Thursday, March 15, 2012

มารู้จักพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter parent)

มารู้จักพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter parent)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สังคม-วัฒนธรรม, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

ภาพ Helicopter Parents

Subject on WikiWorld

อะไรในโลกนี้ล้วนต้องมีความพอเหมาะพอดี แม้แต่ความรักที่จะมีให้กับลูก ก็ต้องให้มีอย่างพอเหมาะพอควร ลองดูตัวอย่างจากพ่อแม่แบบต่อไปนี้

พ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter parent) เป็นคำเรียกพ่อแม่ในศตวรรษที่ 20 และ 21 ส่วนหนึ่งที่ให้ความใส่ใจในลูกอย่างใกล้ชิดเกินเหตุ เฝ้าติดตามพฤติกรรม และปัญหาด้านการศึกษาของลูก ตามไปจนถึงในสถานศึกษา คำนี้เริ่มเรียกโดย Foster W. Cline, M.D. และ Jim Fay ในหนังสือชื่อ “การเป็นพ่อแม่ด้วยความรักและเหตุผล” (Parenting with Love and Logic.) เขียนในปี ค.ศ. 1990

การสอนเด็กให้รู้จักความรับผิดชอบ Dr. Haim Ginott ได้อธิบายปรากฏการณ์ที่พ่อแม่ใส่ใจลูกมาก เหมือนดังเป็นเฮลิคอปเตอร์คอยบินเวียนสังเกตการณ์อยู่รอบๆตัวเด็ก ในปี ค.ศ. 1969 ในหนังสือขายดีเรื่อง “ระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่น” (Between Parent & Teenager) พ่อแม่แบบนี้จะคอยวนเวียนรอบๆตัวลูก ไม่ค่อยจะปล่อยลูกให้ไกลตนเอง แม้ลูกจะต้องการมันหรือไม่ก็ตาม


ภาพ เกมส์ Curling โยนลูกข่างให้ไหลลื่นไปตามลานน้ำแข็ง

ภาพ เกมส์กีฬา Curling ที่มีการโยนลูกข่างไป แล้วตามปัดกวาดเพื่อการลื่นไหลไปยังจุดหมายที่ต้องการ

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีปรากฏการณ์หนึ่งที่เขาเรียกว่า เป็น “พ่อแม่แบบปัดกวาด” (Curling parenthood) คล้ายเกมปัดกวาด ที่เมื่อคนโยนลูกข่างไปข้างหน้า แล้วจะมีคนคอยปัดกวาดทางข้างหน้าให้ลูกข่างไหลลื่นไปถึงจุดหมายได้ในจุดที่ต้องการ

พ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์เป็นปรากฏการณ์ที่คนทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะคอยปัดกวาดปัญหาและอุปสรรคใดๆที่จะมีแก่ตัวลูก ชนิดมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม เขาเรียกว่า “ทำหน้าที่พ่อแม่มากเกินไป” (Over parenting) พ่อแม่ประเภทนี้จะคอยแก้ปัญหาให้เด็กๆ จะระวังไม่ให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นแล้วเป็นอันตรายแก่ตัวเด็ก ปกป้องลูกให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่เขาเห็นว่าอันตรายทั้งปวง

อาจารย์และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มักจะเรียกพ่อแม่แบบนี้ว่า “พ่อแม่รถตัดหญ้า” (Lawnmower parents) โดยอธิบายลักษณะแม่และพ่อที่พยายามทำให้ทุกอย่างราบรื่น เหมือนดังมีรถตัดหญ้าคอยตัดถางสิ่งที่เป็นอุปสรรคขวางหน้าในราบเรียบเหมือนสนามหญ้าหน้าบ้าน ในลักษณะเช่นนี้ แม้เมื่อลูกจบการศึกษาออกไปทำงานแล้ว พ่อแม่แบบนี้อาจเข้าไปรบกวนในที่ทำงานของลูกๆ คอยดูแลเรื่องเงินเดือนรายได้ และการเลื่อนขั้น แม้แต่เมื่อเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว ฝ่ายบริหารงานบุคคลตามหน่วยงานต่างๆเริ่มมีปัญหาที่พ่อแม่บางคนเริ่มเข้าไปต่อรองเรื่องเงินเดือนค่าตอบแทนของลูกๆเขา

อะไรในโลกนี้ล้วนมีที่มาและที่ไป การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้น คือการที่เราทำให้ลูกๆ ได้เติบโตขึ้นไปตามธรรมชาติ การให้ความอบอุ่นและความรักแก่ลูกๆนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราเป็นที่พึ่งเขาในเวลาอันควร แต่ในระยะแบเบาะ จนกระทั่งเขาเติบใหญ่นั้น มันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงจาก “ความพึ่งพา” (Dependence) สู่ “ความเป็นอิสระ” (Independence) พึ่งตนเองได้ เมื่อคนจะเติบโตขึ้นนั้น หนทางในชีวิตใช่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ และพ่อแม่ก็ต้องตระหนักถึงจุดนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ลูกๆต้องค่อยๆเรียนรู้ที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ว่าจะผิดหรือถูก เขาจะต้องเรียนรู้บทเรียนที่ต้องรับผิดชอบ บางครั้งประสบการณ์เป็นเครื่องสอนเขาได้ดีกว่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ ชีวิตที่ยากลำบากบ้าง มีขวากหนาม ก็ยิ่งป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เมื่อเขาได้เรียนรู้ที่ฟันฝ่ามันไปได้ เขาจะมีความมั่นใจในตนเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้บทเรียนชีวิตในขั้นต่อๆไป

No comments:

Post a Comment