Monday, April 6, 2009

หลัก 10 ประการของการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ

หลัก 10 ประการของการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ

ประกอบ คุปรัตน์
E-mail:
pracob@sb4af.org

ความนำ

ผมได้ตรวจงานของนิสิตและนักศึกษาระดับปริญญาเอก 3 รุ่นในสองสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และได้ให้คะแนนทุกคนก่อนที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปทำงาน และฟื้นฟูการเรียนรู้ ทั้งที่ประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง ช่วงวันที่ 21 มีนาคม – จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552

คงไม่มีโอกาสให้ข้อมูลสะท้อนกลับเป็นรายบุคคลแก่ผู้เรียนได้ จึงเขียนคำแนะนำมารวมๆ แก่ทุกคนที่ได้เล่าเรียน และเพื่อให้คนอื่นๆได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ด้วย

ผมขอชื่นชมต่อทุกคนที่ได้ใช้ความพยายามในการศึกษาเล่าเรียน ผมเขียนบทความนี้เฉพาะสำหรับบรรดาผู้เรียนในวิชาที่ผมสอน และขอให้หลักที่เรียนนำไปสู่การใช้ชีวิต การประสบความสำเร็จในการเรียน และการบรรลุจุดหมายปลายทางด้านการงาน ที่จะยังประโยชน์ให้กับคนอื่นๆอีกตอไป
ปีการศึกษา 2551 นี้ผมเขียนเป็นหลักการเรียนสู่ความสำเร็จ 10 ประการไว้ดังนี้

1. เป้นเต่าที่ขยัน

เป็นเต่าที่ขยัน ยังดีกว่าเป็นกระต่ายที่ขี้เกียจ

การเรียนระดับปริญญาเอก ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี การเรียนในหนึ่งวิชาต้องใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ผู้เรียนต้องใช้เวลาสำหรับทุกวัน ทุกเดือน และแต่ละปีอย่างสม่ำเสมอ

การมาเรียนระดับปริญญาขั้นสูงนั้นเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากร แน่นอนว่าได้เรียนในประเทศก็ยังดีกว่าต้องข้ามน้ำข้าทะเลไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะนั่นอาจทำให้เราเสียโอกาสทางหน้าที่การงาน แต่การจะเรียนนี้ต้องเริ่มต้นด้วยความอุตสาหะ คือต้องจัดการกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ดีเสียแต่แรก คนที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นผลในเรื่องนี้

นั่นคือ ต้องยอมเสียบางอย่าง เพื่อให้ได้บางอย่าง นอกจากนี้คือการให้เวลาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใส่ใจนั้น ให้ทำอย่างต่อเนื่อง ศึกษาอย่างเป็นระบบ มีการบันทึกสิ่งที่ได้ค้นคว้ามา ว่าได้มาจากที่ใด มีทัศนะต่อเรื่องนั้นๆอย่างไร

คนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน อาจไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด แต่คือคนที่ขยันทำการบ้าน ร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้มีการวางเกณฑ์เอาไว้

2. เป็นเหยี่ยวที่มีสายตากว้างไกล

วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนในระดับสูง และเป็นความสำคัญสำหรับการทำงาน และเป็นหัวหน้าคน

การเรียนรู้ในทางบริหารการศึกษานั้น ความรู้รอบและรู้กว้าง เป็นเรื่องสำคัญ คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะสนใจในเรื่องใดก็ตาม ต้องหาทางเรียนรู้เข้าใจในสิ่งนั้นอย่างกว้างขวาง

อ่านให้มาก ไปศึกษาดูดัวยตนเองหากทำได้ การมีสายตาที่กว้างไกลนั้น ทุกคนมีได้

ไปพบเห็น ไปซักถาม หาทางเรียนรู้ เข้าร่วมสัมนา และอื่นๆ และ แม้แต่การต้องได้เดินทางไปให้ได้พบเห็นในสิ่งเหล่านั้น ได้สัมผัสด้วยตนเอง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สร้างฐานเพื่อนและเครือข่ายที่กว้างขวาง ที่เราจะได้ใช้เพื่อการเรียนรู้ที่ยาวไกลต่อไป

3. เป็นนกที่ออกหากินก่อนใคร

Early Birds นกที่ออกบินหากินก่อน ก็จะได้หนอนมากินก่อน

การวิ่งร้อยเมตร สำคัญตั้งแต่การออก Start เผลอช้ากว่าเพียงวินาทีเดียว ก็อาจทำให้พ่ายแพ้ได้ ในชีวิตการเรียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

ยกตัวอย่าง หากเราจะทำเรื่องอะไรก็ตาม มันต้องใช้เวลา หากเราได้เริ่มก่อนตั้งแต่แรก มีเวลาประมาณ 3 เดือนที่จะเตรียมการ ย่อมดีกว่าไปรีบดำเนินการในเวลาสัก 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะต้องส่งงาน ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้อย่างรอบคอบ และมองในรายละเอียดได้ลึกซึ้ง

การได้ประมวลการสอน หรือ Course Syllabus มาแต่แรกก็ให้อ่านให้ดีว่า ผู้สอนเขาต้องการอะไร มีอะไรที่จะต้องอ่าน ต้องศึกษา และต้องทำงานส่ง

4. สู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์

การวิเคราะห์ (Analysis) หมายถึงนำสิ่งต่างๆ มาแยกแยะ การสังเคราะห์ (Synthesis) คือการนำข้อมูลความรู้หลายๆด้าน หลายๆสิ่งมาทำความเข้าใจอย่างให้เห็นภาพรวม

การที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนแสดงความสามารถด้านการวิเคราะห์และสั้งเคราะห์นั้น คือต้องให้ผ่านการซักถามจากคนจำนวนมาก และเราสามารถตอบได้ในทุกแง่มุม

การจะวิเคราะห์ให้ได้ดีนั้น คือการต้องเป็นคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อ่านมามาก ฟังมามาก แต่ไมใช่เพื่อเชื่อหรือตามอย่าง แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลทีกว้างขวาง มีคนช่วยกันมองในหลายๆแง่มุม มองให้กว้างไกล แล้วเราต้องนำมาวิเคราะห์ด้วยตนเอง และเสนอแนววิเคราะห์อย่างสอดคล้อง

การวิเคราะห์ไม่ได้ดี ก็นำไปสู่การที่จะสังเคราะห์ที่ผิดพลาด และการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ และนำความเสียหายร้ายแรงมาสู่ตนและองค์การได้

5. เปิดใจรับฟังข้อมูล (Feedback)

การเปิดใจรับฟัง ในทุกชั้นเรียนนั้น เรามักจะใช้วัฒนธรรมแบบไทยๆ คือ “ทีคุณผมไม่ว่า ทีของข้าฯ ใครอย่างมาโวย” นั้นคือเมื่อให้มีการนำเสนองาน และรับฟังความเห็นและการซักถามจากกลุ่ม ผู้เรียนมักไม่มีใครอยากให้ความเห็น ทำให้คนมองดูงานของเขาว่าไม่ดี

แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นการจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) จำนวนมากที่ถูกปฏิเสธจากธนาคาร หรือแหล่งเงินกู้ ซึ่งทำให้เราต้องนำมาปรับปรุงหรือ ทำให้เรามีสถานะที่ดีขึ้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จึงไปขอเหล่งเงินทุนนั้นๆใหม่

บางครั้งเราต้องขอบคุณคนที่เขาปฏิเสธเรา เพราะหากเราทำไปอย่างไม่รอบคอบ อาจนำไปสู่ความเสียหายทางธุรกิจอย่างใหญ่หลวง และยากที่จะแก้ไขในชีวิต ดังนั้นขอให้ฝึกไปตลอดชีวิต ให้มีความอดทนทางปัญญา (Intellectual Tolerance) ฟังเขาอย่างเปิดใจ ขอบคุณในสิ่งที่เขาเสนอให้

รับฟังแล้วนำไปปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบ หรือรู้ว่าจะมีแผนตั้งรับ, แผนสอง, หรือ Plan B อย่างไร

6. สู่สหวิทยาการ (Interdisciplinary)

ในโลกปัจจุยันคิดทำอะไรอย่างโดดเดี่ยวด้วยความรู้เฉพาะด้านที่เรามีนั้น จะประสบผลสำเร็จได้ยาก
ยกตัวอย่างคนที่จะทำเรื่อง “ICT เพื่อการศึกษา” หรือ “ICT เพื่อโรงเรียนขนาดเล็ก” นั้นโดยหัวเรื่องเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะหากทำได้ จะมีผลดีต่อแนวทางการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนับเป็นหมื่นโรงเรียนในประเทศไทย แต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องไปหาทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ICT (Information and Communication Technology) อย่างลึกซึ้ง นักบริหารการศึกษาไม่รูเรื่อง ICT อย่างลึกซึ้งไม่แปลก แต่เราต้องหาทางไปทำงานร่วมกับคนที่รู้เรื่อง ICT แล้วนำศาสตร์หรือความเข้าใจด้าน Management ที่เรามีความรู้ด้านการวางแผน การจัดองค์การ การบริหารคน การบริหารทรัพยากร การบริหารเงิน และอื่นๆ

นักบริหารต้องหัดสนใจกว้างขวางกว่าเพียงศาสตร์ที่เราทำงาน คือศาสตร์การบริหาร การจัดการ แต่ต้องสนใจในศาสตร์อื่นๆ ที่เราต้องอาศัยประโยชน์ เราไม่ได้เรียนรู้เพื่อความเชี่ยวชาญ เป็น Specialist แต่เพื่อการนำสิ่งเหล่านั้นมาศึกษาอย่าง Generalist และพื่อบริหารให้เกิดประโยชน์

7. สร้างสรรค์และประสมประสาน (Creative and Integrated)

การจะทำอะไรให้สำเร็จนั้น นอกจากจะต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้หลักตรรกะ เรื่องของเหตุและผลแล้ว ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ และรู้จักประสมประสานในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือจากโอกาสที่มี ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

ยกตัวอย่าง สิ่งที่ดีๆที่ได้มีการนำเสนอ

  • การจัดทำความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาล กับภาคเอกชนที่จะให้มีการฝึกอบรมผู้ช่วยพยาบาล อบรมระยะสั้น
  • การสร้างระบบฝึกอบรมครูหรือผู้บริหารการศึกษา โดยใช้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคนั้นๆ
  • การเปิดสอนภาษาอังกฤษในเมืองต่างจังหวัด โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเอกชน/รัฐบาล ที่อยู่ในกรุงเทพฯ

มีอีกหลายๆเรื่องที่เป็นสิ่งที่ดี และต้องคิดไปให้ลึก ทำรายละเอียดให้ชัด มองหาทางในการดำเนินการเอาไว้เป็นทางเลือก

สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ดี แต่คนทำต้องทำอย่างสร้างสรรค์ และมีรายละเอียดมากมายที่ต้องทำอย่างใช้ศิลปะทางการจัดการ การสร้างเครือข่าย ต้องอาศัยทักษะของคนจัดการ

8. มีขั้นตอนแผนยุทธศาสตร์

การแก้ปัญหาใดๆ ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ในวันเดียว

ผมได้เสนอบทความเกี่ยวกับแผนกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประธานาธิบดีของสหรัฐในยุคปี ค.ศ. 1933 เขามีแผนยุทธศาสตร์ 3Rs คือ การเริ่มต้นด้วย Relief ตามด้วย Reform และปิดท้ายด้วย Recover

โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง 100 วันแรกนั้น เขาจะทำอะไรที่ต้องเร่งทำอย่างรีบด่วน นั้นคือ Relief อันหมายถึงการบรรเทาทุกข์ของประชาชน เช่นการสร้างงานสำหรับคนระดับรากหญ้า

เสร็จแล้วตามด้วย Reform ดังการเข้าไปจัดการกับระบบธนาคาร เพื่อทำให้ระบบการเงินกลับมาเดิน มีความมั่นคงให้ความมั่นใจ ไม่ต้องแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร ภาคเอกชนคิดจะทำอะไร ก็ให้กลับมาทำได้

ส่วนสุดท้าย คือการ Recover ทำให้ทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง ดังการช่วยเหลือแบบประชานิยมนั้น ไม่สามารถนำไปใช้อย่างยืนยาว ต้องทำให้คนได้มีสถานะเงยหน้าอ้าปกได้ แล้วให้ระบบทุนนิยมได้กลับมาทำหน้าที่ แต่ทำหน้าที่ได้อย่างรับผิดชอบ

ย้อนกลับมาที่งาน Business Plan ที่ผมให้นั้น ให้เวลาทำ 3 ปี ก็ต้องคิดว่า แต่ละปีนั้นคงดำเนินการไม่เหมือนกัน มิฉะนั้นก็เป็นการทำงานไปปีที่หนึ่ง ส่วนปีที่สอง และสาม ก็คือทำสำเนาของปีที่ 1 แล้วตัดแปะเป็นปีที่สองและสามต่อไป นั่นไม่มีทางที่จะเป็นตำตอบ

งานใหญ่ ทุกคนต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ และมีขั้นตอน “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” งานของเราหลายๆอย่าง ต้องทำอย่างมีขั้นตอน งานบางอย่างเริ่มต้นไว้ ต้องคิดว่าบางที่อาจจะสำเร็จได้ในอีก 10-20 ปี เราอาจไม่อยู่แล้ว แต่คนรุ่นหลังต่อไป ต้องสามารถพัฒนาระบบต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง

9. จับรายละเอียด

สำหรับผู้เรียนที่จะประสบความสำเร็จนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะจับทุกอย่างอย่างใส่ใจในรายละเอียด ดังเราจะเห็นได้ว่าภาพยนต์ที่ประสบความสำเร็จได้ตุ๊กตาทองนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพนตร์ที่ลงทุนมากที่สุด แต่เป็นเรื่องที่เริ่มตั้งแต่ผู้กำกับ ไล่ไปจนถึงคนแสดงแต่ละคนได้ทำหน้าที่อย่างตั้งใจ ใส่ใจในรายละเอียด
คิดไปถึงการที่แต่ละคนจะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานวิจัยทีครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ใช้เวลาทำนาน หรือต้องใช้ทรัพยากรมากมาย แต่เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยจะต้องทำอย่างใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่ความถูกต้องใน format, การอ้างอิงที่ถูกต้องจนถึงระดับหน้าที่เท่าใดที่ไปเอาข้อความเขามา เอามาแล้วมีทัศนะต่อความนั้นๆอย่างไร

10. มีก๊อกสอง (Persistence)

ผมเห็นชีวิตการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน ก็ย้อนกลับไปถึงเมื่อผมเป็นผู้เรียนเช่นกัน มันไม่ตางอะไรกันมากนัก เพื่อนๆผมหลายคนก็อย่างเดียวกัน เวลาเรียนหนังสือก็น้ำตาร่วงกันมาแล้ว บางคนเรียนไป เข้าห้องสมุดต้องหิ้วลูกใส่ตะกร้า เตรียมนมไปป้อนด้วย เพราะภรรยาก็ต้องไปทำงานหารายได้มาเป็นเงินค่าใช้จ่าย ต้องมีความอัตคัด ไหนจะต้องเรียนให้ผ่าน ไหนไปพบอาจารย์จะถูกแก้ไขงานแดงเถือก ต้องกลับมานั่งพิมพ์งานใหม่

คนเรียนปริญญาเอกหลายคนถอดใจ ยอมแพ้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่คนที่จะต้องก้าวต่อไป เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ท่านจะได้เรียนรู้จากความทุกข์ยาก ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ทางสู่ความสำเร็จจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เราต้องเรียนรู้ที่จะฟันฝ่า ล้มแล้วต้องรู้จักลุกขึ้นมาสู้ใหม่ เผชิญกับปัญหาอย่างเบิกบาน แล้วทำให้ทุกอย่างนำไปสู่ความสำเร็จให้ได้

No comments:

Post a Comment