Sunday, April 5, 2009

บทที่ 7 สหรัฐอเมริกา ช่วงท้ายศตวรรษที่ 19

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
Website: www.sb4af.org
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

ช่วงท้ายศตวรรษที่ 19
(The Late Nineteenth Century)


ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่เกิดการขยายตัวของทางรถไฟ ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง และเมืองชายแดนล้าหลังกำลังหมดไป ได้มีการค้นพบแร่ธาตุที่สำคัญและมีการนำมาใช้ประโยชน์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองแล้ว ในยุคใหม่นี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับแร่เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม การพัฒนาเครื่องจักรกล และเศรษฐกิจทำให้กลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก องค์กรขนาดใหญ่อย่าง Standard Oil ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีนักลงทุนและนักอุตสาหกรรมอย่าง John D. Rockefeller และนักการเงินอย่าง J. P. Morgan และครอบครัวเป็นพวกควบคุมทรัพยากรสำคัญของประเทศ

ในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 19 ได้เกิดเมืองทันสมัยในสหรัฐ การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ดึงดูดคนจำนวนมากเข้าสู่เมืองต่างๆทั้งจากต่างประเทศและจากคนในชนบทของสหรัฐเอง การใช้เหล็กและไฟฟ้าได้ทำให้เกิดนวตกรรมที่เปลี่ยนแปลงเขตเมืองไปอย่างมาก เมืองสามารถมองเห็นได้ในตอนกลางคืนเพราะการใช้ไฟฟ้า ในการเดินทางภายในเมืองมีการใช้รถรางที่เรียกว่า Streetcars มีทั้งรถไฟฟ้าที่ยกระดับ และที่ลงไปอยู่ใต้ดิน การเติบโตของระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) ทำให้คนอาศัยอยู่ได้ห่างไกลจากที่ทำงาน และทำให้เกิดเมืองที่คนสามารถเดินได้ ตลอดจนเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า (Skyscrapers) ซึ่งต้องใช้โครงสร้างเหล็ก เมืองจึงเติบโตไม่เพียงในด้านกว้าง แต่เติบโตขึ้นสูงไปในอากาศ

สหรัฐเข้าสู่ยุคของดินแดนแห่งสัญญาและความหวัง (Land of Promise) ดึงดูดผู้อพยพใหม่เข้ามา บางคนกลายเป็นตำนานของความร่ำรวยได้ภายในไม่นาน บางคนก็ต้องยากจนต่อไป เพราะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ ในยุคดังกล่าว อเมริกาประสบสันติปลอดจากสงครามและมีความมั่งคั่ง แต่ท่ามกลางความมั่งคั่งนี้ ก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นที่ทำให้ต้องมีการปรับปรุงประเทศ เช่น ในปี ค.ศ. 1870 ได้มีการขยายตัวของ Granger Movement เพื่อที่จะต่อต้านฝ่ายสร้างทางรถไฟ การผูกขาดทำลายการค้าเสรีในตลาด ได้มีความสำเร็จในการจัดทำสหกรณ์การเกษตร การต่อสู้เพื่อให้ได้บริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ ฝ่ายแรงงานเองก็มีการต่อสู้เพื่อขจัดระบบการจ้างงานในโรงงานที่ทารุณ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายธุรกิจก็ต่อสู้กับฝ่ายแรงงานด้วยการใช้กำลังเช่นกัน แรงงานโดยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ

การเกิดสหภาพแรงงาน

มีการนัดหยุดงานบางแห่งที่จัดนำโดยกลุ่ม The Knights of Labor แล้วประสบความสำเร็จ แต่การนัดหยุดงานนี้ได้มีความมัวหมองเพราะเหตุการณ์จราจล ณ Haymarket Square riot แต่ในที่สุดก็ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขั้นในอเมริกา ชื่อว่า American Federation of Labor ซึ่งรัฐแมสาชูเสทส์ได้เปิดทางให้มีสหภาพที่ถูกกฎหมายได้ในปี ค.ศ. 1874 มีการบังคับใช้เวลาทำงานต่อวันที่ 8 ชั่วโมง แต่รัฐอื่นๆ ก็ยังมีสหภาพแรงงานไม่มากนัก และเมื่อมีการนัดหยุดงานและใช้ความรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นฝ่ายเข้าจัดการกับฝ่ายแรงงานอย่างรุนแรง รัฐบาลในช่วงดังกล่าวตกอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายนายจ้างและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพรรค Republican ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์และชะลอการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น

ธุรกิจกับการเมือง

ประธานาธิบดีในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 โดยทั่วไปไม่มีความเด่นทางด้านการเมือง มีการปฏิรูปเกิดขึ้นบ้างเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดังเช่น ประธานาธิบดี Hayes และตามด้วย James A Garfield เห็นด้วยกับการปฏิรูปสิทธิประชาชนที่เรียกว่า Civil Service และหลังการตายของ Garfield ประธานาธิบดี Chester A Arthur ได้รับรองให้มี Civil Service Act แต่โดยทั่วไป ประธานาธิบดีในยุคดังกล่าวได้เปิดทางให้กับการทำให้ระบบราชการมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1884 ได้มีกลุ่มต้องการปฏิรูปนำโดย Carl Schurz ที่เบื่อทางฝ่ายพรรค Republican และได้หันมาผลักดันให้ Grover Cleveland ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังจากสงครามกลางเมืองเป็นต้นมา ในช่วงสมัยของประธานาธิบดี Benjamin Harrison ในปี ค.ศ. 1890 ได้มีการผลักดันให้เกิด Sherman Antitrust Act ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการค้าแบบผูกขาดหรือการทุ่มตลาดเพื่อทำลายคู่แข่งขัน แล้วเข้ามายึดตลาดเมื่อระบบแข่งขันได้ล้มสลายไป

ในทางการเมือง ได้มีความพยายามจัดตั้ง Greenback Party แต่ล้มเหลว พวกนี้พยายามที่จะหาการสนับสนุนจากคนเบื้ยน้อยหอยน้อย ประสมกับชนชั้นที่เป็นหนี้เป็นสิน หรือคนที่ด้อยโอกาส แต่การปฏิรูปก็ได้ก่อตัวขึ้น ดังกรณีของพรรคแบบประชานิยม (Populist Party) การปฏิรูปเป็นผลมาจากความตระหนก ในช่วงปี ค.ศ. 1896 พรรค Democrat ได้เสนอให้ William Jennings Bryan เข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยใช้นโยบายประชานิยม แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อ William McKinley ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่

No comments:

Post a Comment