Wednesday, April 8, 2009

สู่ความสำเร็จในการเรียนมหาวิทยาลัย

สู่ความสำเร็จในการเรียนมหาวิทยาลัย
ประกอบ คุปรัตน์
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation
E-mail:
pracob@sb4af.org

Updated: Wednesday,
April 08, 2009

Keywords: cw02001.htm การอุดมศึกษา

ทำไมต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย

ผมเคยเขียนบทความนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในยุคซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies) ยังไม่ได้มีศักยภาพอย่างที่มีในปัจจุบัน แม้ได้เข้าสู่ยุคความตื่นตัวทางเทคโนโลยีด้านนี้บ้างแล้ว มาวันนี้จึงถือโอกาสปรับปรุงบทความ โดยสอดใส่โอกาสที่จะใช้ ICT ในการเรียนได้อย่างเหมาะสมในปัจจุบัน

แต่ละคนต้องหาคำตอบให้ได้ว่า มาเรียนมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาเพื่ออะไร ในต่างประเทศ คนที่ไม่สามารถหาคำตอบว่ามาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่ออะไรได้นั้น ท้ายสุดก็ต้องลาออกกลางคัน

มหาวิทยาลัยเองก็ไม่อยากรับคนที่ไม่มีแรงจูงใจ หรือคนไม่รู้ว่าเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร
โดยทั่วไปนั้น การเรียนมหาวิทยาลัยจะได้สิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การได้ความรู้ในการเตรียมตัวประกอบวิชาชีพขั้นสูง หรือที่เรียกว่าในระดับ Professionals เช่น การเป็น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ครูอาจารย์ ฯลฯ

2. การมีกลุ่มเพื่อนที่จะพึ่งพากันไปในระยะยาวในการทำงาน หรือจะเรียกว่า “การมีเครือข่าย” (Network) ก็ได้ ดังสุภาษิตที่ว่า “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน” นกไม่มีขนก็ไม่สามารถบินได้ คนไม่มีเพื่อนทำงานก็ไปไม่ได้ไกล

3. การได้ความรู้และวิธีการที่จะศึกษาหาความรู้ในระดับสูงอื่นๆ ต่อไป (Know how to learn.)
การมีความสามารถที่ติดตัวนั้น ทำให้มีรายได้ที่ดีเพิ่มขึ้นกว่าโดยเฉลี่ยทั่วไป

4. การได้มีโอกาสใช้ความรู้สติปัญญา ความสามารถในการทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ และสังคมได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากหาคำตอบไม่ได้จริงๆ นั้น ไม่ต้องรีบไปเรียนโดยที่ยังไม่เข้าใจ ไม่มีแรงจูงใจ ลองไปแสวงหางานอะไรทำสักระยะ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกการทำงาน ให้ได้เห็นชีวิตและโลกมากพอ แล้วค่อยกลับมาเรียนต่อก็ได้ ในต่างประเทศเขาเรียกว่า Drop-in & Dropouts ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอะไร ตรงกันข้ามในการเรียนในยุคใหม่นี้มีโอกาสกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (Education Loan) ได้เป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่ามีโอกาสสร้างหนี้ที่ถ้าไม่วางแผนให้ดี อาจต้องมีหนี้สินติดตัวไปอีกนาน แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาขั้นสูงอย่างที่ควรจะเป็น

จากการศึกษาในต่างประเทศ คนที่ต้องออกไปทำงานก่อนสักระยะ แล้วเมื่อพร้อมก็กลับมาศึกษาต่อเองนั้น มีอัตราการออกกลางครันน้อยกว่าพวกที่เรียนต่อสถาบันอุดมศึกษาในทันที ความแตกต่างก็คือ เขาเข้าใจความต้องการของตนเองมากขึ้น มีแรงจูงใจมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตทีจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมากขึ้น

ปัจจัยในการเลือกมหาวิทยาลัย

ไม่มีสถาบันการศึกษาใดดีที่สุด หรือที่จะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "There is no one best university".
มหาวิทยาลัยที่ว่าดีๆ นั้น สำหรับบางคนอาจกลายเป็นฝันร้าย เพราะอาจจะมีการแข่งขันสูงเกินไปสำหรับตน และเรียนแข่ง หรือเรียนตามเพื่อนไม่ทัน มีค่าใช้จ่ายแพงเกินไป จนแบกรับไม่ไหวในระยะยาว มีวัฒนธรรมภายในที่หรูหราเกินไปสำหรับคนระดับตน

วิธีการที่ดี คือเลือกเรียนในที่ๆ เหมาะกับตนเองดีที่สุด

ต้อย - เป็นคนติดบ้านเกิด ไม่อยากอยู่ไกลพ่อแม่ จึงเรียกสถานที่เรียนใกล้บ้าน

ตุ้ม - พ่อแม่เป็นคนไม่มีการศึกษา ต้องทำงานเลี้ยงชีพไปวันๆ ตุ้มจึงไม่เลือกเรียนต่อทันที แต่หางานทำจนได้งานที่เป็นหลักแหล่ง แล้วก็เลือกเรียนในสถาบันอุดมศึกษาใกล้บ้านในแบบภาคค่ำ ภาคพิเศษ ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย แม้จะใช้เวลามากหน่อย แต่สักวันก็คิดว่าจะเรียนจบได้

ตั้ม - เป็นคนฉลาด พ่อแม่มีฐานะ ตั้มเป็นคนรักเพื่อน แต่กลุ่มเพื่อนๆ มักจะเป็นพวกชอบเที่ยวเตร่ ชีวิตจึงถูกดึงไปมั่วสุมกับ การขับรถ เที่ยวผับ ไม่เป็นอันเรียนหนังสือ คุณพ่อคุณแม่จึงตัดสินใจส่งให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ทั้ง 3 กรณี ต่างมีเหตุผลในการเรียนที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่มีใครผิด เพราะต่างอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างกัน
เหตุผลในการเลือกเรียนสถาบันอุดมศึกษา

โดยทั่วไป นักศึกษาเลือกเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยเหตุผลต่อไปนี้
  • เรียนตามเพื่อน เพื่อนสนิทกลุ่มใหญ่เรียนที่ไหน ก็เลือกเรียนตามไปด้วย แม้ไม่อยู่ในคณะวิชาเดียวกัน

  • เรียนตามความคาดหวังของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่ทำธุรกิจใด ก็อยากให้ลูกได้ทำงานต่อจากที่ตนได้เคยทำไว้แล้ว ไม่ต้องไปเริ่มเป็นลูกจ้างคนอื่นๆ เขา หรือ คุณพ่อเป็นทหาร ข้าราชการผู้ใหญ่ ก็อยากให้ลูกสืบทอดชีวิตทหาร หรือราชการนั้นๆ

  • เรียนตามค่านิยม คนเขาว่าดี เรียนแล้วมีอนาคต มีรายได้ มีหลักประกันในชีวิต เช่น เลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์

  • เลือกเรียนตามคะแนนสอบ คิดว่าระดับความสามารถพอจะอยู่ในระดับใด ก็จะเลือกชนิดว่ามีโอกาสเข้าเรียนได้

  • เรียนตามสายวิชาที่สนใจ และใฝ่ฝันที่จะเรียน

  • เรียนด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ประกอบกันไป
มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษามีความแตกต่างกัน มีของดีและของด้อยคุณภาพอยู่จริง เหมือนกับที่สินค้าแต่ละชนิดที่ผลิตออกมามีคุณภาพที่ไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้มีอยู่ และผู้เรียนจะต้องหาทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพของการเรียนการสอน การดูแลคุณภาพบัณฑิตที่จะผลิตออกมา

การศึกษาเล่าเรียนที่จะให้ได้เรียนง่ายๆ จบง่ายๆ แต่ไม่มีคุณภาพ ท้ายสุดผู้เรียนก็ไม่ได้รับการยอมรับในตลาดแรงงาน หางานยาก ได้ค่าตอบแทนน้อย และอาจไม่มีความสามารถในการทำงานแท้จริง เป็นการเรียนที่อาจเสียเวลาเปล่า

การเลือกคุณภาพของสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

จะเลือกดูคุณภาพของสถานศึกษาได้อย่างไร

การจะเลือกศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาใดๆ นั้น ทางที่ดีประการหนึ่ง คือการได้ไปเยี่ยมเยียนสถานที่นั้นๆ หรือที่เขาเรียกว่า Campus visit เพราะในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาบางแห่งอาจมีชื่อ แต่ว่าเขามีหลายๆ วิทยาเขต และแต่ละวิทยาเขตมีคุณภาพการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน เราจะดูคุณภาพการศึกษาได้จากสิ่งเหล่านี้

  • ดูจากสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวก (Facilities) และการสนับสนุนการเรียน
  • ห้องสมุด ซึ่งรวมไปถึงหนังสือที่เป็นกระดาษ (Printed materials) และส่วนท่เป็นระบบบอกรับผ่านระบบเครือข่าย หรือ Subscribed Journals, books, และอื่นๆ

  • เครื่องคอมพิวเตอร์บริการ เดี๋ยวนี้ต้องมองไปทีี สถาบันการศึกษาเหล่านั้นมีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในแบบ Wireless รองรับหรือไม่

  • ห้องทดลอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับลักษณะงานนั้นๆ ในปัจจุบันควรมองไปที่การมีโปรแกรมการฝึกงาน (Internship) คือ การมีโปรแกรมส่งนักศึกษาเข้ารับการฝึกงานจากหน่วยงานที่เขาเข้าใจในการสอนคนแบบเรียนรู้คู่การปฏิบัติ

  • คุณภาพครูอาจารย์ ประวัติการศึกษาของครูอาจารย์ในสถาบันนั้นๆ (Faculty) ทั้งนี้ดูได้จากหนังสือแนะนำสถาบันที่มีเผยแพร่ในที่ต่างๆ หรือตามโรงเรียนที่มีหน่วยงานแนะแนวอยู่ หรือในห้องสมุดสถานศึกษาก็ได้

  • คุณภาพครูอาจารย์ผู้สอน ดูจากการจบการศึกษา ซึ่งไม่เพียงมีปริญญาขั้นสูง แต่ต้องดูว่าเขาจบกันมาจากที่ใดบ้าง และตำแหน่งวิชาการผลงานกันอย่างไร ในต่างประเทศ เขาดูกันที่ประวัติความยอมรับทางด้านการเรียนการสอน เรียกว่าเป็น Teaching professors เพราะอาจารย์บางคน มีผลงาน มีการวิจัยต่อเนื่อง แต่ไม่สนใจและให้เวลากับการเรียนการสอน
  • บรรยากาศของสถานศึกษา มีระบบอาวุโส แต่มีความใกล้ชิด แบบพี่กับน้อง หรือว่า ต่างคนต่างอยู่แต่เป็นแบบผู้ใหญ่ สถานศึกษาบางแห่งในประเทศไทย ยังปล่อยให้มีบรรยากาศรุ่นพี่รับรุ่น้องกันอย่างรุนแรง โหดร้าย ซึ่งมีให้เห็นบ่อยๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดี
  • จบแล้วมีงานทำหรือไม่ คุยกับพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เขาอยู่ในโลกของการทำงาน ที่เขาเคยต้องรับบัณฑิตที่จบจากที่ต่างๆ และให้ข้อเปรียบเทียบกับเราได้ ลองพูดคุยกับเพื่อนๆ รุ่นพี่ที่เป็นผู้ใหญ่พอ ให้เขาเล่าบรรยากาศการใช้ชีวิต การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน การสอบ และอื่นๆ เป็นการถามเพื่อแสวงหาความจริง ไม่ต้องถามเพื่อให้เขาตัดสินใจให้ค่าความเห็นแก่เรา แล้วลองนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเีทียบกัน
ลองปรึกษา พูดคุยกับครูอาจารย์ฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนดู บางครั้งคุยกับผู้ใหญ่ไว้ เป็นการเก็บข้อมูลเอาไว้ ท้ายสุดเราต้องเป็นคนตัดสินใจด้วยตนเอง

เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีคนจัดทำระดับคุณภาพการเรียนการสอน และการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพราะลำพังเพียงความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือเอกชน หรือว่าขนาดใหญ่เล็ก ไม่สามารถแสดงขีดความสามารถทางด้านการจัดการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิตได้ทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่ผู้เรียน เมื่อจะเตรียมตัวเขาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ต้องขวนขวายหาคำตอบเองเพิ่มเติมขึ้นด้วย

ใครเป็นใครในมหาวิทยาลัย

เมื่อได้เข้าไปเรียนในสถาบันการศึกษาใดแล้ว ต้องแน่ชัดว่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาใดแล้ว ก็ต้องรู้จักกับผู้คนในสถาบันการศึกษานั้นๆ อันได้แก่

นักศึกษา (Undergraduate Students) - การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น เราเรียนโดยมีเพื่อนร่วมเรียน คนที่แยกโดดเดี่ยว มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่มีเพื่อน ไม่มีเครือข่าย แม้จบการศึกษาออกไปแล้ว ก็ไม่มีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน

นักศึกษาระดับบัณฑิต (Graduate Students) - นักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือปริญญา หรือใบประกอบวิชาชีพชั้นสูง ดังเช่นพวกแพทย์เฉพาะทาง หรือพวกนักกฏหมายที่เตรียมตัวเรียนเนติบัณฑิต พวกนี้่ฝรั่งเรียกว่า Graduate Students คนในกลุ่มนี้มีในบางสถานศึกษาที่มีการเปิดสอนในระดับสูง หรือที่เขาเรียกว่า "บัณฑิตศึกษา" คนเหล่านี้บางที่อาจได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้สอนให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอน ในต่างประเทศ นิสิตช่วยสอน หรือ Teaching Assistants หรือให้ช่วยงานวิจัย (Research Assistants) จะสนิทสนมกับนักศึกษามากกว่าครูอาจารย์ในระดับผู้ใหญ่ หรือที่เขาเรียกว่า Professor เสียอีก

อาจารย์ (Faculty) - อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีเวลาในกับนักศึกษา โดยเฉพาะกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่เป็นไปอย่างนั้นเสมอไป อาจารย์บางคนในบางแห่งบอกว่าชอบทำงานกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าพวกบัณฑิตศึกษา เพราะเป็นพวกที่ยังเด็ก ยังเยาว์วัย และมีพลังในการแสวงหามาก สำหรับนักศึกษาเอง ไม่ว่าอย่างไรเสีย อย่างน้อยเรียนในแต่ละสถานศึกษา ควรมีอาจารย์ที่เราจะใกล้ชิดสนิทสนมได้ ท่านเหล่านั้นอาจเป็นอาจารย์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น "อาจารย์ที่ปรึกษา" (Advisors) บางส่วนอาจเป็นอาจารย์ที่เราขันอาสาเข้าไปรับใช้ใกล้ชิด มีอะไรให้ช่วยทำ ได้พึ่งพาอาศัยกัน อย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ ดังที่เขามีสุภาษิตว่า "ใกล้พาล พาลพาไปหาผิด ใกล้บัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"

ในมหาวิทยาลัย อาจารย์ทุกคนควรมีเวลาที่กันไว้สำหรับให้นักศึกษาเข้าพบ และในอีกด้านหนึ่ง นักศึกษาต้ัองมีการนัดหมายเพื่อเข้าพบ โดยเฉพาะในการศึกษาระดับปริญญาขั้นสูง เพราะพบเพื่อจะดูผลงานที่ทำ ซึ่งต้องใช้เวลา และอาจารย์ต้องไปเตรียมตัวอ่านงานมาก่อนหน้าแล้ว

เจ้าหน้าที่สนับสนุนการศึกษา (Supporting Staff) - อาจได้แก่ บรรณรักษ์ห้องสมุด เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง เจ้าหน้าที่ห้องคอมพิวเตอร์ คนเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาของเรา คนที่มีไมตรีต่อผู้อื่น รู้จักพูดจาทำความรู้จัก มีอะไรก็ปรึกษาไหว้วานกันได้ เราก็จะได้เรียนรู้จากเขาเหล่านั้น

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา (Administrators) - นับว่าเป็นคนใหญ่ระดับสูง อาจเป็นหัวหน้าภาควิชา คณบดี หรือผู้บริหารสูงสุดระดับคณะ อธิการ อธิกาบดี หรือผู้บริหารสูงสุดระดับสถาบันและทีมผู้ช่วย โดยทั่วไป นักศึกษามักไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พบผู้บริหารระดับสูงของสถาบันในระดับคณบดี หรืออธิการบดี แต่สำหรับมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ต้องเอาใจใส่ต่อการเรียนการสอน ผู้บริหารเองกลับต้องหาทางให้ได้ใกล้ชิดกับนักสึกษา เพื่อได้รับข้อมูลสะท้อนกลับจากนักศึกษาเหล่านั้น

โปรดจำสุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" การเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องรู้จักกับคนในมหาวิทยาลัย รู้จักชีวิตนักศึกษาด้วยกัน เพื่อนรุ่นพี่ เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนรุ่นน้อง

กลุ่มเพื่อนมีผลต่อการศึกษาเล่าเรียนของเรามาก มีเพื่อนที่ดี ก็ช่วยกัน แนะนำกันไปสู่สิ่งที่ดีกว่า พบเพื่อนที่หลงทาง ช่วยเขา เตือนสติเขาได้ ก็ช่วยจะเป็นประโยชน์ แต่อย่าไปหลงผิดร่วมไปกับเขา อย่างหลงระเริงกับเสรีภาพในมหาวิทยาลัย ต้องมีวินัยด้วยตัวเอง

การเลือกสถานศึกษา

ประเภทของสถานศึกษาในประเทศไทย
  • มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคลด้วย
  • สถาบันการศึกษาของเอกชน
  • วิทยาลัยเฉพาะทาง - โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วิทยาลัยพยาบาล
  • วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนในสายอาชีพ และมีเปิดสอนจนถึงในระดับปริญญาตรีแล้ว
  • มหาวิทยาลัยเปิด รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นระบบเปิด ไม่กำหนดการต้องเข้าชั้นเรียน แต่เน้นไปที่การทดสอบความสามารถว่าได้บรรลุผลทางวิชาการตามที่กำหนดหรือไม่
ไม่มีสถานศึกษาใดดีที่สุดสำหรับทุกๆ คน (There is no one best university.) ขึ้นอยู่กับว่าในสถานการณ์และองค์ประกอบหลายๆ ประการนั้น สถาบันใดมีความเหมาะสมที่สุด

กิจกรรม

ลองเข้าไปศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ตาม Websites ที่ปรากฏ แล้วเลือกตามลำดับมาสัก 3 รายการพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลมาอย่างสั้นๆ(E-mail ถึงอาจารย์ผู้สอน)E-mail: pracob@sb4af.org

หลักการเลือกเรียนอาจมีอยู่หลายๆ ข้อ แต่ขอกล่าวถึงสิ่งที่สำคัญสัก 3 รายการ มีอยู่ว่า

ประการแรก เรียนในที่ๆ เรามีความภูมิใจและพอใจเพียงพอ (Satisfaction) - เรียนที่ใดก็ตามที่เราเห็นคุณค่าของสถานที่นั้นๆ ตามความเป็นจริง มีความภาคภูมิใจได้ แต่อย่าไปหลงติดในชื่อเสียงชองสถาบันจนเกินไป ความสำคัญในการเรียนอยู่ที่ตัวเราเอง คนจะเรียน จะพัฒนาตนเองนั้น อยู่ที่ใด ก็เรียนได้

ประการที่สอง ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนพอรับได้ (Expense Related) - ไม่ใช่เลือกเรียนทั้งๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และครอบครัว หรือตนเองจะแบกรับไม่ไหว ถ้าจะกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งก็ทำได้ แต่ควรเลือกใช้วิธีการกู้ให้น้อยที่สุด และต้องเตรียมแหล่งเงินให้ชัดเจนไปจนตลอดทาง

ประการที่สาม เลือกเรียนใกล้บ้าน หรือไกลบ้านดี (Close to Home) - คำตอบไม่มีลักษณะตายตัว คนที่เลือกเรียนในสถานที่ใกล้บ้านนั้น ด้วยหลายสาเหตุ เช่น ไม่ต้องเสียค่าที่พักเพิ่มเติม เพราะพักที่บ้านกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เสียค่าใช้จ่ายด้านค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ และค่าเดินทางบ้างเล็กน้อย

บางคนเลือกเรียนไกลบ้าน ด้วยเหตุผลอื่นๆ บังคับ เช่น ต้องการเรียนในสถาบันที่ดี ตามสายวิชาการวิชาชีพที่พึงประสงค์ แต่ในระแวกบ้าน ไม่มีสถานที่เรียน บางคนเจตนาเลือกเรียนไกลบ้าน เพราะต้องการออกมาใช้ชีวิตที่อิสระ หลุดพ้นจากความเป็นเด็กนักเรียนภายใต้การอูแลของผู้ปกครอง ในต่างประเทศ เขาเรียกมหาวิทยาลัยว่า Liberating Agent คือการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย คือการเตรียมใช้ชีวิตในแบบอิสระ เตรียมตัวสู่ความเป็นผู้ใหญ่

เรียนใกล้บ้าน เดินไปเรียนได้ ค่าใช้จ่าย และความสะดวก ดีกว่าเรียนไกลบ้าน ไมต้องเสียเวลาเดินทาง

เรียนในจังหวัด ดีกว่าต้องเรียนต่างถิ่น ไม่ต้องไปหาที่พักอาศัยใหม่ ค่าบ้านพัก นับเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจต้องเพิ่มขึ้นอีกปีละกว่า 20,000 บาท ค่าอาหารการกิน ค่าเดินทาง ฯลฯ

เรียนในประเทศ แม้ต้องไปเรียนในจังหวัดอื่นๆ ดีกว่าต้องเดินทางไปเรียนต่างประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงปีละอาจจะถึง 1.5-2.0 ล้านบาทต่อปี

ไปเรียนต่างประเทศ ก็ขอให้ไปเรียนด้วยเวลาพอประมาณ เตรียมความพร้อมจากการเรียนภายในประเทศให้มากที่สุด เช่น จบปริญญาตรีแล้ว ค่อยไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ไปเรียนต่างประเทศ ถ้าเลือกได้ ก็เลือกที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ได้ประโยชน์ได้อยู่ในบรรยากาศที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ และมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอ ในปัจจุบันดังในสหรัํฐอเมริกา เขามีการวัดคุณภาพการศึกษากันในแบบ Best values กล่าวคือ เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายที่ต้องไปเรียน ณ ที่ั้นั้นๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และรวมไปถึงโอกาสในการเรียนท่มีคุณภาพที่พิสูจน์ได้ การฝึกงาน การเรียนแล้วได้ทำงานที่ดีมีคุณค่า ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เริ่มมีการวัดกันบ้างแล้ว

แต่ไม่ว่าจะไปเรียนที่ใด ก็ต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายที่ทางบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องจ่าย หรือทางเราเองต้องเสียไป หากได้เงินยืมเงินกู้ ก็ต้องคิดว่า ท้ายสุดก็ต้องหาเงินไปคืนเขา เมื่อเสียเงินแล้ว ก็ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ตั้งใจเล่าเรียนอย่างจริงจัง เรียนให้คุ้มค่าแก่เงินทองที่ต้องเสียไป

ถ้าต้องกู้ยืม แม้มีสิทธิกู้ได้ ก็ควรกู้เท่าที่จำเป็น เพราะในท้ายสุด ก็ต้องหาเงินมาใช้เขา ดังนั้นถ้าแม้กู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมีเงินจ่ายได้สกร้อยละ 50 ก็ให้กู้เพียงสักครึ่งหนึ่ง และในปีการศึกษาหลังๆ หากหางานทำได้ ก็ให้ลดการกู้ยืมลง

การไปศึกษาต่อต่างประเทศ

การไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้นเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และต่อประเทศชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านทรงส่งพระโอรสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำความรู้และวิทยาการใหม่ๆ กลับมารับใช้ชาติ ในปัจจุบันนี้ ทั้งภาคราชการ เอกชน และประชาชนก็มีการส่งบุคคลไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งเรียนหลักสูตรระยะสั้น ระยะกลาง หลายเดือน และทั้งระยะยาว อาจเป็นถึง 4 ปี หรือมากกว่า

แต่การไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ค่าใช้จ่ายในการเรียนแต่ละปีอาจสูงถึง 1.5-2.0 ล้านบาท ในขณะที่การศึกษาต่อภายในประเทศนั้นจะอยู่ที่ราวๆ 150,000 - 250,000 บาท ก็นับว่าเพียงพอแล้วเป็นส่วนใหญ่ และในบางกรณีอาจเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยก็ยังได้
ถ้าไม่จำเป็น สามารถเรียนในสถานศึกษาในประเทศไทย ก็จะประหยัดเงินและทรัพยากรของครอบครัว และของประเทศได้มาก การไปศึกษาต่อต่างประเทศอาจใช้เงินมากถึงปีละ 1 - 2 ล้านบาทต่อปีการศึกษา

การศึกษาต่อต่างประเทศยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศ โดยเฉพาะในหลายๆ สาขาวิชาการที่เราต้องไปเรียนรู้จากเขา - บางคนเรียนต่างประเทศ เพราะเป็นคนเรียนดี สอบแข่งขันรับทุนการศึกษาได้

บางคนเรียนต่อต่างประเทศ เพราะเป็นการเตรียมตัวไปหางานทำในที่ๆ มีรายได้สูงกว่า

คนแต่ละคน แต่ละครอบครัว ต่างมีเหตุผลในการให้บุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อจะต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ก็ต้องตั้งใจไปเรียนให้ได้ประโยชน์ที่สุด

ไปเรียนที่ไหนกันบ้าง

  • ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา
  • ประเทศอังกฤษ
  • ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
  • ประเทศในกลุ่มยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ
  • ประเทศอินเดีย ปากีสถาน
  • อาเซียน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย - ค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก และก็ได้อยู่ในบรรยากาศ
  • ฮ่องกง สิงค์โปร์ - ค่าใช้จ่ายสูงไม่แพ้ในยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการไปศึกษาต่อ หรือฝึกอบรมระยะสั้นๆ
  • ประเทศจีน ใต้หวัน - เพราะต้องการให้ได้ภาษาจีน และหวังจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรธุรกิจจีนในอนาคต
หากหาคำตอบในเบื้องต้นไม่ได้ ให้ใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้น หรือพูดคุยกับคนที่เขามีข้อมูล

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทางไป

เมื่อจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศแน่แล้ว จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ควรพยายามเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ทำความเข้าใจในประสบการณ์ที่เราจะต้องได้รับเอาไว้ล่วงหน้า

หรรษา เป็นคนสนุกสนาน อยู่ประเทศไทยเรียนหนังสือแบบพอไปได้ ผ่านการเรียนได้ทุกปี แม้จะไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนนัก โดยทั่วไปใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ สนุกสนานเที่ยวเตร่ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว พ่อแม่ก็ตัดสินใจส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศทันที โดยหวังว่าจะไปเริ่มเรียนภาษาอังกฤษก่อน แล้วค่อยแสวงหาที่เรียนต่อในระดับปริญญาขั้นสูงอีกทีหลังจากนั้น ปรากฏว่าไปอยู่ได้ไม่นาน ก็รู้สึกชีอค สภาพต่างๆ ไม่ได้เหมือนกับที่เคยเป็นเมื่อเรียนอยู่ในเมืองไทย

ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ต้องอยู่ในที่ๆ ต้องพูดภาษาอังกฤษ สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง พอจะต้องซักเสื้อผ้า ก็ใช้เครื่องซักไม่เป็น เพราะอยู่ที่บ้านมีคนรับใช้ดูแลให้ตลอด ครั้นจะเดินทางไปไหนๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปได้อย่างไร ไปอยู่ได้ไม่กี่วัน ต้องเสียค่าโทรศัพท์กลับบ้านมากมาย และ่ท้ายสุด ก็ทนไม่ไหว จึงต้องเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนอะไรเลย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเตรียมตัวเตรียมใจอะไรไว้ให้พร้อม และเป็นความพร้อมในหลายๆด้าน

1. ความพร้อมด้านภาษา (Language,) ที่ๆ เราจะไปศึกษาต่อนั้น เขาใช้ภาษาอะไรในการสื่อสาร

2. ความพร้อมด้านวัฒนธรรม (Culture) เขามีวิถีชีวิตอย่างไร การกินการอยู่ การอาบน้ำ การคบเพื่อน วัฒนธรรมท้องถิ่น ความยอมรับในคนต่างถิ่นต่างภาษา บางแห่งไม่ค่อยจะเข้าใจคนต่างชาติ แต่บางแห่งก็อยากมีคนต่างวัฒนธรรมไปอยู่มากๆ

3. ความพร้อมด้านอารมณ์และสังคม (Emotion & Social readiness) ตนเองมีความพร้อมทางอารมพียงใด อดทนที่จะต้องอยู่ในสภาพที่มีความเครียดได้มากน้อยเพียงใด

4. ความพร้อมด้านเนื้อหาวิชา (Subject areas) การไปเรียนบางครั้ง ต้องมีพื้นฐานบางรายวิชาที่พร้อมจะเรียนต่อ โดยทั่วๆ ไป บางประเทศเรียนต่อระดับปริญญาตรี ดังในประเทศทางภาคพื้นยุโรป แต่มาตรฐานของเขาเท่ากับประมาณปี 1 หรือ 2 ของประเทศไทย แต่บางประเทศดังในสหรัฐอเมริกา สถานที่เรียนบางแห่งจะมีความต้องการพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ไม่สูงนัก

5. ความพร้อมด้านการเงิน (Financial support) ในการไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น มีการเตรียมการทางด้านการเงินเอาไว้อย่างเพียงพอหรือไม่ สมมุติว่าจะต้องไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาตรี ต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 4 ปี ก็คำนวณอย่างคร่าวๆ ว่าต้องใช้เงินประมาณ (1,000,000 X 4 = 4,000,000 บาท) เป็นอย่างน้อย หากมีโอกาสหางานทำ ก็อาจลดค่าใช้จ่ายไปได้สักร้อยละ 25 หรือเท่ากับว่าระยะ 2 ปีหลัง อาจมีเงินด้านอื่นๆ ที่ผู้เรียนช่วยตัวเองได้สัก 1 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม คิดทางหนีที่ไล่ไว้ให้พร้อม ต้องเตรียมในสิ่งที่เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วย

เตรียมพร้อมให้ได้ก่อนเดินทางไป ถือว่าดีที่สุด และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ หากจะต้องส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ขอให้ติดต่อมาที่ "มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย" เราจะให้ข้อมูลและ คำแนะนำขั้นพื้นฐาน และกระบวนการต่่างๆให้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แนะนำการเรียนเพิ่มเติม

การเรียนในมหาวิทยาลัยให้สำเร็จ

ลางเนื้อชอบลางยา กรณีศึกษา

กรณีศึกษา 1

สมศักดิ์ เป็นนักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัด เป็นนักเรียนเรียนดี ได้รับทุนการศึกษามาตลอด แต่เมื่อเขาเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ความที่เขาเป็นคนไม่เคยใด้เห็นแสงสี ไม่เคยได้เที่ยวเตร่ แต่บัดดนี้เขาได้มีอิสระที่จะทำอะไรต่างๆ มากมาย เขาจึงทำทุกอย่างที่ไม่เคยทำ ทั้งกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง ในไม่ช้าเทอมแรกผ่านไป เขาสอบตกใน 2 วิชา คะแนนของเขาอยู่ในขั้นทดลองเรียน (Probation) ถ้าเขาทำคะแนนขึ้นไม่ได้ ก็จะต้องถูกให้ออกตั้งแต่ในปีแรก

อาการของสมศักดิ์อย่างนี้เรียกว่า "ขาดภูมิคุ้มกัน" สมศักดิ์ไม่ได้เตรียมตัวที่จะมีความรับผิดชอบในตัวเอง
ปัญญา เป็นนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย พ่อและแม่ของเขาเป็นคนเลี้ยงลูกแบบให้อิสรภาพมาก เมื่อเขาเรียนในมหาวิทยาลัยแบบไทยๆ เขาจึงรู้สึกเบื่อ บอกว่ามีแต่ให้ฟังคำบรรยาย และต้องเรียนแบบท่องจำ

กรณีศึกษา 2

ปัญญา เป็นคนสนุกสนาน เฮฮา อยู่ที่ไหนก็สนุกได้ เมื่อเรียนในสถานศึกษาในประเทศไทย เขาพบว่าตนเองไม่มีความสนใจไฝ่เรียนเอาเสียเลย เมื่อพ่อแม่ให้ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วเขาพบว่าเขาพอใจในการเรียนในแบบต่างประเทศ ที่เขามีเสรีภาพในการเรียน เรียนแบบต้องค้นคว้าและใช้ความคิดสร้างสรรมาก และเป็นตัวของตัวเอง เมื่ออยู่ในต่างประเทศ ต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เขาไม่รู้ภาษามากนัก แต่ก็ใช้ความสามารถส่วนตัว ศึกษา หาทางเรียนรู้ใช้ชีวิต หาเพื่อนต่างชาติ พูดคุย เอาตัวรอดได้ และพัฒนาภาษาไปในเวลาอันรวดเร็ว

กรณีของนักศึกษาบางคน เขามีคุณสมบัติบางอย่างที่ยังมองไม่เห็น ลูกคนชั้นกลางบางคน มีคุณสมบัติหลายๆอย่างที่ดี แต่เมื่ออยู่กับครอบครัว และสภาพแวดล้อมบางอย่างแล้ว เขาก็ไม่ได้มีทัศนคติที่ขวนขวาย แต่ในกรณีของปัญญา เขาน่าจะมีคุณสมบัติประการหนึ่งที่เรียกว่า "ความสามารถในการปรับตัว" (Adaptability) ถ้าอยู่ในเมืองไทย เขาประพฤติปฏิบัติแบบหนึ่ง เช่น อยู่สบายๆ ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่พอต้องไปอยู่ในอีกที่หนึ่ง เขาต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด เขาก็ต้องดึงคุณสมบัติเหล่านั้นออกมาใช้ และนั่นก็ทำให้เขาได้เรียนรู้

กรณีศึกษา 3

นวรัตน์ เป็นคนที่ต้องช่วยตัวเองตลอด เธอเป็นคนเรียนหนังสือในระดับปานกลาง พอช่วยตัวเองได้ เมื่อเธอเรียนจบชั้นปวช ก็ได้เริ่มทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้พอช่วยตัวเองได้ จึงหาทางศึกษาต่อ แต่ก็พบว่า ที่มหาวิทยาลัยเปิดสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นแห่งที่เหมาะกับเธอมากที่สุด เพราะไม่ต้องเดินทางไปเรียน และเมื่อเธอเรียนไปได้สัก 2 ปีก็พบว่าเธอเรียนได้อย่างไม่เป็นปัญหา และได้มองลู่ทางที่จะจบการศึกษาแล้ว

นวรัตน์ป็นคนในลักษณะที่จะเหมาะกับการเรียนในแบบมหาวิทยาลัยเปิด กล่าวคือ มีความสามารถพอที่จะเรียนด้วยตนเองได้ แม้มีงานต้องทำอยู่แล้ว แต่ก็รู้จักจัดแบ่งเวลาในการเรียนและการทำงาน

กรณีศึกษา 4

นิ่มนวล เป็นคนเรียนหนังสือดีมาตลอด เป็นเด็กที่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ท้ายสุดพ่อแม่ก็ส่งเธอไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้น สูง ด้วยคะแนนเฉลี่ยในระดับสูง เธอจึงได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ระหว่างที่เรียนเธอรู้สึกอึดอัดและสับสน เพราะอาจารย์ที่สอนก็สอนแบบไม่บรรยาย ได้แต่ให้ไปอ่านตำรา เวลาทำการบ้าน ทำรายงานส่งอาจารย์ ก็มักได้คะแนนไม่ดี อาจารย์บอกว่า เธอไม่ได้แสดงความคิดเห็นเป็นของเธอเอง เป็นแต่รวบรวมความคิดความอ่านของผู้แต่งคนอื่นๆ โดยไม่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

เป็นไปได้อย่างไรที่คนเรียนดี เรียนเก่งจากประเทศไทย จะไม่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทำไมคนอื่นๆ ที่ได้คะแนนเรียนด้อยกว่าเธอจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จึงเรียนได้อย่างไม่เป็นปัญหา

กรณีศึกษา 5

นิ่มนวล อาจเรียกได้ว่า เรียนมาในประเทศไทย เป็นเรียนแบบ "กระดาษซับ" กล่าวคือ มีความจำดี จดและจำตามที่อาจารย์บรรยาย และสั่งสอน แต่ในต่างประเทศนั้น เขาเรียนแบบ Inquiry Method เป็นการเรียนที่ผุ้เรียนจะต้องค้นหา และต้องแสดงความคิดความเห็นที่เป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง
การหยุดพักการเรียน ไม่ใช่ความล้มเหลว

กรณีศึกษา 6

สมชาย เป็นนักศึกษาเรียนดี เป็นครอบครัวของคนระดับกลาง แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ สมชายเรียนไปได้เพียงปีเดียว คุณพ่อจึงขอให้เขาลาศึกษากลางครัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่กำลังวิกฤต และเพื่อให้สมชายได้ไปช่วยทำงานในกิจการของครอบครัว เพิ่มแรงให้กับพ่อแม่แล้ว

การต้องเลิกเรียนกลางครัน ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเรียนอีก นักศึกษาสามารถกลับมาเรียนใหม่ได้ เมื่อปัญหาทางการเงินในครอบครัวได้ผ่านพ้นไปแล้ว อาจเป็นการดีเสียอีกที่ได้ไปเห็นโลกของการทำงาน
แก้วบาง เป็นนักศึกษาหญิงที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง เธอเป็นคนที่เรียนหนังสือดีมาตลอด และเมื่อเรียนในมหาวิทยาลัย ได้เรียนในคณะนิติศาสตร์ ก็เรียนได้ดีอยู่ในระดับจะได้เกียรตินิยม แต่ในปีสุดท้ายที่จะจบการศึกษา เธอสอบตกใน 1 วิชาหลัก ทำให้ต้องเรียนซ้ำในปีต่อไป เธอเสียใจมากจนไม่เป็นอันกินอันนอน และมีความเครียดสูง

คนที่เคยประสบความสำเร็จมาตลอด โดยไม่รู้จักความผิดหวังบ้างเลยนั้น นับว่าต้องระวัง การได้พบกับความผิดหวังบ้างในชีวิตนั้น จะทำให้เราแกร่งขึ้น และเมื่อชีวิตได้ผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราจะพบว่า ความผิดหวังใดๆ ที่ได้เกิดขึ้นนั้น จะดีเสียอีกที่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความผิดหวังในชีวิต ที่จะต้องมีตามมาตามธรรมชาติ เราจะได้มีความคุ้นเคย มีความเข้มแข้ง และมีสติที่จะแก้ปัญหา

การสำเร็จการศึกษา รับปริญญา ยังไม่ใช่ความสำเร็จ

แหล่งการช่วยเหลือในมหาวิทยาลัย

อันมหาวิทยาลัยที่ดีนั้น น่าจะต้องมีบริการดังต่อไปนี้

การติว (Tutors) - การสอนเสริมให้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความพร้อมในการเรียนบางประการ เช่น ทางด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ทักษะการอ่าน วิชาที่ต้องลงทะเบียนเรียนนั้น อาจไม่ได้รับหน่วยกิต แต่จะจำเป็นสำหรับนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีพื้นฐานดังกล่าวมาก่อน

การให้คำปรึกษา (Counsellors) การมีบริการให้คำปรึกษา เช่นปัญหาด้านการเรียน ปัญหาจิตใจ ความเครียด อาการหดหู่ใจของนักศึกษาในบางครั้ง ซึ่งต้องการคำแนะนำ และที่พึ่งทางอารมย์เป็นครั้งคราว

การบริการด้านสุขภาพ (Clinics) - จะอยู่ในโครงการประกันสุขภาพหรือไม่ก็ตาม

นันทนาการและสังคม (Recreation & Clubs) การมีกิจกรรมที่ทำให้นักศึกษามีเพื่อนร่วมรุ่น มีความเป็นกลุ่มสังคม

ทุนการศึกษา - การมีบริการอำนวยความสะดวกด้านทุนการศึกษา

การหารายได้พิเศษ (Placement Office) การจัดหางานทำ เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษา และเป็นการเสริมประสบการณ์การทำงานให้กับเขาด้วย (Work Study Programme)

ผู้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาใหม่ๆ ควรศึกษาถึงบริการเหล่านี้ ถ้ามีและเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เมื่อคราวจำเป็น แต่ถ้าไม่มี เราก็ต้องเตรียมหาบริการเหล่านี้จากที่อื่นๆ หรือช่วยตัวเองไปตามสภาพ ในอีกกรณีหนึ่ง หากเราได้รู้เอาไว้ เมื่อยามเพื่อนๆ บางคนมีปัญหาที่ต้องการบริการเกี่ยวขัองกับสิ่งดังกล่าว ก็จะได้แนะนำเขาให้ไปใช้บริการได้ตามความเหมาะสม คนบางคนมีปัญหา แต่ในช่วงนั้นๆ เขาก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร

การรู้ไว้ ทำความเข้าใจเอาไว้นั้นเป็นประโยชน์

การวางแผนการเรียน

การเรียนในมหาวิทยาลัยต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีแผนการเรียน การเรียนในมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลาเรียนเป็นหลายๆ ปี และเวลาเหล่านั้น ถ้าเราวางแผนดี เราก็จะประสบผลสำเร็จมิใช่เพียงระยะสั้น แต่เป็นระยะยาวไปตลอดชีวิต

การเตรียมพร้อมอยู่เสมอ - คนบางคนเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็ดีใจ นึกว่านั่นเป็นความสำเร็จสุดยอดแล้ว แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สำหรับคนที่ชะล่าใจไม่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน อาจกลายเป็นความล้มเหลวที่จะตามมาได

เยี่ยมห้องสมุดบ่อยๆ - มีเวลาที่จะศึกษาที่เป็นของตนเองไว้บ้าง อย่าปล่อยเวลาไปกับกลุ่มเพื่อน แบบเจ็กลากไป ไทยลากมา หรือติดอยู่กับกระแสเพื่อนและการเที่ยวเตร่จนเกินไป

การฝึกใช้อินเตอร์เน็ต - ปัจจุบันนี้ นักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้อินเตอร์เน็ต และต้องใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างนิสัยรักการอ่าน - อ่านหนังสือให้มาก เริ่มอ่านจากสิ่งที่ง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่ยาก อ่านจากวันละน้อยๆ เพิ่มเป็นอ่านเพิ่มขึ้น

การอ่านทำความเข้าใจ - เรียกว่า Reading Comprehension อ่านแล้วก็มีคนคอยพูดคุยซักถามแก่กัน พยายามทำความเข้าใจขยายความกัน มีการวิเคราะห์วิพากษ์ แสดงความคิดเห็น

การฝึกทำการบ้าน หรือการฝึกงาน Learning by Doing การฝึกทำการบ้านและลงมือปฏิบัติ นับเป็นหัวใจของความสำเร็จของการทำงาน การเรียนโดยได้แต่เพียงอ่าน แล้วไม่ได้ลงมือทำ จะทำให้เรียนไม่ได้ผลเต็มที่

เรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ประโยชน์สูงสุด

การเตรียมเข้าเรียนวันแรก - เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม วันแรกมักไม่มีการเรียนการสอนที่เป็นสาระ (Content) กันมากนัก เราควรเข้าไปรับฟังในแต่ละวิชาว่าอาจารย์ท่านต้องการให้เราเรียนอะไรและอย่างไร นอกจากเรื่องเนื้อหาสาระแล้ว ที่สำคัญคือต้องรู้เรื่อง "คน" อาจารย์ผู้สอนคือใคร มีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อนร่วมเรียนมีใครบ้าง หนังสือแนะนำให้อ่านมีอะไรบ้าง เราจะได้เตรียมตัวอ่านกันตั้งแต่แรก

ข้อเตือนใจ -

อย่างชะล่าใจ และเริงรื่นกับกิจกรรมจนลืมเรียน

หากมีอะไรที่ตระหนักว่าเรายังขาดตกหกหล่น ไม่มีความพร้อม ก็ต้องรีบขวนขวายศึกษาเพิ่มเติมแต่เนิ่นๆ
แต่ถ้ารู้ว่ามีวิชาใดที่ไม่มีพื้นมาเลย ก็ต้องรีบตัดสินใจโดยเร็วว่า ควรจะถอนการลงทะเบียนเรียนในวิชาหนั้นๆ หรือไม่ และกระทำได้ในเวลาใด

อย่าลืมทำกิจวัตรการเรียนที่สม่ำเสมอ เข้าชั้นเรียนให้ตรงเวลา ตั้งใจศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ทำการบ้านและกิจกรรมต่างๆ ตามมอบหมาย

ชั่วโมงแรกของการเรียน - ส่วนใหญ่เขาจะไม่เริ่มสอนเนื้อหากันมากนัก มักจะเป็นการแนะนำวิชาที่เรียน ข้อกำหนด ข้อตกลงต่างๆ พยายามทำความเข้าใจให้ดี หากได้รับเอกสารที่เขาเรียกว่า "ประมวลการเรียนการสอน" (Course Syllabus) ที่เขามักจะแจกกันในวันแรก บางแห่งอาจมีการนำขึ้น Website ไว้ให้เราได้อ่าน ก็ต้องทำความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ให้ดี

การต้องมีการวางแผนการเรียน เหมือนกับนักกีฬา การแข่งขันที่จะประสบความสำเร็จจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมแผนการแข่งขัน การฝึกซ้อมมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คนเตรียมตัวดี ก็สำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง

ข้อควรปฏิบัติในการเข้าชั้นเรียน

จากคนที่เขามีประสบการณ์ในการเรียนมาแล้ว เขาแนะนำกันต่อๆ มาดังนี้
  • พันธกิจการเข้าเรียน อย่าเข้าห้องเรียนช้า

  • การเลือกที่นั่งเรียน เลือกเรียนในแถวหน้าๆ ถ้ามีโอกาส อย่าเรียนแบบหลบอาจารย์

  • สิ่งที่ควรทำในห้องเรียน - การจดงาน การซักถามเมื่อไม่เข้าใจ การตอบเมื่ออาจารย์มีการซักถาม และต้องการการมีส่วนร่วม

  • ฟังการบรรยายอย่างทำความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ จดคำที่เป็นคำหลักๆ (Keywords) แล้วมาศึกษาทำความเข้าใจ หาอ่าน ค้นคว้าจากห้องสมุดหรืออินเตอร์เน็ตเพิ่มเติม

  • การเรียนเป็นทีม - การเรียนอย่างมีเพื่อนร่วมเรียน จะเป็นการช่วยกันทำให้ทุกคนเรียนได้ดีขึ้น ผลัดกันซักถาม ผลัดกันตอบ

  • ฝึกนิสัยทำการบ้านให้หมดจด - อันนี้เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ การส่งงานที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ มีการจัดหัวเรื่อง หมวดหมู่ สารบัญอย่างเป็นระบบ ตรวจตัวสะกดตัวการันต์อย่างถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ จัดพิมพ์งานให้เรียบร้อย ดังนี้ย่อมได้เปรียบคนที่ส่งงานอย่างไม่เรียบร้อย เขียนรายงานดัวยปากกา หรือดินสอที่อ่านยาก

  • การเรียนแบบมหาวิทยาลัย - การเรียนแบบมหาวิทยาลัย คือการเรียนแบบที่เราต้องเตรียมเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบในตัวเอง

  • การตรวจสอบตนเองเมื่อเรียนไปสักระยะหนึ่ง - การ สอบกลางภาคการศึกษาแรก นับเป็นจุดแรกที่จะรู้ว่าสถานภาพการเรียนของเราเป็นอย่างไร เมื่อผลการเรียนออกมาแล้ว เราควรจะปรับตัวอย่างไร ถ้าคะแนนไม่ดี ก็ควรจะต้องรีบปรับปรุงตนเอง ขยันขึ้น ลดกิจกรรมบางอย่างเพื่อทุ่มเทให้กับส่วนที่ยังมี

No comments:

Post a Comment