness)

6. รูปแบบเน้นการใช้ทรัพยากรของระบบ (System-Resource Model of Organizational Effectiveness)

7. รูปแบบเน้นกระบวนการผลิตหรือการดำเนินการ (Transformation or Throughput Model)

8. รูปแบบประสมประสาน (An Integrated Goal and System-Resource Model of Effectiveness)

9. ตัวป้อนสู่ระบบ (Input)

10. กระบวนการผลิต (Throughputs) และ

11. ผลผลิต (Outputs)

ความหมายของคำ

ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มีความหมายที่แตกต่างกัน แต่ในทางการยึดเป็นศัพท์เพื่อความชัดเจนในทางเทคนิคนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่ายใช้อย่างสับสนกัน โดยเฉพาะในภาษาไทย ซึ่งเรายังไม่คุ้นกับศัพท์ทางเทคนิคและศัพท์ทางการบริหาร

ประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพ (Efficiency) การได้บรรลุตามประสงค์อันใกล้นั้น

จาก Wikipedia, the free encyclopedia.

Efficiency is the capability of acting or producing effectively with a minimum of waste expense or unnecessary effort. The term has widely variant meanings in different disciplines. See

ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง ขีดความสามารถในการผลิตหรือให้บริการที่สามารถลดความสูญเสีย ค่าใช้จ่าย แรงงานหรือความพยายาม คำนี้มีการใช้ในหลายๆ ศาสตร์

ประสิทธิผล

ประสิทธิผล (Effectiveness) การได้บรรลุสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

จาก Wikipedia, the free encyclopedia.

Effectiveness means the capability of or success in achieving a given goal. Contrary to efficiency the focus of effectiveness is the achievement as such not the resources spent so not anything that is effective has to be efficient but anything that is efficient also has to be effective.

ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ขีดความสามารถในการบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย (ต่างจาก Efficiency) ประสิทธิผลไม่ได้เน้นเพียงการใช้ทรัพยากรน้อย การลดต้นทุน การลดเวลาและความยุ่งยากในการทำงาน งานทุกอย่างที่ทำอย่างมีประสิทธิภาพ อาจไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิผล หรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

การวัดประสิทธิผลมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นหลายมิติ จะมองเพียงมิติใดมิติเดียวไม่ได้ ประสิทธิผล เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านปริมาณ (Quantity) และในเชิงคุณภาพ (Quality) และในบทความนี้จะเน้นไปที่ประสิทธิผลขององค์การ เป็นหลัก

แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิผลขององค์การ (Organization Effectiveness)

ทำไมจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลขององค์การ (Organization Effectiveness)

ในอดีต

· เรายังไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลขององค์การการศึกษามากนักด้วย

· หน่วยงานการศึกษาเป็นของรัฐ และเมื่อยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คนจึงไม่ได้ประเมินประสิทธิผลขององค์กร (Organizational Effectiveness) อย่างจริงจัง

· ระบบการศึกษามีความซับซ้อน ยากที่จะประเมิน

· ระบบการศึกษาเป็นแบบภายใน คิดแบบภายใน ในอดีต คนภายนอกยากที่จะเข้าใจและไม่มีกลไกในการที่จะประเมิน

ปัจจุบันและอนาคต

ในปัจจุบันและอนาคต ที่สังคมมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องมีการประเมินประสิทธิผลขององค์การทางการศึกษา เช่นเดียวกับองค์การอื่นๆ เพราะ

· มีการแข่งขันในระดับประเทศที่ทำให้ต้องมีการปรับตัว และส่งผลให้ทุกองค์กรในประเทศ รวมถึงระบบราชการทั้งหลายก็ต้องมีการปรับตัว

· ทรัพยากรภายนอกมีจำกัด ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกองค์กร รวมถึงระบบการศึกษาที่เป็นของรัฐบาล ก็ต้องมีการปรับตัว เพราะงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัด หากต้องการก็จะต้องหาทางพิสูจน์ความมีประสิทธิภาพในการใช้ให้เห็น

· ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองของประเทศที่ต้องเป็นประชาธิปไตย ระบบต้องได้รับการตรวจสอบมากขึ้น (Good Governance/ Transparency)

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วจึงทำให้องค์กรทางการศึกษา โรงเรียน สถาบัน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มการศึกษา ต่างต้องให้ความสนใจในการจัดการศึกษาให้ได้ทั้งประสิทธิภาพ และที่สำคัญขึ้นไป คือต้องคำนึงถึงประสิทธิผลขององค์กรด้วย

วิธีการเชิงระบบ (System Approach)

แนวคิดการวิเคราะห์องค์การในฐานะเป็นระบบเปิดมีพื้นฐานดังต่อไปนี้

ระบบสังคมใดๆ เป็นระบบเปิด (Open System) ระบบเปิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืช ก็มีการเกิด เติบโต เจ็บป่วย แก่ และตายได้

ระบบมีการรับเข้าและส่งออก (Inputs & Outputs) กับสภาพแวดล้อมภายนอก

ระบบมีระบบข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) ข้อมูลสะท้อนกลับนี้เปรียบไปก็เหมือนร่างกายที่มีระบบประสาท การมองเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส หรือการได้สัมผัสความรู้สึกทางผิวกาย

ระบบมีชีวิตและมีความเป็นพลภาพ (Dynamic Environment) ระบบเปิดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตและหยุดนิ่ง (Static)

ระบบทุกระบบต้องมีการดิ้นรนแต่ก็เสื่อมถอย (Entropy) มีอายุขัย และท้ายสุดก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลาย

ในองค์กรในฐานะที่เป็นระบบเปิด มีชีวิต ก็จะมีลักษณะเช่นดังกล่าว

ระบบในองค์กร

วิธีการมองอย่างเป็นระบบมีได้หลายแนวทาง เช่น

ระบบ ประกอบด้วย

สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment)

· องค์กรทุกแห่งจะมีสภาพแวดล้อมภายในที่ทำให้มีลักษณะเฉพาะความเป็นตัวตน เช่น

· โครงสร้าง (Structure)

· เทคโนโลยี (Technology)

· นโยบายการบริหารและการปฏิบัติงาน (Policy & Operation)

· ลักษณะเฉพาะของพนักงานและทักษะ (Staff Characteristics & Skills)

สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environment)

· องค์กรทุกองค์กรจะมีสภาพแวดล้อมภายนอก ที่จะมีผลกระทบกับองค์กร รวมถึงองค์กรสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ซึ่ง ประกอบด้วย

· สังคม (Social)

· เศรษฐกิจ (Economic)

· การเมือง (Political)

· เทคโนโลยี (Technological)

ยกตัวอย่าง สภาพแวดล้อมทางด้านสังคม และการเมือง ในอดีต โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย (Demonstration Schools) เป็นความคิดที่ได้รับการตอบรับที่ดี รัฐบาลในยุคหนึ่งให้เงินสนับสนุนอย่างมาก เพราะข้าราชการและผู้มีอำนาจหวังได้อาศัยในการฝากบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ค่าเล่าเรียนต่ำ เพราะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเกือบทั้งหมด แต่เมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การมีโรงเรียนสาธิตที่รับผู้เรียนได้จำกัด และผู้เรียนส่วนมากมาจากชนชั้นกลางและชั้นสูงในสังคม ทั้งจากราชการ เอกชน และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ โรงเรียนก็ได้รับคำวิพากษ์มากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต โรงเรียนในลักษณะสาธิตที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายจะเป็นเจ้าภาพทำให้เกิดขึ้นนั้นจะยิ่งยาก และเป็นไปไม่ได้ ด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนจะสูงมากขึ้นจนมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพไม่สามารถรองรับได้ เพราะเอาไปใช้เพื่อการผลิตบัณฑิตโดยตรงจะได้ประโยชน์คุ้มกว่า ในทางการเมืองปัจจุบันและอนาคต เมื่อสังคมมีความเป็นประชาธิปไตย การเมืองต้องตอบสนองต่อคนจำนวนมาก โรงเรียนดังกล่าวจะกลายเป็นเป้าการวิพากษ์จนยากที่จะดำเนินการในแบบเดิมอีกต่อไป

ในทางเทคโนโลยี เมื่อก่อนหากจะพูดกันถึงการเรียนออนไลน์ หรือ E-learning คนจะไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพ แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้ขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นนั้น ทำให้ระบบต่างๆ ก็ใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ธนาคาร ก็เป็น E-Banking, การบริการภาครัฐ ก็กลายเป็น E-Government มากขึ้น ระบบธุรกิจการค้า ก็เข้าสู่ยุคการค้าขายผ่านทางระบบอิเลคโทรนิกส์มากขึ้น เรียกว่า E-Business ในทางการศึกษา E-Education หรือ E-Learning จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นเรื่องของโอกาสที่ครูอาจารย์และนักบริหารต้องหันมาให้ความสนใจ

การวิเคราะห์เชิงระบบ

การวิเคราะห์เชิงระบบทำให้ต้องทำความเข้าใจกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน (Internal Environment) และภายนอก (External Environment)

ระดับสถาบันการศึกษา

สถานศึกษาแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่อนุบาล Kindergarten | ประถมศึกษา Elementary Schools | มัธยมศึกษา Secondary Schools | อาชีวศึกษา Vocational Schools/Colleges | อุดมศึกษา หรือการศึกษาขั้นที่ 3 Tertiary education |

สถาบันการศึกษายิ่งระดับสูง ยิ่งมีขนาดใหญ่ ความซับซ้อนในการประเมินจะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น

ระบบยิ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ต้องยิ่งมีกลไกในการตรวจสอบของสังคมมากยิ่งขึ้น (Good Governance and Transparency)

การใช้ทรัพยากรทางการศึกษายิ่งสูงมากขึ้น ก็จะต้องมีข้อมูล เกณฑ์และกลไกในการพิจารณาจัดสรร หรือการส่งเสริมระบบมากยิ่งขึ้น

มิติเวลา (Time Dimension)

การวิเคราะห์ระบบจะมีมิติของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เวลาในที่นี้คือเรื่องของ

อดีต (Past)

ปัจจุบัน (Present)

อนาคต (Future)

ยกตัวอย่าง แนวคิดบางอย่างมีความดีและเหมาะสมสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ก็กลายเป็นไม่เหมาะสม โรงเรียนเอกชนบางแห่งในประเทศไทย เคยตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม อยู่ใจกลางชุมชนที่กำลังเติบโต แต่เวลาผ่านไป ชุมชนนั้นๆ เปลี่ยนไป คนย้ายไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น การต้องให้เด็กและเยาวชนเดินทางเข้ามาในชุมชนนั้นๆ กลายเป็นความยุ่งยาก ขณะเดียวกัน โอกาสใหม่ของการใช้ที่ดินเพื่อการทำธุรกิจการค้าก็มีมากยิ่งขึ้น จนในที่สุด สถานศึกษาเอกชนนั้น ก็ต้องปิดตัวเองไป และเจ้าของกิจการก็ขายโรงเรียนใช้พื้นที่ไปทำประโยชน์อื่นๆ ที่เขาได้รับผลตอบแทนมากกว่า

ในทางกลับกัน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง เดิมเคยตั้งอยู่ในเขตเมืองและดำเนินธุรกิจได้ดีสักระยะหนึ่ง แต่ในระยะหลังทำเลกลับกลายเป็นอุปสรรค จึงย้ายไปตั้งในสถานที่ใหม่ชานเมืองไกลออกจากกรุงเทพฯไป 15-20 กิโลเมตร ระยะแรกก็ประสบปัญหาด้านการเดินทางของผู้เรียน มีคนไปเรียนน้อยแต่ในระยะต่อมา ก็สามารถดึงดูดผู้เรียนได้มากขึ้น ทั้งระยะใกล้และไกล รอบๆ สถานศึกษาก็มีเอกชนมาดำเนินกิจการหอพักมากขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นชุมชนที่มีความคึกคัก จำนวนผู้ประสงค์จะเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าวก็เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

ประสิทธิผลขององค์กร 4 รูปแบบ

ประสิทธิผลขององค์กรการศึกษา มีวิธีการวิเคราะห์ได้ 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

1. รูปแบบเน้นเป้าหมาย (Goal Model)

2. รูปแบบเน้นการใช้ทรัพยากรของระบบ (System-resource Model) หรือเป็นรูปแบบที่เน้นตัวป้อนสู่ระบบ

3. รูปแบบเน้นกระบวนการผลิตหรือการดำเนินการ (Transformation or Throughput Model)

4. รูปแบบประสมประสาน (Integrated Goal and System-Resource Model) โดยต้องมีการวิเคราะห์ทั้ง 3 องค์ประกอบ อันได้แก่ เป้าหมาย ระบบทรัพยากรที่ใช้ และกระบวนการผลิตประกอบกันไป

นอกจากรูปแบบที่ 4 แล้ว อาจมีอีก 1 คือ รูปแบบวิเคราะห์วงจรป้อนกลับ (Recycle Model) ซึ่งหมายถึงมีการวิเคราะห์ช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ต้องมีการวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลาเข้ามาด้วย ซึ่งจะได้มีการนำเสนอดังต่อไปนี้

รูปแบบเน้นเป้าหมาย (Goal Model of Organizational Effectiveness)

การเน้นการวิเคราะห์ประสิทธิผลขององค์กรในส่วนที่เป็นเป้าหมายปลายทาง (Goals) การเน้นไปที่ผลปลายทางมากกว่าวิธีการ ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ ดังคำที่ว่า แมวดำหรือแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูให้ได้

ประเภทของเป้าหมาย (Types of goals)

การวิเคราะห์ประสิทธิผลขององค์กรนั้นส่วนหนึ่งคือการต้องวิเคราะห์ในด้านเป้าหมายการดำเนินการ แต่เป้าหมายขององค์กรมีหลายแบบ ที่ทำให้ต้องมีความเข้าใจในการวิเคราะห์ เช่น

ความเป็นทางการและการดำเนินการจริง

· เป้าหมายอย่างเป็นทางการ (Official Goals) นั้นเป็นแบบหนึ่ง แต่

· เป้าหมายดำเนินการจริง (Operational Goals) นั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง

ความเปิดเผยหรือปิดบัง

· เป้าหมายเปิดเผย (Overt Goals) หรือ

· เป้าหมายปิดบัง (Covert Goals) แต่เป็นที่รับรู้ เป้าหมายที่เปิดเผยนั้นสวยหรูแบบหนึ่ง มีเหตุผลอธิบายความจำเป็นต่อสังคม ต่อประชาชนผู้เสียภาษี แต่ในภาพความเป็นจริงในสังคมที่ยังไม่มีความโปร่งใส หรือยังไม่มีมาตรการด้าน ธรรมาภิบาล (Good Governance) ก็จะมีเป้าหมายที่ปิดบัง และสังคมส่วนใหญ่จะยังไม่ได้รับรู้ และยากเกินกว่าที่จะรับรู้

ตัวอย่างเช่น

· เป้าหมายของโรงเรียนสาธิตฯ เพื่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางการศึกษา แต่ในสภาพความเป็นจริง เมื่อมีการดำเนินการไปได้สัก 30-40 ปี ความคิดสร้างสรรค์ในจุดเริ่มต้นก็จะหายไป กลายเป็นการทำงานอย่างเช่นเคย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดขึ้น

· การมีกิจการสลากกินแบ่ง หรือ Lottery ดำเนินการโดยรัฐบาล ซึ่งหาคำอธิบายได้ยากว่ามีเพื่ออะไร เพราะในที่สุด ก็อาจกลายเป็นรัฐบาลไปส่งเสริมมอมเมาประชาชนด้วยการพนัน เป็นการหารายได้กับคนยากคนจนเสียอีก เป็นต้น

· การมีรัฐวิสาหกิจบางประเภท ซึ่งไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในเมื่อภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะขาดแคลนสินค้าและบริการในแขนงนั้นๆ อีกต่อไป รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวกับ สิ่งทอ ฟอกหนัง การสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ การขนส่งบางส่วน ฯลฯ

สมมุติฐานและการขยายผล (Assumptions and Generalizations)

รูปแบบเน้นเป้าหมายนั้น มีสมมุติฐานและการขยายผลโดยมีเหตุผลอธิบายได้ดังนี้

· ฝ่ายมีอำนาจมีความคิดเป็นคนกำหนดเป้าหมาย (A rational group of decision makers sets the goals.)

· จำนวนเป้าหมายที่น้อยเท่าใด ก็ยิ่งทำให้บริหารเป็นไปได้มากเท่านั้น (The number of goals are few enough to be administered.)

· เป้าหมายชัดเจนและเข้าใจได้โดยผู้เกี่ยวข้อง (The goals are clearly defined and understood by participants)

· มีเกณฑ์ในการประเมินที่ชัดเจน (The goals supply the criteria for evaluating effectiveness)

เราจะเห็นได้ว่าระยะหนึ่งในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาแผนเศรษฐกิจและการเมืองของชาติ โดยมีการจัดทำเป็นแผนระยะ 5 ปี ติดต่อกันมา และแผนดังกล่าวแล้วคิดและเตรียมการโดยนักเทคนิควิทยาที่เป็นข้าราชการ ฝ่ายการเมืองก็ทำงานได้ง่าย เพราะไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการมีประชาพิจารณ์ หรือการตรวจสอบโดยประชาชน

ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับแนวคิดเน้นเป้าหมาย (Criticisms of the Goal Approach)

มีผู้ให้คำวิพากษ์เกี่ยวกับรูปแบบเน้นเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

· เป้าหมายโดยฝ่ายบริหารไม่ตรงกับส่วนอื่นๆ (Too often the focus is on the administrators’ goals rather than those set by teachers, students, parents, and other constituencies.)

· เป้าหมายที่ซับซ้อนทำให้บางส่วนขัดแย้งกันเอง และอาจถูกมองข้าม (The contradictory nature of multiple goals is frequently overlooked.)

· เป้าหมายองค์การเป็นแบบวกกลับ (Organizational goals are retrospective. .. Merely serve school and educator action, not to direct it.)

· เป้าหมายทางการกับเป้าหมายปฏิบัติการไม่ตรงกัน (Official goals of the organization may not be its operative goals.)

รูปแบบเน้นการใช้ทรัพยากรของระบบ (System-Resource Model of Organizational Effectiveness)

ประสิทธิผลองค์กรที่เน้นการใช้ทรัพยากร เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยหลายสาเหตุ กล่าวคือ ...การพิจารณาจากการใช้ทรัพยากร (Resources) ต่างๆ ซึ่งมีอย่างจำกัด ต้องแบ่งกันใช้ หรือแย่งกันใช้

กองทัพเดินด้วยท้อง คือการจะรบชนะ ต้องมีระบบส่งกำลังบำรุงที่ดี

การศึกษามีคำกล่าวหลายๆ ประการที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ทรัพยากร เช่น

· There is no free lunch. ไม่มีของกินฟรีๆ ทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่าย

· You get what you pay for. จ่ายมากก็ได้ของดีมาก จ่ายน้อยก็ได้ของดีน้อย

· การจะดำเนินกิจการได้ดี ก็ต้องด้วยมีการลงทุน

การใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลงานมาก ย่อมเป็นสิ่งที่ดี

สมมุติฐานและการขยายผล (Assumptions and Generalizations)

· องค์การทุกแห่งเป็นระบบเปิด ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอก (The organization is an open system that exploits its external environment.)

· การมีสัมพันธภาพที่ดีกับระบบภายนอก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพองค์การ (Harmony within the system improves performance.)

· องค์การแย่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดกัน (Organizations compete for scarce resources.)

· องค์การแม้จะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องเผชิญกับความต้องการและความคาดหวัง ซึ่งจะมีลักษณะที่ซับซ้อน และยากที่จะปฏิบัติได้ (An organization of any size faces such complex demands that defining a small number of meaningful goals may be impossible.)

ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับระบบ (Criticisms of the System-Resource Approach)

การใช้ทรัพยากรมาก หรือน้อย อาจไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จหรือประสิทฺธิผลขององค์กรเสมอไป

· การเน้นทรัพยากรเกินไป อาจทำให้ไม่เกิดความยืดหยุ่น เพราะโดยความเป็นจริง อาจทำให้บรรลุผลได้หลายวิธีการ ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากดังที่มีการตั้งเกณฑ์เอาไว้

· การตั้งเกณฑ์ที่ Inputs ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของ Outcomes เช่นการตั้งเกณฑ์วัดความสำเร็จของระบบอุดมศึกษาที่ค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้เรียน หรือของบัณฑิต 1 คน อาจไม่ได้สะท้อนภาพทั้งหมดของความสำเร็จขององค์กร

รูปแบบเน้นกระบวนการผลิตหรือการดำเนินการ (Transformation or Throughput Model)

รูปแบบเน้นกระบวนการผลิต หรือการดำเนินการนี้ อาจเรียกในภาษาอังกฤษว่า Transformation or Throughput Model คือการเน้นประสิทธิภาพไปที่กระบวนการผลิต และในกระบวนการผลิตทางการศึกษานี้ได้แก่การนำ Input ที่เข้าสู่ระบบมาดำเนินการผลิต และเชื่อว่าถ้ามีกระบวนการผลิตที่ดีแล้ว ประสิทธิภาพก็จะเกิดขึ้น

สมมุติฐานและการขยายผล (Assumptions and Generalizations)

เปรียบดังโรงเรียนที่ดีนั้น แม้จะได้วัตถุดิบ อันเป็นลักษณะนักเรียนที่ไม่มีคุณภาพ มีฐานะทางครอบครัวที่ยากจน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี แต่ถ้ามีโรงเรียนที่ดีแล้ว ก็จะทำให้นักเรียนเหล่านั้นกลายเป็นคนหรือพลเมืองที่ดีได้

กระบวนการผลิตของโรงเรียน หรือ Throughput นั้นที่สำคัญคือกระบวนการจัดการเรียนการสอน

มหาวิทยาลัยที่ดี ทำการสอนดี มีกระบวนการวิจัยที่ดี ท้ายสุดไม่ว่าจะมีความอัตคัดขาดแคลนอย่างไร ได้นักศึกษาที่ไม่มีคุณภาพอย่างไร ท้ายสุดก็สามารถบรรลุการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาที่ดีได้

ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับระบบ (Criticisms of the Throughput Approach)

สถานศึกษานั้นเป็นเพียงองค์ประกอบของระบบต่างๆ ที่มีผลเชื่อมโยงต่อกัน ระบบต้องการ Input ที่ดี และอยู่ในภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย จึงจะทำให้ระบบนั้นๆ ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยการมองเพียงระบบภายในเป็นการปิดแคบ และไม่มีโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนอื่นๆ

ยกตัวอย่าง ร้านอาหารที่ว่าอร่อย มีคนมาใช้บริการมากมาย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ทำเลไม่เหมาะสม ไม่มีที่จอดรถพอ การเดินทางมาไม่สะดวก แม้ทำอาหารได้ดีเหมือนเดิม แต่ลูกค้าก็ได้หายไปแล้ว เช่นเดียวกับกิจการอื่นๆ เช่น ร้านขายยา ร้านค้าของปลีก เหล่านี้ทำดีได้เท่าเดิม ก็ไม่ใช่ว่าจะดำรงอยู่ได้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็เป็นเช่นเดียวกัน

รูปแบบประสมประสาน (An Integrated Goal and System-Resource Model of Effectiveness)

รูปแบบประสมประสานเป้าหมายและทรัพยากรของระบบเข้าด้วยกัน ต้องมี 3 องค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ

· มีมิติเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง (Time dimensions) (e.g., short term, medium term, long term) ต้องมีการพิจารณาไปที่มิติเวลา เรื่องการดำเนินการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

· มีกลุ่มต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง (Constituencies)

· มีเกณฑ์ที่จะต้องใช้ในการพิจารณา (Criterion indicators)

การมองเป้าหมาย (Goals) และทรัพยากร (Resources) อย่างประสมประสานกัน

· มีมิติเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง (Time)

· กลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องซับซ้อน (Multiple constituencies)

· เกณฑ์ในการวัดซับซ้อน (Multiple Criteria)

· เกณฑ์โครงสร้างและกระบวนการ (Structural and process criteria)

· เกณฑ์ผลผลิต (Input criteria)

ในรูปแบบที่ 4 นี้ ในเอกสารบางเล่มจะเสนอเป็น การวิเคราะห์โดยมีการนำวงจรป้อนกลับ หรือจะเรียกว่า Recycle Model นี้ คือการต้องนำเอาเงื่อนไขของเวลาเป็นตัวแปรสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่สามารถวิเคราะห์ได้เพียงลำพังโดยมีเพียงเรื่องของ อดีต ปัจจุบัน หรือเพียงอนาคต อย่างใด อย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว

การมีเงื่อนไขเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง (Time)

การต้องมีโอกาสมองเรื่องของ อดีต ปัจจุบันและอนาคต สรรพสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ณ เวลาหนึ่งอาจมีความถูกต้อง แต่ในช่วงต่อไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป

· อดีต อาจดี แต่ไม่สามารถนำมาเป็นตัวแปรวิเคราะห์ความมีประสิทธิภาพขององค์การได้อย่างเที่ยงตรงนัก ของบางอย่างดีในวันนี้ แต่ในอีกไม่นานจะหมดอนาคตไปได้อย่างรวดเร็ว

· ของบางอย่างพอทำงานอยู่ได้ มีประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ก็จะต้องเปลี่ยนไปในอนาคต

· ของบางอย่างในอดีตไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนเข้าใจมากนัก และในปัจจุบันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย แต่ในอนาคตนั้นอาจจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

กิจกรรมบางอย่างต้องมีช่วงของการเตรียมตัว และดำเนินการไปเป็นขั้นตอน และต้องให้เวลากับกระบวนการนั้นๆ จะไปเร่งร้อนไม่ได้มากนัก ดังที่เขาเรียกว่า ต้องปล่อยให้มี Learning Curve

· งานบางอย่างไม่มีประสิทธิภาพในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อปฏิบัติต่อๆ ไป จะยิ่งมีประสิทธิผล ดังเช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในระบบต่างๆ ในช่วงแรก ที่ต้องจัดทำระบบนั้นจะเป็นความยุ่งยาก ทุกคนต้องปรับเปลี่ยน แต่เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ คนได้เรียนรู้ระบบใหม่ ประสิทธิภาพก็จะตามมาอย่างรวดเร็ว และจะกลายเป็นความจำเป็นชนิดหลีกเลี่ยงไม่ได้

การให้เวลาให้ระบบสังคมได้ปรับตัวและเรียนรู้ ที่จะรับความคิดใหม่ๆ

ผู้จบการศึกษาในระบบการศึกษาบางลักษณะ จบแล้วไม่มีความสามารถที่จะทำงานแข่งกับคนอื่นๆ ได้ในทันที แต่ถ้าให้เวลาเขาเรียนรู้สักระยะ เขาจะพัฒนาตนเอง และสามารถพัฒนางานใหม่ไปได้อย่างมาก มันเป็นเรื่องของการมีศักยภาพที่จะยังมองไม่เห็นในระยะใกล้ แต่ในระยะยาว จะปรากฏชัด

การทำความเข้าใจกับระบบ Recycle ประสิทธิภาพบางอย่างหมายถึงการต้องทำให้เกิดความสำเร็จแล้วในที่สุด หน่วยงานก็จะได้รับแรงขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ (Momentum)

โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง จัดตั้งใหม่ด้วยวิธีการคิดที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ และจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ได้มีการลงทุนไปนับเป็นหลายสิบล้าน แต่ก็ยังขาดทุนอยู่มาก จำนวนผู้เรียนก็ยังไม่มาก เพราะคนยังไม่เข้าใจในปรัชญาการเรียนการสอน แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงความสำเร็จได้จากผู้จบการศึกษาเพราะเพิ่งก่อตั้ง ต้องมีการกู้ยืมเงินลงทุนเพิ่มเติมไปกว่าเดิมอีกเกือบร้อยล้านบาท และต้องยอมแปลงหนี้สินเป็นทุน และหาหุ้นส่วนจากระบบอุตสาหกรรมในชุมชนลงทุนเพิ่ม ในที่สุดจึงประสบความสำเร็จ ผู้จบการศึกษาออกไปทำงานได้อย่างมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานใหม่ ผลิตเท่าใดไม่พอกับตลาด

กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องซับซ้อน (Multiple Constituencies)

constituency - noun (pl. -ies) a body of voters in a specified area who elect a representative to a legislative body: most politicians are more interested in the voice of their constituency.

Constituency หมายถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือก ในระบบการเมือง นักการเมืองต้องให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด เนื่องด้วยในระบบการศึกษาเองนั้นต้องขึ้นอยู่กับการกำกับนโยบายของฝ่ายการเมืองในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลกลาง และระดับรัฐบาลท้องถิ่น ระบบการศึกษาจึงต้องให้ความสนใจต่อกลุ่มคนเหล่านี้เช่นกัน นอกจากนี้คือระบบการศึกษานั้นต้องมีหลายกลุ่มคนทั้งภายในและภายนอกมาเกี่ยวข้อง

ความซับซ้อนอันเกี่ยวกับกลุ่มคนต่างๆ ที่มีทั้งจากภายใน และจากภายนอก และการบริหารงานที่ต้องให้ได้ประสิทธิผลนั้น ก็ต้องมองตัวแปรเหล่านี้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย

ภายใน

· ฝ่ายบริหาร ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ บรรณรักษ์

· นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้เข้ารับการอบรม

ภายนอก

· พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้เสียภาษี อุตสาหกรรม ธุรกิจ ชุมชน

· นักการเมือง ระบบปกครอง ศาสนา

องค์กรการศึกษาโดยส่วนมากมีความซับซ้อนในกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์ซับซ้อน (Multiple Criteria)

สถาบันการศึกษาในปัจจุบันมีลักษณะที่ต้องประเมินด้วยเกณฑ์หลายๆ เกณฑ์ และความมีหลายเกณฑ์ที่มีความซับซ้อนนี้ทำให้เกิดความยุ่งยากในการประเมินประสิทธิผลขององค์กร

· ความมีหลายเกณฑ์ ตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยมี ...

· การสอน การผลิตบัณฑิต - คุณภาพและปริมาณ

· การวิจัย สร้างความรู้ใหม่ การสร้างความรู้พื้นฐาน และการนำไปประยุกต์ใช้

· การให้บริการแก่ชุมชน นับเป็นจำนวนคน และระยะเวลาในการเรียนหรือฝึกอบรม

· ความสามารถดำรงอยู่ได้ ดูลักษณะความสมดุล เกินดุลของการใช้จ่าย กับรายได้ที่ได้รับในแต่ละปี

· ความมีเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom)

· การมีประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากร

ข้อสังเกต

การมีเกณฑ์ที่ซับซ้อนไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องมีการวัดและประเมินประสิทธิผล แต่ให้ตระหนักว่าจะพิจารณาการตอบสนองแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาหลายส่วนไปพร้อมๆ กัน และต้องมีการให้ลำดับความสำคัญ (Priority) แก่แต่ละกลุ่มลดหลั่นกันไปด้วย เช่น แน่นอนว่า เราต้องให้ความสำคัญต่อนักเรียนนักศึกษา เป็นอันดับแรกๆ เพราะถ้าไม่สามารถตอบสนองต่อความเจริญก้าวหน้า และคุณภาพการศึกษาของเขาแล้ว ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว แต่ขณะเดียวกัน การไม่ให้ความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้า และขวัญกำลังใจในการทำงานของครูอาจารย์ ไม่สามารถเก็บรักษาครูและบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ในระบบการศึกษาได้ ระบบนั้นๆ ก็จะกลายเป็นระบบด้อยประสิทธิผลไปในที่สุด เป็นต้น

การประสมประสานเวลา กลุ่มคน และเกณฑ์แบบซับซ้อน (Integrating Time, Multiple Constituencies, and Multiple Criteria)

องค์ประกอบของระบบ คือ

1. ตัวป้อนสู่ระบบ (Input)

2. กระบวนการผลิต (Throughput)

3. ผลผลิต (Output)

4. และในทุกส่วนนั้นจะมีตัวแปรด้านเวลา (Time Constituencies) เข้ามาเกี่ยวข้อง

Input

Throughput

Output

Effectiveness Criteria

  • Fiscal Resources
  • Physical Facilities
  • Student Readiness
  • Teacher Capabilities
  • Technology Resources
  • Parental Support
  • Policies and Standard

Effectiveness Criteria

  • Harmony and Vision
  • Climate Health
  • Motivation Levels
  • School and Classroom
  • Organization
  • Curriculum Quality
  • Institutional Quality
  • Learning Time
  • Leadership Quality

Effectiveness Criteria

  • Achievement
  • Student Learning
  • Job Satisfaction
  • Absentee Level
  • Dropout Rate
  • Performance Quality

Added Perspectives

Time Constituencies

Added Perspectives

Time Constituencies

Added Perspectives

Time Constituencies

ในการประเมินประสิทธิผล (Organizational Effectiveness) จึงต้องพิจารณาดูองค์ประกอบต่างๆ ประกอบกันไปด้วย และต้องทำความเข้าใจกับทั้งระบบ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่ถ้าได้มีโอกาสมองทั้งระบบและอย่างเป็นระบบแล้ว ก็จะเข้าใจความมีประสิทธิผลได้แจ่มชัดขึ้น ดังนี้เรียกว่า Holistic Approach หรือเป็นการมองทั้งระบบ

ตัวป้อนสู่ระบบ (Input)

ตัวป้อนสู่ระบบ พิจารณาได้จากสิ่งต่อไปนี้

เกณฑ์การประเมิน (Effectiveness Criteria)

· แหล่งทรัพยากร (Fiscal Resources)

· สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Facilities)

· ความพร้อมของตัวผู้เรียน (Student Readiness)

· ขีดความสามารถของครู (Teacher Capabilities)

· การใช้เทคโนโลยี (Technology Resources)

· การใช้เทคโนโลยี (Technology Resources)

· การสนับสนุนจากผู้ปกครอง (Parental Support)

· นโยบายและมาตรฐานกำกับ (Policies and Standard)

แหล่งทรัพยากร (Fiscal Resources)

fiscal - adjective of or relating to government revenue, especially taxes: monetary and fiscal policy.

Fiscal มีความหมายว่า การจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน การเงิน และการงบประมาณทั้งหลาย ไม่ว่าสถาบันการศึกษาของรัฐบาล ท้องถิ่น หรือเอกชน ด้วยความที่การศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้หลักประกันด้านบริการ จึงต้องมีส่วนการสนับสนุนโดยตรงและโดยอ้อมจากเงินรายได้แผ่นดิน

· ทรัพยากรทางการเงินที่ได้มาจากที่ใดบ้าง

· มีการใช้จ่ายคุ้มกับเงินที่ลงทุนหรือไม่

· งบประมาณแผ่นดิน

· งบประมาณจากท้องถิ่น

· รายได้จากสถาบันการศึกษาจัดเก็บเอง

· เงินบริจาค เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา

เงินรายได้จากทรัพย์สินของสถานศึกษานั้นๆ ซึ่งในกรณีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่จะสามารถมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง และสามารถนำมาจัดทำให้เกิดผลประโยชน์ได้

ข้อสังเกต

ในระบบการศึกษาของรัฐในประเทศไทยนั้น เรายังคุ้นเคยกับแหล่งรายได้หลักมาจากงบประมาณแผ่นดิน และจากรัฐบาลกลาง แต่แนวโน้มของการศึกษาใหม่ คือการต้องกระจายอำนาจ และการให้ท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไป แหล่งรายได้จะมีความหลากหลายมากขึ้น (Multiple Sources of Revenues) และฝ่ายบริหารเองจะต้องมองหาทางจัดการให้เกิดแหล่งรายได้ที่จะใช้เพื่อการศึกษาที่กว้างขวางขึ้น และมีวงเงินที่มากขึ้น และขณะเดียวกันที่แน่นอนก็คือการต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิผล และพิสูจน์ให้เห็นได้

สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Facilities)

สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้มีการพัฒนา ก่อสร้าง จัดหากันอย่างไร เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่

· วิทยาเขต (Campus)

· ศูนย์การเรียน (Learning Centers)

· ห้องเรียน (Classrooms)

· ห้องทดลอง (Labs)

สถานที่ในความร่วมมือกับภาคนอก (Industrial Parks, Science Parks, Software Parks, etc.)

ข้อสังเกต

แนวโน้มของการจัดการด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพจะมีดังนี้

สถานศึกษาและโรงเรียนที่ดีจะไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากดังที่เคยเป็น เพราะความที่มีระบบสื่อสาร การใช้ ICT ช่วยในการจัดการเรียนการสอน

สถานศึกษาขนาดเล็ก โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา ก็สามารถเป็นโรงเรียนและสถานศึกษาที่ดีได้ หรือแม้แต่ที่บ้าน ดังในกรณีการจัด Home School ก็สามารถทำได้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

คนจะสามารถเรียนได้จากที่บ้าน ที่ทำงาน โดยอาศัยระบบการเรียนออนไลน์สนับสนุน

ความพร้อมของตัวผู้เรียน (Student Readiness)

ความพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาเรียนเป็นอย่างไร ดูได้จากอะไร ลองดูตัวอย่างจากต่อไปนี้

· ผลการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษา (Entrance Exam)

· การทดสอบที่ใช้เป็นส่วนพิจารณาสำคัญในการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (SAT Scores | ACT Scores) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

· หน่วยงานจัดสอบของประเทศอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องกระทำโดยกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง (UCLES – University of Cambridge Local Examination Syndicate)

· แบบทดสอบภาษาอังกฤษ ที่ดำเนินการโดยองค์กรภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา (TOEFL – Test of English as a Foreign Language) ที่ได้รับความยอมรับในแง่การประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษไปทั่วโลก

· การประเมินความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ (ICDL – International Computer Driving License)

· ระบบการทดสอบความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศอังกฤษ (CLAIT)

· ระบบทดสอบภาษาอังกฤษ จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-TEP) เป็นระบบทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ที่ใช้กับผู้เข้าเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อสังเกต

ในการวัดความพร้อมและความสามารถของผู้เรียนนั้น เขาจะมีระบบทดสอบด้านต่างๆ รองรับ และในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการวัดความสามารถของคนได้พัฒนาไปมากแล้ว

ขีดความสามารถของครู (Teacher Capabilities)

ครูอาจารย์ ตลอดจนคนทำงานสนับสนุนด้านการศึกษาทั้งหลายนับเป็นปัจจัยอันสำคัญในการทำให้ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

· ครู อาจารย์ที่รับเข้ามาทำงาน มีความสามารถ ศักยภาพอย่างไร

· มีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร (Criteria)

· วุฒิการศึกษาในสาชาวิชาการใด - ประกาศนียบัตรวิชาชีพ

· ระดับการจบการศึกษา ตรี | โท | เอก

ประเภทสถาบันที่จบการศึกษา มีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น เป็น (1) Research Universities (2) Comprehensive Universities (3) 4 Year Collegesและ (4) Junior Colleges และอื่นๆ

ข้อสังเกต

ในประเทศไทย การจะพิจารณารับคนเข้าทำงานนั้น หากจะใช้ว่าจบมาจากสถาบันการศึกษาประเภทใด อาจได้รับการวิพากษ์ได้ ดังนั้น การวางเกณฑ์ในการพิจารณาจากการทดสอบความสามารถอย่างจริงจัง และเกณฑ์นั้นสามารถจำแนกความสามารถของคนได้อย่างจริงจัง ก็จะเป็นตัวช่วยการให้ได้คนที่มีความสามารถเหมาะสมกับงานได้มากขึ้น

· ในการพิจารณาความสามารถขั้นพื้นฐาน ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

· ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

· ความสามารถด้านภาษาไทย โดยเฉพาะความสามารถด้านการเขียนเพื่อการสื่อสาร

· ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบางกรณีรวมไปถึงระดับความสามารถในการใช้ Keyboard ได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว

· ความสามารถด้านการสอน ความรอบรู้ในสายวิชาการเฉพาะด้านของตน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ

การใช้เทคโนโลยี (Technology Resources)

· เทคโนโลยีใหม่ (Emerging Technology) เทคโนโลยีใหม่ที่ระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องให้ความสนใจ ได้แก่

· เทคโนโลยีจิ๋ว (NanoTech) ที่เข้ามามีบทบาทในทุกเรื่อง เรามีเครื่องมือผ่าตัดที่เล็กจนสามารถสอดเช้าไปในเส้นเลือดได้ มีการใช้ไวรัสเป็นตัวนำส่งยา หรือเข้าไปทำการตกแต่ง Gene พันธุกรรมเพื่อการรักษา

· เทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) ที่เข้ามามีบทบาททางการแพทย์และการเกษตร ในช่วงต่อไปนี้จะมียาชนิดใหม่ และมีพันธุ์พืชใหม่ที่ผ่านการตกแต่งพันธุกรรมแล้ว มันอาจมีผลดีหรืออาจมีผลเสียต่อระบบนิเวศ และวิธีการดำรงชีวิตของมนุษย์

· เทคโนโลยีสารสนเทศและข่าวสาร (InfoTech) ซึ่งได้เติบโตมาอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และยังจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อีกต่อไป

· เทคโนโลยีเครือข่าย (Network and Linkage) เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร

· เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

· เทคโนโลยีการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development)

ข้อสังเกต

การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรในยุคใหม่นั้นจะต้องมีการติดตามความก้าวหน้าในศาสตร์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ดังเช่นในระดับสถาบันอุดมศึกษา หากสถาบันใด ไม่ก้าวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ การสอนในส่วนที่เป็นเทคโนโลยีเก่าที่ต้องตกรุ่นไปแล้ว ก็จะเท่ากับว่าสอนในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สอดคล้องและไม่ตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลง

สำหรับวงการศึกษาทั่วไปแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอนในแบบใหม่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ทำอย่างไรจึงจะเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมสำหรับโลกในอนาคตที่ข้อมูลข่าวสารมีอย่างมากมาย และเขาต้องรู้จักเลือกหาและเลือกใช้

แหล่งวิทยาการ

ระบบการศึกษานั้นๆ มีแหล่งวิทยาการอย่างไร โดยทั่วไปในโลกยุคใหม่ วิทยาการนั้นบางส่วนเกิดขึ้นได้จากภายใน และบางส่วนเป็นการเกิดจากภายนอก และนำมาสู่สถาบันอุดมศึกษา หรือระบบการศึกษาต่างๆ

· การสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน

· ความร่วมมือระหว่างสถาบัน

· ความร่วมมือกับภาคเอกชน อุตสาหกรรม

· ความร่วมมือข้ามชาติ

ข้อสังเกต

สถานศึกษาทั้งหลายในปัจจุบัน สามารถแสวงหาแหล่งวิทยาการได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบัน ความร่วมมือกับภาพเอกชน อุตสาหกรรม และความร่วมมือข้ามชาติ

การสนับสนุนจากผู้ปกครอง (Parental Support)

ระดับการศึกษา

· อนุบาล

· ประถมศึกษา

· มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา

· อุดมศึกษา ปริญญาตรี

· อุดมศึกษา บัณฑิตศึกษา - การวิจัย

ข้อสังเกต

แหล่งรายได้จากพ่อแม่ ผู้ปกครองแตกต่างกันตามประเภทและระดับของการศึกษา เช่น จะพบว่าเมื่อบุตรหลานยังเล็ก พ่อแม่จะให้ความเอาใจใส่มาก แต่พอเป็นช่วงวัยรุ่น เรียนมัธยมศึกษาแล้ว ผู้ปกครองกลับให้ความเอาใจใส่น้อยลง พ่อแม่จะมีความห่างจากลูกมากขึ้น เข้าใจกันน้อยลง ทั้งๆ ที่ปัญหาวัยรุ่นนั้นมีความรุนแรงมากและเป็นช่วงอันตราย พอเข้าวัยเรียนอุดมศึกษา ในบางสังคมถือว่าพ้นจากความรับผิดชอบของพ่อแม่ไปแล้ว การอุดมศึกษาเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ หากผู้เรียนจะเรียนในระดับดังกล่าว ก็ต้องมีวิธีการหาทรัพยากรช่วยตัวเองมากขึ้น

นโยบายและมาตรฐานกำกับ (Policies and Standard)

นโยบายและมาตรฐานกำกับนั้นแบ่งออกเป็นระดับ

· นโยบายของรัฐบาล (กลาง)

· นโยบายในระดับภูมิภาค หรือท้องถิ่น และ

· นโยบายสู่ระดับสถานศึกษาแต่ละแห่ง

ในปัจจุบันไมได้มีเพียงรัฐบาลกลางเท่านั้นที่จะกำหนดนโยบายการศึกษา เพราะได้มีนโยบายกระจายอำนาจไปแล้วระดับหนึ่ง จึงทำให้มีการบริหารงานในส่วนที่ได้กระจายอำนาจออกไป เช่น

· ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (Local Education Areas) ซึ่งมีอยู่ 175 แห่งทั่วประเทศ

· สถาบันการอาชีวศึกษา (Vocational Institutes) ซึ่งมีสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษาเดิม 412 แห่ง แต่ได้รวมเป็นกลุ่ม หรือเรียกว่า Cluster จำนวน 28 แห่ง โดยมีสถานศึกษาต่างๆ ในกำกับประมาณ 15 แห่งต่อ 1 Cluster

· ขณะเดียวกัน ก็จะมีหน่วยงานหลายๆ แห่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและได้รับความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางมากขึ้น โดยตามกฎหมายมีความเป็น นิติบุคคล สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้เอง เช่นการทำสัญญา การมีสิทธิถือครองที่ดิน ฯลฯ

ข้อสังเกต

ตัวอย่างเช่น - ในสมัยหนึ่ง รัฐบาลมองเห็นเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์เป็นของมีราคาแพง จึงไม่มีนโยบายส่งเสริมให้มีและใช้ในระบบประถมศึกษา เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เท่าเทียมกัน

ตัวอย่างระดับมัธยมศึกษา

นโยบายของรัฐมีความแตกต่างกันในประเด็นต่อไปนี้ และมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น

· การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ในสมัยหนึ่งเรามีการศึกษาภาคบังคับ 7 ปี อันเป็นการศึกษาระดับประถมศึกษา และต่อยอดด้วยมัธยมศึกษาอีก 5 ปี ต่อมาเราใช้ระบบที่เป็นส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา คือ 6 : 6 ดังในปัจจุบัน (พ.ศ. 2548-49)

· คุณภาพการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันการส่งเสริมเพียงปริมาณนั้นจะไม่เพียงพอ และอาจเป็นการสร้างปัญหาหากไม่คำนึงถึงการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพด้วย

· การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ต้องส่งเสริมให้มีมากขึ้น

· International Programs – ส่งเสริมให้เปิดมากขึ้น

· Bilingual Programs – ส่งเสริมให้มีมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐมีผลต่อการดำเนินการขององค์กรการศึกษาอย่างมาก การที่รัฐบาลเคยวิเคราะห์ว่าการศึกษาแบบให้ฟรี 12 ปีนั้นเริ่มจากระดับใด บางส่วนบอกต้องเริ่มจากอนุบาลซึ่งเท่ากับใช้เวลาอีก 2 ปี ถ้าเริ่มจากอนุบาล ผลกระทบจะมีมากต่อสถานศึกษาเอกชนที่ได้จัดขึ้นรองรับในระดับดังกล่าว

การขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานก็เช่นกัน หากการศึกษาระดับนี้รัฐเข้าไปดำเนินการเองมาก มากจนกระทั่งเอกชนละทิ้งการดำเนินการไปเสียส่วนใหญ่ ท้ายสุด รัฐบาลก็จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเข้าไปดำเนินการ ซึ่งในปัจจุบัน การศึกษาสายสามัญนั้นเป็นของภาคราชการเกือบทั้งหมด เหลือเพียงในส่วนของการอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี ที่ภาคเอกชนมีบทบาทอยู่อย่างเหนียวแน่น

กระบวนการผลิต (Throughputs)

กระบวนการผลิต หรือจะเรียกว่า Process ก็ได้ ในทางการศึกษา คือกระบวนการภายในที่จะส่งผลต่อการได้ผลผลิตและบริการทางการศึกษาที่มีปริมาณและคุณภาพออกไป

เกณฑ์ประเมิน (Effectiveness Criteria)

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินได้แก่

· ความราบรื่นและวิสัยทัศน์ (Throughputs: Harmony and Vision)

· สภาพบรรยากาศองค์กร (Climate Health)

· ระดับแรงจูงใจ (Motivation Levels)

· โรงเรียนและชั้นเรียน (School and Classroom)

· การจัดองค์กร (Organization)

· คุณภาพของหลักสูตร (Curriculum Quality)

· คุณภาพของสถาบัน (Institutional Quality)

· การจัดเวลาเรียน (Learning Time)

· คุณภาพความเป็นผู้นำ (Leadership Quality)

ความราบรื่นและวิสัยทัศน์ (Throughputs: Harmony and Vision)

ตัวอย่างของ มหาวิทยาลัยเสมือนแห่งมิชิแกน (Michigan Virtual University )

MVU - Wherever you're going in life, Michigan Virtual University can help you get there faster! Whether you're polishing your skills or mentoring your staff, take a look at what MVU has to offer!

รองรับและรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีผลิตรถยนต์แห่งเมืองดีทรอยต์

วิสัยทัศน์ มักจะเป็นส่วนที่เริ่มจากผู้ก่อตั้ง ซึ่งอาจเป็นบุคคล หน่วยงาน หรือชุมชนนั้นๆ

วิสัยทัศน์ มีการปรับเปลี่ยนไปตามผู้นำ การเปลี่ยนแปลงบางครั้งนำมาซึ่งความไม่ราบรื่น คนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น องค์การก็จะประสบปัญหาการขาดประสิทธิผล

ข้อสังเกต

ระบบการศึกษาของไทยที่มีการปรับเปลี่ยนในลักษณะทีเรียกว่า ปฏิรูปการศึกษา ที่ได้เริ่มมานับ 10 ปี และได้มีพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 นั้น นับได้ว่ามีปัญหาด้านความไม่ราบรื่น มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในระหว่างนั้นหลายรัฐบาล ใน 1 รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการศึกษาหลายคน ไม่มีความต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันระดับล่างลงไป ก็ยังมีความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่องที่ตามมา

สิ่งที่เป็นวิสัยทัศน์ที่สวยงามจึงยังไม่ได้มีการปฏิบัติที่ราบรื่น และไม่ส่งผลที่ดีต่อประสิทธิผลทางการศึกษาอย่างแท้จริง ยังคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

สภาพบรรยากาศองค์กร (Climate Health)

สภาพบรรยากาศในองค์การ หมายถึงบรรยากาศโดยรวมขององค์กรนั้นๆ ซึ่งอาจมีการจำแนกที่แตกต่างกันไป

โดยทั่วไปสำหรับการวิจัยจะมีแบบสำรวจบรรยากาศองค์กร ซึ่งมีลักษณะเป็น Perception ของบุคคลากร หรือบุคคลที่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อมูลภายในขององค์กรได้

สภาพแวดล้อมองค์กรของสถาบันการศึกษา

· แบบราชการ (Bureaucracy)

· แบบการเมือง (Political)

· แบบวิชาการ (Academic/ Collegial)

· แบบธุรกิจเอกชน (Business)

ข้อสังเกต

องค์กรทางการศึกษาบางแห่งมีความเป็นการเมืองสูง มีระบบเลือกตั้งฝ่ายบริหาร อาจดูมีความเป็นประชาธิปไตย ระบบมีความขัดแย้ง และต้องอยู่กันอย่างถ่วงดุล ไม่มีใครมีอำนาจที่แท้จริง

บางแห่งมีความเป็นธุรกิจสูง ทุกอย่างมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมีการคิดถึงในเชิงต้นทุน กำไร การขาดทุน ไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะกระทำโดยไม่สามารถอธิบายถึงความคุ้มหรือไม่คุ้มค่า

สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถระบุได้ว่าดีหรือเลว หรือมีประสิทธิภาพ หรือไม่มีประสิทธิภาพเสียทีเดียว คงต้องมองระบบทั้งระบบเป็นองค์ประกอบ

ระดับแรงจูงใจ (Motivation Levels)

จะสังเกตระดับแรงจูงใจได้อย่างไร

ในโลกยุคใหม่ วิถีการทำงานเปลี่ยนไป ดังเช่น Virtual Office E-learning จะสังเกตพฤติกรรมคนทำงานกันได้อย่างไร คนที่เราเห็นว่าขยันขันแข็งต่อหน้าเรานั้น แท้ที่จริงเขากำลังทำงานให้กับองค์กรอื่นๆ การจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่คนทำงานเป็นแบบอัตราเงินเดือนตายตัว ทำให้เขาทำงานให้กับองค์กรอย่างตายตัว แต่ไปรับทำงานข้างนอก

ผู้ปฏิบัติงาน

· ครู อาจารย์

· บุคลากรสนับสนุน

· บุคลากรจากภายนอก (Outsource)

· ครูและผู้ช่วยสอนในแบบออนไลน์

ข้อสังเกต

การประเมินแรงจูงใจในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในปัจจุบันมีความเปลี่ยนไป เนื่องจากมีคนทำงานหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นคนทำงานประจำ คนทำงานบางเวลา การจ้างเป็นเฉพาะกิจ และในบางกรณีเป็นการจ้างสอนในแบบออนไลน์ ที่มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

โรงเรียนและชั้นเรียน (School and Classroom)

เราจะประเมินสภาพโรงเรียนและชั้นเรียนได้อย่างไรบ้าง การจำแนก

· เครื่องพีซี ที่มีไว้ใช้งาน อัตราส่วนเครื่องต่อจำนวนผู้เรียน

· ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ขนาดของ Bandwidth ต่อจำนวนเครื่องพีซี ระดับความเร็วของการสื่อสารสู่ภายนอก คิดเป็น ML Mille Second หรือเป็น 1 ใน 1000 ของวินาที หากช้ามาก ก็มีประสิทธิภาพน้อย

· ประสิทธิภาพการใช้งานระบบที่สามารถสังเกตได้จาก System Usage ถ้ามีคนใช้งานระบบมาก ก็แสดงว่าระบบมีการใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

· การใช้ประโยชน์จากเวลาเต็มที่ 30-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเทียบจากการใช้งานเต็มเวลา

· การดูแลสภาพให้ใช้งานได้ตลอดเวลา

สภาพสถานที่เรียน

· ชั้นเรียน มีสภาพเป็นอย่างไร มีการใช้ห้องเรียนต่างๆ กันอย่างคุ้มค่าหรือไม่

· ห้องสมุด มีสภาพเป็นอย่างไร มีการใช้หรือยืมหนังสือเพื่อการอ่านอย่างไร

· ห้อง labs – มีสภาพเป็นอย่างไร ได้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษาอย่างไร หรือมีไว้เพื่อการโชว์ เก็บของใส่ตู้และปิดตาย

การจัดองค์กร (Organization)

· มีการจัดโครงสร้างขององค์กรอย่างไร ตอบสนองต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่

· องค์แบบแนวราบหรือแนวตั้ง (Flat vs. Tall Organizations)

· องค์กรแบบเครือข่าย (Network Organizations)

· องค์แบบกลุ่ม (Cluster Organizations)

· องค์กรแบบราชการหรือแบบมีส่วนร่วม (Bureaucratic vs. Participative Organizations)

· ความสอดคล้องกับหลักธรรมาธิบาลและความโปร่งใส (Relevance toward Good Governance – Transparency)

ข้อสังเกต

การจัดลักษณะองค์กร ก็เหมือนกับสภาพของเรือ รูปแบบเรือ หากต้องการความเร็วสูง รูปแบบเรือก็ต้องแข็งแรง ทนความเสียดทาน เพรียวคลื่นและลม ต้องเป็นไปตามนั้น โครงสร้างองค์กรก็เช่นกัน ถ้าเราต้องการให้องค์การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์การให้สอดคล้อง คล่องตัว เล็กและยืดหยุ่น ทำงานอย่างมีพลัง หรือที่เรียกว่า Lean & Mean ถ้ายังมีความเป็นราชการ (Bureaucratic Organizations) ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก

คุณภาพของหลักสูตร (Curriculum Quality)

คุณภาพของหลักสูตรเป็นอย่างไร สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ มีการปรับตัวแบบเตรียมการล่วงหน้า หรือปล่อยให้ล้าหลัง

· อนุรักษ์ (Conservative)

· นำไปปฏิบัติได้ (Practical)

· ก้าวหน้า นำสมัย (Innovative)

หลักสูตรของสถานศึกษามีความสำคัญ หลักสูตรของบางแห่งมีการเขียนไว้แล้วใช้ต่อมาเป็นระยะเวลายาวนาน ผู้สอนเองก็คุ้นกับหลักสูตรที่ตนรับผิดชอบในการสอนแต่ละวิชา และแล้วหลักสูตรนั้นๆ ก็จะเริ่มด้อยประสิทธิภาพ ผู้เรียนๆ แล้วไม่สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ จำเป็นต้องมีการปรับ และการปรับนั้นต้องมีคนจากภายนอกเข้ามาช่วยให้ความคิดเห็น

คุณภาพของสถาบัน (Institutional Quality)

คุณภาพโดยรวมของสถานศึกษาเป็นอย่างไร ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาอาจมีหน่วยงานทำหน้าที่จำแนกและประเมินสถาบันการศึกษา ที่เรียกว่า Rating ดังเช่นในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่ประเมินสถาบันอุดมศึกษาจำแนกตามประเภท บางครั้งประเภทอาจไม่ได้บอกถึงคุณภาพสถานศึกษา

การจำแนกประเภทของสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Tertiary Education)

· มหาวิทยาลัยวิจัย (Research Universities) ในประเทศไทยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังเน้นมหาวิทยาลัยสอน แต่ถ้าจะมีการวิจัยที่มากและชัดเจนกว่าที่อื่นๆ อาจได้แก่ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์

· มหาวิทยาลัยสมบูรณ์ (Comprehensive Universities) ขณะปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฎกว่า 40 แห่ง จะจัดอยู่ในประเภทนี้

· วิทยาลัย 4 ปี (4 year colleges) จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนอย่างน้อย 4 ปี ผู้จบการศึกษาสามารถรับปริญญาบัตรที่เรียกว่า BA หรือ BS หรือเทียบเท่า แต่มีการจัดการเรียนการสอนไม่ครบสมบูรณ์ในทุกวิชา

· วิทยาลัย 2 ปี หรืออาจเรียกว่า ยุววิทยาลัย (Junior colleges) สถาบันระดับดังกล่าวเป็นอันมากจัดดำเนินการโดยท้องถิ่นเอง จึงเรียกว่า วิทยาลัยชุมชน” (Community Colleges)

ถ้าในระดับโรงเรียนหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจดูได้จาก School Profile

ข้อสังเกต

ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจะมีวัฒนธรรมของการประเมินมาก ดังเช่น เขาจะมีหน่วยงานทำหน้าที่ประเมินสถาบันการศึกษาและให้การรับรองอย่างที่เรียกว่า Accrediting Agency และมีกฎหมายของประเทศให้การรับรองด้วย การรับรองนี้อาจเป็นองค์กรสภาพวิชาชีพ สภาวิชาการ และนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่ประเมิน เช่นสื่อสารมวลชน

การจัดเวลาเรียน (Learning Time)

การจะเรียนเวลาใด และที่ไหนเป็นตัวแปรสำหรับการประเมินสถานศึกษา ในปัจจุบันผู้เรียนต้องการโอกาสในการศึกษาต่อมากขึ้น และเป็นไปเกือบตลอดชีวิต และด้วยเหตุผลนานาประการ รวมถึงการพัฒนาอาชีพด้วย

การใช้เวลากับการเรียน (Time)

· การใช้เวลาเรียนของผู้เรียนเป็นอย่างไร

· การใช้เวลาเรียนมาก หรือน้อยเกินไป

· การใช้เวลาเรียนอย่างเป็นประโยชน์หรือไม่

· การใช้เวลาเรียนอย่างสมดุลหรือไม่

การใช้เวลาเรียนที่ใด (Where)

· ที่โรงเรียน สถานศึกษา

· ที่บ้าน ที่พัก

· ที่ทำงาน

ข้อสังเกต

การใช้เวลาเรียนมากหรือน้อยเกินไป อาจมีผลต่อการศึกษาเล่าเรียน เช่น ผู้เรียนมีเวลาไปฟังการบรรยาย แต่ไม่มีเวลาทำการบ้าน ไม่มีเวลาศึกษาเป็นอิสระส่วนตัว ก็จะทำให้ระบบการศึกษานั้นไม่มีสภาพความเป็น Inquiry Learning แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้ข้อสังเกตมากเช่นกันว่า นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งที่โรงเรียน และไปเรียนตามสถานกวดวิชามากเสียจนทำให้ขาดคุณภาพชีวิต มีความเครียดมากเกินไปจากการแข่งขันเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นต้น

คุณภาพความเป็นผู้นำ (Leadership Quality)

ลักษณะความเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารเป็นอย่างไร

· ความคิดริเริ่ม (Creativity)

· คิดอย่างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial)

· บทบาทต่อชุมชน (Community Involvement)

· ความยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา (Acceptance from Subordinates)

ผลผลิต (Outputs)

ผลผลิต (Outputs) หมายถึงสิ่งที่เป็นตัวส่งออกจากระบบ หรือกระบวนการผลิตและพัฒนา โดยหลักการแล้ว ถ้าตัวป้อน (Inputs) และ กระบวนการผลิตและให้บริการ (Throughputs) ดี สิ่งที่เป็นผลผลิตก็จะดีตามไปด้วย

เกณฑ์การประเมิน (Effectiveness Criteria)

เกณฑ์ในการประเมินผลผลิต (Outputs) ประกอบด้วย

· ความสำเร็จ/สัมฤทธิผล (Achievement)

· ทางการศึกษา (Academic Achievement)

· การเรียนรู้ของนักเรียน (Student Learning)

· ความพึงพอใจในการทำงาน (Job Satisfaction)

· ระดับการขาดเรียน (Absentee Level)

· การลาออกกลางครัน (Dropout Rate)

ความสำเร็จ/สัมฤทธิผล (Achievement)

ในด้านสัมฤทธิผล เราจะประเมินความสำเร็จของคนกันอย่างไร

· การประเมินในระยะสั้น (Short Term)

· การประเมินในระยะยาว (Long Term)

ข้อสังเกต

การฝึกอบรมในบางหลักสูตร (Training) มีประโยชน์ตรงที่นำไปใช้งานได้ทันที แต่ในระยะยาวแล้ว ก็ต้องกลับมารับการอบรมเพิ่มเติม และบางครั้งผู้เรียนขาดความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้ หรือเมื่อวิทยาการเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นได้ การฝึกอบรมบางอย่างสั้น และตอบตรงวัตถุประสงค์ แต่ในระยะยาวอาจมีข้อจำกัด

แต่ในทางการศึกษา (Education) บางหลักสูตร เรียนไปแล้ว ยังไม่สามารถไปทำงานได้ทันที แต่ว่าเขามีพื้นฐานที่ดี และสามารถไปศึกษาพัฒนาตนเองเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา การจะดูประสิทธิผลของสถานศึกษาใดๆ ในด้านนี้จึงต้องมองความสัมฤทธิผลของผู้เรียนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทางการศึกษา (Academic Achievement)

ความสำเร็จทางการศึกษา หมายถึงการเรียนรู้แล้วสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ได้คะแนนเมื่อเทียบวัดทางวิชาการแล้วสูงกว่าคนอื่นๆ หรือกว่าสถาบันการศึกษาที่อื่นๆ ซึ่งจะใช้ระบบวัดผลที่เป็นแบบมาตรฐานมาวัดได้ แต่ขณะเดียวกัน แบบวัดดังกล่าวต้องสามารถสะท้อนถึงความสำเร็จอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับชีวิตจริงได้ด้วย เช่น

· ในชีวิต (Life Achievement)

· ในอาชีพ (Vocational Achievement)

· บทบาทต่อสังคม (Toward Society)

ความสำเร็จมีหลายรูปแบบ และการสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดความสามารถทางการศึกษานั้น ควรเน้นไปที่การทำให้แบบทดสอบเหล่านั้นสามารถให้ค่าการทำนายความสำเร็จของคนในหลายแง่มุมด้วย

· บางคนมีความสำเร็จทางการศึกษา แต่ก็ไม่เคยได้ร่ำรวย

· บางคนประสบความสำเร็จในการเรียน แต่ไม่มีความสำเร็จในชีวิต

· บางคนมีความสำเร็จในการอาชีพ แต่ไม่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม

การเรียนรู้ของนักเรียน (Student Learning)

เราจะประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนกันอย่างไร

· เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง เรียนได้ด้วยความรวดเร็วมากน้อยเพียงใด

· เขามีบุคลิกความอยากเรียนไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มีความใฝ่รู้ไปตลอดชีวิตหรือไม่

· เขามีขีดความสามารถในการเรียนรู้เองหรือไม่ (Self Access) สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองหรือไม่

ในการเรียนรู้ก็ต้องมีการประเมินผล (Evaluation) และรูปแบบการประเมินผลก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น

Developmental vs. Normative

· การประเมินเชิงพัฒนาการ (Developmental Evaluation) บุคคลผู้นั้นมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ไปอย่างไรบ้าง เป็นการวัดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของแต่ละคน หรือ

· การประเมินเชิงเปรียบเทียบ (Normative Evaluation) เปรียบเทียบในเชิงแข่งขันกับบุคคลอื่นๆว่าเขามีความสามารถอย่างไรเมื่อเทียบกับบุคคลอื่นๆ

Formative Vs Summative

1. การประเมินเชิงพัฒนาการ (Formative Evaluation) เพื่อให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่เขา เขาจะได้ใช้ข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้เกิดพัฒนาตนเองขึ้น หรือ เป็น

2. การประเมินเพื่อตัดสิน (Summative Evaluation) ประเมินเชิงเพื่อทราบพัฒนาการหรือเพื่อประเมินผล ประเมินเพื่อตัดสินคะแนนในแต่ละวิชาที่เรียน ที่จะต้องได้เกรด A, B, C, D หรือ F

ข้อสังเกต

การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนนับเป็นวิทยาการที่ได้ก้าวหน้าไปอย่างมากอีกแขนงหนึ่ง

การประเมินนี้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Testing Management System – TMS) เข้าช่วยได้มาก ลดเวลาการทำงานลง เพิ่มโอกาสที่ผู้เรียนจะได้ทราบผลการเรียนและพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ความพึงพอใจในการทำงาน (Job Satisfaction)

ส่วนหลัก

ความพึงพอใจในการทำงานของนักเรียนนักศึกษาที่จบออกไปนั้น ถือเป็นส่วนหลัก อันได้แก่

· ผู้จบการศึกษา

· ผู้เรียนเมื่อจบการศึกษา แล้วพอใจในการทำงาน มีงานที่ดี

· จะมี Criteria ในการประเมินอย่างไร

ส่วนรอง

อย่างไรก็ตาม ความพึงพอใจในการทำงานของคนทำงานภายใน และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่จะเป็น ส่วนรอง ทรัพยากรบุคคลในแต่ละระดับเป็นเช่นไร

· ฝ่ายบริหาร

· ครู อาจารย์

· เจ้าหน้าที่

· บุคลากรจากภายนอก (Outsource Staff)

ข้อสังเกต

เป็นไปได้ที่บางสถาบันการศึกษา ผู้เรียนมีความพึงพอใจที่ได้เรียนแล้วจบไปมีการอาชีพและอนาคตที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนทำงานอันได้แก่ ฝ่ายบริหาร ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่มีความเครียด และความคาดหวังสูง ถูกประเมินและพิจารณาความชอบที่ทำให้มีความไม่แน่นอนในอาชีพและอนาคต

ความพึงพอใจของส่วนหลัก กับส่วนรอง จึงอาจไม่สอดคล้องกัน

ระดับการขาดเรียน (Absentee Level)

ระดับการขาดเรียนของผู้เรียน (Absentee Level) นับเป็นการประเมินประสิทธิภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง แต่การขาดเรียนของผู้เรียนก็มีความแตกต่างกันตามประเภทของการศึกษา เช่น

รูปแบบการศึกษา

· การเรียนการสอนภาคปกติ (Regular Classes)

· การศึกษาในภาคพิเศษ (Night and Evening Classes)

· การฝึกอบรม การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education)

วิธีการเรียน

· การศึกษาทางไกล (Distance Education)

· การศึกษาในแบบออนไลน์ หรือเรียกว่า E-learning

· การเรียนการสอนในแบบประสม (Mixed Mode Learning)

สภาพแวดล้อม

ระหว่างโรงเรียนในระบบสังคมและเศรษฐ์ฐานะที่ต่างกัน เช่น

· โรงเรียนในย่านชนชั้นกลางกับโรงเรียนในชุมชนแออัด หรือกลุ่มคนยากจน

· โรงเรียนในเมือง กับโรงเรียนในชนบทที่พ่อแม่ใช้งานลูกเพื่อการทำงานในบางช่วง

ข้อสังเกต

ระดับการประเมินจากการขาดเรียนจะมีความแตกต่างกัน ดังเช่นผู้เข้าเรียนในการฝึกอบรม การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาทางไกล หรือการเรียนในแบบ E-learning จะมีธรรมชาติของการมาเรียนแตกต่างกัน ต้องมีการเตรียมทำความเข้าใจในธรรมชาติของการเรียน และการมีเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมตามด้วย

ระดับการขาดเรียน (Absentee Level)

ระดับการขาดเรียนมีความแตกต่างกันตามระดับการศึกษา และอายุของผู้เรียน

· ประถมศึกษา

· มัธยมศึกษา

· อุดมศึกษา และการศึกษาผู้ใหญ่

การประเมินการขาดเรียนของผู้เรียนในระดับการศึกษาต่างๆ ก็มีความต่างกันด้วยระหว่างระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ในระดับอุดมศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่ และการเรียนในแบบเปิด อาจให้ความสำคัญต่อการต้องมาเรียนในชั้นเรียนน้อยลง มีการบันทึกเวลามาเรียนในชั้นน้อยลง แต่อาจไปเพิ่มในกิจกรรมการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆ รวมถึงการใช้ e-mailing, chat, webboard communication และการเรียนแบบออนไลน์เข้ามาทดแทนมากขึ้น

การลาออกกลางครัน (Dropout Rate)

ประเภทของสถาบัน

การต้องออกกลางครันของผู้เรียนนั้น ถ้ามีการออกกลางครันน้อย ก็มีสมมุติฐานว่าสถาบันการศึกษานั้นๆ มีประสิทธิผลการทำงานสูง แต่ถ้ามีอัตราผู้ออกกลางครันมาก ก็จะบ่งชี้ถึงความไม่มีประสิทธิผลมาก แต่โดยทั่วไปในทุกองค์กรการศึกษานั้น มักจะต้องมีอัตราส่วนของผู้ลาออกกลางครันอยู่อย่างน้อยจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม

นอกจากนี้คือแต่ละประเภทของสถานศึกษา ก็จะมีอัตราการลาออกกลางครันที่แตกต่างกันอยู่ เช่น

· มหาวิทยาลัยแบบปิด (Conventional Universities) มีสอบคัดเลือกเข้า

· สถาบันการศึกษาเปิดภาคค่ำ เสาร์อาทิตย์

· มหาวิทยาลัยเปิด (Open Universities)

· มหาวิทยาลัยเสมือน (Virtual Universities)

ข้อสังเกต

การออกกลางครันในสถาบันการศึกษาแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน ดังเช่น ผู้เรียนในระบบมหาวิทยาลัยเปิด (Open Universities) จะมีอัตราการออกกลางครันมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สถาบันประเภทนั้นๆ ไม่มีประสิทธิผล

บางสถาบันการศึกษาเน้นการขยายบริการและต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน จนมีสถิติการไม่จบการศึกษาน้อย แต่คุณภาพการจัดการศึกษาก็เป็นปัญหา จนทำให้มีคำวิจารณ์ว่าเป็นการแจกปริญญา หรือกระดาษ เป็นต้น

ประเมินในช่วงใด

มีผู้ลาออก หรือต้องออกจำนวนเท่าใด ในแต่ละชั้นปี

· ในท้ายสุดเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ

· เทียบกับประเภทเดี่ยวกันเป็นอย่างไร

· ระหว่างประเภทการศึกษาที่ต่างกันนั้นเป็นเช่นใด

ข้อสังเกต

การลาออกกลางครัน โดยไม่จบการศึกษานั้น บางที่จะไม่ถือว่าเป็นความไม่สำเร็จ หรือเป็นความล้มเหลวเสียทีเดียว เพราะดังเช่นในระดับอุดมศึกษา เขาถือว่า ถ้าเข้ามาเรียนแล้วไม่มีแรงจูงใจ ไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน ก็ให้ลาออกไปก่อน ไปทำงานสักระยะ พอมองเห็นอนาคตของตนเองแล้ว ค่อยกลับมาเรียนต่อใหม่ ดังนี้เขาเรียกว่า Drop in & Drop out การลาออกไปสักระยะหนึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เสร็จแล้วค่อยกลับเข้ามาเรียนใหม่ได้

ในทางการศึกษา ยิ่งเป็นระดับอุดมศึกษา หากการศึกษาต่อเป็นไปอย่างไร้จุดหมาย เรียนตามเพื่อน เรียนตามพ่อแม่ เรียนไปอย่างไม่รู้อนาคต ดังนี้ การออกไปกลางครันเพื่อแสวงหาความหมายของการศึกษาให้ได้ชัดเจนเสียก่อนจะได้ประโยชน์กว่า

ดังนั้นสถานศึกษาจำเป็นต้องดูแลด้านการลาออกกลางครันก็จริง แต่สิ่งที่ต้องดูแลอีกด้านหนึ่งคือ การให้ข้อมูลอันจำเป็นที่ทำให้เยาวชนได้เข้าใจถึงอนาคตและความต้องการและศักยภาพของเขา

คุณภาพการทำงานของคนเมื่อจบการศึกษา (Performance Quality)

เมื่อผู้เรียนได้จบการศึกษาไปแล้วไปทำงานมีคุณภาพการทำงานอย่างไร ดังเช่นเขาเรียนจบการศึกษาในด้านวิชา

ระดับอุดมศึกษา

· เขาทำงานประเภทใด

· ใช้ความรู้ได้จริงหรือไม่

· มีขีดความสามารถหรือมีข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และอย่างไร

ระดับมัธยมศึกษา

ระดับความสามารถของผู้จบการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาบริบูรณ์ ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น มีแสดงอยู่ในกรอบหลักสูตรที่แบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1-3) และ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 4-6) โดยทั่วไป ประเด็นปัญหาและข้อจำกัดด้านคุณภาพการศึกษาจะอยู่ที่ 4 สายวิชาการ และรวมถึงการอาชีพด้วย ดังต่อไปนี้

· ภาษาอังกฤษ (English)

· คอมพิวเตอร์ (Computer Competencies)

· วิทยาศาสตร์ (Science)

· คณิตศาสตร์ (Mathematics)

· การอาชีพ (Vocational and Career Education)

นอกจากการมีพื้นฐานที่ดีพอที่จะมีผลต่อขีดความสามารถของคนแล้ว การได้มีโอกาสการฝึกงานในระหว่างศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็น การเชื่อมโยงระหว่างโลกของการเรียนกับโลกของการทำงาน และใช้ชีวิตจริง ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสรู้ว่าท้ายสุดเขาต้องการอะไร และเขายังขาดทักษะอะไรบ้าง

การมีระบบข้อมูลย่อของส่วนต่างๆ

การมีข้อมูลอย่างย่อเกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของระบบ เช่น

· ข้อมูลโรงเรียน (School Profile)

· ข้อมูลนักเรียน (Student Profile)

· ข้อมูลเขตพื้นที่การศึกษา (School District Profile)

· ข้อมูลการศึกษาของรัฐ (State Education System Profile) อันเป็นระดับรัฐ หรือระดับประเทศ

ในจำนวนข้อมูลทั้ง 4 ด้านนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เกิดขึ้น เพราะในสังคมใหม่นั้น ผู้บริโภคต้องการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

ตัวอย่าง School Profile

ข้อมูลอย่างย่อของสถานศึกษา (School Profile)

1. ข้อมูลอย่างย่อของสถานศึกษา หรือเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ กับครูอาจารย์ที่จะสมัครมาทำงานด้วย กับพ่อแม่ผู้ปกครอง และคนที่ต้องการย้ายถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพ กับคนที่ต้องการมาลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรม เขาเหล่านี้ต้องการู้ว่าโรงเรียนและสถานศึกษาในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นเช่นใด ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นในระบบข้อมูลข่าวสารแบบเปิด และเป็นเรื่องของ ธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งจำเป็นต้องมีการดูแลให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมา

2. จำนวนผู้เรียน (Enrollment) จำนวนผู้เรียนทั้งสิ้นในโรงเรียน

3. เชื้อชาติและสัญชาติ (Race) จำแนกเป็นร้อยละของกลุ่มเชื้อชาติ ความจริงเรื่องของเชื้อชาติเป็นความหลากหลายที่เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ ยิ่งมีคนหลายเชื้อชาติเข้ามาศึกษาร่วมกัน ย่อมมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนไม่สบายใจในการให้บุตรหลานของตนต้องไปเรียนร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่จะรับรู้

4. อัตราการเข้าเรียน (Attendance ) เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุประชากร

5. อัตราการออกกลางครัน (Dropout ) เมื่อเทียบจากจำนวนเมื่อเริ่มเข้าศึกษา

6. ขนาดของชั้นเรียน (Class Sizes ) จำนวนนักเรียนเฉลี่ยต่อชั้นเรียน ระบบการศึกษาทั่วไปครูจะหวังว่าชั้นเรียนไม่ควรใหญ่กิน 30 คน แต่บางแห่งอาจมีผู้เรียนถึง 40-45 คน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่ยึดตายตัวได้เสมอไป มันยังขื้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆอีก

7. อัตราการบรรลุผล (Educational Attainment ) เรียนจบการศึกษาเป็นอัตราส่วนอย่างไร เมื่อสอบในระบบข้อสอบมาตรฐานกลาง มีผลการเรียนอย่างไร เช่น คะแนน SAT Scores, ACT Scores

8. เงินเดือนเฉลี่ยของครู (Teacher Salaries ) ระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาเป็นอย่างไร เงินเดือนที่ต่ำจนเกินไป ครูที่มีความสามารถก็ไม่เข้ามาทำงานในโรงเรียน หรือเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ

9. เทคโนโลยีที่ทางโรงเรียนใช้ (Technology ) ในปัจจุบันจะมีการพูดกันมากถึงการมีเครื่องพีซีรองรับการเรียนต่อนักเรียนกี่คน มีสายสัญญาณต่อเชื่อมเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือไม่ ขนาด Bandwidth อย่างไร

ข้อเสนอ

แต่ละสถานศึกษาในประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้อมูลอย่างย่อ (Profile) เพื่อเป็นการสื่อให้กับสังคมได้ทราบว่า โรงเรียนของท่าน เขตพื้นที่การศึกษาของท่าน มหาวิทยาลัยของท่านนั้นมีลักษณะเป็นเช่นใด เหมือนในบริษัทที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีพันธะที่จะต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ซื้อหุ้น ที่ต้องมีความโปร่งใส ไม่ปิดบัง

ผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียน ต้องใช้เวลามาเรียนอยู่ 3-6 ปีนั้น เขาจะได้รับอะไรไป นักลงทุนที่จะมาประกอบกิจการในท้องถิ่น เขาจะได้ทราบว่า ระบบการศึกษาในท้องถิ่นนั้นๆ มีการเตรียมตัวตอบสนองต่อการพัฒนากำลังคนที่เขาจะต้องใช้อย่างไร เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อมีเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมา จึงควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายกับ School Board หรือ State Board of Education ที่จะต้องทำให้มีข้อมูลดังกล่าวขึ้นมา

……………………………………………………

เอกสารหลักจาก

Wikipedia Free Online Encyclopedia 2005

Wayne K. Hoy & Cecivl G. Miskel Educational Administration: Theory, Research, and Practice. Boston: McGraw Hill, 2001 pp. 287-314

เอกสารอ่านประกอบ

Economist Intelligence Unit The 2003 E-learning Readiness Rankings: A white paper from the Economist Intelligence Unit (Written in co-operation with IBM

No comments:

Post a Comment