Sunday, April 12, 2009

คนเยอรมันกับวัฒนธรรมการทำงานหนัก

คนเยอรมันกับวัฒนธรรมการทำงานหนัก

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat

Keywords: Cw022 German proverb, สุภาษิตเยอรมัน, ประเพณีและวัฒนธรรม ความขยันหมั่นเพียร การทำงานหนัก Hard working
Updated: Monday, January 02, 2012

ในภาษาเยอรมันเขามีคำกล่าวว่า "Am Abend werden die Faulen fleissig." ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Lazybones take all day to get started." แปลเป็นไทยได้ความว่า "คนขี้เกียจใช้เวลาทั้งวันกว่าจะเริ่มได้"

ซึ่งสุภาษิตนี้เป็นการตำหนิคนเกียจคร้าน ไม่ขยันขันแข็งในการทำงาน ซึ่งไม่ใช่คุณค่าของคนตะวันตกดั้งเดิม เช่นคนเยอรมัน และรวมไปถึงคนเยอรมันที่อพยพไปอยู่โลกใหม่ อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ได้นำค่านิยมเหล่านี้ติดตัวไปด้วย ค่านิยมเหล่านี้เขาเรียกว่า Work Ethics คือการทำงานหนัก และยกย่องคนที่ทำงานหนัก รับผิดชอบในงาน ทำอะไรก็จะพยายามทำอย่างดีที่สุด ทำอย่างไว้ฝีมือ

ค่านิยมเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่นราวปี ค.ศ. 1944 เป็นต้นมา พอเยอรมันแบ่งออกเป็น 2 ซีกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายที่อยู่ในความดูแลของสัมพันธมิตร หรือซีกเยอรมันตะวันตก ก็รีบเร่งในการสร้างชาติใหม่ ที่หลังสงครามเหลือแต่สิ่งปรักหักพัง และความบอบช้ำจากสงคราม คนเยอรมันทำงานหนัก บากบั่น และทำงานอย่างไว้ฝีมือ ไม่นานนักเขาก็สร้างประเทศ กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรปอีกครั้ง ยิ่งประเทศอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถสั่งสมกำลังรบ และไม่มีกองทัพ งบประมาณก็ถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศในแนวทางสันติได้อย่างเดียว ประเทศเยอรมันตะวันตกจึงเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกครั้งภายในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับประเทศญี่ปุ่น ที่คนของเขาเป็นคนขยัน ทำอะไรจริงจัง ซึ่งก็กลับฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งคือในซีกเยอรมันตะวันออก อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย และอิทธิพลของสหภาพโซเวียตอันมีการปกครองในแบบคอมมิวนิสต์ ในช่วงหลังสงครามใหม่ๆ จะไม่เห็นความแตกต่างกันจากเยอรมันตะวันตกมากนัก เพราะบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สองมาด้วยกัน แต่อยู่ๆ ไปก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น ในเยอรมันตะวันออกที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ คนไม่ขยันขันแข็ง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ทำงานอย่างไม่มีแรงจูงใจ คนไม่แข็งขัน ไม่มีความมุ่งมั่นและมีความภาคภูมิใจในการทำงานอย่างไว้ฝีมือของตน ซึ่งก็เป็นเช่นประชาชนในระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วไป และยิ่งไม่มีเสรีภาพที่จะพูดหรือนำเสนอ ทำอะไรก็ต้องคอยดูซ้ายดูขวาว่ามีสายลับของรัฐบาลคอยเฝ้าดูพฤติกรรมอยู่หรือไม่ แม้ในเยอรมันตะวันออก คนจะไม่อดตาย แต่ความที่ไม่ขวนขวาย ไม่เข้มแข็ง ก็ไม่มีอะไรที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีการพัฒนา ทุกคนอยู่อย่างไม่ใส่ใจในการพัฒนาตนเองและประเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมถอยและหยุดชะงัก นับวันความแตกต่างก็มากขึ้นจนกระทั่ง เขาทนกันไม่ไหว คนสูงอายุอึดอัดและเครียดกับสภาพชีวิตที่ไม่มีอะไรดีขึ้น คนหนุ่มสาวเติบโตขึ้นมาใหม่ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากตะวันตก ก็ต้องการเสรีภาพ มีการหลั่งไหลแอบลี้ภัยมายังซีกตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ จึงในที่สุดราวปี ค.ศ. 1989 ได้มีการต่อต้านรัฐบาลและการปกครองแบบคอมมิวนิสต์รุนแรง มีการประท้วงและท้ายสุดนำมาซึ่งความล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และระบบรัฐราชการ

แม้กระนั้น การรวมตัวอีกครั้งของเยอรมันตะวันตกและตะวันออก ก็ต้องมีการมาสร้างค่านิยมในการทำงานใหม่ เพราะหลายๆส่วนยังติดยึดกับการคิดแบบราชการ และทำงานแบบเก่า

มาบัดนี้ในปี ค.ศ. 2011-2012 สังคมยุโรปโดยรวมเข้าสู่สภาพถดถอย แต่เยอรมนีทั้งประเทศกำลังแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจขึ้นทุกวัน และชาติต่างๆในยุโรปเองก็หวังให้เยอรมันต้องเป็นแม่งานหนึ่ง ที่จะนำพาสังคมประเทศยุโรปกลับคืนสู่สภาพฟื้นตัวได้โดยเร็ว

ภาพ ช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันถูกโจมตีจากกองทัพพันธมิตรรอบด้าน รวมถึงการทิ้งระเบิดในเมืองใหญ่อย่างต่อเนื่อง


ภาพ ในสภาพสงคราม เยอรมันทั้งสองฟาก ทั้งตะวันตกและตะวันออกล้วนบอบช้า ไม่เหลืออะไร

ภาพ ในช่วงปี ค.ศ. 1989 เยอรมันตะวันออกได้ทรุดโทรมในเกือบทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม แม้จะไม่อดอยาก หรืออดตาย แต่ความอึดอัดต่อสภาพที่เป็นอยู่ จึงทำให้ถึงจุดจบของระบบคอมมิวนิสต์ กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ที่ทำขึ้นเพื่อแบ่งแยก 2 ฝ่ายของเยอรมัน ท้ายสุดก็ต้องถูกทำลายและรื้อถอนในที่สุด

No comments:

Post a Comment