Thursday, March 15, 2012

คนรุ่นบูเมอแรง (Boomerang Generation)

คนรุ่นบูเมอแรง (Boomerang Generation)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สังคม-วัฒนธรรม, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

ภาพ การขว้างบูเมอแรง (Boomerang) ขึ้นไปในอากาศ แล้วมันจะหมุนเวียนกลับมายังคนขว้าง

คนรุ่นบูเมอแรง (Boomerang Generation) เป็นคำเรียกคนหนุ่มสาวในวัฒนธรรมตะวันตกในปัจจุบัน ที่เลือกที่จะกลับมาอยู่ร่วมกับบิดามารดา หลังจากที่ได้ออกไปศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยและหรือไปทำงานแล้ว การเลือกกลับมาอยู่กับพ่อแม่ (Cohabitation) อาจมีได้หลายรูปแบบ บางคนเป็นลักษณะพึ่งพ่อแม่อย่างมากๆ เหมือนดังเป็นเด็ก และมีบางส่วนก็มาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่มีการจัดบ้านเรือนที่แยกออกจากกัน เช่นปรับปรุงบ้านใหม่ ทำให้แต่ละชั้นหรือส่วนมีความเป็นหน่วยอาศัยอิสระ มีห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนั่งเล่นแยกออกไป ค่าใช้จ่ายในบ้านลูกร่วมออก หรือมีฐานะเหมือนเป็นผู้เช่าบ้าน ทำให้พ่อแม่มีรายได้ด้วย

คำเรียกนี้ไม่ใช่หมายความว่าคนรุ่นปัจจุบันทั้งหมดเป็นดังกล่าว แต่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นที่กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมคนตะวันตกที่รับรู้กัน คือเมื่อเติบใหญ่แล้ว ลูกๆ ก็จะเหมือนนกเหมือนกาที่ปีกกล้าขาแข็งแล้วก็ออกไปมีอนาคตของตนเอง แล้วจะมาเยี่ยมพ่อแม่ก็เป็นครั้งคราว ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นโดยทั่วไปในสังคมตะวันตก

ในสังคมตะวันตกมีคำเรียกหนึ่งว่า “Empty nest” หรือ “รังที่ไร้นก” เป็นลักษณะของสังคมอเมริกันและในโลกที่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ตลาดงานขยายตัวมีโอกาสมากมายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาว เมื่อลูกๆได้โตขึ้น ก็หาการงานของตนเองทำ และเขามักไม่อยากทำงานกับครอบครัว อยากที่จะไปเริ่มต้นตั้งครอบครัวใหม่ของเขาขึ้นมา แต่วัฒนธรรมเช่นนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยน กล่าวคือ มีการเรียกขานวิถีชีวิตใหม่ที่กลับมีลูกๆที่โตเป็นหนุ่มสาวแล้วยังพักอาศัยกับครอบครัวของตนเองยาวนานขึ้น วิถีชีวิตเช่นนี้เรียกว่า “รังที่อึกทึก” (Cluttered nest) หรือ “รังที่คับแคบ” (Crowded nest) คำหลังนี้เป็นการเรียกขานโดย Shaputis ในหนังสือชื่อ “The Crowded Nest Syndrome: Surviving the Return of Adult Children” ซึ่งเป็นการมองสังคมที่มีแนวโน้มใหม่นี้ในเชิงวิพากษ์

ศาสตราจารย์ Roderic Beaujot แห่งมหาวิทยาลัยออนทาริโอตะวันตก (University of Western Ontario) ได้ศึกษาปรากฏการณ์ใหม่นี้ เขากล่าว ในการสำรวจประชากรในปี ค.ศ. 1981 ร้อยละ 27.5 ของชาวแคนาดาในวัย 20-29 ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง ในปี ค.ศ. 2001 มีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 ในสหรัฐอเมริกา คนในวัย 20-34 ในปี ค.ศ. 1960 มีอาศัยอยู่กับบิดามารดาร้อยละ 9 แต่ในปี ค.ศ. 2000 ได้มีเพิ่มเป็นร้อยละ 17

อย่างไรก็ตาม สถิติของลูกๆที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจโดยสำนักงานสัมโนประชากรของสหรัฐ ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในเพศชายวัย 24-34 ปี โดยในปี ค.ศ. 2005 มีร้อยละ 14 ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และในปี ค.ศ. 2011 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ในกลุ่มผู้หญิง ในปี ค.ศ. 2005 มีร้อยละ 8 ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่ในปี ค.ศ. 2011 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10

ในช่วงศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 21 ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะอยู่อาศัยนี้ได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของทั้งประเทศที่เริ่มล้มเหลว เริ่มตั้งแต่ตลาดหุ้นที่เป็นฟองสะบู่แตกใน ค.ศ. 2000 จนทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมาก จนกระทั้งในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จบจากโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจใหม่ (new economy) ที่เป็นตลาดเสรีไปทั่วโลก ทำให้สังคมตะวันตกอย่างสหรัฐและแคนาดาได้หันมาใช้การส่งออกงานผลิตที่สามารถใช้แรงงานราคาถูกของต่างประเทศได้ (Outsourcing) ทำให้งานภายในประเทศลดลง และตลาดงานภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปี การจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นหลักประกันการมีงานทำอีกต่อไป งานที่มีทำก็เป็นงานแบบไม่มั่นคง คนหนุ่มสาวใหม่จะรักษาสถานภาพคนชั้นกลางได้ ก็ด้วยต้องอาศัยชีวิตที่ยังผูกพันกับบิดามารดาของตนเอง การจะศึกษาต่อหรือฝึกงาน (internships) เพิ่มเติมหลังจบการศึกษานั้น บางทีก็ไม่มีค่าตอบแทน ต้องอาศัยพึ่งการดำรงชีพจากพ่อแม่ของตนเอง อย่างน้อยในด้านค่าที่พัก ซึ่งค่าที่พักในเมืองใหญ่นั้น อาจสูงถึงร้อยละ 25-33 ของการดำรงชีวิต

ในคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะยังพักอยู่กับบิดามารดาเป็นระยะเวลายาวนานออกไป แม้ในช่วงที่ทำงานแล้ว แต่โดยรวมการได้แยกบ้านเรือน มีครอบครัวของตนเอง ก็ยังเป็นความคาดหวังของคนรุ่นนี้อยู่ และด้วยเหตุดังกล่าว คนรุ่นนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “คนรุ่นบูเมอแรง” คือออกไปเรียนมหาวิทยาลัยหรือทำงานแล้ว แต่ก็ยังกลับมาอยู่กับพ่อแม่ตนเอง ส่วนพ่อแม่ในคนรุ่นนี้ที่มีลูกที่เป็นผู้ใหญ่แล้วยังอยู่ในบ้านตนเอง ก็จะถูกเรียกว่า “babygloomers” หรือ “คนเลี้ยงเด็กที่มืดมน” คือเหนื่อยเลี้ยงลูกมาตลอดชีวิต แต่แล้วลูกๆก็ยังไม่รู้จักโตเสียที

No comments:

Post a Comment