Wednesday, April 29, 2009

มหาตมะ คานธี - คนอ่อนแอ ให้อภัยไม่เป็น

ภาพ มหาตมะ คานธี (Gandhi)

มหาตมะ คานธี - คนอ่อนแอ ให้อภัยไม่เป็น
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5, โทรสาร 0-2354-8316

Website: http://pracob.blogspot.com
E-mail: pracob@sb4af.org

Updated: Sunday, April 12, 2009
Cw022 สุภาษิต มหาตมะ คานธี การบริหาร งานบุคคล

Gandhi - The weak can never forgive. Forgiveness is the attribute of the strong.
คำกล่าวของมหาตมะ คานธี - คนอ่อนแอให้อภัยไม่เป็น การให้อภัยได้นั้น เป็นเรื่องของคนที่เข้มแข็ง

ตลอดชีวิตการทำงานของคานธี เป็นการทำงานโดยการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองด้วยความไม่รุนแรง ด้วยการให้อภัย และด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างจากสำนึกของคนทั่วไปที่มักคิดว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เขาทำเรามาหนึ่ง เราตอบโต้ไปสอง หรือที่มีคำกล่าวบ่อยๆว่า “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ”

มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มีชื่อเต็มในภาษีฮินดูว่า Mohandas Karamchand Gandhi เกิดในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 ในเมืองพอบันดาร์ ประเทศอินเดีย ท่านผู้นี้ได้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและทางการเมืองที่มีคนเคารพมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงค.ศ. 1900 เป็นต้นมา คานธีได้ช่วยปลดปล่อยอินเดียจากปกครองของอังกฤษด้วยวิธีการอหิงสา และได้รับการยกย่องจากคนทั่วไปว่าเป็นบิดาแห่งอินเดีย

คนอินเดียเรียกท่านว่ามหาตมะ ซึ่งมีความหมายว่า “จิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่” เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้แต่งงานกับ คาสเตอร์บา (Kasturba) ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นการจัดแต่งงานคลุมถุงชน แบบพ่อแม่จัดแต่งในสมัยโบราณ คานธีได้มีบุตรธิดารวม 4 คน ในช่วงที่เรียนจบทางกฎหมายจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1891 อีก 2 ปีต่อมา คือ ค.ศ. 1893 ได้ไปรับทำงานด้านกฎหมายในอัฟริกาใต้

ในขณะนั้นอังกฤษเป็นผู้ครอบครองอัฟริกาใต้ เมื่อเขาเรียกร้องที่จะได้สิทธิเยี่ยงชาวอังกฤษ เขาก็ได้รับการทำร้ายเหมือนชาวอินเดียคนอื่นๆ คานธีอยู่ในอัฟริกาใต้ และทำงานด้านสิทธิของชาวอินเดียที่นั่นเป็นเวลา 21 ปี การต่อสู้ของคานธีเป็นวีรกรรมที่กล้าหาญ เป็นกิติศัพท์ที่รู้ไปกว้างไกล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในอัฟริกาใต้ได้มากนัก

คานธีได้พัฒนาวิธีการที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) ด้วยหลักการความกล้าหาญ การไม่ใช้ความรุนแรง และการเผชิญกับความเป็นจริง เขาเชื่อว่าวิธีที่คนประพฤตินั้นสำคัญเสียยิ่งกว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จ “สัตยาเคราะห์” เป็นแนวคิดที่ไม่เน้นความรุนแรง แต่ใช้การต่อต้านไม่เชื่อฟังยอมตามอย่างสันติ (Nonviolence, Civil Disobedience) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมืองและสังคม ในปี ค.ศ. 1915 คานธีได้กลับมาประเทศอินเดีย และภายในช่วง 15 ปีนี้ เขาได้กลายเป็นผู้นำกระบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศอินเดีย

ด้วยวิธีการสัตยาเคราะห์ เขาได้รณรงค์ให้อินเดียเป็นอิสระจากประเทศอังกฤษ เขาถูกจับกุมคุมขังหลายครั้งในกิจกรรมที่ได้กระทำทั้งในอัฟริกาใต้และในอินเดีย เขาเชื่อว่าการเดินทางสู่ตะรางเพื่อหลักการที่ดีงามนั้นเป็นเกียรติยศ รวมทั้งหมดเขาใช้ชีวิตภายใต้การจองจำรวมเป็นเวลา 7 ปี

คานธีได้ใช้วิธีการอดอาหารเพื่อประท้วงและขอให้ชาวอินดียหยุดใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ อินเดียได้เป็นอิสระในปี ค.ศ. 1947 และก่อนที่จะมีการแบ่งแยกอินเดียออกเป็นสองประเทศ คืออินเดียและปากีสถานนั้น เขาได้รณรงค์ให้อินเดียอยู่รวมกันเป็นหนึ่ง โดยให้ชาวฮินดูและชาวมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างสันติ

ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1948 เมื่ออายุได้ 78 ปี เขาได้อดอาหารอีกครั้งเพื่อกดดันให้ทั้งสองฝ่ายหยุดการนองเลือด หลังจากนั้น 5 วัน ผู้นำของทั้งสองฝ่ายก็ตกลงที่จะหยุดการต่อสู้ และคานธีจึงหยุดการอดอาหาร และในอีก 20 วันต่อมา ชาวฮินดูคลั่งความรุนแรงชื่อ Nathumram Godse ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความอดทนเพื่อลดความรุนแรงทั้งหลายก็ได้เข้าลอบสังหารคานธี

มองย้อนกลับมาประเทศไทยของเรา ประชาชนกำลังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายทางความคิด และรณรงค์เพื่อให้กลุ่มและความคิดของตนเป็นฝ่ายถูกต้อง ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันด้วย “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง เอา หรือไม่เอาคุณทักษิณ แต่หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของโลก ความคิดขัดแย้งเช่นนี้มีมาแล้วในทุกยุคทุกสมัย ชาวอเมริกันเองก็เคยแบ่งแยกทางความคิด มีพรรคการเมืองมาตั้งแต่เริ่มความเป็นประเทศ มีพรรคถที่นิยมความเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตย” หรือ “Democratic Republican” ซึ่งต่อต้านระบอบกษัตริย์ เน้นประชาชนและเกษตรกรรากหญ้า แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นพวก Federalists เน้นการบริหารประเทศโดยต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง มีระบบกองทัพ ธนาคาร และระบบการเงินที่เข้มแข็ง แต่ความขัดแย้งนั้นมีมาตลอด และท้ายสุดพิสูจน์ได้ว่า ถูกทั้งสองฝ่าย

ในยุคสมัยนี้ ที่มีความขัดแย้งกันนี้ ไม่เป็นไร หากเราขัดแย้งกันทางความคิด แต่ความรักชาติบ้านเมือง ทำอะไรให้เห็นแก่บ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ทำอะไรด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน แล้วความจริงจะพิสูจน์ตัวของมันเอง

ขอสันติจงมีแกจิตใจของเราทุกคน

No comments:

Post a Comment