ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: ยานพาหนะ, สิ่งแวดล้อม, electric tricycle, electric pedicabs
ผมเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ (Surin Province) บ่อย และที่เมืองสุรินทร์ที่มีประชากร 40,000-100,000 คน เขามียานพาหนะรับจ้างสำหรับผู้โดยสารอยู่สองแบบ คือรถจักรยานสามล้อในแบบดั่งเดิมที่ใช้พลังงานคนถีบ (Tricycles, Pedicabs) และอีกแบบหนึ่งคือรถจักรยานสามล้อแบบใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งทั่วโลกรู้จักกันในนามตุ๊กตุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม
ภาพ สามล้อถีบที่เมืองสุรินทร์ จะพบตามสถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ตลาดสด สถานที่ราชการ และจะพบตามเมืองต่างๆของประเทศไทย
สิ่งที่ผมติดใจคือ ความไม่ลงตัวของบริการ รถสามล้อถีบ รับวิ่งใกล้ๆ ขนาดไม่ไกลเกิน 1 กิโลเมตร เช่นรับจากสถานีรถประจำทาง (Bus station) หรือสถานีรถไฟไปส่งที่โรงแรมในเมือง ราคาอยู่ที่ 20-30 บาท ส่วนรถสามล้อเครื่องหรือตุ๊กตุ๊ก ซึ่งมีลักษณะอย่างที่เห็นในกรุงเทพฯนี้เอง จะวิ่งเริ่มต้นที่ 40 บาท หากวิ่งไปส่งจากตัวเมืองไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabhat University – SRRU) ระยะทาง 3-4 กิโลเมตร ต้องใช้รถตุ๊กตุ๊ก ไม่มีรถสามล้อถีบที่ไหนให้บริการ เพราะเขาถีบในระยะทาง 3-4 กิโลเมตรไม่ไหว แต่ถ้าจะให้เขาบริการจริงๆ เขาจะคิด 100-200 บาท เหมือนรับจ้างฝรั่งพาเที่ยวรอบเมือง คือถีบไปสักระยะก็หยุดเที่ยวชม พักสักระยะแล้วก็ถีบต่อไป
ผมนึกเล่นๆว่า น่าจะต้องมีการคิดเรื่องยานพาหนะรับจ้างของเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งหลาย ที่ยังไม่มีบริการรถแทกซี่เหมือนในกรุงเทพฯ ครั้นคนต่างถิ่นจะเดินทาง โดยลากกระเป๋าเดินทางติดตัวไปด้วยไกลๆ ก็คงเป็นความไม่สะดวก แต่หากใช้รถสามล้อถีบ ก็ไม่รับวิ่งไปไกล
ลองมาดูยานพาหนะที่มีความเหมาะสมแก่เมืองต่างๆในประเทศไทย
ภาพ รถสามล้อไฟฟ้ารับผู้โดยสารขนาด 5 คน ของ Bajaj Auto Rickshaw
ลองดูในประเทศอินเดีย/จีน
รถสามล้อไฟฟ้า นั่งได้ 5 คน ใช้แบตเตอรี่แบบ lead-acid battery มีเกียร์ถอยหลังได้ ในเรื่องการใช้แบตเตอรี่นี้ หากแบตเตอรี่รุ่นใหม่ Lithium หรืออื่นๆที่มีน้ำหนักเบา สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่า ก็ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่
ติดมอเตอร์ที่ล้อหน้า ส่วนแหล่งพลังงาน ติดตั้งแบตเตอรี่ที่ใต้ที่นั่งตอนหน้า 2 ลูก และใต้ที่นั่งตอนหลัง 3 ลูก ขนาดแบตเตอรี่ 12V 200AH พลังงาน 1001-2000W, 60 Volt, ระดับความสามารถไต่ความชันได้ที่ 20 องศา ซึ่งโดยทั่วไปรถไฟฟ้าแบบดังกล่าวจะไม่มีพลังงานไต่ความสูงได้มากนัก เหมาะแก่เมืองที่เป็นที่ค่อนข้างราบมากกว่า
ในการชาร์ตไฟในแต่ละวัน ใช้เวลาชาร์ตไฟ 8-12 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ 130 กม.ด้วยการชาร์ตไฟเพียงครั้งเดียว ใช้ขนาดยางรถ ด้านหน้า 3.25-16 ด้านหลังขนาด 4.00-12 คืออ้วนกว่า แต่ว่าวงเล็กกว่า สามารถรับน้ำหนักได้ 450 กก. น้ำหนักตัวรถ 394 กก. ความเร็วสูงสุด 45 กม./ชั่วโมง
Electric Pedicabs
ทางเลือกที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้ คือ การพัฒนารถจักรยานสามล้อไฟฟ้า ออกแบบรถจักรยานสามล้อไฟฟ้าใหม่ ให้มีน้ำหนักตัวรถเบาน่าจะทำให้มีน้ำหนักตัวรถเปล่าไม่เกิน 60 กก. เมื่อรวมแบตเตอรี่แล้วไม่เกิน 100 กก. ส่วนแบตเตอรี่นั้น ให้ใช้เป็นแบบดั่งเดิมที่เป็นตะกั่ว ซึ่งราคาถูกกว่า แต่ว่าน้ำหนักจะมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ กับอีกแบบหนึ่งซึ่งมีใช้เพิ่มมากขึ้น คือเป็น Lithium battery ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว ซึ่งปัจจุบันแม้ราคาถูกลงมากแล้ว แต่ก็ยังมีราคาสูงมากอยู่ สำหรับแบตเตอรี่นั้นไม่ต้องให้ใช้ลูกใหญ่มากก็ได้ แต่ให้เติมไฟได้วันละ 2-3 ครั้ง โดยหาสถานที่เติมแถวหน้าสถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร หน้าโรงแรม ฯลฯ ซึ่งรถส่วนใหญ่ไม่ได้วิ่งตลอดเวลา มีเวลารอพักรับผู้โดยสาร หรือจะใช้วิธีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้แบบรวดเร็ว (Charging Stations) ทั้งนี้โดยให้ฝ่ายบริหารเมืองทำหน้าที่ให้ความสนับสนุนด้านสถานที่ และการให้บริการไฟฟ้า ซึ่งอาจจะฟรี หรือให้ราคาพิเศษแก่คนขี่จักรยานสามล้อได้
ส่วนการออกแบบรถจักรยานสามล้อที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรง มีระบบเกียร์ทดแรงได้ ต้องลองมองหารูปแบบ หรือต้องพัฒนาต้นแบบขึ้นเอง โดยเลือกใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบามาเป็นโครงสร้าง
ภาพ รถสามล้อถีบ บริการนักท่องเที่ยวในเมืองนิวยอร์ค (New York City Pedicabs, หรือ NYC Rickshaws)
ลองดูความเป็นไปได้เรื่อง การพัฒนาระบบสามล้อรับจ้างไฟฟ้า ที่ใช้พลังคนถีบนี้แหละ แต่ให้ได้พลังเสริมจากไฟฟ้าร่วมด้วย ซึ่งอาจเรียกว่า Electric tricycles, ฝรั่งเขาอาจเรียกว่า “แทกซี่คนถีบร่วมกับใช้ไฟฟ้า” (electric pedicabs, electric rickshaws)
Pedi, pedal = ที่ถีบ, ที่เหยียบ
Cabs = แทกซี่, Taxi
ตัวถังใช้วัสดุเบาประสมระหว่าง Aluminum และ Fiberglass ที่หล่อตามแบบ ในบางส่วน บางส่วนใช้เหล็กกลมกลวง เหมือนแบบเดิมที่ต้องใช้ความแข็งแรง น้ำหนักตัวรถไม่นับแบตเตอรี่ 60 กิโลกรัม
แบตเตอรี่ เพื่อช่วยให้สามล้อใช้เสริมพลังถีบ วิ่งได้ 40 กิโลเมตรต่อวัน ให้เลือกใช้ Lithium battery ซึ่งมีน้ำหนักเบา ให้พลังงานได้สูงแม้มีราคาแพง แต่ต้องถือว่าเป็นการทดลอง รับเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาล จังหวัด และเมือง ชาวบ้านชาวเมือง โดยหาเจ้าภาพร่วมหลายฝ่าย ต้องคิดอย่างนี้ หากประเทศจีนทำได้ เราก็ต้องทำได้
No comments:
Post a Comment