Monday, April 6, 2009

การให้บริการด้านสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

การให้บริการด้านสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา (Health care in the United States)
ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
Springboard For Asia Foundation (SB4AF)
E-mail:
pracob@sb4af.org
Updated: Wednesday, July 02, 2008
From Wikipedia, the free encyclopedia

การให้บริการสุขภาพ (Health Care) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์นั้น เขามีวิธีการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนของเขาอย่างไร ดีหรือไม่ดี และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ในประเทศสหรัฐอเมริการมีหลายหน่วยงานและความเป็นนิติบุคคล (Legal Entities) ที่มีส่วนรับผิดชอบด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะระบบการปกครองของเขาเป็นแบบกระจายอำนาจ มีทั้งส่วนรัฐบาลกลาง (Federal Government) รัฐบาลของรัฐ (State Governments) และรัฐบาลท้องถิ่น (Local Governments) อย่างการปกครองและให้บริการภาครัฐของมหานครและเมืองต่างๆ ก็เป็นการปกครองที่มีความเป็นอิสระของตนเองในหลายๆด้าน และนอกจากนี้ โดยปรัชญาการปกครองตั้งแต่ตั้งประเทศเป็นต้นมา เขาให้ความสำคัญในสิทธิส่วนบุคคล และความเป็นทุนนิยมเสรี ที่รัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการของเอกชน อะไรเอกชนทำได้ในระบบแข่งขันเสรีได้ รัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแข่งขันกับเอกชน

การดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกาต่างจากประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกที่มีพื้นฐานการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และรวมไปถึงประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์เดิมที่ก็เน้นระบบรัฐสวัสดิการเป็นเป้าหมายสูงสุด

โดยทั่วไปสหรัฐได้ใช้เงินเพื่อกิจการดูแลด้านสุขภาพอนามัยสูงที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนของรายได้ประชาชาติ หรือที่เรียกว่า Gros Domestic Production (GDP) คือประมาณร้อยละ 16 ของ GDP สูงที่สุดในบรรดาชาติก้าวหน้าในตะวันตก และสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนี้จะมีแนวโน้มที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกจนคาดว่าจะถึงประมาณร้อยละ 19.5 ของเงินรายได้ประชาชาติ หรือจะเปรียบได้ว่าเงินที่บุคคลแต่ละคนจะหาได้ตลอดชีวิตนั้น ประมาณหนึ่งในห้าจะใช้เพื่อการดูแลด้านสุขภาพอนามัย

ในปี ค.ศ. 2007 สหรัฐใช้เงินเพื่อการดูแลสุขภาพ คิดเป็นเงินในแต่ละปีประมาณ USD 2,260,000 ล้าน (USD 1= 33.00 บาทไทย) หรือต่อคนประมาณ USD 7}432 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 245,256 บาทต่อคน/ปี ซึ่งคิดแล้วหากเป็นคนไทยโดยเฉลี่ย หาเงินตลอดชีวิตเพื่อใช้สำหรับการดูแลสุขภาพในแบบอเมริกัน ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว

ตามการศึกษาของสถาบันการแพทย์ของสหรัฐ (Institute of Medicine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (the National Academy of Sciences) สหรัฐจัดเป็นชาติเดียวของกลุ่มประเทศมั่งคั่งที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า University Health Care System ในปัจจุบัน คนประมาณร้อยละ 84 ของประชากรจะมีระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งคุ้มกัน ซึ่งอาจจะเป็นจากงานที่เขาทำอยู่ซึ่งมีระบบประกันสุขภาพ (ร้อยละ 60) จากการซื้อระบบประกันสุขภาพเป็นส่วนตัว (ร้อยละ 9) ทั้งนี้ระบบประกันสุขภาพนี้มีส่วนที่รัฐบาลจัดการอยู่ประมาณร้อยละ 27 ซึ่งส่วนนี้ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ ระบบประกันสุขภาพที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินการนี้ จะเกี่ยวกับโปรแกรมช่วยเหลือคนชรา ผู้พิการ ทหารผ่านศึก และคนยากจน และกฎหมายของสหรัฐได้บังคับให้หน่วยงานด้านการแพทย์ต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินโดยต้องไม่เลือกปฏิบัติตามความสามารถที่จะจ่าย ในเชิงระบบประกันสุขภาพนี้ รัฐบาลจัดเป็นผู้ให้ประกันสุขภาพรายใหญ่สุด คือประมาณร้อยละ 45 ทำให้รัฐบาลกลาง จัดเป็นผู้ให้ประกันสุขภาพที่ใหญ่สุด และจัดเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ

แต่ปัญหาคือการที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า กล่าวคือมีคนประมาณ 47 ล้านคนในประเทศที่ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าประกันสุขภาพ หรือไม่อยู่ในระบบที่จะได้รับการประกันด้านสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะยิ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าค่าจ้างค่าแรงงาน ค่าเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวสหรัฐที่มีปัญหาด้านสุขภาพกลายเป็นบุคคลล้มละลายถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่อยู่ในข่ายล้มละลาย

ประเด็นการได้รับบริการสุขภาพอนามัย (Health Care) ที่จำเป็นนี้ ตลอดจนเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพของบริการ และเงินค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างลิบลิ่วนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการด้านสาธารณสุขทั่วโลกได้ติดตามศึกษาอยู่ ในปี ค.ศ. 2000 องค์การสุภาพแห่งโลกในกำกับของสหประชาชาติ (The World Health Organization - WHO) ได้จัดอันดับให้ระบบดูแลสุขภาพของสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 37 ทั้งในด้านการตอบสนอง และค่าใช้จ่ายที่สูงเกินเหตุ แต่เมื่อคิดถึงด้านคุณภาพการให้การดูแลสุขภาพโดยรวม เขาจัดให้เป็นอันดับที่ 72 จากบรรดาชาติสมาชิกที่มีอยู่ทั่วโลก 191 ที่ได้มีการศึกษากัน องค์การ WHO ได้รับการวิพากษ์ในด้านวิธีการศึกษาและการขาดศึกษาความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในบริการที่ได้รับ จากรายงานโดยหน่วยงานสืบราชการลับของสหรัฐ (The CIA World Factbook) ได้จัดให้สหรัฐมีอัตราการเสียชีวิตของทารกต่ำเป็นอันดับที่ 41 และมีอัตราชีวิตยืนยาวเป็นอันดับที่ 41 (Life Expectancy) และจากการศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1997-2003 อัตราการตายของประชากรสหรัฐได้ลดลงช้ากว่าอีก 18 ประเทศอุตสาหกรรม และจากการศึกษาโดยหน่วยงานควบคุมโรค โดยส่วนงานที่ทำหน้าที่ด้านสถิติสุขภาพ (National Center for Health Statistics) ในปี ค.ศ. 2006 ได้รายงานว่า ร้อยละ 66 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ให้ความเห็นว่าบริการสุขภาพที่เขาได้รับนั้น “เยี่ยมยอด” หรือ “ดีมาก”

ระบบการดูแลสุขภาพของสหรัฐมีปัญหา ใช้เงินมาก และมีผลกระทบไปถึงการลดความสามารถในการแข่งขัน เพราะด่าดูแลสุขภาพจะถูกบวกเข้าไปในค่าใช้จ่ายด้านการผลิตและบริการต่างๆ ของคนในประเทศ ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหรัฐไม่ได้อยู่ที่วิทยาการ เพราะคณะแพทยศาสตร์และการดูแลสุขภาพด้านต่างๆของสหรัฐยังเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในโลกนี้ แพทย์เก่งๆจากทั่วโลก อยากมาเป็นคณาจารย์ เป็นนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา ปัญหาของระบบน่าจะอยู่ที่ระบบการเมืองของสหรัฐเอง ตลอดจนปรัชญาความเชื่อในแบบทุนนิยมเสรีในบางด้านที่มีลักษณะเกินเหตุ อำนาจทางการเมือง การชักจูง อิทธิพลทางการเมืองอยู่ในมือของบริษัทยา บริษัทที่ดำเนินการด้านประกันสุขภาพ สมาคมวิชาชีพทางด้านการแพทย์และสุขภาพอนามัยทั้งหลาย ตลอดจนคนระดับสูงที่มีขีดความสามารถในการซื้อบริการได้ ที่ทำให้บริการด้านสุขภาพในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ขาดหลักประกันสำหรับมนุษย์อันควร คนยากจน คนที่เป็นคนต่างด้าวคนทำงานอิสระแบบหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีรายได้พอที่จะไปซื้อบริการประกันสุขภาพที่ราคาแพงลิบลิ่ว ก็ต้องยอมเสี่ยงมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหลักประกัน หากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆในระดับที่ต้องพึ่งบริการสุขภาพ ก็ต้องยอมตกอยู่ในฐานะล้มละลาย

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา แม้เราจะไม่มีมั่งมีมั่งคั่งอย่างสหรัฐ แต่เราควรจะจัดการกับระบบประกันสุขภาพของเราอย่างพอเหมาะสมได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเปลี่ยนไปมองที่การให้บริการสุขภาพนั้น ต้องตั้งอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรมีสิทธิได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา การดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สิน เหล่านึ้จากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน สมแก่ความเป็นมนุษย์และประชากรของประเทศ ไม่ใช่มองกิจการด้านนี้เป็นเชิงพาณิชย์และการแข่งขันแบบเสรีจนเกินเหตุ

1 comment: