Saturday, April 11, 2009

ประชาธิปไตย (Democracy) ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

ประชาธิปไตย (Democracy) ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง



ประกอบ คุปรัตน์

Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com


Updated: Sunday, October 15, 2006
From Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: Cw218 ประชาธิปไตย democracy, การเมือง, การปกครอง

ความนำ


ประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 และจนเกือบตลอดปี พ.ศ. 2549 ได้เกิดวิกฤติทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ มีการยุบสภาที่ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่ขณะเดียวกันได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ที่เป็นโมฆะ มีวิธีการจัดตั้งที่ไม่โปร่งใส มีวิธีการจัดคูหาการเลือกตั้งทั่วประเทศที่ไม่ได้ให้หลักประกันด้านความลับในการลงคะแนนหย่อนบัตรของประชาชน มีการบอยคอตโดยพรรคฝ่ายค้านใหญ่ 3 พรรค เหลือเพียงพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคขนาดเล็กที่ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง มีตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวที่ได้รับเลือกตั้ง แต่เมื่อรวมก็ยังไม่ได้ผู้ได้รับพิจารณาให้เป็นผู้แทนราษฎรครบตามจำนวน ต้องเลือกตั้งใหม่อีกหลายครั้ง ท้ายที่สุดมีระบบการเลือกตั้งที่ศาลตัดสินว่าไม่ชอบด้วยประชาธิปไตย มีรัฐบาลรักษาการโดยไม่มีระบบรัฐสภายาวนานที่สุด มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกฟ้องศาลว่าปฏิบัติหน้าที่มีชอบและเป็นผลทำให้เกิดความชงักงันทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจไม่สามารถดำเนินการวางแผนการใหญ่ เพราะไม่มีความแน่นอนทางการเมือง ไม่กล้าตัดสินใจลงทุนขนาดใหญ่ เพียงแต่ดำเนินธุรกิจต่างๆ ไปอย่างที่เคย ในขณะที่ประเทศต้องประสบปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน ด้านความขัดแย้งและขยายความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อะไรที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ที่ท้ายสุดนำมาซึ่งการชงักงันชนิดไม่มีทางออกเป็นเวลานาน งบประมาณแผ่นดินไม่สามารถจัดสรรให้มีการใช้จ่ายได้ตามปกติ อะไรคือปัญหาเหล่านี้

มีอะไรเกิดขึ้นและเป็นความผิดพลาดของประชาธิปไตยในประเทศไทย มีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศไทย บางคนบอกว่าระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ (Constitution) นั้นดีแล้ว แต่คนที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ นั้นไม่ดีต่างหาก แต่ก็มีบางฝ่ายให้เหตุผลว่า ยังมีข้อบกพร่องของระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่คงต้องมีอะไรบางอย่างที่บกพร่องและผิดพลาดแน่ แต่ที่ไหน และอย่างไร

ความหมายของคำ

Democracy หรือ ประชาธิปไตย เป็นคำศัพท์มาจากภาษากรีก (δημοκρατία - Demokratia) Demos มีความหมายว่า สามัญ หรือประชาชนทั่วไป Cracy หรือ Kratein หมายความถึง การปกครอง Democracy หมายถึงการปกครองในแบบหนึ่งที่ประชาชนในสังคมเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลของตน แต่ในความหมายนี้ ได้มีการตีความแตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดมีประเภทของประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นคำที่มีความหมายที่ดีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และเป็นระบบเข้ามาแทนที่การปกครองภายใต้เผด็จการ (Dictators) แต่ขณะเดียวกัน เผด็จการก็ยังมีอำนาจ โดยการจัดฉากแสดงการเลือกตั้ง แสดงความชอบธรรมให้กับตนและกลุ่มพรรคพวกได้ในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในหลายๆประเทศทั่วโลก พยายามแสดงตนเองว่ามีการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยทีแตกต่างกันไป แม้ประเทศที่มีการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เอง ก็เรียกการปกครองของตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย

ประเภทของประชาธิปไตยKinds of democracy

มีประเภทของประชาธิปไตย 3 ลักษณะที่ควรให้ความสนใจ อันได้แก่ (1) ประชาธิปไตยทางตรง (2) ประชาธิปไตยผ่านตัวแทน และ (3) ประชาธิปไตยเสรีนิยม

1. ประชาธิปไตยทางตรง (Direct democracy) เป็นระบบที่ประชาชนสามารถออกเสียงเกี่ยวกับการตัดสินใจเกี่ยวกับรัฐบาล จะรับหรือปฏิเสธกฎหมาย ที่เรียกว่าทางตรง (Direct) เพราะอำนาจในการตัดสินใจกระทำโดยประชาชนโดยตรง โดยไม่ต้องมีตัวแทน (Intermediaries หรือ Representatives) โดยประวัติศาสตร์แล้ว รูปแบบการปกครองดังกล่าวมีได้น้อย เนื่องจากความยุ่งยากในการให้ประชาชนในที่ต่างๆ มาอยู่ในที่ๆ เดียวกันเพื่อจะมาออกเสียง ประชาธิปไตยทางตรงจึงเป็นการกระทำกันในระดับชุมชนขนาดไม่ใหญ่

ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ประชาธิปไตยทางตรงแบบกรีกโบราณ ทำได้เพราะความเป็นนครรัฐ (City-States) เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่ และแท้จริงสิทธิในการออกเสียงนั้นจำกัดอยู่เฉพาะประชากรชายกลุ่มนำ ที่ไม่ใช่ทาสและลูกจ้าง

ในปัจจุบันระบบการสื่อสารอินเตอร์เน็ต ทำให้ระบบการเลือกตั้งทางตรงมีความเป็นไปได้ แต่ระบบนี้ก็จังไม่ได้รับการยอมรับให้มีการออกเสียงผ่านระบบการสื่อสารยุคใหม่นี้

2. ประชาธิปไตยผ่านตัวแทน (Representative Democracy) ความเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีประชากรมาก และอยู่กระจัดกระจาย เป็นไปได้ยากที่จะตัดสินใจในกิจการบ้านเมืองทุกเรื่อง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงจึงเป็นเรื่องยาก และในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้ ทั้งนี้โดยการมีตัวแทนที่ได้รับเลือกจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าไป โดยหวังว่าเขาจะเข้าไปดูแลรักษาผลประโยชน์ของคนที่ได้เลือกเขาเข้าไป ที่เรียกว่าประชาธิปไตยตัวแทนเพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจโดยตรง แต่โดยผ่านตัวแทนที่ตนเลือกเข้าไป ประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทนนี้มีทั้งที่เป็นเสรีนิยม และที่ไม่ใช่เสรีนิยม

3. ประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal democracy) เป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบผ่านตัวแทน โดยต้องอาศัยการมีกฎหมาย และการแยกระบบอำนาจต่างๆ ออกจากกัน (Rule of Law และ Separation of Powers) ในทางปฏิบัติ ไม่มีการกำหนดอำนาจให้ชัดเจนได้ว่าตัวแทนจะสามารถใช้อำนาจไปในการปกครองอย่างไร แต่ในอีกด้านหนึ่งมีความชัดเจนในความเชื่อและการปฏิบัติ คือการต้องคำนึงถึงสิทธิของคนส่วนน้อย และการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มีการละเมิดหรือข่มเหงคนส่วนน้อยที่เขาเป็นผู้เสียเปรียบจากการตัดสิน การออกกฎหมายของคนส่วนใหญ่

ประวัติประชาธิปไตยHistory of democracy


ประชาธิปไตยเริ่มแรกที่มีการใช้ในรูปสาธารณรัฐ (Republics) ได้มีขึ้นในอินเดียยุคโบราณ ในสมัย 600 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นช่วงก่อนกำเนิดของพระพุทธเจ้า (Buddha) สาธารณรัฐเหล่านี้เรียกว่า Maha Janapadas และในจำนวนนี้มีไพสาลี (Vaishali), ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่ารัฐพิหาร (Bihar) ในประเทศอินเดีย (India) ซึ่งจัดว่าเป็นระบบสาธารณรัฐแห่งแรกของโลก ในสมัยต่อมาในยุโรปในยุคสมัยของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ในช่วง 4 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ชาวกรีกได้เขียนเกี่ยวกับ รัฐชื่อว่า Sabarcae และ Sambastai ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศปากีสถาน (Pakistan) และ อัฟกานิสถาน (Afghanistan) ที่ซึ่งได้มีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยที่ยอมรับโดยนักปราชญ์ชาวกรีกในยุคนั้น

ในการปกครองแบบประชาธิปไตยในสมัยโบราณนั้นไม่ใช่ว่าจะเหมือนกับประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพราะมีเพียง 1 ใน 6 ของประชากร หรือประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสรีชน ไม่ใช่ทาส เป็นชายในเมืองเอเธนส์ และมีการกำหนดโดยความเป็นชนชาติ (Nationality) ซึ่งจะแตกต่างจากประชาธิปไตยแบบเยอรมันในปัจจุบันที่ไม่มีการกำหนดโดยฐานะ ในยุคนั้น ชาวเอเธนส์ที่เป็นพลเมือง (Citizens) มีสิทธิที่จะออกเสียง และพูดในสภา ชาวเอเธนส์โบราณสามารถออกเสียงตัดสินใจได้โดยตรง มากกว่าที่จะออกเสียงผ่านตัวแทน ประชาธิปไตยในแบบเอเธนส์โบราณนี้เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) หรือ ประชาธิปไตยบริสุทธิ์ (pure democracy)

ในยุคปัจจุบัน ความหมายของประชาธิปไตยได้เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เริ่มตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ได้มีการการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศ โดยเริ่มจากทางยุโรปเป็นต้นมา

Freedom House ได้แสดงผลการศึกษาว่าจากประเทศในโลก 192 ประเทศ มี 120 ประเทศหรือร้อยละ 62 ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย มี 25 ประเทศ หรือประมาณร้อยละ 19 ในโลกที่จัดว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างจำกัด (Restricted Deomcratic Pracites) ในปี ค.ศ. 1900 มีเพียง 16 ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือร้อยละ 8 ของชาติในโลกปัจจุบัน มี 19 ประเทศในปี ค.ศ. 1900 ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข และมีพระราชอำนาจในระดับหนึ่งที่จะยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็มีบางประเทศเหมือนกันที่ในปัจจุบันกลับปรับเปลี่ยนจากประชาธิปไตยไปสู่ระบบอื่น ดังในปี ค.ศ. 2000 ตัวอย่างประเทศเนปาล (Nepal) ที่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเปลี่ยนไป โดยใช้อำนาจกฏอัยการศึก หรือประกาศสภาวะฉุกเฉิน (emergency powers) เพื่อที่จะจัดการกับปัญหากบฏภายในประเทศ

การเปลี่ยนแปลงในช่วงศตวรรษที่ 2020th century waves of democracy


ในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้มีการแผ่ขยายระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปแบบช้าๆ การเปลี่ยนแปลงบางส่วนเป็นผลมาจากสงครามและการปฏิวัติ ในบางกรณีเป็นผลมาจากการใช้กำลังทัพจากภายนอกประเทศ โดยคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “การปลดแอก” (Liberation) เพราะไม่มีตัวกรอบวัดว่าใครเป็นคนอนุญาตให้ทำการยึดอำนาจด้วยกำลังได้

จากสงครามโลกครั้งที่สอง (World War I) ได้มีชาติเกิดใหม่ขึ้นหลายชาติในยุโรป และเกือบทั้งหมดเป็นระบอบประชาธิปไตย ส่วนประเทศที่ได้พัฒนามาก่อนหน้านี้ อันได้แก่ France, Britain, Belgium และ
Switzerland ยังคงระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของตนต่อไป

ในประเทศเยอรมัน มีการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยไวม่า (Democratic Weimar Republic) และขณะเดียวกัน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้เกิดระบอบเผด็จการ ดังเช่นระบบนาซีเยอรมัน (Nazi Germany) และเผด็จการภายใต้มุสโซลินี (Mussolini) ของอิตาลี ฟรังซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ของประเทศสเปน (Spain) และ อันโตนิโอ เดอ โอลิเวียร่า ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) แห่งประเทศปอร์ตูเกส (Portugal) ประชาธิปไตยในช่วงดังกล่าวถูกมองว่าเชื่อมโยงกับการล้มระบอบกษัตริย์หรือการปกครองเดิมที่ทดแทนด้วยเผด็จการ แต่ขณะเดียวกันการปกครองแบบอาณานิคมก็ยังคงอยู่

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในยุโรปตะวันตกกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย และประชาธิปไตยสามารถขยายกว้างได้ด้วยกำลังทหาร ดังการยึดครองประเทศเยอรมันนีของฝ่ายสัมพันธมิตร และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการสู่ความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามในยุโรปตะวันออกกลับกลายเป็นอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มโซเวียต (Soviet bloc) ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นเผด็จการโดยคอมมิวนิสต์ ที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย สงครามโลกครั้งที่สองได้นำมาสู่การล่มสลายของการปกครองแบบอาณานิคม (Decolonisation) และรัฐที่เกิดใหม่หลังยุคอาณานิคมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายชาติตะวันตกได้มีระบบเศรษฐกิจแบบประสม (mixed economy) และได้พัฒนาสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางของพรรคการเมืองและทัศนะของผู้เลือกตั้ง ก็สนับสนุนประเทศให้เป็นไปในทางนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งทางฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตก และฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงหลังจากนั้น การที่ใช้ระบบเศรษฐกิจควบคุมโดยรัฐ (State-Controlled Economies) ได้เข้าสู่ยุคเสื่อมในชาติตะวันตก และเศรษฐกิจแบบจัดการโดยรัฐของกลุ่มสหภาพโซเวียตก็ได้ถึงจุดล่มสลาย และนับเป็นการยุติสงครามเย็น (Cold War) กระบวนการประชาธิปไตยและการปลดปล่อยให้เป็นประเทศเสรีก็ได้เริ่มขึ้นในกลุ่มประเทศภายใต้สหภาพโซเวียต และรวมถึงตัวสหภาพโซเวียต (Soviet Republics)

ในทรรศนะของชาวตะวันตก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจเรียกว่า “การปลดปล่อย” (Liberation) แต่ในหลายๆ ส่วนของประชากร มันเป็นความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและการหายไปของระบบสวัสดิการสุขภาพ การล่มสลายของระบอบสหภาพโซเวียตได้ทำให้เกิดภาพหลอนและปรากฏการณ์ใหม่ มีบางส่วนกลายเป็นประชาธิปไตย หันมาใช้ระบบตลาดเสรีและประสบความสำเร็จ แต่บางส่วนความเปลี่ยนแปลงไม่ได้นำมาซึ่งความกินดีอยู่ดี แต่ในทางตรงกันข้าม มีแนวโน้มกลับไปสู่ความเป็นเผด็จการ แม้แต่ในสหภาพโซเวียตรัสเซียเอง ก็มีบรรยากาศของการยอมรับเผด็จการโดยรัฐ แต่ต้องการความมั่นคง เสถียรภาพ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนเงยหน้าอ้าปากได้อีกครั้ง

โดยภาพรวมๆ ส่วนที่ใกล้ไปทางยุโรปตะวันตก ก็จะมีแนวโน้มไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเสรี ส่วนที่เป็นเอเชียกลาง มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความเป็นเผด็จการ ทรรศนะที่ตามมาคือเรื่องของการเปิดตลาดการค้าเสรี ก็ได้รับการตอบสนองที่แตกต่างกัน บางส่วนยังคงระบบการให้บริการขั้นพื้นฐานโดยรัฐ แต่บางส่วนมุ่งสู่การมีตลาดแบบเปิดเสรี

ในราวๆ ทศวรรษที่ 1960 ประเทศอิสระทั้งหลายต่างก็อ้างว่าได้มีการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีปัญหาด้านการโกงเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งอาจมีประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ เช่น ประชาธิปไตยอย่างจำกัด (limited democracy) ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว (one-party system) ระบบการเมืองแบบสองพรรค (two-party system) ระบบประธานาธิบดีตลอดชีวิต (president for life) และระบบการปกครองที่สิทธิในการเลือกตั้งถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม (other forms of subterfuge)
และด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้เกิดการเคลื่อนไหวแบบพลังประชาชน (People Power) และมีความพยายามนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยมีการปกครองประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนและประชาธิปไตยแบบตรง ซึ่งได้เกิดขึ้นในเอเชียกลาง (Central Asia) ที่ได้เริ่มในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เป็นต้นมา ความเคลื่อนไหวนี้มีทั้งในลาตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัฐอาหรับ และประเทศในอัฟริกาบางประเทศ ที่เห็นเด่นชัดคือเลบานอน (Lebanon) และรัฐปาเลสไตน์ (Palestinian Authority)

การเติบโตของประชาธิปไตยเสรีนิยมนับว่าได้เข้าสู่จุดสูงสุด และยังดูจะเติบโตต่อไปโดยไม่มีการหยุดยั้ง และอาจกลายเป็นระบบการปกครองมาตรฐานในโลกและสังคมมนุษย์

องค์ประกอบอันจำเป็นEssential elements of a democracy


รัฐบาลในแบบประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ และได้พัฒนาจนถึงระดับหนึ่งแล้ว มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. สิทธิและหน้าที่ของคนในชาติ ความเป็นชาติ (nation), การมีส่วนร่วมของพลเมืองที่บรรลุนิติภาวะ (citizenship) พลเมืองที่เป็นผู้ใหญ่หรือที่บรรลุนิติภาวะนั้นอาจเริ่มตั้งแต่ 18 ปีจนถึง 21-22 ปีแล้วแต่ประเทศ คนที่ไม่ใช่ประชาชนและพลเมืองของคนในชาตินั้นจะไม่มีสิทธิและหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

2. ความเป็นรัฐอิสระ (nation-state) มีอธิปไตยในประเทศของตนเอง ที่กล่าวดังนี้เพราะประเทศบางประเทศนั้นอาจไม่มีอธิปไตยในประเทศของตน เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศอื่นๆ เช่น เป็นเมืองขึ้นหรือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม เป็นต้น

3. ความเป็นแผ่นดินแม่ (Motherland) อันประชากรที่จะมีสิทธิมีเสียงได้นั้นต้องมีความเป็นพลเมืองของแผ่นดินแม่ คือเกิดในแผ่นดินนั้นๆ หรือได้รับสิทธิในความเป็นพลเมือง หลังจากได้มาพำนักอาศัยในแผ่นดินนั้นๆ มายาวนานพอ หรือได้ทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินนั้นๆ นานพอ คนบางคนมีความเป็นพลเมืองใน 2 ประเทศ เนื่องจากอาจเกิดในแผ่นดินหนึ่ง แต่ไปใช้ชีวิตเติบโตและประกอบอาชีพในอีกแผ่นดินหนึ่ง ซึ่งท้ายสุดก็ต้องเลือกว่าตนเองนั้นมีแผ่นดินแม่ที่ใด ในบางประเทศดังในสหรัฐอเมริกา การจะเป็นตัวแทนทางการเมืองในบางระดับ ต้องมีหลักฐานการเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือมีบิดา หรือมารดาที่เป็นชาวอเมริกัน

4. การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ referendum, กระบวนการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปในรัฐสภา หากเป็นทางตรง ก็จะมีกระบวนการประชามติ (Referendum) หรือในกรณีทางอ้อมจะรวมถึงกระบวนการทางรัฐสภา โดยมีการเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานในรัฐสภา (parliament)

5. กระบวนการได้รับความชอบธรรมโดยประชาชน นั้นหมายความว่า ผลของการทำงานเป็นที่ยอมรับได้ โดยมีความชอบธรรมทางการเมือง (Political legitimacy) และเป็นไปตามความประสงค์ของประชากร ซึ่งกระบวนการนี้นอกจากการเลือกตั้ง การแสดงประชามติแล้ว ยังรวมไปถึงกระบวนการทางศาล เนื่องจากการเลือกตั้งหรือประชามติก็ดี อาจไม่ได้เป็นไปตามความคิดเห็นและสิทธิของประชาชน ในการนี้หากระบบการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของประชาชนเป็นลักษณะการจัดฉาก มีการเตรียมกันอย่างลับๆ มาก่อน ก็จะถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

6. ความมีประสิทธิภาพในกระบวนการ ถ้าประชาชนต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบ ก็ให้สามารถกระทำได้โดยง่าย หรือเป็นไปได้ ดังเช่นผู้บริหารประเทศมีวาระการดำรงตำแหน่ง มีการเลือกตั้งเพื่อตัดสินสิทธิในการมีอำนาจในการบริหารประเทศ และเมื่อมีปัญหาด้านความไม่ชอบธรรม ประชาชนทั่วไป ก็มีกระบวนการถอดถอนตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปอยู่ในอำนาจได้ และเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็เลือกตั้งอย่างโปร่งใส ไม่ใช้เป็นการเลือกตั้งแบบจัดฉาก (Showcase elections) เพื่อเป็นการตบตา ซึ่งถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

7. รัฐต้องมีอธิปไตย (Sovereign) เมื่อประเทศใดได้ตัดสินใจในนโยบายประเทศหรือการออกกฏหมายแล้ว ถือเป็นยุติ ไม่ใช่มีอำนาจที่เหนือกว่านั้น เช่นไม่มีประเทศมหาอำนาจ ประเทศแม่ หรือประเทศที่มีอิทธิพลที่เหนือกว่ามากำกับ หรือจัดการอีกที

แนวคิด 4 ประการ


แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอาจมีความแตกต่างด้านความคิดความเชื่อเป็นอย่างน้อย 4 แบบดังต่อไปนี้

แนวคิดที่ 1 ยุ่งให้น้อยที่สุด (Minimalism) โดยถือว่าการที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และในบางลักษณะไม่เป็นประโยชน์ อาจเพราะคนหมู่มาก หรือประชาชนทั่วไป ท้ายสุดก็ไม่สามารถเข้าใจประเด็นการเมืองที่มีความซับซ้อนได้มากนัก คนที่มีแนวคิดในกลุ่มนี้ได้แก่ Joseph Schumpeter ในหนังสือของเขาชื่อ Capitalism, Socialism, and Democracy [3]. และรวมไปถึงแนวคิดของนักคิดที่คล้ายกันได้แก่ William Riker, Adam Przeworksi, และ Richard Posner.

แนวคิดที่ 2 ประชาธิปไตยสายกลาง (Aggregative Conception of Democracy) คำว่า Aggregation หมายถึงการมาประสมหรือมารวม กล่าวคือรัฐบาลที่จะอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องสามารถได้รับความยอมรับจากทั้งฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา และสามารถใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติและการกำหนดนโยบายที่จะตอบสนองต่อคนที่แม้จะมีความแตกต่างกัน มีลักษณะตรงกันข้ามกัน รัฐบาลที่ดีจึงต้องมีวิธีการที่จะยืนอยู่บนทางสายกลาง ครึ่งหนึ่งสร้างความพอใจให้กับฝ่ายที่ยืนอยู่ทางซ้าย และอีกครึ่งหนึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับพวกที่ยืนอยู่ทางขวา หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือพวกที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้ พวกที่มีแนวความคิดสะท้อนในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ Anthony Downs จากหนังสือของเขาในปี ค.ศ. 1957 ที่มีชื่อว่า An Economic Theory of Democracy

แนวคิดที่ 3 ประชาธิปไตยโดยผ่านกระบวนการโต้เถียงและแสดงเหตุผล (Deliberative Democracy) ด้วยความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องที่ทำให้รัฐบาลและฝ่ายต่างๆ ต้องมีการอภิปราย นำประเด็นและข้อเท็จจริงมาตีแผ่ แสดงเหตุผล และเหตุผลนั้นเป็นที่ยอมรับของประชากรทั้งหมด เวทีทางการเมืองคือที่ๆ ผู้นำและประชากรจะสามารถโต้เถียง นำเสนอประเด็น ฟัง และสามารถเปลี่ยนใจได้ หากเหตุผลได้บ่งชี้ไปในทิศทางที่อาจไม่ได้เริ่มไว้แต่แรก

แนวคิดที่ 4 ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) กลุ่มนี้มีแนวความเชื่อว่าประชาธิปไตยที่ดีนั้น ประชาชนจะต้องได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางกฎหมายและการกำหนดนโยบาย ไม่ใช่เพียงผ่านตัวแทนของตนเท่านั้น ฝ่ายที่มีความเชื่อเช่นนี้มีเหตุผลที่ยกมาอ้างมากมาย โดยมองเห็นว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยจะเกิดประโยชน์ ต่อเมื่อมีกระบวนการสื่อสารทางการเมืองที่ดี มีการให้การศึกษาด้านการเมืองการปกครองแก่ประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบกลุ่มคนชั้นนำ (Political Elites) ที่เข้ามามีอิทธิพลทางนโยบาย กลุ่มนี้มีความเชื่อว่า ประชาธิปไตยจะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายของรัฐ

ความชอบธรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมประชาธิปไตย
Political legitimacy and democratic culture

ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็น และการปกครองที่ดีนั้นต้องไม่มีทัศนะต่อต้านรัฐเกิดขึ้นมากนัก ความคิดเห็นแตกต่างมีได้ แต่ท้ายสุดต้องไม่นำมาซึ่งการต่อต้านรัฐอย่างกว้างขวาง หรือต่อต้านโดยใช้ความรุนแรง กลายเป็นสงครามกลางเมือง

ในสังคมประชาธิปไตย ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเพียงการเลือกตั้งนั้นจะทำให้มีการแบ่งขั้ว มีผู้แพ้ และมีผู้ชนะ วัฒนธรรมประชาธิปไตยคือการสร้างความรู้สึกที่ทำให้ฝ่ายแพ้ยอมรับผลของการเลือกตั้งได้ เคารพในผลของการเลือกตั้ง และเกิดการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ การยอมรับในเสียงและทัศนะของฝ่ายตรงกันข้ามเป็นเรื่องที่สำคัญ และสังคมประชาธิปไตยจะต้องสร้างความรู้สึกในการอดทนต่อความแตกต่าง และเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น แม้ความคิดเห็นนั้นจะมาจากคนกลุ่มน้อย

การที่กระทำได้ดังนี้คือ คนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย หรือขวา กลุ่มอนุรักษ์หรือกลุ่มก้าวหน้า ก็สามารถมีส่วนร่วมในค่านิยมพื้นฐานนั้นๆ ประชาชนจะตระหนักได้ดีว่ารัฐบาลที่เขาเลือกหรือไม่ได้เลือกเข้าไปนั้น จะไม่นำนโยบายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และบดบังสิทธิของคนส่วนน้อยเข้าไป

เพียงการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมในประเทศหนึ่งจะไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเมือง (Political Institutions) ที่เป็นทางเลือกทางออกของสังคม ต้องให้มีระบบราชการที่ต้องปรับเปลี่ยนไปได้ตามนโยบายที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดโดยผ่านทางตัวแทนของเขา เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องยากทางวัฒนธรรมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ที่บางครั้งมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง และใช้อำนาจเข้าจัดการ การเปลี่ยนแปลงแบบใช้อำนาจดังในกรณีของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 (Revolutionary France) ที่ต้องมีการนองเลือด ในปัจจุบันดังในการเปลี่ยนแปลงของประเทศอูกานดา (Uganda) และอิหร่าน (Iran) ซึ่งเป็นไปด้วยความรุนแรง และท้ายสุด การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยก็เป็นได้อย่างจำกัด จากเลิกระบบกษัตริย์ได้ แต่ก็ไม่ได้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในระยะต่อมา เพราะยังไม่เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี และการมีความอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิดเห็น

การเปรียบเทียบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยตัวแทนComparison of direct and representative democracy


ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้เริ่มประชาธิปไตยยุคใหม่ตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในปี ค.ศ. 1776 และสืบทอดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (Democratic Republic) อย่างต่อเนื่อง ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีความเชื่อด้านประชาธิปไตยที่แตกต่างกันเป็น 2 ส่วนตั้งแต่แรก

กลุ่มแรก เชื่อในประชาธิปไตยที่ต้องให้เสรีภาพตั้งแต่รากหญ้า ประชาชน ชาวไร่ชาวนา และรวมไปถึงรัฐแต่ละรัฐมารวมกันเป็นประเทศ โดยบุคคล หรือหน่วยของสังคมเหล่านี้ยังต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่ Thomas Jefferson ผู้ที่ในระยะต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สามของประเทศ จัดเป็นผู้นำในความเชื่อเรื่องนี้มาแต่แรก

กลุ่มที่สอง ในอีกด้านหนึ่งเป็นความเชื่อในด้านความจำเป็นของการต้องมีรัฐบาลกลาง (Federalists) ที่เข้มแข็ง และสหรัฐอเมริกามีความแข็งแกร่งจากการที่รัฐแต่ละรัฐได้มีตัวแทนเข้ามาในรัฐสภา และทำให้การปกครองแบบสาธารณรัฐเป็นไปได้อย่างมีความเข้มแข็ง

แม้ในปัจจุบันความเชื่อเช่นนี้ก็ยังเป็นส่วนประกอบของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

กลุ่มแรก นำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคล เป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่ต้องมีสังคมที่เปิด และต้องดูแลเข้าใจในคนที่เป็นระดับฐานรากของสังคมและประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการควบคุมการบริหารสังคมและประเทศ เป็นประชาธิปไตยแบบทางตรงให้มากที่สุด (Direct Democracy) ฐานรากสำคัญของประชาธิปไตยในแบบนี้ คือการให้ชุมชนมีส่วนร่วม และรัฐบาลกลางให้มีขนาดที่พอเหมาะ ไม่ใหญ่จนเกินไป ดังระบบการปกครองท้องถิ่น ก็จะมีระบบรัฐบาลท้องถิ่น การศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นการดูแลในระดับท้องถิ่นและรัฐแต่ละรัฐ ไม่ใช่ด้วยรัฐบาลกลาง (Federal Government) ระบบการบริหารเมืองก็เป็นเรื่องของชาวเมืองแต่ละเมืองที่จริงๆ แล้วรัฐบาลกลางมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก

กลุ่มที่สอง เป็นความสามารถของประเทศที่ได้ประโยชน์จากการรวมตัวกัน และการรวมตัวกันก็ต้องกระทำได้ด้วยผ่านตัวแทน (Representative Democracy) ซึ่งทำให้เกิดประเทศที่มีความเข็มแข็งด้านการกลาโหม การต่างประเทศ การต้องทำการค้าข้ามประเทศ ซึ่งต้องอาศัยทั้งการกลาโหมและวิเทศสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การคมนาคม เช่นทางหลวงระหว่างรัฐ (Interstate Highways) การบิน ฯลฯ หรือในสิ่งที่รัฐแต่ละรัฐไม่สามารถกระทำได้ตามลำพัง หรือทำได้ไม่ดีหากไม่มีการประสานและการลงทุนร่วมกัน ดังนี้จึงจะเป็นกิจการของรัฐบาลกลาง ในปัจจุบันเมื่อการก่อการร้ายระหว่างประเทศมีการคุกคามเข้าไปในประเทศสหรัฐเอง จึงมีการจัดตั้งกิจการใหมที่เรียกว่า กิจการมหาดไทย หรือความมั่นคงภายใน (Homeland Security) เพิ่มขึ้นมา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ มีประชากรปัจจุบันประมาณ 300 ล้านคน คงอยู่เป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพได้กว่า 230 ปีอย่างต่อเนื่อง ก็ด้วยหลักความสมดุลดังนี้ คือการมีประชาธิปไตยฐานรากที่มีการให้เสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และอีกด้านหนึ่งคือการมอบอำนาจผ่านตัวแทน ด้วยการเลือกตั้ง ทำให้เกิดฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในส่วนของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเป็นอิสระต่อกัน มีการถ่วงดุลอำนาจกัน และต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และได้รับความชอบธรรมทางการเมืองมาแล้ว

ประชาธิปไตยเสรีนิยมLiberal democracy


ประชาธิปไตย คือการต้องให้เสรีภาพแก่ประชาชน โดยมีหลักว่า ประชาธิปไตยต้องมี 3 หลักการ กล่าวคือ

1. ความเท่าเทียมกัน (Equailty) คือหลักการที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด เพศใด ที่ใดที่ไม่ยึดหลักความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ก็จะไม่จัดได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่น ประเทศอัฟริกาใต้ในสมัยก่อนที่มีการแบ่งแยกผิว และมีการปกครองโดยชนกลุ่มน้อยผิวขาว มีความเท่าเทียมกันสำหรับคนผิวขาว แต่ไม่มีสำหรับคนผิวดำ ดังนี้ก็ไม่จัดว่าเป็นประชาธิปไตย

2. ความมีเสรีภาพ (Freedom) คือมนุษย์ทุกคน มีความเป็นอารยะ มีเสรีภาพในการคิด การพูด และการแสดงออกนานาประการ ตราบเท่าที่การกระทำของเขาไม่ไปรบกวนสิทธิของผู้อื่น และสิทธิของเขาได้รับการปกป้อง เมื่อใดที่มนุษย์ถูกจำกัดสิทธิในการพูด การเขียน การนำเสนอความคิด ไม่สามารถกระทำได้อย่างเสรี ดังนี้ก็จะไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

3. ความมีภราดรภาพ (Fraternity) มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกด้วยความรักใคร่กลมเกลียว ดุจดังพี่น้อง เห็นประโยชน์แห่งการอยู่ร่วมกัน หากในประเทศใดไม่มีความสมัครสมานกัน แบ่งเป็นเหนือเป็นใต้ เป็นไปตามชนเผ่า และมีการเอาชนะกัน ใช้ความรุนแรงต่อกัน ประเทศนั้นก็จะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ในบางประเทศขนาดใหญ่ ท้ายสุดเพราะความแตกต่างที่ยากจะสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันได้ ก็ต้องแตกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย

ประชาธิปไตยในลักษณะนี้ ก็คือประชาธิปไตยในแบบมีตัวแทน (representative democracy) อำนาจการเมืองหรืออำนาจรัฐเกิดจากการต้องมีรัฐธรรมนูญในการปกครอง ซึ่งต้องให้หลักประกันด้านสิทธิ (rights) เสรีภาพ (freedoms) ของแต่ละบุคคลและของคนกลุ่มน้อย (individuals and minorities) ทำให้ความประสงค์ของคนส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการไปและเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง (rule of law) และในขณะเดียวกัน สิทธิของคนส่วนน้อยได้รับการปกป้อง

สังคมคอมมิวนิสต์ เขายึดหลักความเท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ และความเป็นพี่น้อง มีการสร้างบรรยากาศของความเป็นสหาย (Comradeship) แต่ไม่ได้ยึดหลักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนในชาติ

ในประเทศที่มีการให้เสรีภาพ มีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ดังเช่นประเทศอินเดีย แต่ไม่มีการสร้างความเท่าเทียมกันของชนในชาติ ยังมีระบบวรรณะ มีคนร่ำรวยจำนวนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจน ดังนี้ความเป็นประชาธิปไตยก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดปัญหา ด้วยความเปราะบางและการขาดพัฒนาการทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ จนกว่าคนยากจนจะได้รับการแก้ไข มีการยกระดับเศรษฐกิจจนถึงระดับที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความสามารถใช้กลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อดูแลผลประโยชน์ของเขาและคนระดับล่างทั้งหลายได้

ในสังคมประเทศดังแคนาดา (Canada) มีระบบการปกครองแบบกษัตริย์ อยู่ในเครือจักรภพ แต่ในทางปฏิบัติ มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ และอีกหลายประเทศในเครือจักรภพ และประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เงื่อนไขและโครงสร้างPreconditions and structure


เงื่อนไขและโครงสร้างที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งแรงได้ ในทัศนะและประสบการณ์จากตะวันตกที่ได้มีการเรียนรู้มาก่อนแล้ว มีดังนี้

1. การมีฐานของชนชั้นกลางมากเพียงพอ (Middleclass) หากสังคมมีคนรวยจำนวนน้อยที่รวยมากๆ และคนจนที่จนมากๆ และมีเป็นจำนวนมาก ประชาธิปไตยก็จะเกิดได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม หากสังคมที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจมาในระดับหนึ่ง มีชนชั้นกลางมากขึ้นและกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาเหล่านั้นก็มีโอกาสรับข้อมูลข่าวสาร มีทางเลือกในการรับการศึกษา และเข้าใจทางเลือกที่เขาควรจะได้รับ นักการเมือง หรือกลุ่มมีอำนาจก็ยากที่จะปฏิเสธสิทธิประโยชน์ของชนชั้นกลางเหล่านั้น และในขณะเดียวกัน เมื่อคนมีฐานะในระดับหนึ่ง นักการเมืองที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คิดมิชอบจะใช้วิธีการซื้อสิทธิขายเสียง ก็จะเป็นเรื่องกระทำได้ยากขึ้น

2. การคงอยู่และรุ่งเรืองของสังคมอารยะ (Civil Society) สังคมทั่วไปจะมีองค์กรที่เป็นภาคราชการ และอีกด้านหนึ่งคือองค์กรภาคเอกชนที่เน้นไปที่การค้า การประกอบการและผลกำไร บางส่วนมีองค์กรที่เป็นศาสนา คือพวกวัดวาอาราม และสมาคมตามความเชื่อทางศาสนา แต่ในสังคมประชาธิปไตย จะมีสังคมและการรวมตัวกันอีกประเภท คือเป็นสังคมอารยะ (Civil Society) ในสมัยหนึ่งเรียกว่า Non Governmental Organizations – NGO คือเป็นองค์กรที่ไม่ใช่ทั้งของรัฐ และไม่ใช่องค์กรเอกชนแสวงผลกำไร และในบางกรณีไม่ใช่ทั้งเป็นองค์กรศาสนา องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางๆ ที่เป็นทางเลือกของประชาชนในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่อาจไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ในประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องเห็นประโยชน์ของการเกิดองค์กรประเภท NGO และมีบรรยากาศของสังคมอารยะนี้

3. ความมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (market economy) มีระบบตลาดและการค้าเสรี ไม่มีกลไกการผูกขาดสร้างความได้เปรียบแต่เพียงกลุ่มคนบางส่วน ในหลายประเทศในอเมริกาเหนือและยุโรป มักจะมีความเชื่อในเรื่องเศรษฐกิจเสรีควบคู่ไปด้วย นั้นคือ ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก ซึ่งเป็นลักษณะตรงกันข้ามกับระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นเจ้าของในกิจการต่างๆ หรือในระบบสังคมนิยม และรัฐสวัสดิการในช่วงแรก ที่รัฐเข้าไปดำเนินการในหลายๆ เรื่อง และไม่สามารถดำเนินการได้ดี ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกใช้บริการหรือซื้อสินค้าที่ต้องแข่งขันกันเสรี ต้องบริโภคสินค้าและบริการที่แพงที่รัฐเป็นฝ่ายจัดการ และท้ายสุดกลับมาเป็นภาระแก่ประชาชนในทางอ้อมอีกที

ยกตัวอย่าง ระบบการบินพาณิชย์ของหลายๆ ประเทศรวมทั้งในสหรัฐอเมริกาในระยะเริ่มแรกนั้นเป็นไปโดยไม่เสรี เพราะเห็นว่ากิจการดังกล่าวต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่ และต้องการดำเนินการแบบเครือข่ายการบินทั่วโลกและทั่วประเทศ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีการบิน การสื่อสาร การต้องมีมาตรฐานด้านเทคนิคเพื่อความปลอดภัยสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่ จึงมีการควบคุมโดยรัฐมาก เพราะความที่เกี่ยวกับน่านฟ้า ความปลอดภัยของผู้โดยสาร และต้องอาศัยการให้สิทธิในน่านฟ้าต่างๆ แต่เพราะระบบที่มีการควบคุมโดยรัฐนั้นก็ก่อให้เกิดการผูกขาด และค่าบริการต่างๆ ก็เป็นไปอย่างไม่แข่งขันกัน จนท้ายสุดเป็นภาระด้านราคาแก่ผู้บริโภค

ประเทศจีนเป็นอีกลักษณะหนึ่ง คือเปิดทางให้กับเศรษฐกิจเสรี แต่ในทางการเมืองยังไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่เมื่อประเทศมีความเจริญทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง ประชาธิปไตยทางการเมืองและสังคมจะเป็นสิ่งตามมา และจะมีแนวโน้มที่ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง สามารถรับรู้ข่าวสารได้มาก ยากแก่การควบคุม ก็จะต้องมีการเปิดกว้าง เป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

4. การให้มีความหลากหลายทางการเมือง (Political Pluralism) ความเป็นเสรีนิยม (Liberal) หมายถึง มีความหลากหลายที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทางเลือกทางการเมืองต้องเปิดไว้ แม้พรรคคอมมิวนิสต์อาจเป็นปฏิปักษ์กับระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย มีพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Parties) ประชาชนสามารถมีพรรคการเมืองที่ยึดถือแนวทางคอมมิวนิสต์ได้อย่างถูกกฎหมาย ตราบเท่าที่พรรคการเมืองนั้นไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงและเผด็จการด้วยชนชั้นในการยึดอำนาจรัฐ

5. มีระบบพรรคการเมืองหลายพรรค (Multiple and Distinct Political Parties) คำว่า Multiple หมายถึงการมีหลายพรรคที่จะเป็นทางเลือกของประชาชน และคำว่า Distinct คือแต่ละพรรคมีความแตกต่างกันทางนโยบาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางเลือกให้กับประชาชน เป็นระบบที่ต้องแข่งขันกัน ไม่ใช่มีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเพียงพรรคเดียวแบบผูกขาดหรือมีแนวโน้มไปสู่การผูกขาด การมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นพรรคการเมืองอื่นๆ กลายเป็นพรรคไม้ประดับเพราะถูกจำกัดบทบาทนั้น คือการทำให้ไม่มีทางเลือกให้กับประชาชน เป็นเพียงทางเลือกที่พรรคได้กำหนดมาแล้ว

ตัวอย่าง


พรรคการเมืองในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีลักษณะดังกล่าว คือ พรรคการเมืองอื่นๆ นอกจากพรรครัฐบาลแล้วเป็นพรรคที่มีบทบาทได้น้อยมาก ดังนี้ก็จะเป็นปัญหาด้านทางเลือกของประชาชน
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองหลายพรรคก็จริง แต่ท้ายสุดมีพรรคที่เป็นหลักอยู่เพียง 2 พรรค คือพรรครีพับลิกัน (Republican Party) และพรรคดีโมแครต (Democratic Party) ซึ่งผลัดกันครองอำนาจ ในอดีต 2 พรรคใหญ่มีความแตกต่างทางการเมืองกันอย่างชัดเจน แต่ในเมื่อทั้งสองพรรคพยายามที่จะครองใจคนสายกลาง ทำให้ทั้งสองพรรคดำเนินการนโยบายสายกลาง จนท้ายสุดทำให้ไม่มีความแตกต่างด้านนโยบายระหว่างสองพรรคนี้มากนัก และก็ทำให้ไม่มีทางเลือกแก่ประชาชน จนในที่สุดมีความพยายามให้เกิดพรรคทางเลือกที่สามขึ้นมาเป็นระยะๆ

6. มีการปกครองด้วยกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ไปขัดรัฐธรรมนูญ (Constitution) รัฐธรรมนูญการปกครองจัดเป็นกฎหมายสูงสุด และรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีความเป็นเหตุผลและชอบธรรมสอดคล้องกับความเป็นไปในประเทศและสังคม ประเทศประชาธิปไตยต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญนั้นอาจเป็นการสร้างขึ้นมาในแบบเผด็จการก็ได้ รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีความสอดคล้องกับประสงค์ของคนส่วนใหญ่ และขณะเดียวกันมีความชอบธรรม ไม่ไปก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือตัดสิทธิอันพึงมีของคนแม้จะเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ

7. สิทธิในการเลือกตั้งอย่างสากล (universal suffrage) พลเมืองไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด มีสิทธิในการเลือกตัวแทนของตนอย่างเสรี และอย่างเป็นความลับ

8. การมีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระ การแบ่งแยก และมีดุลแห่งอำนาจ (checks and balances) โดยทั่วไป จะมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หรือศาล การมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ดังเป็นกรรมการกลาง เพื่อดูแลด้านรัฐธรรมนูญ ในการกำกับระบอบประชาธิปไตยให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม การดูแลการเลือกตั้ง การตัดสินการปกครองที่อาจเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน และประชาชน นอกเหนือจากการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นของรัฐบาล การดำเนินการด้านบริษัทห้างร้านเพื่อธุรกิจบริการและอุตสาหกรรม องค์กรศาสนา การกุศล รวมถึงการมีสิทธิในการจัดตั้งหน่วยงานได้อย่างเสรี และยังเป็นเรื่องของการจัดตั้งองค์กรในขอบข่ายความเป็นสังคมอารยะ (Civil Society) เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ ในสังคมด้วยแนวทางอาสาสมัคร

9. การเลือกตั้งเสรีที่บริสุทธยุติธรรม (Free Election) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมในระบบการเลือกตั้งแบบเสรี พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสในการแข่งขัน นำเสนอนโยบายทั้งในด้านการเขียน การพูด และการสื่อสารสมัยใหม่ได้อย่างเสรีทั้งในด้านวิทยุ โทรทัศน์ และปัจจุบันรวมถึงอินเตอร์เน็ต โดยระบบสื่อต่างๆ จะต้องส่งเสริมให้เกิดการได้รับข้อมูลข่าวสารอันจำเป็น ไม่เป็นการไปสร้างความได้เปรียบของกลุ่มผู้มีอำนาจหรือฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า นอกจากนี้ในประเทศที่ไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้น โอกาสในการซื้อสิทธิขายเสียงจะยังคงมีบทบาทอยู่มาก ระบบสังคมจะต้องมีมาตรการที่จะตัดโอกาสหรือลดโอกาสในการซื้อสิทธิขายเสียง (Vote Buying) เหล่านั้น

เสรีภาพแบบเสรีนิยมLiberal freedoms


เสรีภาพในแบบเสรีนิยม (Liberal Freedoms) นับเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยในยุคใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) เสรีภาพในการพูด การรวมตัว การประท้วง ซึ่งในเรื่องนี้อาจมีประเด็นความขัดแย้งกับการนำเสนอทัศนะที่อาจต่อต้านความเป็นประชาธิปไตย การไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการก่อการร้าย

2. เสรีภาพของสื่อ (Freedom of the press) ทั้งในด้านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ทั้งด้วยสายและไร้สาย อินเตอร์เน็ต และการเข้าถึงสื่อได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกควบคุม (censorship) ซึ่งในที่นี้ก็อาจมีความขัดแย้งในบางประเทศแม้รวมถึงตะวันตก ที่มีการสกัดกั้นสื่อและ Websites ที่มาจากหลายประเทศในกลุ่มอิสลาม

3. เสรีภาพในการรวมตัวและการจัดตั้งสมาคม (Freedom of association) ซึ่งก็มีความขัดแย้งแม้ในประเทศที่ว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง เช่นการห้ามหน่วยงานที่สงสัยว่าเป็นหรือสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้โดยไม่มีกระบวนการไต่สวน ในการนี้ European Union ได้มีการประกาศห้ามการนำเสนอจากหน่วยงานที่สงสัยว่าเป็น หรือมีส่วนในการก่อการร้าย ทั้งนี้เป็นประกาศที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการนำเสนอของ European Convention on Human Rights และรัฐธรรมนูญของหลายๆ ประเทศสมาชิก

4. สิทธิในการได้รับสิทธิการพิจารณาความฟังความสองฝ่าย (due process) ภายใต้กฎหมายทั่วไปของประเทศประชาธิปไตยเสรี แต่กระนั้น กลุ่มคนที่ได้รับการประกาศว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะไม่ได้รับสิทธินี้

5. สิทธิในการเป็นเจ้าของสมบัติ (The right to own property) ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สามารถซื้อหรือขายทรัพย์สินของตน ซึ่งก็จัดเป็นเสรีภาพในระดับที่แตกต่างกัน บางประเทศที่มีความเป็นเสรีมาก แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปมีความเป็นเจ้าของได้ เช่น อาวุธ สถานีวิทยุ ป่า เขา ชายหาด และทรัพยากรธรรมชาติบางประการเป็นต้น

การเปรียบเทียบสัดส่วนและระบบตัวแทนComparison of proportional and majoritarian representation


การเมืองประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้นมีลักษณะผู้ชนะ แม้เพียงเล็กน้อยก็กลายเป็นผู้ชนะ พรรคการเมืองหนึ่ง ชนะไม่มากนัก แต่ชนะในทุกเขตเลือกตั้ง ท้ายสุดก็คือสามารถผูกขาดระบบรัฐสภาได้ด้วยเสียงส่วนใหญ่ที่มีเสียงไม่มากกว่าฝ่ายตรงกันข้ามมากนัก ดังนั้นในรัฐธรรมนูญของประเทศที่ได้มีการร่างขึ้นและใช้ในระยะหลัง จึงกำหนดให้ต้องมีตัวแทนของคนส่วนน้อยเข้าไปอยู่ในสภาส่วนหนึ่ง เป็นตัวแทนของพรรค (Party Lists) ซึ่งมีจำนวนผู้แทนที่กำหนดด้วยสัดส่วนการได้รับเสียงเลือกตั้งจากประชาชน (proportional representation) ในประเทศเยอรมัน (Germany) และ นิวซีแลนด์ (New Zealand) ได้ใช้วิธีการให้มีสัดส่วนของผู้แทนที่มาจากจำนวนคนที่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆ ระบบนี้เรียกว่าระบบประสมระหว่างแบบผู้ชนะได้รับเลือก (Majoritarian) และระบบสัดส่วน (Proportional) ซึ่งมีการเรียกระบบนี้ว่า mixed member proportional representation

ประเทศไทยได้ศึกษารัฐธรรมนูญในแบบเยอรมัน และได้เลือกแนวทางนี้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ประชาธิปไตยทางสังคมSocial democracy


ประชาธิปไตยอาจเป็นส่วนประสมกับสังคมนิยม ที่เรียกว่า Social Democracy ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของระบบสังคมนิยม (Socialist) และอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ (Communist) และทำให้มีรัฐธรรมนูญรองรับ พรรคการเมืองในแนวนี้เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงและพรรคการเมืองในแนวปฏิวัติ ทั้งนี้เพราะด้วยอุดมการณ์และด้วยเหตุผลทางปฏิบัติ ที่ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะหากไม่มีการปฏิรูปประเทศไปในแนวทางสังคมนิยม ความเดือดร้อนนั้นๆ ก็จะนำไปสู่การปฏิวัติและใช้ความรุนแรงเข้ายึดอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพ กรรมกรและชาวนาดังได้เกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย พรรคการเมืองในแนวนี้ มีแนวนโยบายคือ

การควบคุมกลไกตลาด (Market regulation) ไม่ให้สินค้าและบริการมีราคาถูกหรือแพงเกินไป
 การให้สวัสดิการสังคม (Social security) แก่พลเมือง ดังที่เรียกวันว่า “ระบบรัฐสวัสดิการ (welfare state)
 การสนับสนุนและการเข้าจัดการระบบเองในด้านการศึกษา (public school) และระบบการดูแลและบริการสุขภาพประชาชน (public health services)

การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ผProgressive taxation) ด้วยความเชื่อที่ว่า คนรวยต้องช่วยเหลือคนจน

การปฏิรูปการเมืองการปกครองไปสู่ระบบประชาธิปไตยสังคมนิยม (Social Democracies) ได้เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างยาวนานในประเทศย่านสแกนดิเนเวีย (Nordic Countries) และยุโรปตะวันตก มีการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า คนมีมากหาเงินได้มาก ก็เสียภาษีมาก และขณะเดียวกันก็มีการนำเงินรายได้รัฐเหล่านั้นไปจัดระบบรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนในประเทศ ประเทศเหล่านี้นอกจากจะยึดในนโยบายประชาธิปไตยสังคมนิยมแล้ว ยังมีความเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมควบคู่ไปด้วย

การต่อต้าน


ประชาธิปไตยไม่ใช่กระบวนการที่ทำให้ทุกคนคิด พูด หรือดำเนินการไปในทางเดียวกัน ประชาธิปไตยคือการทำให้คนมีทางเลือก มีสิทธิที่จะเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีสิทธิที่จะแสดงการสนับสนุน และในทางตรงกันข้าม มีสิทธิและช่องทางในการแสดงความไม่เห็นด้วยและสามารถต่อต้านได้อย่างสันติวิธี

ประชาธิปไตยต้องมีการควบคู่ไปกับการต่อต้าน และสิทธิในการต่อต้านของพวกที่ต้องการต่อต้าน (Dissentients) เพียงแต่ว่า การเปิดโอกาสให้ต่อต้านนั้นเป็นไปได้ด้วยสันติวิธี สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มและสมาคมเพื่อผลักดันนโยบายที่อาจตรงข้ามกับฝ่ายมีอำนาจควบคุมรัฐ

แม้ในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ พวกอนาธิปไตย (Anarchists) ก็ยังต่อต้านรัฐประชาธิปไตย เพราะเขามีความเห็นว่า การมีอำนาจรัฐ ยิ่งมาก ยิ่งนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงและการกดขี่ข่มเหงประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า Absolute power is absolute corruption หมายความว่า “อำนาจเบ็ดเสร็จ นำไปสู่ความขั่วร้ายของการฉ้อราษฎรบังหลวง”

Immanuel Kant นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยนำไปสู่การผูกขาดทางอำนาจ ที่ท้ายสุดฝืนความต้องการของคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจที่ไปกดขี่ความคิดเห็นของคนที่อาจแตกต่างออกไป ดังนั้นความประสงค์ของคนโดยรวม จึงไม่ใช่ความประสงค์โดยรวมได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพ”
(Perpetual Peace, II, ปี ค.ศ. 1795)

พวกที่มีความเชื่อแบบเอกัตตนิยม (Individualist philosophies) เชื่อว่าระบบประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์ ที่เป็นการตัดสินใจโดยคนส่วนใหญ่ด้วยชุมชนนั้นทำให้ไปกระทบต่อเสรีภาพส่วนบุคคล และด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปกป้องในรัฐธรรมนูญสำหรับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลด้วย

อารยะขัดขืน (Civil Disobedience)


เมื่อรัฐได้กระทำการที่แม้จะชอบด้วยกฎหมาย และคนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน แต่นโยบายนั้นอาจไม่ชอบด้วยศีลธรรม เป็นการเดินผิดทิศทางและอาจนำประเทศและสังคมไปอยู่ความหายนะ คนส่วนน้อยก็ย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้าน แต่การต่อต้านหรือขัดขืนนั้น พึงกระทำได้อย่างมีอารยะ และด้วยวิถีแห่งสันติ

บทเรียนในสหรัฐ


อารยะขัดขืนในสหรัฐอเมริกา

ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1862 ก่อนสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา มีปัญชาชนและนักการเมืองก้าวหน้าจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการค้าทาสในสังคมอเมริกัน ที่อยู่ทั้งทางฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เขาเหล่านั้นต่อต้านได้ด้วยการแสดงความคิดเห็น ด้วยการปฏิเสธการจ่ายภาษีอากร และการไม่ร่วมในกิจกรรมที่เป็นนโยบายแห่งรัฐ

ในช่วงปีทศวรรษที่ 1960 ประมาณหนึ่งร้อยปีให้หลัง สังคมอเมริกันก็ยังอยู่ในสภาพสังคมเหยียดผิว คนผิวดำไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพอันพึงมีในสังคม ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะระบบการศึกษาเป็นระบบแบ่งแยกตามสีผิว เมื่อทำงานคนสีผิวก็ถูกกีดกันโอกาสในการทำงานระดับสูง แม้จะได้รับการศึกษาและมีคุณสมบัติเพียงพอ แต่ไม่มีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต ไม่มีโอกาสทำงานที่มีรายได้ดี จึงได้เกิดการต่อต้านด้วยวิถีทางอารยะขัดขืน ด้วยการเดินขบวน ด้วยการแสดงความคิดความเห็นและการชุมนุมกันอย่างสันติ

บทเรียนในประเทศไทย


อารยะขัดขืนในประเทศไทย

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2516 ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร สังคมโดยการจุดชนวนลุกฮือโดยขบวนการนักศึกษา และสนับสนุนโดยมหาชนจำนวนนับแสนนับล้าน เพื่อโค่นล้มเผด็จการ เป็นการใช้การเดินขบวนแสดงประชามติอย่างสันติวิธี และอย่างปราศจากอาวุธ แต่เพราะการใช้อำนาจโดยฝ่ายทหารที่จะสลายการชุมนุม จึงทำให้เกิดความรุนแรง และนำมาซึ่งการเสียเลือดเนื้อของคนในชาติ ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการต่อต้านรัฐบาล 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม มหาวิปโยค หรือเรียกกันว่า พฤษภาคทมิฬ พ.ศ. 2535 เมื่อเผด็จการทหารเข้าครอบครองอำนาจรัฐอีกครั้ง ก็เกิดขบวนการต่อต้าน แต่คราวนี้นำโดยชนชั้นกลางผู้มีฐานะ และผู้คนหลายกลุ่มเหล่า เพื่อต่อต้านและนำประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เสรียิ่งขึ้น และเป็นผลให้ฝ่ายทหารตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง และท้ายสุดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการปฏิรูประบบการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่หวังว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 และต้นปี พ.ศ. 2549 ได้มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อ โดยชนชั้นกลาง เพื่อแสดงการต่อต้านอำนาจรัฐ การแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรฐานจริยธรรมของผู้นำ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนเข้าครอบครองอำนาจเหนือรัฐบาล การครอบงำสื่อทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวสารที่เป็นธรรม และเป็นกลางไดอย่างเสรี การแพร่หลายของปัญหาคอรัปชั่นทั้งโดยทางตรง และโดยทางการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของนักการเมือง และการครอบงำองค์กรอิสระ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม

รูปแบบอารยะขัดขืน


รูปแบบอารยะขัดขืนที่ได้เกิดขึ้น ที่กระทำโดยสันติวิธี แต่ท้าทายอำนาจรัฐในบ้านเมือง ในช่วงหลังมีให้เห็นในหลายรูปแบบ เช่น

ในประเทศไทย

รูปแบบอารยะขัดขืนในประเทศไทย ได้แก่

การชุมนุมในที่สาธารณะ ท้าทายอำนาจรัฐที่พยายามห้ามปราม การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปตามถนนต่างๆ อย่างสันติวิธี

การสื่อสารในทุกรูปแบบที่ทำได้ เช่น การใช้สื่ออินเตอร์เน็ต การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ การเผยแพร่กิจกรรมผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต

การไปออกเสียงเลือกตั้ง แล้วฉีกบัตรเลือกตั้ง การใช้เลือดแทนตราประทับ และการแสดงประชามติ โดยไปออกเสียง แต่ลงคะแนนในช่องประสงค์ไม่เลือกใคร

การประท้วงด้วยการอดข้าวอดน้ำ การโกนศีรษะประท้วง และอาจรุนแรงขึ้นไปจนถึงการจุดไฟเผาหุ่น หรือ การแสดงละครล้อเลียน

สหรัฐอเมริกา

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะอารยะขัดขืนหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
การเผาธงชาติ ดังในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินใจเข้าสู่สงครามอินโดจีน และทำให้เกิดการส่งทหารเข้าสู่สงครามที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งทหารและพลเรือนไปนับล้านคน และอเมริกันมีทหารเสียชีวิตไปกว่า 60,000 คน และมีบาดเจ็บและพิการไปกว่า 300,000 คน การต่อต้านนำมาซึ่งการต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการทหาร และการต่างประเทศ

บางส่วนสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย บางส่วนเป็นความผิดเล็กน้อย เช่นการเดินขบวนเป็นการฝ่าฝืนกฎจราจร ทำให้เกิดความติดขัดทางจราจร อาจทำให้ถูกปรับ บางส่วนมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ แต่ยากที่จะเอาผิด เช่น การเจตนาทำให้บัตรเสีย เช่นข้อความด่าว่ารัฐบาลและนักการเมืองที่ไม่ชอบลงไปในบัตรเลือกตั้ง ที่ชัดเจนแต่เป็นโทษระดับเบา เช่น การทำลายบัตรเลือกตั้ง ด้วยการฉีกทิ้ง และการเผา กระทำกันให้เห็นๆ
การเปิดโอกาสให้มีการขัดขืนได้ เป็นช่องทางที่ท้ายสุดเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงเข้าหากัน และเป็นช่องทางที่ฝ่ายมีอำนาจจะได้ใช้เวลาและข้อมูลในการทบทวนนโยบายที่ได้ก่อขึ้น

ประชาธิปไตยไม่เสรี
Illiberal democracy

ประชาธิปไตยอาจมีในรูปที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรีได้ (illiberal democracy) ดังที่ได้เกิดขึ้นในประเทศที่อดีตเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ที่ได้ล่มสลายไป

ส่วนหนึ่งประชาชนเคยไม่พอใจในรัฐบาลเผด็จการด้วยชนชั้นกรรมาชีพแบบสหภาพโซเวียต ที่เขาไม่มีเสรีภาพในการพูด การคิด การรวมตัวทางการเมือง และท้ายสุดคือการไม่มีการแข่งขัน และไม่มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ เกิดความถดถอยของระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ที่ท้ายสุดนำมาซึ่งความอดอยากและยากจน แต่เมื่อเป็นประชาธิปไตย ปรากฎว่ากลไกทางเศรษฐกิจไม่พัฒนาขึ้น อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น คนไม่ได้รับบริการจากรัฐดังที่เคย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพอนามัย การปันส่วนอาหาร ท้ายสุด ในทางสังคมเมื่อมีประชาธิปไตยมาทดแทนระบบคอมมิวนิสต์กลับมีพวกมาเฟีย ดังพวก Russian Mafia พวกนอกกฎหมายที่แฝงเข้ามาในระบบสังคม ประชาชนจึงมีความเชื่อว่า ประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่กินไม่ได้ เมื่อมีระบบการปกครองใหม่ แม้จะมีการจำกัดสิทธิในด้านสื่อเสรี การไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่หากนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีขึ้น เขาก็พร้อมที่จะยอมอดทนกับความไม่สมบูรณ์นี้

แต่สำหรับประเทศในยุโรปตะวันตกจะมองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็นพัฒนาการที่บิดเบี้ยว และเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวนี้จะนำมาซึ่งความอ่อนแอและล้มเหลวได้ในที่สุด

ข้อดีและข้อจำกัดของประชาธิปไตยAdvantages and disadvantages of democracy


ประชาธิปไตยมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ทั้งโดยธรรมชาติของประชาธิปไตยเอง และจากการปฏิบัติ ซึ่งมีปรากฏให้เห็นดังต่อไปนี้

ความขัดแย้งด้านชนเผ่าและศาสนา
Ethnic and religious conflicts

ประชาธิปไตย (Democracy) ไม่ได้ทำให้เกิดการร่วมในปรัชญาและแนวคิดในกลุ่มมหาชน ดังนั้นก็อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านความชอบธรรมทางการเมือง ในบางกรณีมันเป็นกลไกของคนส่วนใหญ่ที่จะทำตามความประสงค์ของตนเอง แต่ไปบดบังสิทธิและความเป็นตัวตนของคนส่วนน้อย ตัวอย่างเช่น

ในประเทศอินเดีย (India) แม้เริ่มความเป็นประชาธิปไตยมาพร้อมกับความเป็นเอกราชของประเทศ แต่ท้ายสุด ก็ไม่สามารถรวมประเทศที่มีคนนับถือศาสนาฮินดูส่วนใหญ่ กับส่วนที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งท้ายสุดได้แตกแยกออกมาเป็นประเทศปากีสถาน

ปัญหาความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา (Srilanka) ระหว่างกลุ่มชาวพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ และชาวศรีลังกาเชื้อสายทมิฬ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ในประเทศที่มีแม้มีรากฐานความเป็นประชาธิปไตย แต่ความขัดแย้งด้านชนเผ่าและความเชื่อในศาสนา ก็ทำให้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข

ปัญหาเชื้อชาติในมาเลเซีย มีนโยบายภูมิบุตร (Son of the Land) หรือนโยบายเอื้อต่อบุตรของแผ่นดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิในการจัดการศึกษา และสัดส่วนของประชากรในการรับการศึกษา ซึ่งก็ไม่เป็นที่พอใจของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีน อินเดีย หรือไทย ซึ่งก็มีอยู่ในประเทศ

ในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ที่แม้มีประชาธิปไตย แต่ก็ยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่มีการนับถือศาสนาคริสต์นิกายแคธอลิค และต้องการความเป็นอิสระในประเทศของตนในระดับหนึ่ง

ปัญหาของรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสที่ออกกฎห้ามนักเรียนแต่งกายโดยมีผ้าคลุมหน้า ดังเป็นเรื่องปฏิบัติของสตรีมุสลิมในกลุ่มเคร่งศาสนา หรือแม้แต่มุลสลิมสายกลาง จึงทำให้เกิดการต่อต้าน

ปัญหาของประเทศในกลุ่มโซเวียต ที่เมื่อเป็นประชาธิปไตย แต่ท้ายสุด ก็นำไปสู่การมีสงครามกลางเมือง เมื่อสังคมขาดความอดทน และการขาดการยอมรับความหลากหลายในเชื้อชาติ และขาดความอดทนทางวัฒนธรรม (Cultural Tolerance) การเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสำหรับชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ในประเทศของตน

ด้วยปัญหาดังกล่าว แม้เป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังนำไปสู่ปัญหาที่เกิดความรุนแรง การต่อต้านรัฐ การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และการนำไปสู่สงครามการเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ระบบราชการBureaucracy


ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยทำให้มีความเปลี่ยนแปลงใน 2 ด้าน

ด้านหนึ่งคือการทำให้เกิดการออกกฎหมายใหม่ขึ้นมามากมายโดยไม่จำเป็น เพราะกฎหมายคือกลไกในการที่นักการเมืองและประชาชนจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ บางครั้งกฎหมายที่ได้มีการออกมาอย่างรวดเร็วแต่ไม่รอบคอบ ไม่มีการตรวจสอบ ท้ายสุดไปสร้างความสับสน กลายเป็นกลไกหาประโยชน์ให้กับทั้งข้าราชการและนักการเมืองที่ไม่ดีและต้องการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

อีกด้านหนึ่งคือการไมได้ทำอะไรใหม่ อาศัยกลไกราชการเดิมที่มีอยู่ เพราะนักการเมืองคือนักหาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีความรู้ความสามารถในการเข้าไปกำกับดูแลรัฐบาลที่มีความซับซ้อน ข้าราชการเองก็สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการจัดการกับกลไกซับซ้อนของราชการ (Bureaucracy) ท้ายสุด นักการเมืองที่ไม่มีความรู้ก็กลายเป็นเพียงสีสันทางการเมือง แต่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปดังที่ประชาชนคาดหวัง ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายในระบบ

ในประเทศไทยมีประชากร 63 ล้านคน มีระบบราชการแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่มีข้าราชการจำนวนมากถึง 1.8-2.0 ล้านคน แม้จะไม่ขยายตัวมากมายในระยะหลัง แต่ก็เป็นกลไกสำคัญที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน และต้องปรับเปลี่ยนอย่างมีสัมพันธภาพที่ราบรื่น และอย่างรู้กรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายราชการ และฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการต้องตอบสนองต่อนโยบายที่ฝ่ายการเมืองได้รับฉันทานุมัติมาจากประชาชน และฝ่ายการเมืองจะต้องรู้ว่าอะไรที่สามารถกระทำได้ และอะไรที่เป็นการเข้าไปก้าวก่ายระบบราชการ และทำให้ระบบราชการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีคุณธรรมเป็นที่ตั้ง (Merit System)

การขาดวิสัยทัศน์Short-term focus


การเลือกตั้งทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีนโยบาย และนโยบายที่โดนใจผู้เลือก แต่นโยบายนั้นอาจเป็นผลดีต่อประชาชนในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว และเพราะนักการเมืองต้องเข้าสู่ตำแหน่งด้วยนโยบาย และนโยบายนั้นๆ ถูกใจประชาชน เมื่อได้รับเลือกเข้ามาก็จะทำตามนโยบายนั้นๆ ที่ทำให้ได้คะแนนเสียง แต่อาจมีผลเสียต่อประเทศระยะยาว

ในประเทศไทยมีนโยบายที่นักวิชาการขนามนามว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” (Populism Policies) คือเป็นนโยบายที่มีไว้เพื่อหาเสียง แต่ในทางปฏิบัติไม่ก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว และในบางอย่างอาจก่อให้เกิดความสับสนในนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเอง และใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ

ยกตัวอย่าง

นโยบายด้านพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิงในรูป Petroleum กำลังลดน้อยลงไปทุกที ที่ถูกทุกประเทศจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และหาทางเลือกด้านพลังงานใหม่ แต่การเลือกตั้งแบบไม่มีวิสัยทัศน์จะเน้นไปที่การตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ คือตรึงราคาเชื้อเพลิงด้วยการใช้เงินอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งก็ยังทำให้คนใช้น้ำมันและแก๊สอย่างไม่ประหยัด ผิดจากธรรมชาติของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่ก็จะยังมีปฏิบัติกันอยู่

นโยบายด้านการศึกษาฟรี (Free Education) ทำให้คนสนใจ แต่ประชาชนจะยังไม่ได้คิดถึงการที่ท้ายสุดประชาชนเองก็ต้องเป็นผู้จ่ายภาษี และการได้รับของฟรี คือการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ท้ายสุดคือความสิ้นเปลืองที่ประชาชนไม่มีทางเลือก

ระบบรัฐสวัสดิการอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาลฟรี หรือด้วยการสนับสนุนพิเศษ หากไม่ใส่ใจด้านค่าใช้จ่ายที่ท้ายสุดรัฐบาลก็ต้องกลับมารับผิดชอบด้วยภาษีอากรของประชาชน และอาจไปกระตุ้นให้ประชาชนเกิดค่านิยมรับบริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นและไม่ส่งเสริมวิถีชีวิตด้านการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคภัย

ทางเลือกของประชาชนPublic choice theory


ในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งและระบบผ่านตัวแทนนั้น ประชาชนมีสิทธิเลือกในนโยบายไม่มากนัก เพราะต้องผ่านนักการเมือง รัฐบาลและข้าราชการ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการไม่ใส่ใจในนโยบายรัฐและการเมืองบางประการ เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ได้อาศัยช่องว่างนี้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อนโยบายรัฐ

ในขณะเดียวกันเมื่อได้อำนาจรัฐแล้ว นักการเมืองก็จะอ้างเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ นำไปใช้อ้างอิงในการดำเนินการแบบแสวงประโยชน์เพื่อส่วนตัวและพวกพ้องต่อไป และในการเมืองที่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ไม่มีการตรวจสอบจากสังคมได้อย่างเพียงพอ ระบบการเมืองนั้นก็นำตัวเองไปสู่จุดอับและความล้มเหลว

ธนาธิปไตยPlutocracy


การเมืองแบบประชาธิปไตยคือการต้องมีเลือกตั้ง และการเลือกตั้งต้องใช้ทรัพยากร ซึ่งทำให้คนมีเงิน กลุ่มคนมีเงินได้เปรียบ การเมืองในรูปมีตัวเงินเป็นตัวกำหนดนี้เรียกว่า plutocracy ซึ่งคนร่ำรวยนี้แม้จะเป็นคนกลุ่มน้อย หากนับการออกเสียงแล้วก็ไม่ใช่มากมาย แต่เพราะเงิน

ในประชาธิปไตยยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน ความไม่ชอบมาพากล ความไม่ซือสัตย์นำไปสู่การปกครองที่ไม่ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ และนำไปสู่ประเด็นร้อนทางการเมือง มันทำให้นักการเมือง ผู้รับสมัครเลือกตั้งต้องไปเจรจาต่อรองกับฝ่ายสนับสนุนที่มีเงินและทรัพยากร มีการเสนอว่าจะสนับสนุนนโยบายบางประการหากได้รับเลือกเข้าไป ในบางกรณีในบางประเทศ คนร่ำรวยและกลุ่มพวกก็สามารถเข้าสู่วงการเมืองได้ด้วยตนเอง และนั่นหมายถึงการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย (Policy Corruption) หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงยิ่งกระทำได้โดยง่ายและในขนาดที่ใหญ่โตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเป็นแหล่งผูกขาดในกิจการหลายๆด้าน เช่น การโทคคมนาคม การบิน การประมูลการก่อสร้างในงานขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกว่า Mega Projects

แบบพวกมากลากไปMajoritarianism


การเมืองแบบพวกมากลากไป หรือที่เรียกว่า Majoritarianism หรือที่เรียกกันด้วยความหวาดกลัวว่า “เผด็จการโดยคนหมู่มาก” คำกล่าวนี้ได้เขียนขึ้นโดย Alexis de Tocqueville นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส เมื่อเขาได้มีโอกาสมาเยี่ยมประเทศสหรัฐอเมริกาในหนังสือที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1831 หรือประมาณ 40 ปีหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศฝรั่งเศส ทัศนะด้านประชาธิปไตยในลักษณะเดียวกันโดยนักคิดชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง คือ John Stuart Mill ที่ได้ให้ทัศนะของเขาในปี ค.ศ. 1859 ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่ได้เรียกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย แต่เขาให้ทัศนะต่อประเด็นการต้องยอมหรือไม่ยอมตามในสังคม (social conformity)

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้มีการกำหนดสิทธิในการออกเสียงอย่างสากล (universal suffrage) คือการให้ทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นพลเมืองของประเทศได้มีสิทธิออกเสียง ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศใด เชื้อชาติใด หรือนับถือศาสนาใดๆ ดังนั้นจึงต้องมีกฎเรื่องการปกครองโดยคนหมู่มาก ที่ต้องมีการให้สิทธิแก่คนส่วนน้อยที่จะได้แสดงความคิดความเห็น (Majority’s Rules, Minority’s Rights) และรัฐบาลเองก็จะต้องฟังและรับทัศนะจากทั้งสองฝ่ายนำไปสู่การดำเนินการเป็นนโยบาย โดยไม่ถือหลักพวกมากลากไป

การไม่ฟังเสียงคนส่วนน้อย หลายเรื่องอาจเป็นเรื่องความเป็นความตาย หรือผู้แพ้คือผู้ต้องสูญเสีย ท้ายสุดอาจนำไปสู่ การต่อต้านอย่างสงบ หรือที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) การเดินขบวนเรียกร้อง การก่อการร้าย และการเกิดสงครามกลางเมือง การแบ่งแยกประเทศ ก็เคยมีให้เห็น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในนโยบายด้านการค้าทาส อันนำไปสู่การต้องตัดสินกันด้วยกำลังและการรบดังในช่วงปี ค.ศ. 1860 ทำให้มีผู้คนล้มตายมากมาย

ในช่วงปีทศวรรษ 1960 มีความเห็นที่แตกต่างกันในนโยบายส่งกำลังรบไปในสงครามอินโดจีนที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายเหยี่ยวที่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง และฝ่ายพิลาปที่เห็นว่าควรถอนทหารจากสงครามที่ไม่มีความชอบธรรมและพาคนหนุ่มสาวอเมริกันไปตายโดยไม่มีเหตุผลนี้ มีการเดินขบวนต่อต้านกันตามเมืองใหญ่ ตามวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย มีความร้าวฉานไปทั่วประเทศ แต่นับว่าเป็นการต่อต้านอย่างไม่รุนแรง เป็นอารยะขัดขืนส่วนหนึ่ง และท้ายสุดนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการทหารในต่างประเทศ และการถอนทหารอเมริกันออกจากสงครามในอินโดจีน

ความมั่นคงทางการเมืองPolitical stability


ความมั่นคงทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย (Political stability)

ผู้เชื่อถือในประชาธิปไตยมีความเชื่อว่าระบบบริหารประเทศ (Public Administrations) ที่ได้สร้างขึ้นนั้น เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนกฎหมาย ประชาธิปไตยมุ่งไปสู่การลดความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอน เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้อยู่ในอำนาจให้เป็นไปได้อย่างปกติ และสามารถเปลี่ยนนโยบายใดๆ ที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นข้อดีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถดำเนินไปได้ด้วยสันติ

บางคนเห็นว่าความมั่นคงทางการเมืองอย่างมากเกินไปนั้นจะเป็นอันตรายเมื่อคนกลุ่มเดียวกัน ครองอำนาจติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน การครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และนำมาซึ่งความพยายามจะปกปิด โดยต้องสืบต่ออำนาจไปเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ได้เคยเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์และไทยมาแล้ว บางประเทศแก้ปัญหาโดยการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งให้ไม่เกิน 2 วาระ ซึ่งหากวาระละ 4 ปี ก็คือครองอำนาจต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 8 ปี และในประเทศฟิลิปปินส์ ให้ประธานาธิบดีครองอำนาจได้สมัยเดียว ไม่เกิน 6 ปี แต่กระนั้นก็ยังมีความระส่ำระสาย มีการเดินขบวนต่อต้านประธานาธิบดีกันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

ประสิทธิภาพการตอบสนองในช่วงสงครามEffective response in wartime


ในยามสงครามนั้นระบอบประชาธิปไตยยังจะใช้การได้ดีอยู่หรือไม่

ในสังคมประชาธิปไตยที่ศูนย์อำนาจไม่ใช่รวมอยู่ ณ แห่งเดียว ที่เรียกกันว่า Pluralist Democracy นั้นจะมีข้อเสียเปรียบยามมีศึกสงคราม เมื่อความจำเป็นในการตอบสนองและสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วนั้น คือการต้องไปลดเสรีภาพของประชาชนลงไป ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่แม้รัฐที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องมีช่องเขียนในรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ประเทศสามารถจัดการบริหารได้ในสาถานการณ์สงคราม เมื่อประเทศถูกโจมตี ประชาธิปไตยถูกโจมตี ระบบการปกครองก็ต้องเปิดทางให้มีการบริหารประเทศได้ในสถานการณ์สงคราม หรือการใช้กฎอัยการศึก เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยระบุว่า ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีแนวโน้มที่จะชนะสงครามมากกว่าประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คำอธิบายก็คือ ความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย และความมั่นคงในการมีทางเลือก ทำให้ประเทศประชาธิปไตยมีโอกาสในการแสวงหาพันธมิตรในการดำเนินการสงคราม สามารถร่วมมือกันในการใช้ทรัพยากรได้ดีกว่า ทำให้เข้าร่วมสงครามด้วยโอกาสในการชนะได้มากกว่า
การฉ้อราษฎรบังหลวง

มีคนเชื่อกันว่า ประชาธิปไตยทำให้เกิดระบบฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ Corruption

ผลงานวิจัยจากธนาคารโลก (World Bank) ได้เสนอแนะว่าสถาบันทางการเมืองที่พัฒนาแล้วมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากต่อการจัดการเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ corruption ประเทศใดที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีระบบรัฐสภา มีความมั่นคงทางการเมือง ไม่ตัดสินกันด้วยรัฐประหาร มีการให้เสรีภาพแก่สื่อ เหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อการทำให้ปัญหาคอรับชั่นลดลง

การก่อการร้าย


ผลงานวิจ้ยแสดงว่าการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นได้มากในประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองแบบครึ่งๆ กลางๆ และชาติที่มีการก่อการร้ายน้อยที่สุดคือชาติที่ได้พัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้มากที่สุด

การเมืองแบบครึ่งๆ กลางๆ คือไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยแบบพวกมากลากไป อาศัยกระแสในสังคม มีการปลุกระดมให้เกิดความรักชาติและติดยึดกับชนเผ่า แทนที่จะเน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างหลายชนเผ่าอย่างสันติวิธี และการยอมรับและอดทนในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

เมื่อเกิดการเมืองแบบพวกมากลากไปและขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีการให้เสรีภาพและไม่มีการประนีประนอมกันของชนหลายกลุ่มเหล่า จึงทำให้เกิดการแตกหักในสังคม คนที่สู้ไม่ได้ก็หันไปใช้วิธีการรุนแรง และไม่ยึดถือในความมีมนุษยธรรม

ความยากจนและความอดอยากPoverty and famine


ความยากจนและความอดอยาก (Poverty and famine) ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือว่าเลวลง

มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้วมีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปด้วย ดังเช่นประเทศในอเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือแถบสแกนดิเนเวีย
สถิติบ่งชี้ว่าความเป็นประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับรายได้ประชาชาติต่อคน (GDP per capita), ดรรชนีพัฒนาการมนุษย์ (Human Development Index), และมีสัมพันธภาพแบบผกผันกับดรรชนีความยากจน (Human Poverty Index) กล่าวคือประเทศใดประชาชนมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจดี มีความกินดีอยู่ดี คนก็จะมีความต้องการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั้นต้องมีลักษณะพัฒนาไปแบบควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า “ความสัมพันธ์” (Correlation) ไม่ใช่เป็นเรื่องของสาเหตุ (Causation) กล่าวคือประเทศที่มีเศรษฐกิจดี แต่ไม่มีพัฒนาการทางการเมืองก็มีและเป็นไปได้ ประเทศที่มีพัฒนาการทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยสูง แต่ไม่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ทางสังคม ก็เป็นไปได้ ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างล่าช้า แต่ในประเทศจีนที่หลายฝ่ายมีความเห็นว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองมากนัก เปิดเสรีทางเศรษฐกิจก็จริง แต่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในแบบคอมมิวนิสต์ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประเทศเวียตนามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีการพัฒนาทางประชาธิปไตย หรือการให้เสรีภาพและทางเลือกทางการเมือง

ทฤษฎีประชาสันติDemocratic peace theory


ทฤษฎีประชาสันติ Democratic peace theory ประชาธิปไตยนำไปสู่สันติภาพได้จริงหรือ

มีการวิจัยและข้อมูลบ่งชี้ว่าประชาธิปไตยนำไปสู่สันติภาพ ประเทศที่ได้พัฒนาความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆแล้ว จะพบว่ามีความขัดแย้งด้านการทหาร (Militarized Interstate Disputes - MIDs) เมื่อมีอัตราคนตายเพราะการรบกันเมื่อเทียบกับประชากร 1000 คนน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย หรือมีอย่างครึ่งๆ กลางๆ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะมีปัญหาด้านสงครามกลาง (civil wars) เมืองน้อยกว่า

สงครามกลางเมือง หรือที่เรียกว่า Civil Wars หมายถึงการมีความรุนแรงรบกันเอง ฆ่าฟันกันเองในระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในชาติ จะเป็นด้วยความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความคิดความเชื่อ หรืออื่นๆ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์Democide


ประชาธิปไตยนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Democide) หรือเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม
ผลงานวิจัยบ่งชี้ว่าชาติที่มีความเป็นประชาธิปไตย จะมีปัญหาด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ (democide) หรือฆาตกรรมโดยรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจในรัฐบาลน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
แต่เป็นไปได้ว่าระหว่างมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ได้มีการเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในหลายประเทศ ด้วยนักการเมืองประเทศที่อาศัยเสียงจากคนส่วนใหญ่ เป็นความชอบธรรมเพื่อเข้ากระทำกับชมกลุ่มน้อย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศในกลุ่มคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งมีฐานของความขัดแย้งระหว่างชนชาติมานานแล้ว แต่ไม่ได้แสดงออกมา

สรุป


ประชาธิปไตยไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ แก้ได้ทุกโรค เป็นกระบวนการที่มีชีวิต มีพลภาพ ต้องอาศัยการพัฒนาอยางต่อเนื่อง มีการเรียนรู้ เรียนถูกเรียนผิด และปรับปรุงไปเป็นระยะๆ

ประชาธิปไตย ต้องใช้ควบคู่กับการส่งเสริมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การเคารรพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่เป็นระบบพวกมากลากไป การจะกล่าวถึงเพียงเสียงจากคนส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงเสียงของคนส่วนน้อยนั้นไม่เป็นหลักการที่ดี

ประชาธิปไตยที่ต้องดำเนินการควบคู่กับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) เมื่อใดที่ประเทศมีชนชั้นกลางมากๆ คนมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง วัฒนธรรมการซื้อเสียง การเข้าครอบงำประเทศโดยกลุ่มคนและกลุ่มผลประโยชน์บางส่วน ก็เป็นไปได้น้อย

ประชาธิปไตย ต้องมีกลไกตอบสนองต่อการเติบโตและพัฒนาของชุมชนรากหญ้า (Grassroot Democracy) สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนขนาดเล็กในชนบท แผ่กระจายความเจริญ นำมาซึ่งการกินดีอยู่ดีของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะคนบางกลุ่มบางเหล่า

ประชาธิปไตย ต้องเปิดให้กับกลไกการแก้ปัญหาระยะยาว และกลไกการบริหารรัฐกิจอย่างมีวิสัยทัศน์ มากกว่าการตอบสนองเพียงช่วงสั้นที่อาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว การตอบสนองต่อประชาชนในช่วงสั้น เช่น นโยบายจัดสรรที่ทำกินให้กับประชาชน โดยใช้การแผ้วถางพื้นที่ป่า ซึ่งจะมีแต่ทำให้ทรัพยากรแผ่นดินถูกรุกทำลาย หรือนโยบายด้านพลังงาน ที่มีการอุ้มราคาน้ำมันด้วยการใช้เงินภาษีของรัฐ ทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงในราคาถูก ประชาชนไม่ตระหนักในความจำเป็นต้องประหยัดน้ำมัน และพลังงานที่ไม่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้โดยเร็ว ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอ่อนแอลง ทำให้ไม่มีเงินรายได้รัฐไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นกว่า และยังเป็นการไม่ดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงและพลังงานในระยะยาว

การอ้างอิง
References

ประชาธิปไตยในประเทศอินเดีย - Steve Muhlberger, (February 8, 1998). Democracy in Ancient India. Retrieved February 19, 2006.

การเมืองแบบชาตินิยม - Charles Blattberg, (2000). From Pluralist to Patriotic Politics: Putting Practice First, Oxford University Press, ch. 5. ISBN 0-19-829688-6.

ทุนนิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตย - Joseph Schumpeter, (1950). Capitalism, Socialism, and Democracy. Harper Perennial. ISBN 0061330086.

ทฤษฎีเศรษฐกิจของประชาธิปไตย - Anthony Downs, (1957). An Economic Theory of Democracy. Harpercollins College. ISBN 0060417501.

รัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง การใช้ความเข้มแข็งของส่วนกลางปกป้องปัญหาความขัดแย้งและการต่อต้านภายในสาธารณรัฐ (อเมริกา) James Madison, (November 22, 1787). "The Federalist No. 10 - The Utility of the Union as a Safeguard Against Domestic Faction and Insurrection (continued)", Daily Advertiser. New York. Republished by Wikisource.

บันทึกชีวิตในคุก - Alexander Berkman: Prison Memoirs; the historical introduction to the 1970 edition,

ถามและตอบเกี่ยวกับอนาธิปไตย - Anarchist FAQ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอนาธิปไตย - Eltzbacher, Paul. Anarchism. Plainview, NY: Books for Libraries Press, 1960, p. 129.

ประชาธิปไตยและสาธารณรัฐ - Proudhon, Pierre-Joseph. Demokratie und Republik, S. 10.
 แนวคิดสู่กระบวนการสันติภาพ - Pugwash Online, (2004). Prospects for the Peace Process. Accessed February 19, 2006.

แนวโน้มความขัดแย้งในโลกและวิธีการวัด - Center for Systemic Peace, (2006). Global Conflict Trends - Measuring Systematic Peace. Accessed February 19, 2006.

การรวมพลังแบบประชาธิปไตยและชัยชนะในสงคราม 1816-1992 - Ajin Choi, (2004). "Democratic Synergy and Victory in War, 1816–1992". International Studies Quarterly, Volume 48, Number 3, September 2004, pp. 663-682(20). DOI:10.1111/j.0020-8833.2004.00319.x

ความคุ้มค่าของการลงทุน (ภาครัฐ) และการคอรัปชั่น สถาบันทางการเมืองมีส่วนสำคัญ - Daniel Lederman, Normal Loaza, Rodrigo Res Soares, (November 2001). "Accountability and Corruption: Political Institutions Matter". World Bank Policy Research Working Paper No. 2708. SSRN 632777. Accessed February 19, 2006.

งานวิจัยเกี่ยวกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจของโลก - Free the World. Published Work Using Economic Freedom of the World Research, accessed February 19, 2006.

ประโยชน์ของเสรีภาพทางเศรษฐกิจ - Nicclas Bergren, (2002). "The Benefits of Economic Freedom: A Survey" . Accessed February 19, 2006.

องค์ประกอบสำคัญของความเติบโตทางเศรษฐกิจ - John W. Dawson, (1998). "Review of Robert J. Barro, Determinants of Economic Growth: A Cross-Country Empirical Study". Economic History Services. Accessed February 19, 2006.

เสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางการเมือง และความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ - W. Ken Farr, Richard A. Lord, J. Larry Wolfenbarger, (1998). "Economic Freedom, Political Freedom, and Economic Well-Being: A Causality Analysis". Cato Journal, Vol 18, No 2.

เสรีภาพทางเศรษฐกิจและเสรีภาพทางการเมือง - Wenbo Wu, Otto A. Davis, (2003). "Economic Freedom and Political Freedom". Encyclopedia of Public Choice. Carnegie Mellon University, National University of Singapore.

สู่ความสิ้นสุดความยากจนของมหาชน - Ian Vásquez, (2001). "Ending Mass Poverty". Cato Institute. Accessed February 19, 2006.

ผลของประชาธิปไตยเกี่ยวกับความแตกต่างของเสรีภาพทางเศรษฐกิจ – Susanna Lundström, (April 2002). "The Effects of Democracy on Different Categories of Economic Freedom". Accessed February 19, 2006.

พัฒนาการและประชาธิปไตย - Bruce Bueno de Mesquita, George W. Downs, (2005). "Development and Democracy". Foreign Affairs, September/October 2005.

ทำไมประชาธิปไตยจึงเติบโต - Joseph T. Single, Michael M. Weinstein, Morton H. Halperin, (2004). "Why Democracies Excel". Foreign Affairs, September/October 2004.

ประชาธิปไตยคือค่านิยมสากล - Amartya Sen, (1999). "Democracy as a Universal Value". Journal of Democracy, 10.3, 3-17. Johns Hopkins University Press.

ความสุข คำโต้แย้งเกี่ยวกับเสรีภาพ - R.J. Rummel, (2006). Happiness -- This Utilitarian Argument For Freedom Is True. Accessed February 22, 2006.

No comments:

Post a Comment