Sunday, April 5, 2009

แนวโน้มโรคอ้วนในสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มโรคอ้วน (Obesity) ในสหรัฐอเมริกา
ประกอบ คุปรัตน์

แปลและเรียบเรียงมูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
Springboard For Asia Foundation (SB4AF)
E-mail:
pracob@sb4af.org
Updated: Monday, June 16, 2008

(U.S. Obesity Trends 1985–2006)


Keywords: สุขภาพ, health, อนามัย, อาหารการกิน, food, nutrition, โรคอ้วน, obesity, คนอเมริกัน, American, เนื้อ, นม, ไข่, ผัก, ผลไม้, meat, milk, eggs, egg, vegetables, fruits,



ภาพ โรคอ้วน (Obesity) เป็นสาเหตุแห่งโรคอื่นๆอีกหลายด้าน เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไต, โรคหัวใจ


ภาพ โรคอ้วนเกิดขึ้นได้ทั้งกับชาย และหญิง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร, การไม่ออกกำลังกาย, และอาจมีผลจากพันธุกรรม

สังคมอเมริกันที่เปลี่ยนไป

เมื่อราวปี ค.ศ. 1970s หรือประมาณเมื่อ 30-35 ปีที่แล้ว ผมเคยใช้ชีวิตเมื่อยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์มาศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เรียนและใช้ชีวิตอยู่หลายปีในชุมชนรัฐแถบกลางประเทศ (Midwest) อย่างแคนซัส (Kansas) และโอคลาโฮมา (Oklahoma) และได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นท่องเที่ยวไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

ผมเคยเล่นกีฬารักบี้ระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย รูปร่างใหญ่โต แข็งแรง ในขณะนั้นสูงประมาณ 1.83 เมตร หนักประมาณ 85-90 กิโลกรัม แต่เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน ผมจะพบอเมริกามีคนที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า เร็วกว่า อดทนกว่า และโดยรวมน่าจะเป็นนักกีฬาที่มีสมรรถนะที่ดีกว่าผมอยู่มากมาย ตามชายหาด จะพบบรรดาหนุ่มๆรูปร่างแข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อที่แสดงว่าได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ในสมัยนั้น บรรดาสาวๆจะยังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จากยุคเนื้อนมไข่ อันหมายความว่า ความสวยความงามคือความอุดมสมบูรณ์ สู่ยุคที่ต้องเริ่มควบคุมน้ำหนัก และดูแลความแข็งแรง สุขภาพดีมากขึ้นบ้างแล้ว

จากยุคความแข็งแรง

คนอเมริกันในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย จะเป็นพวกขยันขันแข็ง เวลาทำงานจะไม่พูดไม่จาอะไรมาก ทำงานอย่างรวดเร็ว เวลาเขาเป็นคนงานทำความสะอาดเช็ดพื้น เขาจะใช้ไม้ถูดพื้นอย่างที่เรียกว่า Mob เมื่อเปียกน้ำแล้วน่าจะหนักสัก 2-3 กิโลกรัม กวัดแกว่งทำความสะอาดพื้นจากซ้ายไปขวาอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งผมคิดว่าคนไทยทั่วไปจะทำไม่ได้ เพราะมันหนักมากเกินกว่าที่คนร่างกายระดับเฉลี่ยของไทยจะสามารถทำได้

สำหรับคนงานซ่อมและดูแลบ้าน เมื่อเขาจะต้องถอดเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างๆ เขาจะยกมันเข้าและออกอย่างง่ายดาย เกือบจะด้วยตัวคนเดียว เมื่อเขาเป็นชาวนา ต้องยกก้อนฟางที่อัดแน่นน่าจะหนักสัก 20 กิโลกรัมขนขึ้นรถบรรทุกเป็นสิบเป็นร้อยมัด เขาจะใช้วิธีการโยนมันขึ้นรถได้อย่างสะบาย เพราะความที่เขาเป็นคนแข็งแกร่ง อดทน และขยัน ผมเห็นแล้วก็ทึ่งและชื่นชมในความสามารถของเขา

สู่น้ำหนักเกินและโรคอ้วน

ในยุคหลังสังคมได้เปลี่ยนไป เรามีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยงาน งานที่เคยเป็นงานหนัก ก็มีระบบหุ่นยนต์ช่วยทำงานที่ซ้ำซากและอันตรายแทนคน สังคมอะเมริกันได้เปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการมากขึ้น เช่นธุรกิจการเงิน การข้อมูล ข่าวสาร บันเทิง

ในช่วง 10 ปีหลังนี้ ในราวปี ค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน ผมได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมประเทศสหรัฐอีกหลายๆครั้ง และเริ่มสังเกตเห็นว่า คนอเมริกันทั้งหญิงและชายตัวโตขึ้น แต่ว่าไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นหญิงและชาย ล้วนมีแนวโน้มอ้วนขึ้น มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานโดยเฉลี่ยสักร้อยละ 20-30 ขึ้นไปสักร้อยละ 50 เวลาโดยสารระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ที่นั่งที่เขาทำให้นั่งได้ 3 คน กลายเป็นที่นั่งสำหรับ 2 คน คนโดยทั่วไปไม่สามารถนั่งตามขนาดกว้างที่จัดไว้ให้ได้ เพราะสะโพกและไหล่เกินขนาดดังกล่าวไปมาก

โรคอ้วนไม่ได้จำกัดเฉพาะคนผิวขาว คนชั้นกลางที่มีฐานะ แต่เป็นในทุกระดับ คนอเมริกันผิวดำที่เรียกว่า African Americans หรือคนอเมริกันเชื้อสายลาติน คนงานในไร่ ล้วนมีลักษณะอ้วนทั้งสิ้น

จากยุคสมัยที่ผมเมื่อกลางทศวรรษที่ 1970s ปรากฎการณ์คนน้ำหนักเกินและอ้วน (overweight and obesity) ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในผู้ใหญ่และเด็กๆ จากข้อมูลของสำนักสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่าคนในวัย 20-74 ปีจากที่เคยมีน้ำหนักมากกว่ามาตรฐานมีจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 15 สู่ปัจจุบันในราวปี ค.ศ. 2003-2004 พบว่ามีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.4 ในเด็กๆรุ่นใหม่อายุระหว่าง 2-5 ปี มีน้ำหนักเกินจากร้อยละ 5 กลายเป็นร้อยละ 13.9 ในกลุ่มอายุ 6-11 ปี ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.5 เป็น 18.8 และในกลุ่มอายุ 12-19 ปี คนอ้วนน้ำหนักเกินจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 17.4 และคนที่เคยมีแนวโน้มอ้วนนั้น ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเป็นคนอ้วนจะยิ่งมีมากยิ่งขึ้นไปอีก
ปัญหาที่ตามมา

เด็กๆ เมื่ออ้วนดูก็น่ารักดี อารมณ์ดีแจ่มใส แต่เวลาโตขึ้น อายุมากขึ้นโรคต่างๆ ก็ถามหา จากความที่มีโรคอ้วน สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น

- ความดันโลหินสูง (Hypertension (high blood pressure)
- โรคขอเสื่อม เจ็บปวดตามข้อ (Osteoarthritis)
- ปัญหาด้านหลอดโลหิตอุดตันด้วยคลอเลสเตอรอล (Dyslipidemia)
- โรคเบาหวานระดับที่สอง (Type 2 diabetes) ตับอ่อนทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ
- หลอดเลือดสู่หัวใจตีบตัน (Coronary heart disease)
- หัวใจวาย (Stroke)
- โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี (Gallbladder disease)
- โรคหยุดหายใจระหว่างหลับ (Sleep apnea and respiratory problems) และปัญหาทางเดินหายใจ
- โรคมะเร็งในบางรูปแบบ ในต่อม เต้านม และลำไส้ (endometrial, breast, and colon)


ภาพสะท้อนสังคม

ทำไมคนอเมริกันจึงอ้วนขึ้น ผมพยายามหาคำตอบด้วยการสังเกต พูดคุย และศึกษาจากเอกสารต่างๆ เมื่อได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในหลายๆที่ของประเทศ ผมจะพบว่าอเมริกาในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป
อาหารการกินราคาถูกลง มีให้กินให้เลือกมากขึ้น ย่านการเกษตรของอเมริกันยังเข้มแข็งเหมือนเดิม สินค้ายังมีเต็มร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นนม เนย ไข่ ไก่ หมู เนื้อ ปลา ข้าวนานาชนิด


การทำงานมีเครื่องมือช่วยในการทำงานมากขึ้น ลองไปดูในร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง จะพบเครื่องมือช่วยในงานช่างมากมายที่ทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง มีที่เป็นระบบประดิษฐมาแบบเป็น Set ดังเช่นห้องน้ำติดตั้งทีเดียวเท่ากับได้ทั้งอ่างอาบน้ำ ฝาห้องน้ำที่วางสะบู่ ดังนี้เป็นต้น

งานที่ต้องใช้แรงงานมากๆลดลงไป งานที่หนักและเหนื่อยจะมีคนชาติอื่นๆเข้ามาทำแทน เช่น คนซักเสื้อผ้า ขายของร้านสะดวกซื้อ กลายเป็นแรงงานพวกเกาหลี คนทำงานโรงแรม ทำความสะอาดห้องน้ำ ดูดฝุ่น เปลี่ยนผ้าปูที่นอน กลายเป็นคนอินเดีย คนงานร้านอาหาร ภารโรง กลายเป็นแรงงานจากเม๊กซิโก แล้วคนอเมริกันผิวขาวที่เคยเป็นคนเข้มแข็งแต่เดิมนั้น ปัจจุบันไปทำอะไร

งานที่เคยแข่งขันได้ ได้ย้ายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ลองดูตัวอย่างรถยนต์อย่าง Nissan ขนาดกลาง ประกอบในสหรัฐ แต่ชิ้นส่วนร้อยละ 50 มาจากเมกซิโก ผลิตในสหรัฐเองร้อยละ 20 อีกร้อยละ 20-22 ผลิตมาจากญี่ปุ่น

สิ่งที่ลึกไปกว่าสภาพร่างกาย

คนอเมริกันกำลังทำอะไร เขาอยู่กันอย่างไร

พ่อแม่ รุ่นปู่ย่า ตาและยาย อยู่ได้ด้วยเงินเกษียณ เคยขยันขันแข็งทำงาน เมื่อถึงอายุ 60 – 65 – 70 ปี วัยหนึ่งมีเงินเก็บมีฐานะ และอายุเกินวัยทำงาน ก็เลิกทำงาน ย้ายไปอยู่ในที่ๆอากาศสบายขึ้น และใช้ชีวิตไปกับการพักผ่อน ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

คนรุ่นลูกจบการศึกษาแล้วหางานทำไม่ได้ จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้วก็จริง แต่ไม่มีงานทำ แต่ถ้าจะทำงานต้องทำงานที่จริงๆแล้วไม่ได้ใช้การศึกษาอะไรมากมาย คนอเมริกันรุ่นหนุ่มสาวได้มีจิตใจที่เปลี่ยนไป จากคนรุ่นพ่อและบรรพบุรุษที่เป็นคนขยัน เป็นนักสู้ แต่คนรุ่นลูกกำลังหาคำตอบยากขึ้นว่า เมื่อเขาเป็น

ผู้ใหญ่ โตขึ้นแล้ว เขาจะทำอะไร

คนอเมริกันรุ่นใหม่กำลังจะกินมาก กินอาหารที่เรียกว่า “อาหารขยะ” อาหารที่สมบูรณ์เกินไป ออกกำลังกายน้อยลง จึงทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้น อ้วนขึ้น แต่ไม่แข็งแรง มีปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บ ไม่อดทน ไม่สู้งาน สิ่งที่คนอเมริกันได้เปลี่ยนไปอย่างมาก คือค่านิยมเรื่องการทำงานดังที่บรรพบุรุษของเขาเคยมีกำลังหายไป คนรุ่นใหม่จะมีปัญหาด้านจิตใจสู้งาน หนักเอา เบาสู้ ซื่อสัตย์ อดทน บากบั่น ไม่ว่าหนาว หรือร้อน เขาอดทนทำงานได้อย่างไม่ย่อท้อ สิ่งที่คนอเมริกันรุ่นใหม่ไม่มีเท่าคนรุ่นก่อนๆ คือจิตใจที่จะทำงานอย่างมีจิตใจสู้งาน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำอย่างตั้งใจและมีความภูมิใจในงานที่ทำ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังหายไป เขาเรียกว่า

Working spirit คือจิตใจของคนทำงาน

การพลิกฟื้น

อาจจะง่ายเกินไปที่จะเรียกว่า “โรคขี้เกียจ” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในทุกชาติ ชาวดัชในยุคที่สามารถขุดเจาะน้ำมันได้ ก็เลยมีความอ่อนแอในระบบอุตสาหกรรมและการผลิต จนเขาเรียกโรคอ่อนแอหลังความเจริญว่า “โรคดัช” (Dutch disease) ชาติญี่ปุ่นที่เคยทำงานอย่างทุ่มเท ทำด้วยจิตวิญญาณรักชาติ กู้ชาติหลังล่มสลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนกลายเป็นชาติที่ร่ำรวยนั้น แต่ความร่ำรวยก็ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งในยุคต่อมา กลับไม่เข้มแข็งเท่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ กลายเป็นอาการอย่างที่เรียกว่า “อาการโดราเอมอน” คือ เด็กๆ กำลังหวังอะไรที่มีคำตอบให้ได้อย่างง่ายดาย ดังหุ่นยนตร์แมวที่คอยช่วยเด็กน้อยโนบิตะ ที่มักหวังจะมีใครคอยมาช่วย

สหรัฐอเมริกาในวันนี้ไมได้ป่วยด้วยโรคอันเกิดจากเพียงการปล่อยเงินกู้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อย่างที่เขาเรียกว่า “Sub prime” หรือเงินปล่อยกู้ที่ไม่มีคุณภาพ แต่มันเป็นวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปที่มากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาติที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น ล้วนเคยประสบปัญหาความชะงักงันของประเทศทั้งสิ้น แต่ด้วยพื้นฐานด้านต่างๆที่เขายังมีความเข้มแข็งอยู่ เขาจะต้องกลับมาปรับตัวปรับวัฒนธรรมของเขาใหม่ได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีสิ่งดีๆอีกมากมายที่เขาสามารถนำกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น แต่เขาจะต้องทำมันอย่างจริงจัง



ภาพ การจะแก้ปัญหาโรคอ้วนที่ได้ผล ควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก สร้างนิสัยการกินและการออกกำลังกายที่ดี นับเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ปล่อยให้เขากลายเป็นคนอ้วน แล้วมาแก้ปัญหาในภายหลัง

No comments:

Post a Comment