Sunday, March 25, 2012

อดีตรองประธานาธิบดี Dick Cheney วัย 71 รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

อดีตรองประธานาธิบดี Dick Cheney วัย 71 รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก ABC News, “Is Dick Cheney Too Old for a Heart Transplant? By KATIE MOISSE (@katiemoisse) and OLIVIA KATRANDJIAN, March 25, 2012

Keywords: health, สุขภาพ, อนามัย, การแพทย์

ดิค เชนีย์ (Dick Cheney) อดีตรองประธานาธิบดีวัย 71 ปี ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เมือง Falls Church, รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาอยู่ในรายชื่อรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมานานกว่า 20 เดือน

ภาพ ดิค เชนีย์ (Dick Cheney)

ดิค เชนีย์ มีชื่อเต็มว่า Richard Bruce "Dick" Cheney เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1941 ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี George W. Bush 2 สมัยในช่วงปี ค.ศ. 2001-2009

ในทางการแพทย์มีประเด็นถกเถียงกันว่า กรณีคนอายุมากในวัย 70 ขึ้นไปแล้ว ควรได้รับการพิจารณาให้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือไม่? บางศูนย์การแพทย์จะไม่รับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับบุคคลที่มีอายุเกิน 65 ปี แต่หลายๆแห่งจะยังรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับผู้ป่วยที่มีอายุได้ไม่เกิน 72 ปี

จากจำนวนผู้ป่วยรอรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และได้รับการผ่าตัดจำนวน 332 รายในเครือข่ายแลกเปลี่ยนอวัยวะ (United Network for Organ Sharing) มีเพียงร้อยละ 14 ที่มีอายุเกิน 65 ปี

สำหรับผู้ป่วยตั้งแต่วัย 18 ปีจนถึงวัย 71 ปีจะอยู่ในรายชื่อระดับชาติที่จะได้รับบริการรีบด่วน นายแพทย์ Jonathan Chen รองศาสตราจารย์ด้านการศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมืองนิวยอร์คกล่าว

นายแพทย์ Richard Besser บรรณาธิการของฝ่ายข่าวสุขภาพสถานีโทรทัศน์ ABC กล่าวว่าระยะเวลารอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย UCLA คือประมาณ 3-6 เดือน แต่ดิค เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดีต้องรอนานถึง 20 เดือนจึงได้รับโอกาสรับการผ่าตัด

ผู้เชี่ยวชาญโดยทั่วไปเห็นว่าการรอรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนาน 20 เดือน นับว่ายาวนานกว่าปกติ แต่ Dr. Keith Aaronson ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจล้มเหลวแห่ง University of Michigan กล่าวว่าการรอรับการผ่าตัดนาน 20 เดือนสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจวายระดับต้องมีเครื่องปั้มช่วยสูบฉีดโลหิต (LVAD) นั้นถือว่ารอนานเกินไป

LVAD มาจากคำว่า Left Ventricular Assist Device เป็นเครื่องปั๊มโลหิตแทนหัวใจที่ไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ร่างกายต้องการ เครื่องนี้มีไว้ใช้เพื่อช่วยผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือในบางกรณีคือการต้องใช้ไปตลอดชีวิต

Dr. Aronson ให้ความเห็นว่าเชนีย์ต้องรอนานกว่าปกติ อาจเป็นเพราะไตของเขาไม่ทำงานตามปกติ หรือเพราะเขามีอาการความดันโลหิตสูงเกินปกติในระหว่างใช้เครื่อง LVAD ช่วยปั้มโลหิตแทนหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าวพบได้ทั่วไปในกรณีของหัวใจวายมาหลายๆครั้ง การใช้ LVAD ช่วยทำให้ผู้ป่วยปรับตัวมีสภาพร่างกายที่ดีขึ้นก่อนที่จะรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจริง

เชนีย์เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจก่อนหน้านี้มาสองครั้ง คนไข้เป็นอันมากเสียชีวิตจากการที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ จากการอักเสบติดเชื้อ หรืออาการแซกซ้อนจากการผ่าตัด

หากการผ่าตัดของเชนีย์ล้มเหลว เขามีสองทางเลือก คือ เปลี่ยนหัวใจใหม่อีกครั้ง แต่ศูนย์แพทย์ทั่วไปจะปฏิเสธผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ใหม่อีกครั้งในกรณีที่คนไข้ที่มีวัยระดับเขา และในอีกกรณีคือรับการผ่าตัดใส่ LVAD แล้วใช้เครื่องช่วยปั๊มโลหิแทนหัวใจนี้ไปตลอดชีวิต

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ เช่นเบาหวาน ปอด และโรคไตมักจะได้รับการปฏิเสธการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ในกรณีของเชนีย์เขาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เพราะปัญหาของเขาคือโรคหัวใจอย่างเดียว ไม่มีโรคอื่นๆ

เมื่อผ่าตัดแล้ว เชนีย์จะต้องรับยาลดการปฏิเสธอวัยวะใหม่ (Anti-rejection drugs) เพื่อกดสภาพภูมิต้านทานไม่ให้มากระทบการทำงานของหัวใจ ในกรณีผู้ป่วยสูงวัย ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจำนวนมากจะเลือกลดการใช้ยาลดปฏิเสธอวัยวะใหม่ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หลังผ่าตัดเชนีย์จะได้รับการตัดตรวจชิ้นส่วนเนื้อ (Biopsies) เพื่อตรวจหาสัญญาณการเสี่ยงติดเชื้อ แล้วหากไม่มีอะไรผิดปกติ การตรวจชิ้นส่วนเนื้อก็จะลดลงจนหยุดตรวจในที่สุด

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แม้จะได้ก้าวหน้ามามากแล้ว แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดก็ต้องรับการฝึกฝนมาอย่างมาก สิ่งที่คนทั่วไปควรจะคิดคือ ทำอย่างไรเราจึงจะปลอดจากการป่วยเป็นโรคหัวใจ ทำให้มีร่างกายแข็งแรง กินอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ งดบุหรี่ ลดการเสพสุรา ลดความเสี่ยงจากไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน ตับ ไต ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวพันกับหัวใจ

ต้องเข้าใจว่า การป้องกันคือกระบวนการรักษาโรคที่ดีที่สุด

No comments:

Post a Comment