ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียง
Wednesday, March 19, 2008
ประสบการณ์ที่พบเห็น
เมื่อผมไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ในราวปี ค.ศ. 1969 ผมได้เปลี่ยนนิสัยและความคิดเรื่องการทำงานและการดำรงชีวิตอย่างมาก ประการหนึ่งมาจากความยากจนของประเทศไทยเรา โอกาสการหารายได้ของคนไทย เมื่อเทียบกับประชาชนชาวอเมริกัน หรือเพื่อนๆที่มาจากบางประเทศที่เขามีความร่ำรวยจากทรัพยากรที่สามารถขุดหาได้จากแผ่นดินอย่างง่ายๆ
สำหรับนักศึกษาจากประเทศไทยเช่นผม การศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของครอบครัว หรือจะด้วยเงินของแผ่นดิน ก็ต้องใช้เงินบาทที่มี 20-26 บาท มีค่าเท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐในยุคนั้น เมื่อผมต้องไปศึกษาต่อด้วยทุนของครอบครัว ผมจึงต้องหาทางประหยัดทรัพยากรที่ต้องส่งไปจากทางบ้านในประเทศไทย
เมื่อพอจะมีโอกาสทำงานหาเงินได้บ้าง ผมก็ไม่รีรอที่จะทำงานนั้นๆ ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานระดับล่างเพียงไร เมื่ออยู่เมืองไทย ไม่เคยคิดที่จะทำอย่างนั้น เช่น การทำความสะอาดสถานที่ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การดูแลให้บริการผู้ป่วยโรคประสาทในโรงพยาบาลประสาทของรัฐ ผมจึงเปลี่ยนนิสัยจากที่เป็นแบบคุณชาย เมื่อเรียนหนังสือในประเทศไทย ทางบ้านก็ต้องการให้เราใช้เวลากับการศึกษาเล่าเรียน เสื้อผ้ามีคนซักและรีดให้ เมื่อจะกินอาหาร ก็มีคนทำกับข้าง มีคนล้างจาน เพราะค่าแรงงานในการจ้างลูกจ้างมาดูแลสำหรับครอบครัวใหญ่ๆ นั้นไม่สูงนัก ครอบครัวคนชั้นกลางที่มีขนาดใหญ่ ล้วนใช้บริการอำนวยความสะดวกจากลูกจ้างที่มีอยู่
เรียนรู้ความเข้มแข็ง
การไปเริ่มชีวิตนักศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เราต้องปรับตัว ไม่ถือเรื่องงาน เพราะค่าจ้างค่าตอบแทนชั่วโมงละ 2.5-4.0 เหรียญในขณะนั้น ทำงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ก็ทำให้ผมพอมีเงินค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร แต่ถ้าทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผมจะสามารถหาค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ การจ่ายค่าเล่าเรียน และรวมถึงพอมีเงินเหลือเพื่อการท่องเที่ยวแบบประหยัดไปในประเทศนี้
ผมต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตอย่างประหยัด ต้องช่วยตนเอง ซักผ้าเอง เมื่อต้องมียานพาหนะเพื่อเดินทาง ผมเลือกซื้อรถเก่า แล้วเรียนรู้วิธีการซ่อมบำรุง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองน้ำมันและอากาศเอง หัวเทียน ตั้งเครื่องเอง ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตนักศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศเขา ที่ต้องหาเงินเลี้ยงชีพ เรียนหนังสือด้วยเงินที่ต้องหามาได้อย่างน้อยส่วนหนึ่ง ซึ่งวัฒนธรรมของเขาในขณะนั้น คือการรักที่จะทำงาน ภูมิใจที่จะยืนบนขาของตนเอง ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย
เวลาศึกษาเล่าเรียน ต้องมีการส่งงานที่เป็นภาคนิพนธ์ หรือการจดงาน ที่ควรจะเป็นงานพิมพ์ ผมได้คำนวณว่าถ้าไม่เรียนรู้และพิมพ์งานเอง ต้องพึ่งงานพิมพ์จากบริการที่มีอยู่ จะมีค่าพิมพ์งานที่หน้าละ 50 เซนต์ และในระยะหลังได้เพิ่มเป็นหน้าละ 75 เซนต์ และ 1 เหรียญ เพื่อนผมที่เป็นชาวซาอุดิอาเรเบียที่เป็นระดับผู้บริหารและได้ทุนจากประเทศของเขาใช้บริการพิมพ์งานจากพนักงานพิมพ์ที่มีอยู่ในประเทศสหรัฐ ในด้านที่พักอาศัยและยานพาหนะ เขาสามารถซื้อหารถใหม่ใช้ และเขาใช้ชีวิตได้อย่างฟุ่มเฟือย เหตุเพราะประเทศซาอุดิอาเรเบียนั้น เขาเรียกว่ามี “ทองคำสีดำ” อันหมายถึงการที่ประเทศของเขามีทร้พยากรสำคัญ คือ “น้ำมัน” (Crude Oil) อันเป็นทรัพย์สินที่เขาไม่ต้องลงทุนหา แต่มันมีอยู่ในพื้นดิน หรือจะเรียกให้เหมาะ คือทะเลทรายที่สุดแสนกว้างของเขานั้นเอง
ประหยัดจนเป็นนิสัย
ผมประมาณได้ว่าเงินที่ผมประหยัดได้จากการพิมพ์งานทางวิชาการได้เอง ช่วยประหยัดทรัพย์พอที่จะซื้อรถโฟล์คสวาเก่น หรือโฟล์คเต่าคันใหม่ๆ ถอยออกจากโชว์รูมได้ หรือใกล้ๆ กับ 2000 เหรียญในขณะนั้น
ผมได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากนักศึกษาจากต่างประเทศ พวกที่มีวิถีชีวิตคล้ายคนไทย เช่นไต้หวัน ปากีสถาน อินเดีย คืออยู่ที่ประเทศของเขาจะมีพฤติกรรมใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยอย่างไร แต่เมื่อมาใช้ชีวิตในอเมริกา เขาจะต้องหางานทำ และต้องขยันขันแข็งที่จะทำงานหาเงิน ดูแลตนเอง ประหยัดในการใช้จ่าย และพยายามเก็บเงินเพื่อความมั่นคงของอนาคต
โดยทั่วไปแล้ว คนจะมองประเทศที่เขามีทร้พยากรอย่างประเทศซาอุดิอาเรเบีย อิหร่าน คูเวต คือไม่ต้องทำมาหากิน ก็มีทุกสิ่งทุกอย่างเหลือเฟือ คนในประเทศล้วนได้รับผลพลอยจากทรัพยากรเหล่านั้น หากย้อนให้ทำความเข้าใจในปัจจุบัน ประเทศที่ยังมีทร้พยากรดังกล่าวอยู่มาก ก็จะมีอย่างประเทศในกลุ่ม OPEC ในตะวันออกกลาง ในอเมริกาใต้อย่างประเทศเวเนซูเอลลา ในยุโรปมีประเทศรัสเซียและบางประเทศในกลุ่มโซเวียตเดิมที่คาดว่ายังมีทรัพยากรปิโตรเลียม ถ่านหิน เหล่านี้อยู่มาก
สวนยางที่ถูกทิ้ง
เมื่อผมได้ไปเยี่ยมประเทศบรูไน เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เขาร่ำรวยจากน้ำมัน จะเห็นต้นยางพาราที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ไม่มีคนไปกรีดยางเหมือนอย่างในอดีต เพราะเมื่อมีน้ำมัน รัฐบาลก็มีสวัสดิการให้กับประชาชนจำนวนน้อยๆของเขาอย่างถ้วนหน้า เพราะบรูไนมีคนเพียง 2-3 แสนคน
อย่างไรก็ตาม การมีทรัพยากรที่ทำให้ไม่ต้องสนใจทำงานอะไรนั้นมีผลเสีย เพื่อนนักการศึกษาชาวซาอุดิอาเรเบีย เขาเล่าให้ฟังว่าปัญหาของเยาวชนในประเทศเขานั้นมีนิสัยคล้ายกัน คือขีเกียจ ไม่ชอบทำงาน ไม่ชอบที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง ทั้งๆที่รัฐบาลมีทุนการศึกษาให้อย่างมากมาย ทีบรูไนก็เช่นเดียวกัน เมื่อผมพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศเขา ก็พบปัญหาอย่างเดียวกัน คือนักศึกษาไม่ได้ตั้งใจเรียน ไม่เข้มแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เปรียบง่ายๆกับมาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือฟิลิปปินส์ไม่ได้
ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรแผ่นดิน ทำให้ไม่จำเป็นต้องทำมาหากิน นับเป็น “กรรมอันเกิดจากความมั่งคั่ง” หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า "resource curse"
ในประเทศ Ghana และ Zambia เมื่อประเทศได้เป็นอิสระจากการปกครองแบบอาณานิคม ก็น่าที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จากไร่โกโก้ (Cocoa plantations) และแหล่งแร่ทองแดงที่มีสะสมอยู่ในแผ่นดิน คงจะทำให้เขาไต่สู่ระดับประเทศร่ำรวย แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เงินที่ได้จากทรัพยากรไปอยู่ในคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่กระจายไปกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในประเทศซาอุดิอาเรเบีย เมื่อมีความมั่งคั่ง แทนที่จะทำงานอย่างขยันขันแข็งต่อไป ก็อาศัยการนำเข้าแรงงาน จากฟิลิปปินส์และปาเลสไตน์ เพื่อทำงานรับใช้ทำงานแทน ส่วนบรรดาผู้มั่งคั่งอย่าง Sheik ทั้งหลาย ก็จะไปงานปาร์ตี้ ไปจับจ่ายที่ลอนดอนและปารีส
ปรากฎการณ์ Dutch disease
ในประเทศเนเธอร์แลนด์ (
การทีมีทรัพยากรใหม่เสริมเข้ามาทำให้ค่าเงินของประเทศแข็งเพิ่มขึ้น จนทำให้การผลิตและบริการใดๆที่เคยแข่งขันได้ ก็กลายเป็นทำอะไรก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ความสามารถของประเทศในการแข่งขันในกิจการอื่นๆ ก็สูญเสียไป สภาพการเหล่านี้เขาจึงเรียกว่า โรคดัช (Dutch Disease)
ปัญหาที่ประเทศใดๆที่ได้รับทรัพยากรที่ฟ้าประทานให้ แต่ไม่ได้เกิดจากความสามารถ ความแข็งขันที่จะยืนบนขาตนเองนี้ เมื่อประกอบกับการบริหารการปกครองที่ไม่ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหา แต่สำหรับประเทศใกล้เคียงอย่าง Norway ที่เมื่อมีเงินจากทรัพยากรแก๊สหรือน้ำมัน ก็จะนำเงินไปลงทุนที่อื่นๆ เพื่อเป็นการไปเสริมอุตสาหกรรมเดิมที่เขามีอยู่ให้เข้าแข็งยิ่งขึ้น ในประเทศออสเตรเลีย Gavin Wright ได้ชี้ประเด็นที่ประเทศได้ใช้เงินที่ได้มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และประเทศเขาก็สร้างความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเหมืองแร่ ซึ่งหมายถึงเขาสามารถไปทำกิจกรรมเหมืองแร่ในประเทศอื่นๆได้อีก
ความหมาย
โรคดัช (Dutch disease) เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จะไปทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศ การทำให้ค่าของเงินแข็งเกินไป (exchange rate) ทำให้ธุรกิจภาคที่ต้องมีการส่งออกขาดความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนที่จะทำให้ค่าของเงินแข็งอย่างไม่เป็นธรรมชาตินี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้ขุดพบ การที่มีทรัพยากรใดๆ ที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีเงินจากนอกประเทศไหลเข้ามามาก การที่ราคาหรือมูลค่าของทรัพยากรนั้นๆ ได้เพิ่มค่าขึ้น หรือการที่มีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศไหลเข้า หรือมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาเพื่อการลงทุนอย่างผิดปกติ ดังในประเทศไทยช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1999 เมื่อเงินได้มาง่าย ไม่มีวิธีการนำเงินไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ปล่อยให้ค่าของเงินส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่เป็นประโยชน์ ท้ายสุดก็นำไปสู่วิกฤติในช่วงต่อไป
คำว่า Dutch disease เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1977 ที่นิตยสาร The Economist ได้อธิบายความเสื่อมของอุตสาหกรรมส่วน manufacturing ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังจากที่ประเทศค้นพบแหล่งแก๊สธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ 1960
ลักษณะตัวอย่าง ( Possible examples)
โรคดัช อาจมีลักษณะที่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีความเหมือนกันบางประการ คือมีเงินและทรัพยากรที่ไหลเข้าประเทศอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก แต่ทำให้เศรษฐกิจในส่วนอื่นๆของประเทศได้ลดความเข้มแข็งลง ประสบการณ์เหล่านี้ได้แก่
- Australia ในช่วงสมัยหนึ่ง ประเทศออสเตรเลียมีการตื่นทอง (Australian gold rush) ในราวศตวรรษที่ ตที่ 19 และมีการบันทึกไว้โดย Cairns ในปี ค.ศ. 1859
- Australia การที่ประเทศได้รับผลจากแหล่งแร่ในประเทศในช่วงทศวรรษ 2000
- Azerbaijan เมื่อได้แยกตัวเป็นประเทศ และได้รับผลจากการมีแหล่งน้ำมันในช่วงปีทศวรรษ 2000s
- Canada น้ำมันและทรายน้ำมันที่เป็นทรัพยากรที่ทำให้เกิดรายได้อย่างมากกับเขตจังหวัด Alberta และ Saskatchewan
- Chile กับผลประโยชน์ที่ได้จากแร่ทองแดง (copper) ในช่วงทศวรรษที่ 2000
- Mexico ได้รับผลจากแหล่งน้ำมันที่ค้นพบในช่วงทศวรรษที่ 1970 และในช่วงแรกของ 1980
- Ireland ได้รับผลจากธุรกิจที่ดินที่เติบโตอย่างมากในช่วง ทศวรรษ 2000
- Netherlands ได้รับผลกระทบจากแหล่งก๊าสธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ 960s[10]
- Nigeria และประเทศอื่นๆในอัฟริกาหลังยุคอาณานิคม ที่น่าจะนำความสงบกลับมา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ดังเช่นน้ำมัน แต่ผลจากการที่ประเทศมีความรุ่งเรืองจากน้ำมัน แต่คนได้ประโยชน์เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ยังยากจน และยังมีปัญหาด้านคอรัปชั่นในระบบราชการ ปัญหาด้านบทบาทของฝ่ายทหารที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า ปัญหาด้านชนชาติที่ขัดแย้งและมีการสู้รบรุนแรง ท้ายที่สุด ประเทศไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างที่ควรเป็น
- Norway คล้ายกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุ่งเรืองของธุรกิจน้ำมันในช่วงปีทศวรรษ 1970 และในช่วงถึง 1990
- Philippines ได้รับผลกระทบจากธุรกิจการค้าเงินตรา (Strong forex) ที่ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศ ทำให้ค่าของเงินแข็งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง
- Forex ย่อมาจาก Foreign Exchange บางครั้งเรียกย่อว่า FX คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
- Forex Market หรือ ตลาด Forex เป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากกว่า US$ 2 trillion (2 ล้านล้านดอลลาร์) ต่อวัน เป็นตลาดการเงิน ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ตลาดเปิดทำการซื้อขาย 24 ชั่วโมง ตลอดวันทำการ โดยหยุดการซื้อขาย แค่วัน เสาร์-อาทิตย์เท่านั้น
- การซื้อขายใน ตลาด Forex เป็นการซื้อขายค่าเงิน โดยซื้อเงินสกุลหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ก็ขายเงินอีกสกุลหนึ่งออกไป หรือเป็นการจับคู่แลกเปลี่ยน ซื้อขายค่าสกุลเงินนั่นเอง ตัวอย่างเช่น เงินสกุลยูโร/ดอลลาร์สหรัฐฯ (EUR/USD) หรือ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ/เยนญี่ปุ่น (USD/JPY) เป็นต้น
- Russia นับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับความมั่งคั่งจากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ และยังมีแหล่งที่สำรวจเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
- Spain ได้รับผลจากทองและความมั่งคั่งอื่นๆในช่วงของการส่งกองเรือไปแสวงโชคในต่างแดน ในช่วงศัตวรรษที่ 16 ในช่วงที่เรียกว่า Habsburg Spain ที่ได้รวบรวมความมั่งคั่งจากทวีปใหม่อย่างอเมริกา
- United Kingdom ได้รับผลที่ทำให้ธุรกิจการเงินรุ่งเรือง ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 2000 แต่ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดความเข้มแข็งและสูญหายไป
ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ได้รับผลกระทบ
หากเราไม่ต้องการให้เกิดปรากฎการณ์อย่างที่เรียกว่า “โรคดัช” ขึ้นในสังคมไทย เราจะมีวิธีการย่างไรที่จะป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ข้อเสนอของผมคือ
1. การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับประชาชน สร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ในประชากรให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าพอมีความสบายตัวหน่อยก็ถือว่าพอแล้ว กล่าวคือต้องไม่ปล่อยให้สังคมเกิดความชล่าใจ คิดว่าทุกอย่างดีแล้วพอแล้ว อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Complencency
2. อายุยืนขึ้น ก็ให้ทำงานได้นานขึ้น แม้จะไม่ใช่งานหนักเหมือนเดิม คนไทยจะมีอายุยืนขึ้น จากที่เฉลี่ยผู้ชายมีอายุ 60-62 ปี ผู้หญิงอาจมีอายุยืนกว่า 2-5 ปี ก็จะกลายเป็นมีอายุถึง 72-80 ปี เราจะเห็นว่ามีผู้อาวุโสในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ การที่คิดอายุเกษียณที่ 60 ปี อย่างที่เคยจะทำให้ใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไม่คุ้มค่า ดังนั้น ต้องมีวิธีการที่จะนำสมอง สติปัญญา และประสบการณ์ต่างๆ ของท่านผู้อาวุโสมาใช้ให้มากขึ้น และต้องรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ไม่ใช่เอาคนสูงอายุมาใช้เป็นแรงงาน
3. การยืดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency economy) คิดอะไรทำอะไรให้อยู่ในหลักของความไม่สิ้นเปลือง มีเงินมีทรัพยากร ก็ต้องใช้อย่างประหยัด ไม่ใช่ใช้อย่างเผาผลาญ หลักของเศรษฐกิจพอเพียงคือใช้อย่างประหยัด มีเหตุผล หากเรากินได้น้อย ใช้น้อย เงินที่เหลือก็ให้เห็นแก่การนำมาลงทุนให้กับสังคมเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบพื้นฐานของสังคม
4. การเรียนรู้จากประสบการณ์เศรษฐกิจฟองสะบู่ในยุค 1999 คนเราต้องยึดหลักเจ็บแล้วต้องจำ ยุคเศรษฐกิจฟองสะบู่นั้น เรามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไม่ระมัดระวังตัว ในขณะที่ค่าเงินของไทยยึดติดกับค่าเงินเหรียญ ในช่วงปลายๆ เศรษฐกิจของเรามีการแสดงให้เห็นว่าเริ่มชะลอตัว การส่งออกมีปัญหา แต่ขณะเดียวกัน การใช้เงินทองของคนไทยก็เป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย ค่าเงินที่แข็งจนเกินความเป็นจริงถึงร้อยละ 50 ทำให้ต่างชาติโดยกองทุนต่างๆ ได้เข้ามาหาประโยชน์จากการโจมตีค่าเงินบาท ผลก็คือไทยไม่สามารถต้านทานได้ จนในที่สุดต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งค่าเงินบาทเปลี่ยนไปกว่าร้อยละ 100 ซึ่งก็ทำให้ค่าเงินบาทผิดจากความที่ควรจะเป็นไปกว่าร้อยละ 50 ผลก็คือคนที่ไปกู้ต่างประเทศเป็นเงินเหรียญสหรัฐมาใช้จ่าย มาลงทุนในประเทศไทย ก็จะกลายเป็นมีหนี้เพิ่มขึ้นทันทีเป็นเท่าตัว ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องยึดหลากความไม่ประมาท การไม่ติดยึดกับทุนนิยม หรือวัตถุนิยมจนเกินเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็ให้มีการเปิดหูเปิดตา มองโลก มองอนาคต
5. ฐานของประเทศไทยส่วนสำคัญยังมีอยู่บนการเกษตร มีปราชญ์ทางการเกษตรท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในอดีตว่า “เงินทองนั้นมายา ข้าวปลานั้นของจริง” ประเทศไทยแต่อดีต เรามีฐานเศรษฐกิจมาจากการเกษตร เรามีข้าว ไม้สัก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เรามักจะละทิ้งความแข็งแกร่งเดิมทางด้านการเกษตร แต่ปัจจุบันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนไป พลังงานสำคัญที่มาจากปิโตรเลียมกำลังจะหมดไป เราจะใช้น้ำมันได้ในลักษณะขยายตัวไปจนราวปี ค.ศ. 2015 หรืออีก 7-8 ปี แล้วหลังจากนั้นแหล่งน้ำมันในโลกก็จะหมดไปเรื่อยๆ น้ำมันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ และน้ำมันทดแทนส่วนหนึ่งจะมาจากผลิตผลการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน รวมถึงยางที่เคยใช้การสังเคราะห์จากปิโตรเลียมก็จะเปลี่ยนมาเป็นใช้จากยางพารามากขึ้น ดังนั้นฐานการเกษตรของไทยจึงต้องทำให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เราต้องเรียนรู้การเกษตรยุคใหม่ที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และขณะเดียวกัน ต้องหาทางทำให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันที่มาจากพืชให้สูงขึ้น
No comments:
Post a Comment