ประกอบ คุปรัตน์
คุณภาพการศึกษาเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละท้องที่ เมื่อสภาพแวดล้อมมีความเอื้ออำนวย คุณภาพการจัดการศึกษาก็จะดีตามไปด้วย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมถดถอย หรืออนุรักษ์ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คุณภาพการศึกษาก็จะชะงักงันตามไปด้วย
จากการศึกษาของ Jay P. Greene ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Manhattan Institute for Policy Research ที่ได้เขียนเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา ได้เสนอผลงานการศึกษาด้านความเท่าเทียมกันทางการศึกษาขั้นอุดม (Higher Education) เอาไว้ดังนี้
- ในการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 1998 อัตราการจบการศึกษาในขั้นปริญญาตรีโดยรวม คือร้อยละ 71 สำหรับคนขาวร้อยละ 78 และสำหรับคนดำอเมริกันเชื้อสายอัฟริกัน ร้อยละ 56 และพวกลาตินอเมริกันร้อยละ 54
- รัฐจอร์เจีย (Georgia) อันเป็นรัฐทางตอนใต้มีอัตราผู้จบการศึกษาต่ำสุดเมื่อเทียบระดับชาติ คือร้อยละ 54 ตามมาด้วยเนวาดา ฟลอริดา และเขตวอชิงตันดีซี อันเป็นเมืองหลวง
- รัฐฟลอริดามีอัตราการจบการศึกษาสูงสุดคือที่ร้อยละ 93 ตามด้วยรัฐดาโกต้าเหนือ (North Dakota) วิสคอนซิน และเนบราสก้า รัฐเหล่านี้เป็นรัฐการเกษตร
- ในขณะเดียวกันที่อัตรานักศึกษาผิวดำที่วิสคอนซินจบการศึกษาที่เพียงร้อยละ 40 ตามมาด้วยรัฐมิเนโซต้า จอร์เจีย และเทนเนสซี และจอร์เจียมีอัตราการจบการศึกษาที่ต่ำสุดสำหรับพวกเชื้อสายลาตินที่ร้อยละ 32 ตามด้วยรัฐอลาบามา เทนเนสซี และแคโรไลน่าเหนือ ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 50 มีรัฐอย่างน้อย 7 รัฐที่มีนักศึกษาผิวดำจบการศึกษาน้อยกว่าร้อยละ 50 และมีนักศึกษาเชื้อสายลาตินที่จบการศึกษาต่ำกว่าร้อยละ 50 ใน 8 รัฐ
- รัฐเวอร์จิเนียตะวันตก (West Virginia) มีอัตรานักศึกษาผิวดำจบการศึกษาสูงสุดคือร้อยละ 71 ตามด้วยรัฐแมสซาชูเสทส์ อาแคนซอว์ นิวเจอร์ซี่ นักศึกษาเชื้อสายลาตินมีอัตราการจบการศึกษาสูงที่สุดถึงร้อยละ 82 ในรัฐมอนทาน่า และตามด้วยรัฐลุยเซียน่า แมรีแลนด์ และฮาวาย
- ในหมู่เขตพื้นที่การศึกษาขนาดใหญ่สุด 50 แห่งแรก เมืองคลีฟแลนด์ (Cleveland City, Ohio) มีอัตราการจบการศึกษาที่ต่ำกว่าร้อยละ 28 ตามด้วยเมือง Memphis, Milwaukee, และ Columbus
จะเห็นได้ชัดว่าในระบบการศึกษาแบบกระจายอำนาจของสหรัฐอเมริกานั้น คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา และแต่ละรัฐที่จะจัดการศึกษา บางรัฐอาจมีสถานะเป็นรัฐการเกษตรมาเดิม แต่ได้ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมและการจ้างงานในรัฐของตน ก็มีการพัฒนาระบบการศึกษาที่ดีรองรับ บางเขตพื้นที่การศึกษา และบางเมืองที่มีสภาพเศรษฐกิจถดถอย การศึกษาก็จะไม่ได้รับการลงทุนเพราะขาดทรัพยากร เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองไม่สามารถดูแลการศึกษาของท้องที่ของตนให้มีคุณภาพที่ดีได้ การลงทุนก็จะไหลออก และเมื่อการลงทุนไหลออก งานก็จะไหลออกตามด้วย รัฐที่เขาเรียกว่า Rust Belt ในเขตตะวันตกกลาง (Midwest States) คือรัฐที่เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักเดิม เช่นรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถพัฒนาประชากรให้สามารถแข่งขันในธุรกิจนั้นๆ ได้ ก็จะมีความถดถอยของเมืองตามมา
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การศึกษาในเขตเมืองใหญ่ (Urban Areas) ไม่ใช่ว่าจะจัดการศึกษาได้ดีเสมอไป ประเด็นอยู่ที่เขตการศึกษาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ บางส่วนที่เป็นเขตเมืองที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่เป็นชุมชนแออัด มีอาชญากรรมสูง คนว่างงานมาก ยังคงมีความขัดแย้งด้านสีผิวอยู่ เป็นแหล่งที่เขาเรียกว่าสลัม (Ghettos) มีคนดำและคนเชื้อสายลาตินอยู่มาก คนยากจน ฐานะของชุมชนที่จะจ่ายเงินสนับสนุนการศึกษาจากท้องถิ่นก็มีลดน้อยลงไปด้วย
เขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นย่านชานเมือง (Suburban) คนพักอาศัยมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาก็จะมีเงินลงทุนมามากตามไปด้วย คุณภาพการศึกษาก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย
พรรคการเมืองเองก็มีส่วนในด้านนโยบายการศึกษา พรรครีพับลิกันต้องการให้คงความเป็นการกระจายอำนาจและให้ท้องถิ่นประชาชนจัดการศึกษากันเอง แต่พรรคเดโมแครตมีแนวโน้มที่จะกระจายทรัพยากรไปสู่คนระดับล่าง ดังเช่นรัฐฮาวาย พรรครีพับลิกันในท้องถิ่นต้องการให้มีการกระจายอำนาจไปจากกรมการศึกษาแห่งรัฐ (State Department of Education) แต่ฝ่ายพรรคเดโมแครตเห็นให้คงความเป็นรวมศูนย์เอาไว้
No comments:
Post a Comment