จงเป็นดังหนู นกฮูก และมด แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียง
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
Springboard For Asia Foundation (SB4AF)
ความนำ
ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของทุกคน การรู้จักดูแลบ้านและครอบครัวให้ดำเนินไปได้อย่างประหยัดย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ Steve และ Annette Economides สองสามีภรรยาและลูกอีก 5 คนใน
ช่วงชีวิตของเขา ที่ต้องดำรงชีวิตด้วยเงินอย่างจำกัด และเขาได้ใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นดังห้องทดลองชีวิต และเมื่อทำได้แล้ว เขาก็เขียนเล่าให้คนอื่นๆฟัง โดยมีรวมเป็นผลงานเล่มชื่อ “ครอบครัวที่ถูกที่สุดของอเมริกา” (America’s Cheapest Family: Gets You Right on the Money) หนังสือเล่มนี้จัดเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง ตามการจัดอันดับ ของ New York Times
มีในตอนหนึ่งเขาเขียนอย่างง่ายๆ โดยนำชีวิตสัตว์ที่เราคุ้นเคยมาเปรียบเทียบ และให้เอาเยี่ยงอย่าง
จงเป็นดังหนู (Timid Mouse) ทำตัวเรียบง่าย ไม่เปิดเผยตัวเอง มีอะไรกินได้ ใช้ได้ก็ให้ใช้
จงเป็นดังนกฮูก (Wise Owl) ทำอะไรด้วยเหตุผล สติปัญญา ต้องศึกษาหาความรู้ ต้องวิจัย หาทางออกที่ดีที่สุด และ
จงเป็นดังมด (Amazing Ants) มดขยัน ทำอะไรทำเป็นระบบ ทำอย่างร่วมกัน อยู่เป็นครอบครัว ก็ต้องช่วยกันทั้งครอบครัว อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อน ก็ต้องช่วยกันให้ต่างไปรอดได้
ผมได้อ่านและจะนำเสนอในแบบที่ปรับให้เข้าใจได้สำหรับสังคมไทย และขณะเดียวกัน ได้เรียนรู้วิธีการคิดอย่างครอบครัวอเมริกันที่ต้องดำรงอยู่ดังในชีวิตปัจจุบัน ในบทความนี้เป็นส่วนสั้นๆ ที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้ สักวันจะเขียนอย่างเป็นระบบ และปรับแนวคิดหลายๆด้านที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในช่วงที่ข้าวยาก หมากแพง งานหายาก และการแข่งขันในโลกธุรกิจยิ่งสูงขึ้นทุกขณะ
จงเป็นดังหนู
หนูกลัวแสงสว่าง ไม่ว่าหนูนา หรือหนูบ้าน
หนูกินไม่เลือก เก็บของเล็กๆน้อยๆที่คนเขาทิ้งไม่ใช้แล้ว ของเหลือ เศษอาหาร ตามท้องนา หนูนาจะหาอาหารจากเมล็ดข้าวที่ตกเรี่ยราด
หนู่ไม่เลือกที่อยู่ อยู่ตามคันนา ท่อน้ำ ช่องหลืบว่างๆ หนูก็อยู่ได้ ขอเพียงปลอดภัยจากสัตว์ใหญ่ แมว หมา เหยี่ยว หรืองู
เราเรียนรู้ที่จะกินและอยู่อย่างหนู กินอย่างรู้ อยู่อย่างรู้ ไม่ใช่อยู่อย่างอเน็จอนาจ ไม่ใช่ว่าจะกินด้วยหน้าตา หรืออยู่อย่างหรูหรา ใช้จ่ายเกินตัว แต่แล้วก็ทีปัญหาชีวิตในภายหลัง
ในสังคมทุนนิยมที่คนผลิตขยะกันมากมาย คนที่รู้จักเลือกใช้ เลือกหาสิ่งที่คนอื่นๆเขาไม่ใช้ แต่เป็นประโยชน์สำหรับเราได้ สำหรับของใช้เป็นอันมากที่เขาทิ้งไม่ใช่เพราะใช้ไม่ได้ แต่เพราะเขาเบื่อใช้ของเก่า เราก็สามารถเลือกนำมาใช้ได้
ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นนักศึกษา เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว “เปิดโรงรถขาย” หรือ Garage sales หมายถึงประเพณีที่ตามบ้านชานเมืองที่พอมีที่ในโรงรถ เขาจะมีวันบางวันที่ของในบ้านของเขาที่เหลือใช้ แต่มีค่า บางอย่างมีค่าในความรู้สึกของเขา เช่นพวกเสื้อผ้า รถเข็นเด็ก เตียงนอนเด็ก ของเด็กเล่นที่ลูกๆเขาโตแล้ว ไม่ใช้ประโยชน์อีกต่อไป เขาก็นำออกมาขาย บางทีตามโบสถ์ ก็มี Garage sales คือบรรดาผู้เป็นสมาชิกของศาสนานั้น แทนที่จะไปจัดขายของกันเอง ก็นำมาบริจาคให้กับวัด วัดนำสิ่งของไปขายในราคาถูกให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในกิจกรรมสาธารณกุศลของวัดต่อไป
ของเหลือทิ้ง Leftover อาหารเหลือทิ้ง ตั้งแต่ตอนเด็กๆมา ผมอยู่ในครอบครัวที่มีลูกมากถึง 6 คน เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อแม่ผมจะมีลักษณะต้องมีอาหารให้กินได้อย่างเพียงพอ อาหารมีคุณภาพ แต่ไม่ใช่ของแพง ในสมัยก่อนเนื้อวัวราคาถูก ส่วนเนื้อไก่ในช่วงนั้นราคาแพงกว่า เพราะยังไม่มีการส่งเสริมเลี้ยงไก่เนื้อดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พ่อแม่จะสอนว่าตักอาหารที่ละน้อย แต่เมื่อยังไม่อิ่มก็ให้เติมได้ตามสบาย แต่เมื่อตักมาแล้วไมว่าจะเป็นข้าวหรือกับข้าว ต้องกินให้หมด อย่าให้เหลือเสียของ เป็นการเสียมารยาท และนิสัยไม่ดี จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ นั่นคือสั่งอาหารอะไรมาแล้ว ก็ต้องกินจนหมด
ในต่างประเทศ หากเราสั่งอาหารแล้วมักจะมากเกินมื้อแบบไทยๆเรา ฝรั่งกินจุกว่าเรา หากมีของเหลือ เราขอให้เขานำภาชนะมาบรรจุเพื่อนำกลับบ้านได้ แต่หากเราเหลือทิ้งคาจานแบบมากๆไม่นำกลับ ก็จะเป็นดังดูถูกฝีมือคนทำอาหาร อาหารเหลือมากๆ ก็จะถือว่าพ่อครัวแม่ครัวที่ประกอบอาหารไม่มีฝีมือ
ถังขยะ (Garbage Can) ในสหรัฐและทั่วโลก เขาขอให้ประชาชนช่วยกันจัดแยก เขาแบ่งขยะต่างๆ ออกเป็น หนึ่ง ของเปียก (Perishable) สอง ของนำไปหลอมแล้วใช้ใหม่ได้ (Recybles) เช่นพวกพลาสติก แก้ว โลหะ กระดาษ หรือพวกกระป๋องต่างๆ
ของข้างถังขยะ บางทีเราจะพบของมีประโยชน์ที่ในบ้านนั้นๆเขาไม่ใช้แล้ว เลยนำมาวางทิ้งไว้ข้างถังขยะ ดังในเขตเมืองใหญ่อย่าง New York และพบในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นปัจจุบันเช่นเดียวกัน ไม่มีใครมากนักที่จะมีโรงรถใหญ่พอหรือมีเวลาพอที่จะเปิดบ้านเป็น Garage sales แต่เขาก็มีช่องทางระบายของเกินจำเป็น เพื่อให้คนอื่นๆได้เลือกหาและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เราจะพบพวกเครื่องใช้ในครัว จานชาม โต๊ะ เตียงนอน ที่นอน และเครื่องเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ มาตั้งไว้ข้างถนน ข้างๆถังขยะ ภายในหนึ่งวันหากมีอะไรที่คนต้องการ เขาก็จะเก็บไปใช้ประโยชน์ หากไม่มีใครมานำไปใช้ ในเวลา 1 วัน รถขนขยะก็จะขนไปทิ้ง
การแต่งกาย ทุกคนอยากแต่งกายอย่างดูดี แต่ไม่แพง ของมี Brand มีราคาสูงขนาดกระเป๋าสตรีราคาใบละหลายหมื่นบาท อาจจะดูหรูหรา แต่ขณะเดียวกันเราจะเห็นฝรั่งมาจ่ายของแถวมาบุญครอง หรือตลาดนัดจตุจักร เลือกหาของที่ดีมีแบบที่ดีแปลกตา ไม่เก่าเร็วตามแฟชั่น แต่ราคานับเป็นเพียงระดับพันบาทก็มี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝรั่งเขาก็อยากประหยัดเหมือนกัน
ในต่างประเทศ ตาม Garage sales บางทีเราจะพบของดีๆที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ในอเมริกา เขากล่าวว่า ของทุกชิ้นที่สตรีซื้อแล้วเก็บในตู้เสื้อผ้า มี 2 ใน 3 ที่เขาไม่พอใจ ผมลองนึกถึงตัวผมเอง เน๊กไทร์ที่ทั้งที่เราซื้อ ภรรยาและลูกซื้อให้ คนเขาให้มา แต่ในแต่ละวันหรือเดือน เราก็แทบไม่ได้ใช้ หรือใช้ก็จะมีบางเส้นชอบใช้ ใส่แล้วใส่อีก มีเป็นอันมากที่มีแต่ไม่เคยใส่เลย ดังนี้ก็ควรจะระบายออกมาให้คนอื่นๆเขาได้นำไปใช้ และในทางกลับกัน เมื่อเราต้องการใช้ของ บางทีเราก็ไปเลือกหาใช้จากร้านขายของเก่าได้ มันไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่าจะต้องดูเก่าเสมอไป
สำหรับคนที่จะใช้ก็อย่าไปรังเกียจ หากมันจะช่วยประหยัดเงินทอง ไม่ต้องไปซื้อหา เดี๋ยวนี้ยิ่งง่ายที่จะใช้ของเก่า กางเกงยีนใหม่ๆ ขายไม่ได้ ต้องไปทำให้ดูเก่า เพราะฉะนั้น หากเราเลือกดูเลือกใช้ ก็จะประหยัดเงินทองไปได้อีกมาก เครื่องเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หากจะต้องการหาใช้ บางที่ลองไปดูตามร้านของเขา หรือบรรดาประกาศตามชุมชนที่เขาโยกย้ายบ้าน บางทีเขาไม่นำสิ่งของเหล่านั้นย้ายไปด้วย เพราะค่าขนส่งและแรงงานที่เกี่ยวข้องนั้นล้วนมีค่าใช้จ่าย
อีกเรื่องหนึ่งคือ “ของดีที่ไม่มี Brand” ผมเองต้องใช้เสื้อผ้า รองเท้าที่เป็นของมี Brand เพราะหาขนาดใหญ่ได้ง่ายกว่า และจริงๆราคาก็ไม่แพงอะไรมากนัก เพราะเป็นคนตัวโต ขนาดเกินเสื้อผ้าปกติที่มีใช้กัน แต่ก็ไม่ใช่ของที่มีราคาแพงมัก เมื่อผมได้มาพักผ่อนในสหรัฐกับลูกๆ ผมเลือกซื้อไปใช้ แต่ในตอนหลัง คนรูปร่างขนาดผมในประเทศไทยมีมากขึ้น มีร้านหลายร้านในศูนย์การค้าอย่างมาบุญครอง ก็มีร้านสำหรับคนตัวโต ราคาก็ถูกอย่างมาก คือประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้ามี Brand บางรายการดูการตัดเย็บแล้วฝีมือดีมากๆ พวกต่างชาติเขาเองก็มาหาซื้อ และเขายังชอบในฝีมือตัดเย็บของคนไทย
คนเราหากรู้จักเลือกกิน เลือกใช้ เราจะสามารถประหยัดเงินทองไปได้มาก
จงเป็นดังนกฮูก
ฉลาดทำวิจัย เลือกศึกษาหาของดี ของจำเป็นที่ราคาถูก
ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการเท่านั้นที่ทำวิจัย ทุกคน รวมถึงแม่บ้าน พ่อบ้าน ต้องรู้จักทำการวิจัยศึกษา
การต้องทำความเข้าใจระหว่างคำว่า “ความต้องการ” ซึ่งในภาษาอังกฤษมีศัพท์ที่ใช้ต่างกัน
คำว่า Want หมายถึงต้องการ อันอาจเป็นความอยากมี อยากได้ หรืออยากกิน เช่นเมื่อเรารู้สึกหิว เราอยากกิน แต่ความเป็นจริงแล้ว ร่างกายยังอาจไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม คนที่จะอ้วนนั้น เขากินตามความรู้สึกอยาก มากกว่าศึกษาว่าร่างกายในขณะนั้นจริงๆต้องการอะไร คนอเมริกันเป็นโรคอ้วนกันมาก เพราะกินตามความอยาก กินน้ำอัดลม ของขบเคี้ยวนานาประการ เพราะความอยาก และอยากเกินความจำเป็น
คำว่า Need หมายถึงความต้องการตามความจำเป็น เช่น เราต้องการอาหารตามความจำเป็นของร่างกาย ครบหมวดหมู่ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป การใช้สอยสิ่งของต่างๆนั้น ต้องถามว่าเราต้องการ และมีความจำเป็นต้องการสิ่งเหล่านั้นจริงๆหรือไม่
เราอยากมีบ้าน หรือเราต้องการที่อยู่อาศัย จริงหรือ และเราต้องการอย่างไร
เราต้องการรถยนต์ หรือเราต้องการและมีความจำเป็นในการเดินทาง เพราะหากเป็นความจำเป็นในการเดินทาง เรามีสิทธิเลือกที่จะใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า หรือรถแทกซี่ รถเช่า หรือรถที่ต้องซื้อหาเป็นส่วนตัว หรือจะใช้รถจักรยานในบางขณะและในบางสิ่งแวดล้อม
ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์คนั้น เราอาจไม่ต้องใช้รถยนต์ในแต่ละวันสักเท่าใด และหากต้องการจริง ก็สามารถเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ หรือจะเช่ารถเป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์เฉพาะวันจำเป็นได้ เพราะหากใช้ระบบขนส่งมวลชน ดังรถไฟฟ้าใต้ดิน เขาเรียกว่า Subway ซึ่งสามารถใช้เดินทางร่วมกับรถประจำทาง เรือข้ามฟาก ค่าเดินทางไปกลับเท่ากับ 2+2 = 4 เหรียญต่อวัน การซื้อตั๋วรายเดือนราคา USD 80 ต่อคน หากภรรยาทำงานบ้าน ต้องการออกไปนอกบ้านเป็นครั้งคราว ก็สามารถเลือกซื้อเป็นคราวๆ ราคาเพียง USD 2 หรือเทียบเท่ากับ 60 บาทไทย
แต่ถ้าจะใช้รถยนต์ ลองดูตัวอย่างคนที่ต้องขับรถไปทำงานวันละ 70 ไมล์ต่อวัน ปีละ 25000 ไมล์ ใช้น้ำมัน 20 ไมล์/แกลลอน ราคาน้ำมันในปัจจุบัน USD 4.00/Gallon คิดเป็นค่าน้ำมันปัจจุบันที่ USD 4200 และเมื่อใช้รถก็ต้องมีค่าซื้อรถ ค่าเสื่อมราคา หรือเช่ารถ ก็ต้องมีค่าเช่า อย่างต่ำสุดคือปีละ USD 2500 โดยหมายถึงใช้รถใหม่ได้ 10 วิ่งได้สัก 250,000 ไมล์ หลังจากนั้นราคาขายจะเหลือน้อยมากแล้ว เพราะค่าต้องซ่อมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าดูแลบำรุงรักษารถคิดเป็นรายปีที่ USD 1,000 ดังนั้นการใช้รถขนาดกลางๆ 1 คันจะมีค่าใช้จ่ายปีละ USD 7,700 ในครอบครัวหนึ่งหากมีรายได้ที่ปีละ USD 35,000 หรือค่าใช้รถเท่ากับร้อยละ 22 ของรายได้ หากเราไม่ได้มีอาชีพเป็นพนักงานขายที่ต้องใช้รถเป็นยานพาหนะในการเดินทางไกล ก็ควรคิดถึงการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องมีรถยนต์เป็นส่วนตัว แล้วเวลาที่ต้องการใช้รถเป็นชั่วคราวค่อยหาวิธีการอื่นๆ
ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค การใช้ระบบขนส่งมวลชน ใช้ได้ตลอดทั้งวัน ทุกวันของสัปดาห์ ทั้งปีไม่จำกัด เสียเงินเท่ากับเดือนละ USD 80 หรือต่อปีเท่ากับ USD 960 จะเห็นได้ว่าประหยัดไปแล้วเกือบ USD 6,000 หรือคิดเป็นเงินไทยประหยัดไปได้ 180,000 บาท นับว่าไม่น้อยเลย
หากอยากมีบ้านเพื่อเป็นหลักประกันของชีวิต ดีกว่าเช่าเป็นรายเดือน เสียค่าเช่าไปตลอด ก็พอเข้าใจได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะเลือกบ้านที่อยู่อาศัยอย่างพอเหมาะ ดังในเขตเมืองในกรุงเทพมหานครที่ก็มีความคล้ายหรือใกล้กับเมืองนิวยอร์คเข้าไปทุกที จะสังเกตุได้ว่า คนทำงานในเมืองจำนวนมาก เลือกที่จะซื้อคอนโดมีเนียมขนาดพอเหมาะ แล้วยอมสละไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเลือกทำเลของที่พักใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะ ห้องพักอาจะไม่ใหญ่นัก ไม่มีที่จอดรถ ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องใช้รถ บางครั้งจำเป็นก็เลือกใช้รถแท๊กซี่ หรือช่วงใดที่ต้องการใช้รถหลายวันต่อเนื่องกัน ก็อาศัยการเช่ารถเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งจะได้ราคาที่ถูกกว่าเช่าเป็นรายวัน
บ้านในกรุงเทพฯ ราคาหลังละ 3-4 ล้านบาท แต่อยู่ไกลแถบชานเมือง ต้องมีรถขับไปทำงาน เสียเวลาขับรถไปกลับเสียเวลาวันละ 2 ชั่วโมงเผาน้ำมันอยู่บนท้องถนน แต่หากอยู่บ้านในเมืองที่ราคาไม่แพงมากนัก และใกล้ที่ทำงาน ราคาเท่ากัน และเลือกที่จะไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมแล้วอาจมีความสุขกว่าที่ไม่ต้องไปเสียเวลาบนท้องถนนยาวนานขนาดนั้น เอาเวลาที่เหลืออยู่มาใช้ชีวิตมีความสุขกับครอบครัว จะดีและมีประโยชน์กว่า
การจะคิดประหยัดต้องคิดในทุกๆเรื่อง และไม่จำเป็นต้องเลือกราคาถูกสุด ต้องศึกษา จะซื้อที่นอน ผ้าปูที่นอน ก็ต้องศึกษา ผ้าปูที่นอนราคาถูก มีเส้นด้ายน้อย หยาบ และขาดง่าย ของดีมีราคา แต่ก็ใช้ได้ทน
ที่นอนราคาถูก แต่ว่านอนแล้วปวดหลัง นอนไม่สบาย การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ท้ายสุดต้องไปหาหมอ เขาก็แนะนำให้เปลี่ยนที่นอนใหม่ ดังนี้ที่นอนราคาถูกก็กลายเป็นของแพง ไม่ใช่เป็นการประหยัด เพราะทำให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ รวมทั้งสุขภาพ ที่นอนดีๆ ราคาอาจเป็นหลายพันบาท แต่หากทำให้เราหลับสบาย ไม่เก็บฝุ่น แข็งพอเหมาะ มีอายุการใช้งานยาวนาน ก็ให้ตัดใจเลือกของที่ดีจะประหยัดและสบายใจกว่าในระยะยาว
จะจับจ่ายสินค้าประเภทของกินของใช้เข้าบ้าน หรือเรียกว่าหมวด Groceries ไม่ใช่ของถูกที่สุดคือดีที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ของดีราคาไม่แพงก็มีเหมือนกัน ในสหรัฐอเมริกาเขาใช้เงินเพื่อการจับจ่ายหมวดอาหารการกินเข้ามาในบ้านต่อคนประมาณ USD 177 ต่อเดือน แต่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าคนที่ประหยัดนั้นสามารถอยู่ได้ในราคาเพียง USD 50 หรือประมาณร้อยละ 30 ของรายเฉลี่ย
ซื้อของแพงหน่อยแต่ที่จับจ่ายใกล้บ้าน แต่ไม่ต้องขับรถไปซื้อหา ก็จัดว่าเป็นความถูก แต่หากลองคิดค่าน้ำมันรถ ค่าเสียเวลาที่ต้องไปจับจ่ายเข้าไปด้วย การจ่ายของที่ตลาด หรือ Supermarket ใกล้บ้านที่ราคาพอประมาณแต่โดยรวมแล้วจะถูกกว่า
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนกรุงขนาดครอบครัวไม่ใหญ่ หรือคนที่เป็นโสด มักจะไม่นิยมทำอาหารรับประทานเอง เพราะเขากินอาหารตามร้าน หรือหิ้วอาหารถุงมากินที่บ้าน
หากเรารวมกันอยู่ แบ่งกันทำอาหาร มีสมาชิก 4-5 คนในบ้าน เพียงมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า แล้วทำกับข้าวสัก 1-2 อย่างกินในมื้อเย็น ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากแล้ว อาหารสำหรับคนทำงานในกรุงเทพฯ อาจมีตั้งแต่ 30 บาทต่อมื้อไปจนถึงมื้อละ 100-200 บาท/คน
จงเป็นดังมด
มดทำงานอย่างเป็นระบบ มันมีวิธีการอยู่อาศัยกันอย่างที่เรียกว่าเป็น Colonies
มดทำงานอย่างเป็นเครือข่าย หรือ Network รู้อะไร เห็นอาหารที่ใด ก็ส่งสัญญาณพาพรรคพวกไปช่วยกันขน ทำอะไรสำเร็จแล้ว ก็ไม่ใช่แอบใช้ประโยชน์เพียงลำพัง แต่ทิ้งร่องรอยให้คนได้เดินตาม เปรียบเหมือนชาวจีนหรือชาวเกาหลีที่เขามาอยู่ในอเมริกา เขาจะช่วยกัน เวลาชาวเกาหลีเขาทำงานร้านสะดวกซื้อ เหมือนอย่างที่เรามี 7-Eleven แต่เขาทำเป็นเครือข่าย ช่วยกันให้ประสบความสำเร็จ มีภัยจากอาชญากรรมก็ช่วยกันตอบโต้แบบเป็นเครือข่าย แม้โจรยังขยาด
มดกินอยู่อย่างประหยัด ทำงานสะสมอาหารเอาไว้ ไม่ใช่เพียงสำหรับวันนี้ แต่ในวันข้างหน้า ยามที่อาหารการกินขาดแคลน เป็นคนก็เช่นกัน ต้องรู้จักประหยัด ไม่ใช่ประหยัดแค่ทำแค่เป็นวัน แต่ทำตลอดชีวิต ทำอยางสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
การนำพาชีวิตรอด อยู่ได้อย่างมีความสุขนั้น คือต้องช่วยกันทั้งครอบครัว
สามีทำงานนอกบ้าน ภรรยาทำงานอะไรได้ ก็ต้องช่วยกันทำ ทำงานที่บ้านก็ได้ ทำงานอย่างที่เขาเรียกว่า Telecommuting ทำงานโดยใช้เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่มาช่วยทำงาน ลูกๆก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานช่วยครอบครัว
ลูกๆในครอบครัวแบบอเมริกัน ครอบครัวคือพ่อ แม่ และลูกๆ มักไม่มีคุณปู่ คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือบรรดาญาติๆมาช่วยกันเอาใจ มีข้อเสีย แต่ก็มีข้อดี คือทำให้ครอบครัวน้อยๆนั้น ต้องช่วยกัน ครอบครัวที่ลูกๆรู้ว่าพ่อแม่ยังยากจน เขาจะช่วยพ่อแม่ มีอะไรประหยัดได้เขาจะช่วยกัน เวลาไปตามร้านสรรพสินค้า เขาจะพอใจที่จะอยู่ในร้าน เพียงได้ติดตามแม่ไปก็เป็นความสุขแล้ว เขาจะไม่ดื้อไม่เรียกร้อง เพราะเขาได้เห็นว่าพ่อแม่ต้องอยู่อย่างลำบาก หากเขาได้ช่วยทางบ้านได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เขาจะพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วม หากบ้านนั้นเป็นบ้านที่คนมีความรัก มีความห่วงใยต่อกัน
ในครอบครัวแบบไทยๆ หากมีปู่ย่า หรือตาและยายอยู่ร่วมในครอบครัวนับว่ามีข้อดีในแบบไทยๆ มีความอบอุ่น หากเป็นเช่นนี้ยิ่งต้องคิดถึงสามีภรรยาที่ต้องทำงานทั้งคู่ เพียงแต่จะทำงานอะไร อย่างไร และที่ไหน เรื่องของภรรยาที่ช่วยทางครอบครัวทำงานนั้น ผมเคยเห็นตัวอย่างมากมาย ตอนแรกๆ ภรรยาทำงานแบบเป็นงานและรายได้เสริมให้กับครอบครัว แต่ด้วยความที่เป็นคนคิดค้นคว้าหาทางออกที่ดีตลอดเวลา จึงทำให้งานที่เขาทำ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับทำอาหาร ร้านอาหาร ขายสินค้า เป็นนายหน้า ท้ายสุดกลายเป็นงานหลักที่หารายได้เข้าครอบครัวได้มากเสียยิ่งกว่าฝ่ายสามี ซึ่งบางทีเป็นงานประจำที่มีรายได้ที่แน่นอน แต่ก็มีความจำกัดตามเงินเดือน
เมื่อผมท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐ มีเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งที่เขามีแหล่งที่พักที่ทำกันแบบครอบครัว พ่อดูแลด้านที่พัก การซ่อมแซมสถานที่ แม่ดูแลร้านอาหาร การจัดการที่พักที่นอน และลูกๆช่วยงานครอบครัวเมื่อกลับจากเรียน งานด้านสถานตากอากาศมีตั้งแต่การดูแลทำความสะอาดสถานที่ การซักผ้าปูที่นอน ดูดฝุ่น ล้างห้องน้ำ ทำอาหาร บริการในร้านอาหาร ที่นี่ค่าแรงงานแพง และเนื่องจากเป็นงานเฉพาะตามเวลา เช่น ช่วงวันธรรมดา มีคนมาพักไม่มาก แต่ถ้าเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ คนจะมาพักกันมาก ต้องการใช้งานบริการกันมาก ซึ่งเด็กๆก็หยุดเรียนกันในวันเสาร์อาทิตย์อยู่แล้ว ในช่วงภาคฤดูร้อน คนออกไปเที่ยวพักผ่อนกันตามสถานตากอากาศ บรรดาเด็กๆ ก็แทบจะมีงานทำกันทั้งปี เพียงช่วยพ่อแม่และครอบครัวประกอบธุรกิจ
สรุป
ผมได้ติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย คนไทยในต่างประเทศ เมื่อเขาได้ฟังข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย เขาจะรู้สึกหวาดหวั่น เขากังวลกับการเมืองที่ไม่แน่นอน ที่ไม่พัฒนา แต่ผมเป็นคนไทยที่มาพักมาเที่ยวต่างประเทศเป็นช่วงเวลา ผมมองเห็นสิ่งดีๆที่มีในบ้านเรา เรามีภูมิอากาศที่ดีตลอดปี มีผืนดินดังเป็นทอง ปลูกข้าวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ ส่งออกเป็นสินค้าได้
เรามีระบบครอบครัวในแบบเก่าที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ยังมีความแนบแน่นกันแบบครอบครัวใกล้ชิด มันเป็นสิ่งที่ดี แต่กระนั้น เราต้องรู้จักใช้และสร้างครอบครัวให้มีความแข็งแกร่ง ช่วยกันกินอยู่อย่างประหยัด กินอยู่อย่างพอเพียง มีเหลือก็รู้จักเก็บและใช้เพื่อลงทุนสร้างอนาคต
ขอให้เราเป็นดังหนู นกฮูก และมด แล้วจะประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตและครอบครัว
Sunday, April 5, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment