Sunday, March 18, 2012

19 มีนาคม ค.ศ. 2003 วันเริ่มต้นสงครามในอิรัก

19 มีนาคม ค.ศ. 2003 วันเริ่มต้นสงครามในอิรัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การทหาร, สหรัฐอเมริกา, Iraq, อิรัก,

วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2003 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาและอังกฤษร่วมกับพันธมิตรได้เริ่มสงครามในอิรัค หลังจากได้ถล่มกรุงแบกแดด (Bagdad) เมืองหลวงของอิรัก ประธานาธิบดีจอร์จ ดับบัลยู บุช (George W. Bush) ได้ประกาศทางโทรทัศน์ว่า “ขณะนี้กองกำลังของอเมริกาและพันธมิตรได้เริ่มดำเนินการทางการทหาร เพื่อปลดอาวุธอิรัก และเพื่อปลดปล่อยประชาชน และเพื่อปกป้องโลกเสรีจากอันตรายมหันต์” ประธานาธิบดีบุชและที่ปรึกษาได้เข้าทำสงครามนี้ด้วยความเชื่อว่าอิรักมีอาวุธที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ (Weapon of Mass Destruction – WMD)

สหรัฐประกาศกร้าวให้ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ออกจากอิรักภายใน 90 นาที หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับสงคราม เป้าหมายแรกๆที่โจมตี บุชกล่าวว่าจะเป็นเป้าหมายทางการทหาร โดยสหรัฐใช้จรวดนำวิถีโทมาฮอว์ค (Tomahawk Cruise Missiles) ที่ปล่อยจากเครื่องบินรบ และเรือรบที่เข้าประจำการในอ่าวเปอร์เชีย (Persian Gulf) ในการตอบสนองต่อการโจมตี สถานีวิทยุแห่งอิรักในกรุงแบกแดดประกาศ “ปีศาจร้าย ศัตรูของพระเจ้า ที่เป็นศัตรูต่อบ้านเกิด และมนุษยชาติ ได้กระทำการรุนแรงที่โง่เขลาต่อแผ่นดินเกิดและประชาชนของเรา”

ซัดดัม ฮุสเซนประกาศว่าในช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2003 “ฝ่ายที่จงรักษ์ภักดีขอเขาจะชนะในสงครามนี้อย่างไม่มีข้อสงสัย” แต่หลังจากนั้นเขาได้หลบในที่ซ่อนลึกลับ หลังจากที่ฝ่ายอเมริกันได้รุกเข้าไปในอิรักแล้ว และเขาพูดกับประชาชนของเขาผ่านทางเทปบันทึกเสียง ฝ่ายอเมริกันและพันธมิตรสามารถโค่นล้มและเข้ายึดเมืองใหญ่ได้ใน 3 สัปดาห์ โดยมีอัตราการเสียชีวิตไม่มากนัก ประธานาธิบดีบุชได้กล่าวในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ว่าสงครามได้จบลงแล้ว แต่ในข้อเท็จจริง หลังจากนั้นยังเป็นการต่อสู้ด้วยสงครามกลางเมืองต่อมาอีกหลายปี ซึ่งทำให้ทหารฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิตไปหลายพันคน และมีฝ่ายต่อต้านชาวอิรักที่ต่อสู้ในแบบสงครามกองโจร และประชาชนทั่วไปได้เสียชีวิตไปในการสู้รบอีกมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นแทนที่รัฐบาลของซัดดัม ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 ประชาชนอิรักได้เลือกผู้แทนราษฎรจำนวน 275 คนเข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ ส่วนซัดดัม ฮุสเซน หลังจากหลบซ่อนตัวอยู่นาน ในที่สุดถูกจับได้และนำตัวขึ้นศาล ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ศาลอิรักตัดสินซัดดัมมีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ถูกตัดสินรับโทษประหารด้วยการแขวนคอ และหลังจากการทนายฝ่ายจำเลยได้ฎีกาสู้คดีได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่เป็นผล ในที่สุด วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ซัดดัมถูกแขวนคอ

ในช่วงหลังสงคราม ก็พบเป็นที่แน่ชัดว่าอิรักไม่มีอาวุธในระดับที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ (WMD) ตามที่ถูกกล่าวหา และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของสงครามในอิรัก และไม่มีหลักฐานว่าซัดดัมให้การสนับสนุนต่อฝ่ายก่อการร้ายที่ไประเบิดอาคารแฝด World Trade Centers กลางเมืองนิวยอร์คในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2001

No comments:

Post a Comment