Tuesday, April 7, 2009

John Dewey นักการศึกษาชาวอเมริกัน

John Dewey นักการศึกษาชาวอเมริกัน
ประกอบ คุปรัตน์ศึกษาและเรียบเรียง
Updated: Tuesday, April 07, 2009





John Dewey เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1859 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1952 เป็นนักปรัชญา (philosopher), นักจิตวิทยา (psychologist), และนักปฏิรูปการศึกษา (educational reformer) ซึ่งความคิดของเขาได้มีอิทธิพลต่อสหรัฐและทั่วโลกอย่างมาก และเช่นเดียวกับ Charles Sanders Peirce และ William James ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญาในตระกูลที่เรียกว่า pragmatism และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า functional psychology และเป็นกลุ่มนำในการเคลื่อนไหวแบบก้าวหน้า (progressive movement) ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 20 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อผมเริ่มเรียนปริญญาตรีทางการศึกษา มีครูอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุคนั้น (พ.ศ. 2507-2512) เมื่อพูดถึงแนวคิดทางการศึกษา มักจะมีการเอ่ยถึงท่านผู้นี้ ในสมัยนั้น ครูอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ที่ได้ไปเล่าเรียนในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก

ในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ท่านได้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในวงการศึกษา ได้เขียนงานกว้างขวาง ที่รวมถึงธรรมชาติ ศิลปะ ตรรกวิทยา และวิธีการเรียนรู้แบบแสวงหา ประชาธิปไตย และเรื่องจริยธรรม

ในด้านการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (Democracy) Dewey ได้ให้หลักของความเป็นประชาธิปไตยคือการมีและเป็นสังคมอารยะ (Civil society) โดยเน้นการเรียนรู้ต้องมาจากการได้ทดลอง และผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์ต้องส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์พัฒนาสติปัญญาด้วยการได้ลงมือทำ แม้จะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง และต้องยอมรับในความหลากหลายของคน ในการนำไปสู่สังคมอารยะ เขาเน้นี่สิทธิการออกเสียง (Voting Rights) และการต้องรับฟังมติของประชาชน ต้องมีการสื่อสารที่ดีระหว่างประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และนักการเมือง และนักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่เขาได้เกี่ยวข้อง

ในยุคที่ผมเป็นนักศึกษาด้านครุศาสตร์ นับเป็นช่วงของการริเริ่มโรงเรียนสาธิต และแนวคิดของโรงเรียนสาธิต (Demonstration Schools) ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของ Dewey หรือจะเรียกว่า โรงเรียนประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ซึ่งจะแตกต่างจากโรงเรียนในยุคก่อนหน้านี้ระหว่าง การมีความเคร่งครัดในระเบียบวินัยในแบบเดิม กับการเน้นในเรื่องเสรีภาพ และการแสวงหา ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อมีคณะครุศาสตร์ จึงตามมาด้วยการมีห้องสมุด เพราะแทนที่จะไปสอนแบบบรรยายเป็นหลัก ก็ไปเน้นที่ให้เด็กและนักเรียน นักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น มีวิชาว่าด้วยการใช้ห้องสมุด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ นักเรียนนักศึกษาต้องเรียนรู้หลักของการมีบัตรเรียกหนังสือ การต้องรู้จักค้นหาหนังสือจากบัตรที่เก็บไว้อย่างเป็นระบบในตู้บัตรหนังสือ

No comments:

Post a Comment