Wednesday, March 14, 2012

แนวโน้มใหม่ การเลือกอยู่แบบตัวคนเดียว

แนวโน้มใหม่ การเลือกอยู่แบบตัวคนเดียว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สังคม, วัฒนธรรม, socio-cultural

จาก “10 ความคิดที่อาจเปลี่ยนแปลงตัวท่าน” (10 Ideas That Are Changing Your Life. Time, March 12, 2012

ภาพ ผู้เขียนถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนๆ ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ (Dhebsirin School) ในวัยเดียวกัน

ในบทแรกเลยจาก “10 ความคิดที่อาจเปลี่ยนแปลงตัวท่าน” คือ “Living alone is the new norm.” หรือประทัสถานของยุคใหม่คือการอยู่แบบตัวคนเดียว คำว่าอยู่คนเดียวนี้ ไม่ใช่เพียงว่าเขาเป็นโสด หรือแต่งงานแล้ว หรือหย่าร้าง เขาอาจเป็นชาย หญิง หรือรักร่วมเพศ เขาอาจมีเพื่อน มีคู่ครองแล้ว แต่เขาเลือกที่จะอยู่แบบตัวคนเดียว

ในปี ค.ศ. 1950s มีครอบครัวอเมริกัน 4 ล้านครอบครัวที่เป็นคนอยู่ตัวคนเดียว คนที่อยู่คนเดียวในยุคนั้น มักจะมีมากในรัฐที่มีคนเบาบาง เช่น รัฐที่มีผู้คนเบาบาง พื้นที่กว้างขวาง และหนาวเหน็บอย่างอลาสก้า (Alaska) หรือเป็นรัฐที่เป็นธรรมชาติป่าเขาห่างไกลผู้คนดังรัฐมอนทาน่า (Montana) หรือในรัฐกึ่งทะเลทราย ไร้ผู้คนอย่างเนวาดา (Nevada) แต่ที่กล่าวนี้ไม่ใช่ดังที่เป็นไปในปัจจุบัน

คนอเมริกันตามการสำรวจสัมโนประชากรในปี ค.ศ. 2011 มีถึงร้อยละ 28 จากจำนวนครอบครัวอเมริกันทั้งหมด ที่เลือกอยู่คนเดียว และคนที่เลือกวิถีชีวิตเช่นนี้ ไม่ใช่ชาวบ้านในรัฐห่างไกล อยู่กลางป่ากลางเขา ไม่ใช่เพียงหญิงชราที่สามีเสียชีวิตไปก่อนแล้วจนทำให้ต้องอยู่อย่างตัวคนเดียว หรือผู้ชายที่เลิกรากับภรรยา หรือหาภรรยาอยู่ร่วมด้วยไม่ได้ แม้จนแก่เฒ่าก็ต้องอยู่อย่างตัวคนเดียว แต่ครอบครัวอยู่ตัวคนเดียวมีในทุกเพศทุกวัย เป็นพวกที่อยู่ในเมืองใหญ่ มีวิถีชีวิตแบบคนกรุง มีบ้าน Apartment หรือคอนโดมีเนียมขนาดพอเหมาะกับตนเอง หากเป็นคนหนุ่มสาว มีงานทำ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็มักจะเป็นพวกที่เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวแบบพึ่งตนเอง และเขาจะเลือกอยู่ตัวคนเดียวเช่นนี้ไปจนแก่เฒ่า

ครอบครัวอยู่ตัวคนเดียว เขาอาจมีเพื่อนร่วมงานที่เขาพบปะในการทำงานแต่ละวัน นอกเวลางาน เขาอาจมีเพื่อนตามความสนใจ กลุ่มท่องเที่ยว ออกกำลังกาย มีเพื่อนกิน และเพื่อนออนไลน์ในหลายรูปแบบ อาจมีญาติพี่น้องที่พบปะกันเป็นครั้งคราว หรือมีการรวมญาติกันตามเทศกาลอย่างคริสต์มาสและปีใหม่ แต่แล้วเขาก็กลับมาอยู่ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว เพราะในโลกยุคใหม่ ในเมืองใหญ่ มีกิจกรรมมากมายที่การอยู่ตัวคนเดียวไม่ใช่ความเหงา แต่เป็นวิถีของคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกอยู่อย่างมีคุณภาพ มีความเป็นส่วนตัว มีอิสรภาพในการกินการอยู่ เขาคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว แล้วทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน มีลูกแล้วก็ไม่สามารถเลี้ยงดูให้มีความสุขได้อย่างมีคุณภาพ

วิถีชีวิตแบบอยู่ตัวคนเดียวนี้ไม่ใช่มีเพียงในประเทศสหรัฐ การอยู่คนเดียวกลายเป็นวิถีชีวิตคนยุคใหม่ จากครอบครัวทั้งหมด อเมริกันมีแบบอยู่คนเดียว 28%, อังกฤษ 34% ประเทศญี่ปุ่นที่คนมีอายุยืนมาก แม้เป็นชาวเอเชีย แต่ก็มีคนที่อยู่ในครอบครัวแบบตัวคนเดียวถึง 31% และในประเทศตะวันตก ที่มีระบบรัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอย่างสวีเดนมีถึง 47% ที่ใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียว

แต่ในลักษณะตรงกันข้าม ในประเทศอินเดียที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ดีหาได้ยาก มีครอบครัวคนอยู่แบบตัวคนเดียวเพียง 3% ผู้เขียนเชื่อว่าในประเทศไทย การอยู่แบบตัวคนเดียวยังไม่ใช่ปท้สถานสำหรับคนทั่วไป ตัวเลขนี้คงยังไม่สูง แต่เราก็จะพบมีคนรุ่นใหม่กลุ่มคนมีการศึกษาที่แต่งงานช้าลง ลังเลที่จะแต่งงาน หรือเมื่อแต่งงานแล้วหย่าร้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาวมีงานทำแล้ว ก็เลือกที่จะอยู่แยกกับพ่อแม่เดิม เพราะอาจด้วยเหตุของงานในยุคใหม่มักจะอยู่ในเมืองที่จะห่างไกลจากบ้านเดิมที่เคยเติบโตมา และท้ายสุดในสภาพของสังคมคนยุคใหม่ก็จะทำให้มีแนวโน้มคนอยู่ตัวคนเดียวจนแก่เฒ่ามีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยามเป็นคนหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรง ที่กิจกรรมในชีวิตมากมายนั้นไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ทุกอย่างยังไม่เป็นปัญหา แต่สักวันหนึ่งเมื่อเราอายุมากขึ้น และเกษียณอายุจากการทำงาน เมื่อลูกๆเติบโตไปมีครอบครัวของเขากันหมดแล้ว แล้วคนที่เป็นพ่อแม่จะเลือกอยู่อาศัยกันอย่างไร และหากเป็นคนที่ต้องอยู่ตามลำพังเพราะเป็นโสด หรือหย่าร้าง แยกทาง เราจะอยู่กันอย่างไร คนที่มีฐานะหน่อยก็พอมีทางเลือกในชีวิตได้มาก แต่ถ้าเป็นคนยากจน เจ็บป่วย มีโรคภัยไข้เจ็บอันเป็นไปตามวัย เหล่านี้แล้วจะเลือกมีวิถีชีวิตกันอย่างไร คำว่า Living alone, living lonely มีความหมายที่ต่างกัน

Living alone = หมายถึงการอยู่อย่างตัวคนเดียว เป็นอิสระ มีความเป็นส่วนตัวเมื่อต้องการ บางคนมีงานที่เขาจะทำไปได้จนตลอดชีวิต ทำอย่างสนุกสนาน เพราะคนบางคนจะสนุกกับงานไปได้เรื่อยๆ

Living lonely = หมายถึงการอยู่อย่างเหงาๆ บางคนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เช่นอยู่ในสถานคนชรา มีคนต้องอยู่อาศัยร่วมกันหลายคน แต่ชีวิตในหลายๆคนนั้น ก็ยังเป็นชีวิตแบบเหงา ขาดเพื่อนใกล้ชิด ขาดญาติพี่น้องที่จะพึ่งพายามเจ็บป่วย หากอยู่ตามสถานที่พักคนชรา ความรู้สึกอยู่อย่างอนาถาน่าสงสารก็จะยิ่งมีมากขึ้น

ผมเขียนมาถึงจุดนี้ ผมเองได้ออกแบบชีวิตของผมไว้แล้วครับ เป็นชีวิตที่ไม่เหงาแน่ แล้วชีวิตของท่านละ โดยเฉพาะเพื่อนๆในรุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านได้ออกแบบชีวิตของท่านไว้อย่างไร เราจะใช้ชีวิตของเราไปอย่างไรตราบจนวันสุดท้าย? ช่วยกันส่งความคิดความเห็นมานะครับ จะเป็นผ่านทางออนไลน์ Facebook, My Words ใน http://pracob.blogspot.com ก็ได้ ขอบคุณครับ

ภาพ จากซ้าย ธงชัย อัจฉริยานนท์, พลตรีสันติสุข วรกิจโภคาทร และประกอบ คุปรัตน์ คนถ่ายภาพ ประสิทธิ ยามาลี

No comments:

Post a Comment