Thursday, March 15, 2012

ช่วงวัยแห่งการรอคอย (Waithood)

ช่วงวัยแห่งการรอคอย (Waithood)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สังคม-วัฒนธรรม, ตะวันออกกลาง, อาหรับ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Waithood เป็นคำประสมของสองคำว่า Wait อันแปลว่า “รอคอย” และ Hood หมายถึงช่วงวัย คำว่า Adulthood คือช่วงของความเป็นผู้ใหญ่ มีการงาน มีความรับผิดชอบในตนเอง พึ่งตนเองได้ แต่ Waithood เป็นช่วงวัยผู้ใหญ่แล้ว แต่ไม่มีงานทำ ซึ่งแปลเป็นไทยโดยรวมของคำว่า “ช่วงวัยแห่งการรอคอย”

Waithood เป็นปรากฏการณ์ของภูมิภาคตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa – MENA) เป็นคำอธิบายวัยรุ่นที่ยืดยาวออกมา คือเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ยังต้องใช้ชีวิตดังวัยรุ่น คือยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง

Waithood เปรียบได้คล้ายกับ Boomerang Generation ในสังคมตะวันตก ที่เมื่อชีวิตเข้าวัยหนุ่มสาว ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่แล้วเมื่อจบการศึกษา ต้องหางานทำเพื่อพึ่งตนเอง แต่ก็อยู่ในสภาวะที่ไม่มีงานทำที่แน่นอน ไม่มีรายได้ที่จะมีบ้านหรือที่พักเป็นของตนเอง เพราะสังคมประเทศอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนว่างงานสูง จึงต้องกลับมาอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง

ภาพ Arab Spring การปฏิวัติการเมืองในโลกอาหรับ ส่วนหนึ่งเป็นแรงสุมไฟจากคนรุ่น Waithood คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา แต่ไม่มีงานทำ และไม่พอใจในระบบรัฐเผด็จการ

Waithood เป็นช่วงวัยที่ขมขื่นที่คนรุ่นใหม่ในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ดังใน ตูนีเซีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ซีเรีย และในโลกอาหรับเกือบทั้งหมดกำลังประสบ และเป็นเชื้อไฟทางสังคมและวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติการเมืองใหม่ที่เรียกว่า “Arab Spring” คนหนุ่มสาวในกลุ่มนี้จะมีลักษณะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องพึ่งพาพ่อแม่ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกี่ยวข้องกับ 5 สิ่ง กล่าวคือ

ด้านการศึกษา (Education) คนในรุ่นนี้ได้ศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้น ไม่ใช่กลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษา แต่การศึกษาที่ได้รับนี้อาจไม่นำไปสู่การมีงานทำ

การมีงานทำ (Employment) คนกลุ่มนี้ในวัยนี้ของหลายประเทศจะมีอัตราการตกงาน รองาน หรือยังไม่มีงานทำสูงมาก บางประเทศอาจมีคนว่างงานสูงถึงร้อยละ 40 ประเทศในตะวันออกกลาง หลายประเทศเป็นเศรษฐีน้ำมันก็จริง แต่งานด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมแบบต้นทางนี้ ใช้กำลังคนไม่มาก ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือการนำผลผลิตจากปิโตรเลียมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะตกไปอยู่กับประเทศผู้ซื้อน้ำมัน งานและการมีงานทำเป็นอันมากจะไปตกอยู่กับอุตสาหกรรมปลายน้ำ

ด้านที่พักอาศัย (Housing) เมื่อยังไม่มีงานทำ ก็ต้องพักอาศัยกับบิดามารดาของตนเอง เพราะไม่มีเงินหรือรายได้ไปซื้อบ้าน หรือเช่าบ้านของตนเองอยู่ และเมื่อยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ชีวิตคู่ก็จะตามมาได้ยาก

ด้านเครดิต (Credit) ความน่าเชื่อถือไม่มี หรือมีน้อย จะไปทำบัตรเครดิตเป็นของตนเองก็ลำบาก เพราะไม่มีรายได้เป็นของตนเอง จะไปกู้ธนาคารมาเพื่อประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง ก็ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ยังไม่มีประสบการณ์หรือทรัพย์สินค้ำประกัน ชีวิตยังต้องอาศัยขอเงินจากพ่อแม่ ความให้เกียรติและยอมรับจากพ่อแม่ก็น้อย เพราะยังเป็นลูกที่พึ่งตนเองไม่ได้ และ

ด้านการมีครอบครัว (Marriage) คนกลุ่มนี้จะแต่งงานช้า เพราะยังไม่มีความพร้อมที่จะมีครอบครัวของตัวเอง เพราะไม่มีรายได้ หากเป็นชายไปขอสาวแต่งงาน แต่เมื่อไม่มีงาน ก็จะทำให้บิดามารดาฝ่ายหญิงไม่มั่นใจว่าชายคนนั้นจะสามารถเลี้ยงดูลูกสาวของตนเองได้

ภาพ การเดินขบวนประท้วงที่น้ำไปสู่ความรุนแรง และการโค่นอำนาจรัฐเดิม กำลังสำคัญส่วนหนึ่งมาจากเยาวชน และคนหนุ่มสาวที่เรียกว่า Waithood

ในประเทศอาหรับหลายประเทศ เขามีเงินจากรายได้น้ำมันปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐหรือผู้ปกครองประเทศ แล้วเงินนี้ก็ถูกใช้เป็นสวัสดิการสำหรับคนตกงาน แต่เป็นเงินจำนวนไม่มาก เป็นการจ่ายเพื่อยังชีพ แต่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและรายได้สำหรับประชากรได้อย่างแท้จริง คนในช่วงวัยแห่งการรอคอยนี้ จึงกลายเป็นความคับข้องใจ และนำไปสู่ความไม่พอใจรัฐบาลของตนเอง ความไม่พอใจในความไร้ประชาธิปไตย สิทธิในการพูด การแสดงออกในสังคม

No comments:

Post a Comment